อับดุลลอฮ์ กับ อับดุนนะบีย์ (จบ)
อับดุนนบีย์ : แล้วคุณจะว่าอย่างไร สำหรับฮะดีษที่ท่านนะบี ที่ว่า
أَنَّ النَّاسَ يَوْمَ الْقِيَامَةِ يَسْتَغِيْثُوْنَ بِآدَمَ ثُمَّ بِنُوْح ثُمَّ بِإِبْرَاهِيْمَ ثُمَّ بِمُوْسَى ثُمَّ بِعِيْسَى فَكُلُّهُمْ يَعْتَذِرُوْنَ حَتَّى تَنْتَهِيَ إِلى رَسُوْلِ اللهِ صلى الله عليه وسلم
ในวันกิยามะฮ์ ผู้คนจะพากันไปหาท่านนะบีอาดัม เพื่อขอให้ช่วยเหลือ แล้วก็ไปที่ท่านนะบี นู๊ฮฺ ต่อมาก็ไป ที่ท่านนะบีอิบรอฮีม
ต่อมาก็ไปที่ท่านนะบีมูซา ต่อมาก็ไปที่ท่านนะบีอีซา เพื่อขอให้ช่วยเหลือ แต่ทั้งหมดต่างก็ขอตัว ไม่กล้าอาสา จนกระทั่ง มาสิ้นสุดลงที่ท่านร่อซูลุลลอฮฺ
ดังนั้น เป็นการชี้ให้เห็นว่า การขอความช่วยเหลือ (อัลอิสติฆอซะฮ์) ต่อผู้อื่น นอกจากอัลลอฮ์นั้น มิใช่เป็นการชิริก ใช่หรือไม่ ?
อับดุลเลาะฮ์ : นี่เป็นความเข้าใจผิดของคุณเอง เพราะ การขอความช่วยเหลือต่อคนเป็น ๆ ( มัคลู๊ก ) ในสิ่งที่เขาสามารถกระทำได้นั้น เรามิได้ปฏิเสธ ดังที่อัลลอฮ์ ตรัสว่าดังนั้น ผู้ที่มาจากกลุ่มพวกพ้องของเขา ได้ร้องขอความช่วยเหลือเขา ให้ช่วยจัดการกับฝ่ายที่เป็นศัตรูกับเขา ( อัลเกาะศ็อศ / 15 )
ในทำนองเดียวกัน การขอความช่วยเหลือของผู้คน ต่อบรรดาพรรคพวกของเขาในการทำสงคราม และเรื่องอื่นๆ ซึ่งคนสามารถที่จะกระทำได้ แต่ที่เราปฏิเสธไม่ยอมรับการขอความช่วยเหลือที่เป็นการอิบาดะฮ์ ที่ผู้คนไปกระทำกันที่กุบูร บรรดาโต๊ะวะลีย์ ต่าง ๆ หรือ กับสิ่งเร้นลับในที่ต่างๆ ซึ่งมิใช่วิสัยหรือความสามารถของสิ่งเหล่านั้นเลย นอกจากอัลลอฮ์ องค์เดียวเท่านั้น
ดังนั้น การที่ผู้คนไปขอความอนุเคราะห์ให้ช่วยเหลือ ต่อบรรดานะบีต่างๆ ในวันกิยามะฮ์ เพียงเพื่อให้ท่านเหล่านั้น วอนขอต่ออัลลอฮ์ ให้ทรงสอบสวนผู้คน เพื่อที่ชาวสวรรค์จะได้พักผ่อนจากความทุกข์ยาก ลำบาก อันแสนทรมานจากสถานที่แห่งนี้ และนี่เป็นที่อนุญาตให้กระทำได้ทั้งในดุนยาและอาคิเราะฮ์ ในการที่ได้ไปพบกับคนดี ๆ ไปนั่งอยู่กับเขา และได้ยิน ได้ฟังคำพูดของท่าน และท่านก็พูดกับเขาว่า ได้โปรด ช่วยขอต่ออัลลอฮ์ให้กับฉันด้วย เช่นเดียวกับที่บรรดาซอฮาบะฮ์ของท่านเราะซูล ต่างก็ขอต่อท่านนะบีขณะที่ท่านนะบียังมีชีวิตอยู่ แต่ ภายหลังจากที่ท่านนะบีได้สิ้นชีวิตไปแล้วนั้นทำไม่ได้ ! ไม่ได้เด็ดขาด ที่จะไปขอต่อท่านนะบีที่กุบูร ยิ่งไปกว่านั้น บรรดาชาวสลัฟ ต่างก็ปฏิเสธไม่ยอมรับโดยเด็ดขาด สำหรับผู้ที่มุ่งจะไปขอต่ออัลลอฮ์ที่กุบูรของท่าน นะบี
อับดุนนบีย์ : และคุณจะว่าอย่างไร ในเรื่องของท่านนะบีอิบรออีม เมื่อตอนถูกโยนเข้าสู่กองไฟ ท่านญิบรีล ได้เสนอตัวที่จะเข้ามาปกป้องท่านกลางอากาศ โดยกล่าวว่า ท่านต้องการความช่วยเหลือหรือไม่ ? แล้วท่านอิบรอฮีมกล่าวว่า สำหรับความช่วยเหลือจากท่านนั้น ฉันไม่ต้องการ ดังนั้น หากว่าการขอความช่วยเหลือจากท่านญิบรีล เป็นชิริกแล้ว ทำไมจึงมีการเสนอมาเช่นนั้นแก่ท่านนะบีอิบรอฮีมด้วยเล่า ?
อับดุลเลาะฮ์ : นี่เป็นข้อสงสัยคลุมเครือชนิดเดียวกับข้อสงสัยคลุมเครือประการแรก และฮะดีษที่นำมาก็ไม่ ได้ชัดเจน (ไม่เศาะเฮี๊ยะ) แต่สำหรับทัศนะที่ว่า ฮะดีษนี้ที่จริงแล้วญิบรีลเพียงแต่เสนอความช่วยเหลือให้กับท่านนะบีอิบรอฮีม เท่านั้น เพื่อจะเป็นประโยชน์แก่ท่านนะบีอิบรอฮีม ในเรื่องที่ท่านสามารถจะกระทำได้ เพราะท่านญิบรีลมีพลัง ดังที่อัลลอฮ์ ตรัสถึงท่านญิบรีลไว้ว่า ( ญิบรีล ) ผู้ที่เด็ดขาด ทรงพลัง ( อันนัจมฺ 53 :5 )
ดังนั้น หากอัลลอฮ์ทรงอนุญาตให้ท่านจัดการกับไฟ ตลอดจนสิ่งที่อยู่รอบ ๆ ไม่ว่า จะเป็นแผ่นดิน หรือ ภูเขา ท่านญิบรีลสามารถที่จับมันโยนออกไปให้กระจัดกระจายไปทางทิศตะวันออก หรือทิศตะวันตกก็ย่อมได้ มิใช่เรื่องแปลกประหลาดแต่อย่างใดเลย ท่านญิบรีลจึงได้เสนอให้ความช่วยเหลือ เพื่อบรรเทาความยากลำบากให้เท่านั้น แล้วผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือกลับปฏิเสธ และอดทน จนกระทั่งอัลลอฮ์ทรงประทานริสกีย์ให้แก่เขา มิใช่เป็นความกรุณาจากผู้ใดใครทั้งสิ้น เพราะฉะนั้นจึงเทียบมิได้เลยระหว่างการขอความช่วยเหลือด้วยการทำอิบาดะฮ์กับการทำชิริก ดังที่มีการทำกันอยู่ในทุกวันนี้!
พึงรู้เถิดว่า ชนรุ่นแรก ๆ ที่ท่านนะบี ถูกส่งไปนั้น ทำชิริกที่ซ่อนเร้น ยิ่งกว่าผู้ที่ทำชิริกในสมัยนี้หลายเท่านักเพราะ
ประการแรก ชนรุ่นแรกได้ทำชิริกในยามสุขสบาย มีความเป็นอยู่ที่ดี แต่ในยามคับขันทุกข์ยาก พวกเขามีความบริสุทธิ์ใจต่อการวิงวอนขอต่ออัลลอฮ์ ดังหลักฐานจากดำรัสของ อัลลอฮ์ ที่ว่า
เมื่อพวกเขาขึ้นโดยสารอยู่บนเรือ พวกเขาก็วิงวอนขอต่ออัลลอฮ์ ด้วยความบริสุทธิ์ใจในการวิงวอนขอต่อพระองค์ครั้นเมื่อพระองค์ทรงช่วยเหลือพวกเขาให้ได้รอดพ้นจนขึ้นบกได้แล้ว พวกเขาก็ทำชิริกตั้งภาคีต่อพระองค์ ( อัลอังกะบู๊ต / 65 )
และดำรัสของอัลลอฮ์ อีกว่า
และเมื่อคลื่นได้พัดกระหน่ำท่วมมิดตัวพวกเขา เสมือนกับฝาที่ครอบพวกเขาอยู่ พวกเขาก็วิงวอนขอต่ออัลลอฮ์ด้วยความบริสุทธิ์ใจต่อพระองค์
ครั้นเมื่อพระองค์ได้ทรงช่วยเหลือพวกเขาให้ได้ขึ้นบก ดังนั้น ในหมู่พวกเขาก็มีผู้สำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ขึ้นได้ ( ลุกมาน / 32 )
ดังนั้น บรรดามุชริกีนที่ท่านเราะซูลุลลอฮ์ สู้รบกับพวกเขานั้นคือ ผู้ที่วิงวอนขอต่ออัลลอฮ์ แต่ในขณะเดียวกันก็วิงวอนขอต่อผู้อื่นพร้อมกันไปด้วย ในช่วงที่พวกเขาสุขสบายมิได้ตกอยู่ในภาวะคับขันหรือตกระกำลำบากแต่อย่างใด !
ในขณะที่ผู้ที่ตกอยู่ในภาวะคับขันนั้นเขามิได้วิงวอนขอต่อใครผู้ใดนอกจากอัลลอฮ์เพียงพระองค์เดียวเท่านั้น และขณะเดียวกันพวกเขาพากันลืมบรรดาผู้นำของพวกเขา
เป็นที่ชัดเจนแก่คุณแล้วว่า ความแตกต่างระหว่างการทำชิริกในอดีต กับการทำชิริกของคนในสมัยปัจจุบัน ซึ่งวิงวอนขอต่อสิ่งอื่นนอกจากอัลลอฮ์ทั้งในภาวะสุขสบายและในภาวะคับขัน แต่ทว่า ผู้ที่หัวใจของเขามีความเข้าอกเข้าใจในปัญหานี้ได้ลึกซึ้งนั้น ไปอยู่เสียที่ไหนกัน ? อัลลอฮ์Iนั้นทรงเป็นผู้ช่วยเหลือที่ดีที่สุด (والله المستعان)
ประการที่สอง บรรดาชนรุ่นก่อนวิงวอนขอต่ออัลลอฮ์ และผู้ที่ใกล้ชิดกับอัลลอฮ์Iไม่ว่าจะเป็นบรรดานะบี บรรดาวลี บรรดามะลาอิกะฮ์ ก้อนหิน หรือ ต้นไม้ ในฐานะเป็นผู้ที่เชื่อฟัง ปฏิบัติตาม(มุฎีอะฮ์) อัลลอฮ์ มิใช่ ในฐานะเป็นผู้ดื้อดึงฝ่าฝืนต่ออัลลอฮ์ แต่ในขณะที่คนในสมัยปัจจุบันกลับวิงวอนขอต่ออัลลอฮ์ พร้อมกับวิงวอนขอต่อผู้คนต่าง ๆ อย่างชนิดที่ชั่วร้ายเลวทรามที่สุด !
ผู้ที่มีความเชื่อมั่นต่อคนดี และสิ่งที่ไม่ฝ่าฝืน ย่อมเบายิ่งกว่าผู้ที่เขาเชื่อมั่นทั้งๆ ที่เห็นถึงความเลวทราม และความชั่วร้ายก็เป็นที่ประจักษ์ชัด
ประการที่สาม บรรดามุชริกในสมัยท่านนะบี นั้น การทำชิริกของพวกเขาเกี่ยวกับเรื่องการเป็นพระเจ้าของอัลลอฮ์ คือ การเคารพอิบาดะฮ์ต่ออัลลอฮ์ องค์เดียวเท่านนั้น (เตาว์ฮีด อัลอุลูฮียะฮ์) มิได้ชิริกในเรื่อง การบริหารจัดการของอัลลอฮ์ (เตาว์ฮีด อัรรุบูบียะฮ์) ซึ่งต่างกับการทำชิริกของผู้คนในระยะหลังนี้ เพราะมีการชิริกในเรื่องการบริหารจัดการ (อัรรุบูบียะฮ์) กันมาก เหมือนกับที่ได้มีการทำชิริกในเรื่องการเคารพอิบาดะฮ์ต่ออัลลอฮ์ เพียงองค์เดียว (อัลอิลาฮียะฮ์) โดยที่พวกเขากลับยกให้เป็นเรื่องของ ธรรมชาติ เช่น บอกว่าธรรมชาติเป็นผู้บริหารจัดการโลกนี้ ในเรื่องการให้เป็น ให้ตาย การให้ฝนตกลงมา ฯลฯ
และหวังว่าฉันจะจบคำพูดของฉันด้วยการพูดถึงปัญหาสำคัญที่ทำให้คุณเข้าใจมาก่อนหน้านี้มาแล้ว นั่นคือ ไม่มีการขัดแย้งกันในการให้เอกภาพ (อัตเตาว์ฮีด)แด่อัลลอฮ์ จำเป็นจะต้องมีอยู่ในหัวใจ ลิ้น (คำพูด) และการปฏิบัติที่ปรากฏออกมาให้เห็น เพราะถ้าขาดสิ่งหนึ่งสิ่งใดไป ผู้นั้นก็มิใช่มุสลิม !
หากเขารู้จักการเตาว์ฮีดและมิได้ปฏิบัติตาม เขาก็เป็น กาฟิร เป็นผู้ปฏิเสธศรัทธา ตั้งตนเป็นศัตรูกับมุสลิม ดังเช่น ฟิรเอาว์น และอิบลีส เป็นต้น และนี่เป็นความผิดที่เกิดขึ้นมากมายในหมู่มนุษย์ พวกเขากล่าวว่านี่เป็นความจริง แต่เราไม่สามารถทำอะไรได้ และไม่อนุญาตที่จะไปทำอะไรได้ และจำเป็นที่จะต้องเห็นตามไปกับพวกเขา และบรรดาคนที่น่าสงสารเหล่านี้ไม่รู้ด้วยว่า บรรดาหัวโจกของการกุฟุรต่างก็รู้ความจริงแต่ไม่ยอมยุติและเลิกรากันเสียทีดังที่อัลลอฮ์ ตรัสว่า
พวกเขาเอาบรรดาอายาตของอัลลอฮ์Iไปแลกเปลี่ยน กับสิ่งที่มีราคาอันเล็กน้อย แล้วพวกเขายังขัดขวางผู้คนให้ออกไปจากหนทางของพระองค์อีกด้วย (อัตเตาว์บะฮ์ / 9 )
และหากเขาแสดงออกในเรื่อง เตาว์ฮีด อย่างเปิดเผย โดยที่ไม่มีความเข้าใจ และจิตใจมิได้เชื่อมั่น ดังนั้นเขาคือ มุนาฟิก ซึ่งชั่วช้ายิ่งกว่า กาฟิร แท้ ๆ เสียอีก ดังที่อัลลอฮ์ ตรัสว่า
แท้จริง พวกมุนาฟิกนั้นอยู่ในนรกชั้นต่ำที่สุด ( อันนิซาอ์ / 145 )
นี่คือปัญหาที่เป็นที่ชัดเจนเมื่อคุณสังเกตดูจากคำพูดของผู้คนจะพบว่า มีคนที่รู้ความจริง และเลิกการกระทำเพราะกลัวการเป็นผู้ขาดทุน ดังเช่น กรณีของ กอรูน หรือ เรื่องชื่อเสียง เกียรติยศ ดังเช่น กรณีของ ฮามาน หรือ เรื่องตำแหน่งกษัตริย์ ดังเช่น กรณีของ ฟิรเอาว์น และคุณจะได้เห็นคนที่แสดงตัวออกมาว่าเชื่อในเตาว์ฮีดแต่ภายในกลับไม่เชื่อ ดังเช่น พวกมุนาฟิก
ดังนั้น เมื่อคนถามเขาถึงสิ่งที่เขา(เชื่อถือ)ศรัทธายึดมั่นในหัวใจ เขากลับไม่รู้อะไรเลย ฉะนั้น จำเป็นที่คุณจะต้องเข้าใจในสองอายะฮ์จากอัลกุรอาน ดังต่อไปนี้
อายะฮ์แรก ดำรัสของอัลลอฮ์ ที่ว่า
พวกเจ้าอย่าได้แก้ตัวเลย แท้จริง พวกเจ้าได้ปฏิเสธศรัทธากันแล้ว หลังจากที่พวกเจ้าได้ศรัทธากันมาก่อนแล้ว ( อัตเตาว์บะฮ์/ 66 )
ดังนั้น เมื่อคุณรู้ว่ามีบางคนที่เคยออกไปทำสงครามกับพวกโรมัน ร่วมกับท่านนะบี กลับกลายเป็น กาฟิร ผู้ปฏิเสธศรัทธา ด้วยสาเหตุจากคำพูดที่เพียงพูดเล่นตลก พล่อย ๆ เป็นการอธิบายให้ได้รู้ว่า ผู้ที่พูดด้วยถ้อยคำแห่งการปฏิเสธ (กุฟร) หรือ กระทำสิ่งที่เป็นการกุฟร ด้วยความเกรงกลัวว่าจะทำให้ สูญเสียทรัพย์สิน เกียรติยศ ชื่อเสียง หรือ ความนิยมชมชอบ จะมีความเลวร้ายยิ่งกว่าผู้ที่พูดเพื่อให้คนหัวเราะชอบใจ ตลกขบขัน เพราะคนที่พูดตลกนั้น ส่วนมากแล้วใจเขามิได้คิดอะไรในสิ่งที่พูดออกไป เพียงแต่เพื่อให้ผู้คนได้หัวเราะสนุกสนานเท่านั้น !
สำหรับคนที่พูดด้วยถ้อยคำอันเป็นกุฟร หรือ กระทำสิ่งที่เป็นการกุฟร ด้วยความหวาดกลัว กระสัน ละโมบ อยากจะได้จากผู้คน(มัคลู๊ก)เท่ากับเป็นการสมจริงกับคำของชัยฏอน ที่ว่า
ชัยฏอนนั้น มันจะขู่พวกเจ้า ให้กลัวความยากจน ( อัลบะกอเราะฮ์ / 268 )
และเขาก็กลัวคำขู่ของมันที่ว่าแท้จริง ชัยฏอนนั้น เพียงขู่ได้แต่เฉพาะบรรดาผู้ที่ปฏิบัติตามมันเท่านั้น (อาละอิมรอน /175 )
และยังไม่เชื่อในคำมั่นสัญญาของอัลลอฮฺ พระผู้ทรงกรุณาปรานี ที่ว่าและอัลลอฮ์ทรงสัญญาการอภัยโทษ และความกรุณาโปรดปรานจากพระองค์แก่พวกเจ้า ( อัลบะกอเราะฮ์ / 268 )
และอย่าได้หวาดกลัว คำขู่ของ ผู้ยโส โอหัง ใด ๆ ดังดำรัสของอัลลอฮ์ ที่ว่า
ดังนั้น พวกเจ้าอย่าไปกลัวพวกมัน แต่จงกลัวข้า ( อัลลอฮ์ ) เถิด ( อาละอิมรอน / 175 )
ดังนั้น สมควรที่เราจะเป็นพรรคพวกของอัลลอฮ์ พระผู้ทรงกรุณาปรานี หรือจะเป็นพลพรรคของชัยฏอน ก็สุดแต่จะคิดกันเอาเองเถิด !
สำหรับอายะฮฺที่สอง คือ ดำรัสของอัลลอฮ์ ที่ว่า
ผู้ใดที่ปฏิเสธศรัทธาต่ออัลลอฮ์ ภายหลังจากที่เขาได้ ศรัทธากันมาแล้ว เขาจะถูกอัลลอฮ์กริ้ว เว้นแต่ผู้ที่ถูกบังคับขู่เข็ญ ขณะที่หัวใจของเขานั้นเต็มเปี่ยมไปด้วยความศรัทธา
แต่ทว่าผู้ใดที่เต็มอกเต็มใจไปกับการปฏิเสธศรัทธา(กุฟร) ดังนั้น พวกเขาจะได้รับความกริ้วโกรธจากอัลลอฮ์และสำหรับพวกเขาจะถูกลงโทษอย่างมหันต์ ( อันนะฮฺล / 106)
อัลลอฮ์จะมิทรงยกโทษให้กับพวกเหล่านี้ เว้นแต่ผู้ที่ถูกบีบบังคับทั้งๆที่หัวใจของเขายังมั่นคง อยู่กับการศรัทธา และสำหรับอื่นจากนี้เท่ากับว่าเขาได้ปฏิเสธศรัทธา(กุฟร) ภายหลังจากที่เขาได้ศรัทธากันมาก่อน ไม่ว่าจะกระทำไปด้วยความหวาดกลัว ละโมบอยากได้ หรือต้องการได้รับความนิยมชมชอบจากผู้หนึ่งผู้ใด หรือผู้ที่รักใคร่หวงแหนดินแดนของตน หรือรักหวงแหนครอบครัวญาติพี่น้องของตน หรือรักหวงแหนทรัพย์สมบัติของตน หรือกระทำไปด้วยความสนุกสนานตลกโปกฮา หรือเพื่อจุดมุ่งหมายอื่นๆ นอกจากที่กล่าวมา ยกเว้นในกรณีของการถูกทารุณกรรมบีบบังคับเท่านั้น เพราะอายะฮ์อัลกรุอานได้ชี้ให้เห็นว่า มนุษย์นั้นจะไม่ถูกบังคับ นอกจาก ด้วยการงานของเขา คำพูดของเขา การกระทำของเขา และสำหรับหลักความเชื่อมั่นในหัวใจนั้น ไม่มีผู้ใดสามารถจะถูกบังคับได้ ดังดำรัสของอัลลอฮ์ ที่ว่าทั้งนี้ ก็เพราะว่า พวกเขาพึงพอใจเลือกเอาชีวิตในโลกดุนยานี้ ยิ่งกว่าเลือกเอาโลกอาคิเราะฮ์
และแท้จริงอัลลอ์ฮ์ จะไม่ทรงชี้แนะแนวทางที่ถูกต้องให้แก่กลุ่มชนผู้ปฏิเสธศรัทธา ( อันนะฮ์ล / 107 )
จึงเป็นที่ชัดเจนว่าการลงโทษ (อะซาบ) มิใช่เพราะมีสาเหตุมาจากหลักเชื่อมั่น (อัลอิอ์ติกอด) ความโฉดเขลา(อัลญะฮ์ล) การโกรธเกลียดเพื่อศาสนา หรือ การรักชอบการปฏิเสธศรัทธา (กุฟร) หากแต่สาเหตุของมันคือ ต้องการรับโชคลาภและส่วนแบ่งของโลกดุนยา ดังนั้นจึงส่งผลทำให้เขาลุ่มหลง เทิดทูนดุนยามากกว่าในเรื่องของศาสนา อัลลอฮ์ ทรงรอบรู้ที่สุด (والله أعلم )และหลังจากนี้แล้วก็เป็นเรื่องของคุณที่จะพิจารณาเอาเอง ขออัลลอฮ์ ทรงนำทางให้คุณด้วย ให้คุณสารภาพผิดกลับเนื้อกลับตัวกลับไปหาพระเจ้าของคุณ กลับไปหาพระองค์ และละทิ้งหรือเลิกสิ่งที่คุณได้ทำมาแล้วเสีย เพราะสิ่งที่ได้ยินได้ฟังมานั้น เป็นเรื่องที่เป็นอันตรายอย่างยิ่ง และปัญหานี้เป็นเรื่องสำคัญใหญ่หลวงยิ่งนัก
อับดุนนบีย์ : ผมขออภัยโทษต่ออัลลอฮ์และขอสารภาพผิดกลับเนื้อกลับตัวต่อพระองค์ และขอปฏิญาณว่า ไม่มีพระเจ้าอื่นใดนอกจากอัลลอฮ์ และแท้จริง ท่านนะบีมุฮัมมัดนั้น เป็นเราะซูลของอัลลอฮ์ ผมขอปฏิเสธต่อทุกสิ่ง ที่ผมเคยเคารพอิบาดะฮ์ที่นอกเหนือไปจากอัลลอฮ์ และผมขอต่ออัลลอฮ์ ทรงยกโทษให้แก่ผมในสิ่งที่แล้วมา และขอพระองค์ทรงขจัดให้หมดสิ้นไปจากผมด้วย ขอพระองค์ทรงปฏิบัติต่อผมด้วยความละมุนละม่อม นุ่มนวล ด้วยกับการให้อภัย และด้วยความเอ็นดูเมตตาของพระองค์ และโปรดให้ผมได้ยืนหยัดอยู่บนหลักการเตาว์ฮีด และมีอะกีดะฮ์ที่ถูกต้อง จนกระทั่งผมได้กลับไปพบกับพระองค์ด้วยเถิดผมขอต่ออัลลอฮ์ ทรงตอบแทนคุณความดีให้แก่คุณอับดุลเลาะฮ์ ที่ได้ให้คำแนะนำตักเตือนแก่ผม เพราะศาสนานั้นคือ การตักเตือนกัน และได้ปฏิเสธการทำสิ่งไม่ถูกต้อง ไม่ดีไม่งาม ที่ผมเคยเป็นอยู่ นั่นคือ ชื่อของผม ที่ชื่อ อับดุนนบีย์ และผมขอบอกคุณด้วยว่า ผมได้เปลี่ยนชื่อใหม่แล้วมาเป็น อับดุรเราะฮ์มาน
และผมได้ปฏิเสธ มุงกัร ที่เคยมีอยู่ภายใน(อัลบาฏิน) ซึ่งเป็นหลักเชื่อมั่นที่หลงทางไปแล้ว ซึ่งหากผมได้ไปพบกับอัลลอฮ์ขณะที่ผมยังมีความเชื่อมั่นอยู่เช่นนั้น แน่นอน ผมก็ไม่มีวันที่จะได้รับชัยชนะเลยเป็นอันขาด แต่ผมอยากจะขอจากคุณเป็นประการสุดท้ายคือ ช่วยเตือนผมในบางเรื่อง ซึ่งคนส่วนมากมักจะทำผิด หรือ สับสน ด้วยเถิด
อับดุลเลาะฮ์ : ไม่เป็นไร ขอให้ตั้งใจฟังฉันให้ดีๆ นั่นคืออย่าให้ภาพลักษณ์ของคุณค้านกับกิตาบุลลอฮ์และซุนนะฮ์ ด้วยการปฏิบัติตามการขัดแย้ง เพียงเพื่ออยากมีชื่อเสียง สร้างความสับสนวุ่นวาย (ฟิตนะฮ์) และต้องการตีความให้เฉออกไปจากความเป็นจริง ทั้งๆ ที่ความเป็นจริงแล้ว ไม่มีผู้ใดรู้ในการตีความนั้นนอกจากอัลลอฮ์เท่านั้น
และจงให้ภาพลักษณ์ของคุณเป็นภาพลักษณ์ของผู้ที่มีความรู้ความเข้าใจในศาสนาอย่างแท้จริง คือ บรรดาผู้ที่กล่าวถึงเรื่องที่คลุมเครือ(อัลมุตะชาบิฮ์) และในสิ่งที่มีความเห็นไม่ตรงกันนั้นว่า เราศรัทธาต่อเรื่องนั้นแล้ว ทั้งหมดนั้นมาจากพระเจ้าของเรา ดังคำพูดของท่านเราะซูลุลอฺฮ์ ว่า
دَعْ مَا يُرِيْبُكَ إِلىَ مَا لاَ يُرِيْبُكَ (رواه أحمد والترمذي)
จงทิ้งสิ่งที่ท่านสงสัยไปยังสิ่งที่ไม่ทำให้ท่านสงสัย (บันทึกโดย อิมาม อะฮฺมัด และอัตติรมีซีย์ )
และคำพูดของท่านนะบี ที่ว่า
فَمَنْ اتَّقَى الْشُبُهَاتِ فقد اسْتَبْرَأَ لِدِينِهِ وَعِرْضِهِ وَمَنْ وَقَعَ فِي الشُّبُهَاتِ وَقَعَ فِي الْحَرَامِ (متفق عليه)
ดังนั้น ผู้ใดที่ระมัดระวังสิ่งที่คลุมเครือ สงสัย(ชุบฮาต)เท่ากับว่าเขาได้ระมัดระวังป้องกันศาสนาและเกียรติยศของเขาแล้ว
และผู้ใดที่ตกอยู่ในสิ่งที่คลุมเครือ สงสัย เท่ากับว่าเขาตกอยู่ในการกระทำสิ่งที่เป็นที่ต้องห้าม(ฮะรอม) แล้วนั่นเอง (บันทึกโดย อิมาม อัลบุคอรีย์ และอิมาม มุสลิม)
และคำพูดของท่านเราะซูล ที่ว่า
الْبِرُّ مَا اطْمَأَنَّتْ إِلَيْهِ النَّفْسُ وَالإِثْمُ مَا حَاكَ فِي النَّفْسِ وَتَرَدَّدَ فِي الصَّدْرِ وَإِنْ أَفْتَاكَ النَّاسُ وَأَفْتَوْكَ (رواه البخاري )
คุณธรรมความดี คือสิ่งที่ท่านทำแล้วทำให้จิตใจสงบ ผ่องแผ้ว สบายกาย สบายใจ ส่วนความชั่วนั้น คือ
สิ่งที่ท่านทำแล้วทำให้กระวนกระวายใจ จิตใจไม่สงบ อยู่ไม่เป็นสุข และหากมีผู้ขอให้ท่านตัดสินชี้ขาดปัญหา ต่าง ๆ ก็จงตัดสินชี้ขาดให้แก่เขา
(บันทึกโดย อิมาม อัลบุคอรีย์ )
จงระวังการทำตามอารมณ์ เพราะอัลลอฮ์ ทรงเตือนผู้ที่ทำเช่นนั้นว่า
เจ้าเคยเห็นผู้ที่ยึดเอาอารมณ์ใฝ่ต่ำของเขาเป็นพระเจ้าของเขาบ้างไหม ? ( อัลญาซิยะฮ์ / 23 )
...........
وصلى الله على محمد وعلى آله وصحبه أجمعين .
แปลโดย อ.มาลิก โยธาสมุทร
จากข้อเขียนของ ดร. มุฮัมมัด บินสุลัยมาน อัลอัชก็อรฺPart 1 >>>> Click