อัลดุลเลาะฮ์ กับ อับดุนบีย์ 5
อับดุนบีย์ : บรรดาผู้ที่อัลกุรอานระบุนั้น พวกเขามิได้กล่าวปฏิญาณว่า ไม่มีพระเจ้าอื่นใดนอกจากอัลลอฮฺ และยังปฏิเสธไม่ยอมรับท่านเราะซูล ว่าเป็นนะบี ปฏิเสธการฟื้นคืนชีพ และปฏิเสธอัลกุรอาน และถือว่าอัลกุรอานนั้น เป็นเวทย์มนต์คาถา (ซิฮี๊ร) อีกด้วยขณะที่เราปฏิญาณว่า ไม่มีพระเจ้าอื่นใดนอกจากอัลลอฮ์ และท่านนะบีมุฮัมมัดนั้น เป็นเราะซูลของอัลลอฮ์ เราเชื่อในอัลกุรอาน ศรัทธาต่อการฟื้นคืนชีพ ละหมาด และถือศีลอด แล้วพวกท่านจะให้เราไปเหมือนกับพวกนั้นได้อย่างไรกัน ?
อัลดุลเลาะฮ์ : ไม่มีความขัดแย้งในระหว่างบรรดาอุละมาอ์ทั้งมวลที่ว่า การที่คน ๆ นั้น เชื่อมั่นยอมรับในท่านเราะซูล เฉพาะในเรื่องหนึ่งเรื่องใด และปฏิเสธ ไม่เชื่อท่านในเรื่องหนึ่งเรื่องใด เขาคือ ผู้ปฏิเสธศรัทธา (กาฟิร) ในทำนองเดียวกัน เมื่อเขาศรัทธาต่ออัลกุรอานเพียงบางส่วน และปฏิเสธบางส่วนของอัลกุรอาน ก็เสมือนกับผู้ที่ยอมรับในเรื่องการให้เอกภาพแด่อัลลอฮ์ ( อัตเตาว์ฮีด ) แต่ปฏิเสธในเรื่องการละหมาด หรือ ยอมรับในเรื่องเตาว์ฮีดและการละหมาด แต่ปฏิเสธในเรื่องที่จะต้องจ่ายซะกาต หรือยอมรับในเรื่องเหล่านี้ทั้งหมด แต่กลับปฏิเสธในเรื่องการถือศีลอด หรือยอมรับในเรื่องเหล่านี้ทั้งหมด แต่กลับปฏิเสธว่าจะต้องไปทำฮัจญ์ และเมื่อผู้คนในสมัยท่านนะบี มิให้ความสำคัญในเรื่องการทำฮัจญ์ อัลลอฮ์ ประทานอัลกุรอานลงมาเพื่อให้เห็นถึงหน้าที่ของพวกเขา ดังดำรัสของพระองค์ที่ว่า
และสิทธิของอัลลอฮ์ที่มีอยู่เหนือมนุษย์ทั้งมวล คือ การมุ่งไปสู่บัยตุลลอฮฺ ( อัลบัยตฺ ) สำหรับผู้ที่สามารถจะไปถึงได้ และผู้ใดที่ปฏิเสธ ไม่เชื่อ แท้จริงอัลลอฮ์ ทรงเป็นผู้เพียงพอแล้ว โดยมิต้องทรงพึ่งพาโลกทั้งผอง ( อาละอิมรอน / 97 )
และหากเขาปฏิเสธการฟื้นคืนชีพ เท่ากับว่าเขาเป็นผู้ปฏิเสธศรัทธา ( กาฟิร )โดยมติเอกฉันท์ของปวงปราชญ์มุสลิม ด้วยเหตุนี้ อัลลอฮ์ จึงทรงระบุไว้อย่างชัดเจนในคัมภีร์ของพระองค์ว่า
ผู้ใดศรัทธาบางส่วน และปฏิเสธบางส่วน ดังนั้น เขาผู้นั้นคือ ผู้ปฏิเสธศรัทธาที่แท้จริง
พระองค์ทรงมีบัญชาให้รับอิสลามอย่างครบถ้วน และผู้ใดที่รับอิสลามเพียงบางอย่าง และละทิ้งไม่ยอมรับบางอย่าง เท่ากับว่าเขาผู้นั้นได้ปฏิเสธศรัทธาโดยสิ้นเชิงแล้วนั่นเอง แล้วคุณจะยอมรับหรือไม่ว่า ผู้ที่ศรัทธาในบางเรื่อง และละทิ้งในอีกบางเรื่องนั้นเป็นผู้ปฏิเสธศรัทธา ( กุฟรฺ ) ?
อับดุนนบีย์ : แน่นอน ผมยอมรับเช่นนั้น เพราะมันชัดแจ้งอยู่แล้วในอัลกุรอาน
อับดุลเลาะฮ์ : เมื่อเป็นเช่นนั้น คุณก็ยอมรับว่าผู้ใดที่ยอมรับและเชื่อต่อท่านเราะซูล ในสิ่งหนึ่งสิ่งใด และปฏิเสธต่อบัญญัติละหมาด ดังนั้นเขาผู้นั้นคือผู้ปฏิเสธศรัทธา (กาฟิร) โดยมติเอกฉันท์ของปวงปราชญ์ และในทำนองเดียวกัน เมื่อคุณยอมรับในทุกสิ่งนอกจากการฟื้นคืนชีพขึ้นมาในวันกิยามะฮ์ คุณก็อยู่ในกฏ ( ฮุกม ) เดียวกันนั่นเอง คือเป็นกุฟรฺ บรรดามัซฮับต่างๆ มีทัศนะเหมือนกัน และแท้จริง อัลกุรอานได้แจ้งเอาไว้ดังที่ได้ระบุมาก่อนหน้านี้แล้วจึงเป็นที่ทราบกันดีว่า การให้เอกภาพแด่อัลลอฮ์ ( อัตเตาว์ฮีด ) นั้น เป็นข้อกำหนดที่สำคัญที่ท่านนะบีมุฮัมมัด เป็นผู้นำมา มีความสำคัญยิ่งกว่าการละหมาด การจ่ายซะกาต และการไปทำฮัจญ์ เมื่อคนใดปฏิเสธดื้อดึงไม่ยอมเชื่อแม้เพียงเรื่องเดียวจากบรรดาทั้งหมดถือว่าเป็นผู้ปฏิเสธ (กาฟิร) แม้ว่าเขาจะกระทำในทุกเรื่องที่ท่านนบี นำมาก็ตาม
ฉะนั้น ในเมื่อเขาปฏิเสธไม่ยอมรับเรื่อง เตาว์ฮีด ซึ่งเป็นศาสนาของบรรดาเราะซูลทั้งมวล จะถือว่าเขามิได้ปฏิเสธศรัทธา ( กุฟรฺ ) กระนั้นหรือ? ซุบฮานัลลอฮฺ ! อัลลอฮ์ทรงมหาบริสุทธิ์ยิ่งนัก ! ความโฉดเขลาเช่นนี้ช่างน่าประหลาดเหลือเกิน !
ให้คุณได้พิจารณาบรรดาซอฮาบะฮ์ของท่านเราะซูลุลลอฮฺ ขณะที่ทำการสู้รบกับพวกบนีฮะนีฟะฮ์ ทั้ง ๆ ที่พวกเขาได้เข้ารับอิสลามกับท่านนะบี และพวกเขาก็กล่าวปฏิญาณว่า ไม่มีพระเจ้าอื่นใดนอกจากอัลลอฮ์ และท่านนะบีมุฮัมมัดนั้น เป็นเราะซูลของอัลลอฮ์ และพวกเขายังละหมาดและยังเรียกร้องเชิญชวนไปสู่อิสลาม อีกด้วย !
อับดุนนบีย์ : แต่พวกเขายืนยันว่า มุซัยละมะฮ์ เป็นนะบี แต่เรากล่าวว่า ไม่มีนะบีใด ๆ อีก หลังจากท่านนะบีมุฮัมมัด
อับดุลเลาะฮ์ : แต่ทว่าพวกคุณยกย่องท่านอาลี หรืออับดุลกอดิร หรือคนอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นบรรดานะบี หรือบรรดามลาอิกะฮ์ทั้งหลาย ให้เป็นผู้ยิ่งใหญ่แห่งบรรดาชั้นฟ้าและแผ่นดิน ก็ในเมื่อผู้ที่ยกย่องชายคนหนึ่งให้อยู่ในระดับเดียวกับท่านนะบี ยังถือเป็นการปฏิเสธศรัทธา ( กุฟรฺ ) ทรัพย์สินและชีวิตของเขาก็เป็นที่อนุมัติ (ฮะล้าล) ฉะนั้น การกล่าวคำปฏิญาณ (ชะฮาดะฮ์) ทั้งสอง และการละหมาดไม่สามารถยังประโยชน์ให้เขาแต่ประการใด แล้วผู้ที่เขายกย่องเชิดชูให้อยู่ในสถานะลำดับขั้นเดียวกับอัลลอฮ์ ยิ่งสมควรกว่าที่จะตกอยู่ในฐานะเป็นผู้ปฏิเสธศรัทธา ( กุฟรฺ ) ด้วยมิใช่หรือ ?
และบรรดาผู้ที่ท่านอาลี อิบนิ อบีฏอลิบ ใช้ให้เผาพวกเขาทั้งเป็นนั้น พวกเขาก็อ้างว่าเป็นอิสลามมิใช่หรือ ? และยังเป็นพรรคพวกของท่านอาลี ด้วยมิใช่หรือ ? และก็ศึกษาหาวิชาความรู้จากบรรดาซอฮาบะฮ์มิใช่หรือ ? แต่ทว่า พวกเขามีความเชื่อต่อท่านอาลี เหมือนกับผู้ที่มีความเชื่อต่ออับดุลกอดิรและคนอื่นๆ บรรดาซอฮาบะฮ์จึงมีมติเป็นเอกฉันท์ให้ประหารชีวิตพวกเขา และถือว่าพวกเขาเป็นผู้ปฏิเสธศรัทธา ( กุฟรฺ ) ได้อย่างไร ?คุณนึกบ้างหรือไม่ว่า ซอฮาบะฮ์พิพากษาตัดสินบรรดามุสลิมว่าเป็นกาฟิรได้อย่างไร ?
หรือคุณนึกบ้างหรือไม่ว่า ความเชื่อที่มีต่อ อัซซัยยิด และคนอื่นๆ ในทำนองนั้นไม่เป็นพิษเป็นภัย ไม่เป็นโทษ ? และความเชื่อที่มีต่อท่านอาลี นั้น ไม่เป็นการกุฟรฺ ?
มีการกล่าวกันอีกว่าในเมื่อบรรดาชนรุ่นแรก ๆ มิได้ตัดสินใครว่าเป็นผู้ปฏิเสธ เว้นแต่ผู้ที่รวมไว้ระหว่างการทำชิริก และปฏิเสธท่านเราะซูล ปฏิเสธอัลกุรอานและปฏิเสธการฟื้นคืนชีวิตขึ้นมาใหม่ในวันกิยามะฮ์ ฯลฯ บทที่บรรดาอุละมาอ์ทุกมัซฮับ คือ ฮุกมของมุรตัด ผู้ที่สิ้นสภาพจากการเป็นมุสลิม ซึ่งล้วนแต่เป็นการกุฟรฺทั้งสิ้น ทำให้เลือดเนื้อและทรัพย์สินของพวกเขาเป็นที่อนุมัติ แม้กระทั่งถ้อยคำที่เปล่งออกมาโดยไม่ได้มาจากหัวใจ หรือคำพูดพล่อย ๆ เล่น ๆ สนุก ๆ ดังที่อัลลอฮ์ ตรัสว่า
( มุฮัมมัด ) จงกล่าวเถิดว่า ด้วยกับอัลลอฮ์และบรรดาอายาตของพระองค์ ตลอดจนบรรดาเราะซูลของพระองค์กระนั้นหรือ ที่พวกท่านพากันเย้ยหยัน ? ( อัตเตาว์บะฮฺ / 65 )
พวกเหล่านี้คือบรรดาผู้ที่อัลลอฮ์ ทรงระบุอย่างชัดเจนว่าเป็นผู้ปฏิเสธศรัทธา ภายหลังจากที่พวกเขาได้ศรัทธากันมาก่อน ทั้งๆ ที่พวกเขาอยู่กับท่านเราะซูลุลลอฮฺ ในสมรภูมิตะบู๊ก พวกเขากล่าวถ้อยคำที่เป็นที่ตลกขบขันอัลลอฮ์ ทรงเล่าให้ฟังเกี่ยวกับบนีอิสรออีลที่เข้ารับอิสลาม วิชาความรู้และการปรับปรุงแก้ไขของพวกเขา ดังที่พวกเขากล่าวแก่มูซาว่า
โอ้ มูซา จงให้มีสิ่งสักการะสักองค์หนึ่งแก่พวกเรา (อัลอะอ์ร็อฟ / 138 )
และซอฮาบะฮ์ของท่านเราะซูลจำนวนหนึ่งกล่าวว่า
จงให้มีต้นไม้สักต้นหนึ่งแก่พวกเรา เหมือนกับที่บรรดาพวกมุชริกเขามีกัน เพื่อการเคารพสักการะด้วยเถิด
ท่านนะบี จึงสาบานว่าคำพูดดังกล่าวนั้น เหมือนกับคำพูดของบนีอิสรออีลที่ว่า
จงให้มีสิ่งสักการะสักองค์หนึ่งแก่พวกเรา เช่นเดียวกับที่พวกเขา ( บนี อิสรออีล ) มีสิ่งเป็นที่สักการะหลาย ๆ องค์ด้วยเถิด ( อัลอะอ์ร็อฟ / 138 )
อับดุนนบีย์ : แต่ทว่า บนีอิสรออีลและบรรดาผู้ที่ขอให้ท่านนะบี ให้พวกเขามีต้นไม้ศักดิ์สิทธิ์ (ซาติอันว๊าฎ) ด้วยการขอเช่นนั้น พวกเขาก็มิได้เป็นกาฟิร นี่ !
อับดุลเลาะฮ์ : คำตอบคือ ที่จริง บนี อิสรออีล และบรรดาผู้ที่ขอต่อท่านนะบี นั้น ยังมิได้ กระทำ และหากว่าพวกเขาทำ แน่นอน พวกเขา คือ ผู้ปฏิเสธศรัทธา และผู้ที่ห้ามพวกเขาคือ ท่านนะบี หากพวกเขาไม่เชื่อฟังท่านนะบี และหันไปยึดต้นไม้เป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ภายหลังจากที่ได้ถูกห้ามปรามแล้ว แน่นอนพวกเขาก็คือผู้ปฏิเสธศรัทธานั่นเอง
อันดุนนบีย์ : แต่ทว่าผมยังมีข้อสงสัยอื่นอีก นั่นก็คือ เรื่องของอุซามะฮ์ บิน ซัยดฺ ขณะที่เขาฆ่า ผู้ที่กล่าวว่า ลาอิลาฮะ อิลลัลลอฮ์ และปฏิเสธไม่ยอมรับท่านนะบี และคำพูดของท่านนะบีที่ว่า ท่านฆ่าเขาภายหลังจากที่เขากล่าวคำว่า ลาอิลาฮะ อิลลัลลอฮ์ กระนั้นหรือ ? ในขณะเดียวกับที่ท่านนะบี พูดว่าأُمِرْتُ أنْ أَقَاتِلَ الناَّسَ حَتىَّ يَقُوْلُوْا لاَ إِلهَ إِلاَّ الله
ฉันได้รับบัญชาให้สู้รบกับผู้คน จนกว่าพวกเขาจะกล่าวคำว่า " ลาอิลาฮะ อิลลัลลอฮ์ " ไม่มีพระเจ้าอื่นใดนอกจากอัลลอฮ์แล้วฉันจะรวมระหว่างสิ่งที่คุณพูดกับระหว่างฮะดีษทั้งสองอย่างไรดี ? ได้โปรดชี้แนะให้กับฉันด้วย แล้วอัลลอฮ์ จะทรงชี้แนะให้กับคุณ !
อับดุลเลาะฮ์ : คำตอบคือ เป็นที่ทราบดีว่า ท่านเราะซูลุลลอฮฺ นั้น สู้รบกับพวกยิวและปราบปรามพวกเขา ทั้ง ๆ ที่พวกเขากล่าวว่า ลาอิลาฮะ อิลลัลลอฮ์ และบรรดาซอฮาบะฮ์ ของท่านเราะซูลุลลอฮฺ ก็สู้รบ กับบนีฮะนีฟะฮ์ ทั้ง ๆ ที่พวกเขากล่าวปฏิญาณว่า ลาอิลาฮะ อิลลัลลอฮ์ มุฮัมมัด ร่อซูลุลลอฮฺ พวกเขาละหมาด เรียกร้องเชิญชวนไปสู่อิสลามอีกด้วย ก็เหมือนกับกรณีที่ท่านอาลี ทำการเผาพวกนั้นนั่นเอง
และคุณก็ยืนยันแล้วว่า ผู้ใดที่ปฏิเสธการฟื้นคืนชีพในวันกิยามะฮ์ (อัลบะอ์ซ) ให้ถือว่าเป็นผู้ปฏิเสธศรัทธา ต้องถูกประหารชีวิต แม้ว่าเขาจะกล่าวว่า คำว่า ลาอิลาฮะ อิลลัลลอฮ์ ก็ตาม และผู้ใดที่ปฏิเสธหลักการใดจากรุกุนอิสลามถือว่า เป็นผู้ปฏิเสธศรัทธา และต้องถูกประหารชีวิต ถึงแม้ว่าเขาจะกล่าวคำว่า ลาอิลาฮะ อิลลัลลอฮ์ และเมื่อผู้ใดปฏิเสธ ไม่ยอมรับสิ่งหนึ่งสิ่งใดที่เป็นข้อปลีกย่อย คำว่า ลาอิลาฮะ อิลลัลลอฮ์ ก็จะไม่ยังประโยชน์ เมื่อเขาได้ปฏิเสธหลักเตาว์ฮีดซึ่งเป็นรากฐานทางศาสนาของบรรดาเราะซูล และเป็นสิ่งสำคัญที่สุดของศาสนา แล้วคำว่า ลาอิลาฮะ อิลลัลลอฮ์ จะยังประโยชน์แก่เขาได้อย่างไร ? คุณไม่เข้าใจความหมายของฮะดีษเหล่านี้ต่างหาก !สำหรับฮะดีษ อุซามะฮ์นั้น เขาได้ฆ่าชายคนหนึ่งที่อ้างว่าได้เข้ารับอิสลาม ด้วยสาเหตุที่ว่า เขา( อุซามะฮ์) คาดเดาเอาเองว่าชายคนนั้นกล่าวอ้างออกมาเพียงเพราะกลัวชีวิตและทรัพย์สินของเขาเท่านั้นเอง ! แต่สำหรับผู้ที่ประกาศตนเป็นอิสลามโดยเปิดเผยนั้น จำเป็นที่จะต้องระงับยับยั้งไม่ทำอันตรายจนกว่าจะแยกแยะได้ชัดเจนว่าเป็นจริงหรือไม่ เสียก่อน และอัลลอฮ์ ได้ประทานอัลกุรอานลงมาว่า
โอ้ บรรดาผู้ที่ศรัทธาแล้วทั้งหลาย เมื่อพวกเจ้า ออกไปทำสงครามในหนทางของอัลลอฮ์ ก็จงให้เป็นที่ประจักษ์ ชัดเจนเสียก่อน ( อันนิซาอ์ / 94 )
อายะฮ์ชี้ให้เห็นว่า จำเป็นจะต้องระวังยับยั้งไว้หากเป็นที่ประจักษ์ชัดแจ้ง หลังจากนั้นหาก มีสิ่งที่ขัดแย้งกับอิสลามปรากฏชัด จึงค่อยจัดการกับเขาผู้นั้น ดังดำรัสของอัลลอฮ์ ที่ว่า
ดังนั้น พวกเจ้าจงทำให้เป็นที่ประจักษ์ชัดแจ้งเสียก่อน( อันนิซาอ์ / 94 )
หากเขายังไม่ถูกสังหาร และได้กล่าวถ้อยคำนี้ออกมาคงจะไม่ปรากฏความหมายของคำว่า อัตตะซับบุต (การยืนยันความชัดเจน) ในทำนองเดียวกับฮะดีษอื่นๆ และตัวอย่างอื่นๆ ซึ่งมีความหมายคล้ายคลึงกัน ดังที่ได้กล่าวมาแล้ว
แท้จริง ผู้ที่ประกาศการเตาว์ฮีดอิสลามออกมาอย่างเปิดเผย จะต้องไม่ไปทำอะไร นอกจากมีหลักฐานชัดเจนว่า ได้กระทำการขัดแย้งและค้านกับศาสนา และหลักฐานในเรื่องนี้คือ คำกล่าวของท่านเราะซูลุลลอฮฺ ที่ว่า
أَقَتَلْتَهُ بَعْدَ مَا قَالَ لاَ إِلَهَ إِلاَّ اللهُ ؟
ท่านฆ่าเขาภายหลังจากที่เขากล่าวคำว่า ลาอิลาฮะ อิลลัลลอฮ์ กระนั้นหรือ ?
และท่านนบี ยังกล่าวอีกว่า
أُمِرْتُ أَنْ أُقَاتِلَ الناَّسَ حَتىَّ يَقُوْلُوْا لاَ إِلهَ إِلاَّ اللهُ
ฉันได้รับบัญชาให้สู้รบกับผู้คน จนกว่าพวกเขาจะกล่าวคำว่า ลาอิลาฮะ อิลลัลลอฮ์
นั่นคือ พูดถึงพวก คอวาริจญ์ ที่ว่า
أَيْنَمَا لَقِيْتُمُوْهُ فَاقْتُلُوْهُمْ
ไม่ว่าพวกท่านจะพบพวกเขา ณ ที่ใด ก็จงฆ่าพวกเขาเสีย
ทั้งๆ ที่พวกเขาเป็นกลุ่มชนที่อิบาดะฮ์ต่ออัลลอฮ์ และกล่าวคำว่า ลาอิลาฮะ อิลลัลลอฮ์ มากที่สุดก็ตาม จนกระทั่ง บรรดาซอฮาบะฮ์ได้จับพวกเขาเผาทั้งเป็น และทั้ง ๆ ที่พวกเขาศึกษาหาความรู้มาจากบรรดาซอฮาบะฮ์ แต่คำว่า ลาอิลาฮะ อิลลัลลอฮ์ ก็ไม่ยังประโยชน์ใดๆ แก่พวกเขาเลย ไม่ว่าพวกเขาจะทำอิบาดะฮ์มากมายขนาดไหน ไม่ว่าพวกเขาจะอ้างตนว่าเป็นอิสลามที่ปฏิบัติตนเคร่งครัดแค่ไหน แต่เมื่อการกระทำของพวกเขาที่ค้านกับบทบัญญัติอิสลามอย่างชัดเจน แน่นอน ผลงานที่เกิดขึ้นจาก การกระทำของพวกเขาก็ไร้ผลโดยสิ้นเชิงนั่นเอง !
อับดุนนบีย์ : แล้วคุณจะว่าอย่างไร สำหรับฮะดีษที่ท่านนะบี ที่ว่าأَنَّ النَّاسَ يَوْمَ الْقِيَامَةِ يَسْتَغِيْثُوْنَ بِآدَمَ ثُمَّ بِنُوْح ثُمَّ بِإِبْرَاهِيْمَ ثُمَّ بِمُوْسَى ثُمَّ بِعِيْسَى فَكُلُّهُمْ يَعْتَذِرُوْنَ حَتَّى تَنْتَهِيَ إِلى رَسُوْلِ اللهِ صلى الله عليه وسلم
ในวันกิยามะฮ์ ผู้คนจะพากันไปหาท่านนะบีอาดัม เพื่อขอให้ช่วยเหลือ แล้วก็ไปที่ท่านนะบี นู๊ฮฺ ต่อมาก็ไป ที่ท่านนะบีอิบรอฮีม ต่อมาก็ไปที่ท่านนะบีมูซา ต่อมาก็ไปที่ท่านนะบีอีซา เพื่อขอให้ช่วยเหลือ แต่ทั้งหมดต่างก็ขอตัว ไม่กล้าอาสา จนกระทั่ง มาสิ้นสุดลงที่ท่านร่อซูลุลลอฮฺ
ดังนั้น เป็นการชี้ให้เห็นว่า การขอความช่วยเหลือ (อัลอิสติฆอซะฮ์) ต่อผู้อื่น นอกจากอัลลอฮ์นั้น มิใช่เป็นการชิริก ใช่หรือไม่ ?
Part 1 >>>> Click Part 2 >>>> Click Part 3>>>> Click Part 4 >>>> Click
Part 5 >>>> Click Part 6 >>>> Click
แปลโดย อ.มาลิก โยธาสมุทร
จากข้อเขียนของ ดร. มุฮัมมัด บินสุลัยมาน อัลอัชก็อรฺ