60 คำถาม เกี่ยวกับรอบเดือน และน้ำคาวปลา(41-50)
  จำนวนคนเข้าชม  23878

60 คำถาม   เกี่ยวกับรอบเดือน(หัยฎ์) และน้ำคาวปลา(นิฟาส)

 

โดย: เชคมุหัมมัด  อิบนุ ศอลิห์ อัลอุษัยมีน 

 

(41)  คำถาม  อวัยวะหรือเสื้อผ้าที่ถูกน้ำสีขาวที่ออกมาจากอวัยวะเพศจะทำอย่างไร  ?

           คำตอบ  ถ้าน้ำสีขาวออกมาจากกระเพาะปัสสาวะ ถือว่าเป็นนะญิสต้องชำระล้างให้สะอาด

 

(42) คำถาม การอาบน้ำละหมาดของสตรีที่อยู่ในภาวะมีน้ำออกตลอดเวลานั้น จะเพียงพอกับการล้างอวัยวะ หรือไม่อย่างไร ?

          คำตอบ  ถ้าน้ำออกมาจากมดลูก  ก็เพียงพอแล้วกับการล้างอวัยวะ เท่านั้น  

 

(43) คำถาม  เพราะเหตุใดไม่มีการรายงานฮะดีษจากท่านนะบี  ในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการเสียน้ำละหมาดของสตรีที่อยู่ในภาวะมีน้ำออกตลอดเวลา ทั้งๆที่สตรีสมัยท่านนะบี  มีความตระหนักในเรื่องนั้นมาก? 

          คำตอบ  เพราะน้ำที่ออกมาในลักษณะดังกล่าวได้มีกับสตรีบางคนเท่านั้น

 

(44) คำถาม สตรีที่อยู่ในภาวะมีน้ำไหลออกมาตลอดเวลาบางคนไม่อาบน้ำละหมาด เนื่องจากความไม่เข้าใจเกี่ยวกับสิ่งที่ต้องปฏิบัติในกรณีดังกล่าว จะมีข้อปฏิบัติอย่างไรบ้าง ?

          คำตอบ  เธอจะต้องขออภัยโทษ(เตาบะฮ์)ต่ออัลลอฮ์   และต้องเรียนรู้หรือถามนักวิชาการในเรื่องนั้น

 

(45) คำถาม  มีบางคนเข้าใจว่าการที่สตรีไม่ต้องอาบน้ำละหมาดในกรณีดังกล่าว เป็นความเห็นของท่าน(ผู้ตอบปัญหา) เอง จริงหรือไม่   ?

          คำตอบ  ไม่เป็นความจริง ที่จริงแล้วเขาเข้าใจไปเองว่าเมื่อน้ำที่ไหลออกมานั้น ไม่เป็นนะญิส เลยคิดว่าไม่ต้องอาบน้ำละหมาด  ที่จริงเธอต้องอาบน้ำละหมาด แม้ว่าสิ่งที่ไหลออกมาจะสะอาด หรือเป็นนะญิสก็ตาม  

 

(46) คำถาม  ตกขาวที่ออกจากอวัยวะของสตรีก่อนที่จะมีรอบเดือน  1 วัน หรืออาจจะมากหรือน้อยกว่านั้น บางครั้งออกมาเสมือนเส้นด้ายเล็กๆสีดำหรือสีน้ำตาลจะปฏิบัติอย่างไร ? และถ้ามีตกขาวออกมาหลังจากเลือดรอบเดือนจะมีข้อปฏิบัติอย่างไร ?

          คำตอบ  ถ้าตกขาวออกมาก่อนรอบเดือน ก็ถือว่าเป็นเลือดรอบเดือน ซึ่งจะรู้ได้ด้วยอาการปวด ส่วนน้ำขุ่นที่ออกมาหลังเลือดรอบเดือนนั้น  สตรีต้องรอจนหมด เพราะน้ำสีขาวขุ่นที่ออกมาต่อเนื่องหลังจากรอบเดือน ให้ถือว่าเป็นรอบเดือน

ท่านหญิงอาอีชะฮ์  ได้กล่าวไว้ว่า

لاتعجلنّ حتى ترَيْنَ القصّة البيضاء ) رواه البخاري )

                "พวกเจ้าทั้งหลาย (ซึ่งหมายถึงสตรีเพศ) จงอย่ารีบอาบน้ำยกฮะดัษ จนกว่าพวกนางจะเห็นสิ่งที่คล้ายเส้นด้ายขาวออกมาได้ชัดเจน" 

 

(47) คำถาม สตรีที่กำลังมีรอบเดือน เขาจะละหมาดสุนัต อิฮะรอม  سنة احرام)  2 ) รอกอัต  ได้อย่างไร ? และสตรีเหล่านั้นจะทบทวนอ่านอัลกุรอานในใจได้หรือไม่ ?

คำตอบ 

          1.  พวกเราควรเข้าใจไว้อย่างหนึ่งว่า การละหมาดอิฮ์รอม ไม่มีแบบอย่างจากท่านนะบี    ทั้งคำพูดและการกระทำ

          2. สตรีที่กำลังมีรอบเดือน ถ้าหากมีรอบเดือนก่อนที่จะอิฮ์รอม เธอสามารถอิฮ์รอมได้  แม้จะมีรอบเดือนก็ตาม  ท่านนะบี  ใช้ให้นางอัสมะอ์ บินตี อูมายส์ ภริยาของท่านอบูบักร์ รอฎียัลลอฮ์ฮูอันฮุ  ในขณะที่เธอมีนิฟาส ที่บริเวณเขตการทำฮัจญ์หรือมีกอต(ميقات) ซุลฮุลัยฟะฮ์  ณ ที่นั้นท่านใช้ให้ เธออาบน้ำ เปิดหน้า และทำการอิฮ์รอม  เช่น เดียวกันกับสตรีที่มีรอบเดือน โดยให้อยู่ในสภาพผู้ทำอิฮ์รอม จนกว่าจะหมดรอบเดือน แล้วจึงทำการตอวาฟ(طواف) และซะแอ(سعي)

          ส่วนคำถามว่า สามารถอ่านอัลกุรอานได้หรือไม่?  คำตอบคือ ได้ เมื่อมีความจำเป็น  ส่วนอ่านเพื่อที่จะได้ผลบุญนั้น ทางที่ดีแล้วไม่ควรที่จะอ่าน

 

(48) คำถาม การที่สตรีเดินทางไปประกอบพิธีฮัจญ์  มีรอบเดือนมาก่อนแล้วเป็นเวลา 5 วัน นับจากวันที่ออกเดินทาง และเมื่อมาถึง ณ บริเวณเขตมีกอต(ميقات) เพื่อจะเข้าพิธีการทำฮัจญ์ เธออาบน้ำและเริ่มกระบวนการทำอิฮ์รอม(احرام)  เมื่อเดินทางถึงเมืองมักกะฮ์ ก็ยังอยู่ในสภาวะที่มีรอบเดือนอยู่ ครั้นเมื่อมาอยู่ที่มีนา(منى) ได้สองวันโดยที่ยังไม่ได้ประกอบพิธีเกี่ยวกับฮัจญ์ หรืออุมเราะฮ์  กระทั่งเมื่อเธอสะอาดจากรอบเดือน จึงอาบน้ำยกฮะดัษ และได้ทำอุมเราะฮ์  ต่อมาขณะที่กำลังตอวาฟอิฟาเฎาะห์(طواف إفاضة) เพื่อทำพิธีฮัจญ์ เลือดรอบเดือนก็มีมาอีกครั้ง  แต่เธอได้ประกอบพิธีฮัจญ์จนเสร็จสิ้น  เกี่ยวกับเรื่องนี้ พ่อของเธอไม่ได้กล่าวอะไรเลย จนเมื่อกลับถึงบ้านแล้ว  กรณีอย่างนี้จะมีข้อบัญญัติให้ปฏิบัติอย่างไร ?   

          คำตอบ  ในกรณีเช่นนี้ มีวิธีปฏิบัติคือ ถ้าเลือดที่ออกมาตอนที่กำลังตอวาฟนั้นเป็นเลือดรอบเดือน การตอวาฟอิฟาเฏาะฮ์นั้น ใช้ไม่ได้  ฉะนั้นเธอจะต้องกลับมายังมักกะฮ์ (مكة) เพื่อทำการตอวาฟอิฟาเฎาะฮ์ใหม่ แล้วทำอุมเราะห์ จากมิกอต แล้วทำการตอวาฟ ซะแอขลิบหรือตัดผม หลังจากนั้นให้ทำการตอวาฟอิฟาเฎาะห์  แต่ถ้าหากว่าเลือดที่ออกมานั้นไม่ใช่เลือดรอบเดือน การตอวาฟของเธอถือว่าใช้ได้ ในทัศนะของนักวิชาการที่ไม่ได้กำหนดเงื่อนไขว่าต้องปราศจากนะญิส 

          ส่วนกรณีที่เธอไม่สามารถที่จะกลับไปยังมักกะห์ เพื่อที่จะตอวาฟอิฟาเฎาะฮ์ใหม่ได้ เนื่องจากการเดินทางไกล การประกอบพิธีฮัจญ์ของเธอนั้น ถือว่าใช้ได้แล้ว

 

(49) คำถาม สตรีได้ไปประกอบพิธีอุมเราะฮ์กับสามี ครั้นเมื่อมาถึงเมืองมักกะฮ์ เธอมีรอบเดือนแต่สามีต้องเดินทางกลับด่วน ทำให้เธอไม่มีผู้ปกครองที่จะดูแล เธอจะปฎิบัติอย่างไร ?

          คำตอบ  เธอต้องเดินทางกลับพร้อมสามี แล้วเมื่อหมดรอบเดือน เธอต้องไปทำต่อในพิธีที่ยังค้างอยู่ หากมีภูมิลำเนาใกล้กับมักกะฮ์ แต่ถ้าอยู่ไกลมีความยากลำบากที่จะเดินทางไปอีกครั้ง  เธอต้องปกปิดช่องคลอดให้แน่น เพื่อห้ามเลือดไม่ให้ไหลออกมา แล้วทำการตอวาฟ ซะแอแล้วตัดหรือขลิบผม ถือเป็นการสิ้นสุดการทำอุมเราะฮ์ในการเดินทางครั้งนี้ เพราะถือว่าเธอมีความจำเป็น

 

(50) คำถาม สตรีที่มีรอบเดือนในระยะเวลาการทำฮัจญ์  การทำฮัจญ์นั้นจะใช้ได้หรือไม่ ?

          คำตอบ  เรื่องนี้ยังตอบไม่ได้ จนกว่าจะรู้ว่า เธอมีรอบเดือนตอนไหน เพราะบางกิจกรรมของพิธีฮัจญ์นั้น สามารถประกอบพิธีได้ในช่วงมีรอบเดือน   แต่บางพิธีก็ทำไม่ได้  เช่น การตอวาฟจะกระทำไม่ได้ นอกจากสตรีที่สะอาดจากรอบเดือน ส่วนพิธีอื่นๆสามารถกระทำได้  โดยไม่จำเป็นต้องสะอาดจากรอบเดือน

 

 

คำถาม ข้อที่          1-10          11-20          21-30          31-40          41-50          51-60 

 

แปลและเรียบเรียง

อ.มีลีกอดียา จาปะกียา

อ.ซาอูเดาะห์  แฉ๊ะ

อ.ซูบัยดะห์  อูมา