60 คำถาม เกี่ยวกับรอบเดือนและน้ำคาวปลา(21-30)
  จำนวนคนเข้าชม  13020

60 คำถาม   เกี่ยวกับรอบเดือน(หัยฎ์) และน้ำคาวปลา(นิฟาส)

 

โดย: เชคมุหัมมัด  อิบนุ ศอลิห์ อัลอุษัยมีน 

 

(21) คำถาม  เมื่อสตรีมีรอบเดือนในช่วงเวลาบ่ายโมง และยังไม่ได้ละหมาดดุฮ์ริ  เธอจะต้องละหมาดชดทดแทน หรือไม่หลังจากที่สะอาดจากการมีรอบเดือนแล้ว ?

          คำตอบ  เกี่ยวกับกรณีนี้นักวิชาการได้แสดงทัศนะไว้หลายทัศนะที่แตกต่างกันออกไป ดังนี้:
  
          นักวิชาการบางท่านกล่าวว่า  เธอไม่ต้องละหมาดชดทดแทน เพราะเวลาละหมาดนั้น อนุญาตให้ทอดเวลาได้ไปจนถึงท้ายเวลาของดุฮ์ริ และบางทัศนะกล่าวว่า ต้องละหมาดชดทดแทน  เพราะท่านนะบี ได้กล่าวไว้ว่า:

من أدرك ركعة من الصلاة فقد أدرك الصلاة ) رواه : مسلم )

“ผู้ใดที่ทันละหมาดเพียงหนึ่งรอกอัต ถือว่าเขาทันละหมาดทั้งหมด”
 

          ในทางที่ดีแล้วสตรีควรที่จะละหมาดทดแทน เพราะเป็นการละหมาดเพียงหนึ่งเวลาเท่านั้น ซึ่งไม่เป็นการยากลำบากสำหรับเธอที่จะทดแทนได้

 

(22) คำถาม  เมื่อสตรีมีครรภ์และเกิดเห็นว่ามีเลือดออกมาก่อนถึงวันคลอด  1-2 วัน เธอจะต้องงดการละหมาดและการถือศีลอดหรือไม่อย่างไร ?

          คำตอบ  เมื่อสตรีเกิดเห็นว่ามีเลือดออกมาก่อนถึงกำหนดวันคลอด 1-2 วัน ถ้ามีอาการเจ็บปวด ถือว่าเลือดที่ออกมานั้นเป็นนิฟาส เพราะฉะนั้นไม่จำเป็นต้องละหมาดและถือศีลอด แต่ถ้าไม่มีอาการเจ็บปวด ให้ถือว่าเลือดที่ออกนั้นเป็นเลือดเสีย ซึ่งไม่มีผลใดๆ เธอจะต้องละหมาดและถือศีลอดตามปกติ

 

(23) คำถาม การรับประทานยาเพื่อไม่ให้มีรอบเดือนในเดือนรอมาฎอน เพื่อที่จะได้ถือศีลอดทุกวัน ท่านมีความคิดเห็นอย่างไร ?

         คำตอบ  ข้าพเจ้าอยากจะให้สตรีทุกคนหลีกเลี่ยงการรับประทานยาประเภทนี้ เพราะตามความเห็นของแพทย์ นั้นมันเป็นยาที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ และขอเตือนสตรีทุกท่านว่าการมีรอบเดือนนั้น เป็นธรรมชาติที่อัลลอฮ์   ทรงกำหนด ฉะนั้นต้องยอมรับกับความเป็นธรรมชาติของสตรีเพศและจงถือศีลอดเมื่อไม่มีเหตุต้องห้าม และจงงดการถือศีลอด เมื่อมีเหตุต้องห้าม เพื่อเป็นการยอมรับในสิ่งที่อัลลอฮ์ ทรงกำหนด

 

(24)  คำถาม  เมื่อสตรีรู้สึกมีเลือดออกมาเล็กน้อย หลังจากสะอาดจากนิฟาสแล้ว 2 เดือน จะต้องปฏิบัติอย่างไร ?

          คำตอบ  ปัญหาของสตรีในเรื่องรอบเดือนและนิฟาสนั้นมีมาก  เปรียบเสมือนทะเลที่ไม่มีชายหาด  สาเหตุมาจากการรับประทานยาบางชนิด ส่วนมากแล้วพวกเราจะไม่เข้าใจเกี่ยวกับปัญหาอันมากมายเหล่านี้  ปัญหาเกี่ยวกับกลุ่มสตรีมีมากมาย และเกิดขึ้นมาตั้งแต่สมัยท่านนะบี  หรือเกิดขึ้นพร้อมๆกับการเกิดสตรีในโลกนี้ก็ว่าได้  แต่เป็นที่น่าเสียใจว่าปัญหาส่วนใหญ่ไม่สามารถศึกษาได้อย่างละเอียด อย่างไรก็ตามหลักการที่แน่นอนคือ เมื่อสตรีสิ้นสุดหรือสะอาดจากรอบเดือนหรือนิฟาส ก็ถือว่าผู้นั้นสามารถที่จะละหมาด ถือศีลอด และมีเพศสัมพันธ์กับสามีได้  แต่ต้องระมัดระวัง ไม่รีบร้อน จนกว่าจะแน่ใจว่าสะอาดแล้ว เนื่องจากมีสตรีบางคนเมื่อเห็นเลือดหยุดจึงอาบน้ำทันที โดยไม่แน่ใจว่าสะอาดจริงหรือไม่ บรรดาภริยาของเหล่าบรรดาซอฮาบะห์ได้ส่งสำลีที่เปื้อนด้วยเลือดไปให้ท่านอาอีซะฮ์ ภริยาของท่านนะบี 

         อาอิชะฮ์ ได้กล่าวกับสตรีเหล่านั้นว่า " พวกเธอจงอย่ารีบร้อน จนกว่าจะเห็นเส้นขาว ( น้ำสีขาวไหลออกมาหลังสิ้นสุดรอบเดือน )"

 


(25) คำถาม  สตรีบางคนมีรอบเดือนตลอด บางครั้งขาดเพียง 1  หรือ 2 วัน แล้วก็มีอีก  เหตุการณ์ในลักษณะนี้มีผลต่อการถือศีลอดและการละหมาดตลอดจนอิบาดะห์อื่นๆ หรือไม่อย่างไร ?

          คำตอบ  นักวิชาการส่วนใหญ่ให้ทัศนะว่า สตรีที่มีระยะเวลาการมีรอบเดือนเป็นปกติเมื่อพ้นกำหนดระยะเวลานั้นๆ เธอต้องอาบน้ำยกฮาดัษ ต้องละหมาด และต้องถือศีลอดตามปกติ ส่วนสิ่งที่เห็นออกมาหลังจากนั้น 2 หรือ 3 วันถือว่าไม่ใช่รอบเดือน เพราะตามความเห็นของนักวิชาการระยะเวลาของการปราศจากรอบเดือนที่สั้นที่สุด คือ 13 วัน แต่นักวิชาการบางท่านมีความเห็นว่า เมื่อสตรีมีเลือดออกมา ก็ถือว่าเป็นรอบเดือน หากไม่มีเลือดก็ไม่มีรอบเดือน ถึงแม้ว่าระยะเวลาห่างกันจะไม่ถึง 13 วันก็ตาม  

 

(26) คำถาม ในเดือนรอมาฎอนระหว่างสตรีละหมาดที่บ้านกับสตรีละหมาดที่มัสญิด แบบไหนจะดีกว่ากัน โดยเฉพาะถ้าที่มัสญิดนั้นมีการสอน บรรยายธรรม และกิจกรรมทางศาสนาอื่น ๆ ด้วย ?

          คำตอบ  สำหรับสตรีนั้นทางที่ดีที่สุด ควรละหมาดที่บ้าน  เพราะท่านนะบี   ได้กล่าวว่า:

 وبيوتهن خيرلهن ) رواه: أحمد وأبوداود )  

“ และบ้านของนางนั้นย่อมดีกว่าสำหรับนาง ”

         เนื่องจากการออกจากบ้านของสตรี ส่วนใหญ่แล้วจะไม่ปลอดภัยจากสิ่งเลวร้าย(فتنة)  ฉะนั้นหากสามารถละหมาดที่บ้านได้ จะดีกว่าการออกไปละหมาดที่มัสญิด  ส่วนการฟังการบรรยายธรรมนั้น สามารถทำที่บ้าน โดยผ่านเทปและสื่ออื่นๆก็ได้ ข้าพเจ้าขอเตือนสำหรับสตรีที่ออกไปละหมาดที่มัสญิดนั้น จะต้องแต่งกายอย่างมิดชิด และไม่ใส่เครื่องประดับและน้ำหอม

 

(27) คำถาม การชิมรสอาหารของสตรีที่ถือศีลอดในช่วงกลางวันของเดือนรอมาฎอน จะมีผลต่อการถือศีลอดหรือไม่ อย่างไร ?

          คำตอบ ไม่มีผลใดๆต่อการถือศีลอด เนื่องจากเป็นความจำเป็น แต่ต้องคายอาหารที่ชิมเข้าไปนั้นออกทิ้งให้หมด

 

(28) คำถาม มีสตรีคนหนึ่งกำลังตั้งครรภ์ใหม่ๆ และเกิดประสบอุบัติเหตุทำให้ทารกในครรภ์แท้ง และมีเลือดไหลออกมา เธอจะต้องละศีลอดหรือไม่อย่างไร  ?  และการละศีลอด จะเป็นบาปหรือไม่ ?

          คำตอบ   แท้จริงหญิงมีครรภ์นั้นจะไม่มีรอบเดือน ดังท่านอีหม่าม อะห์หมัดได้กล่าวว่า: (แท้จริงสตรีที่ตั้งครรภ์นั้น จะรู้ได้ด้วยการขาดรอบเดือน ) นักวิชาการ ได้กล่าวว่า การมีรอบเดือนนั้น เนื่องจากอัลลอฮ์  ได้สร้างขึ้นมา ซึ่งประโยชน์ทางโภชนาการสำหรับทารกช่วงที่อยู่ในครรภ์มารดา ฉะนั้นเมื่อมีการตั้งครรภ์เกิดขึ้น เลือดรอบเดือนจะขาดหายไป แต่มีสตรีบางคนมีเลือดรอบเดือนออกมาไม่ขาดเหมือนปกติก่อนตั้งครรภ์  อันนี้ถือว่าเป็นเลือดรอบเดือนแน่นอน เพราะรอบเดือนมีตลอดไม่ขาดและไม่มีผลใดๆ จากการตั้งครรภ์  การมีรอบเดือนในกรณีนี้ ทำให้มีผลต่อการไม่อนุญาตทุกอย่างในสิ่งที่ไม่อนุญาต และต้องปฏิบัติในสิ่งที่ต้องปฏิบัติ และต้องงดในสิ่งที่ต้องงดสำหรับสตรีมีครรภ์ทุกประการ 
 
       เลือดที่ออกมาจากสตรีขณะตั้งครรภ์มี 2 ประเภท

          1- เลือดที่ออกมาจากสตรีขณะตั้งครรภ์  ถือว่าเป็นเลือดรอบเดือน กล่าวคือ เลือดที่ออกมาไม่ขาดเหมือนกับการมีรอบเดือนมาก่อนตั้งครรภ์ หมายความว่าการตั้งครรภ์นั้นไม่มีผล เพราะเลือดที่ออกนั้น เป็นเลือดรอบเดือน

          2- เลือดที่ออกมาจากสตรีตั้งครรภ์ด้วยสาเหตุที่มีความผิดปกติเกิดขึ้น เช่นเพราะอุบัติเหตุ หรือยกของหนัก เลือดที่ออกมาในกรณีเช่นนี้ถือว่าไม่เป็นเลือดรอบเดือน แต่เป็นเศษเลือดที่ตกค้าง ไม่มีผลต่อการห้ามการละหมาดและการถือศีลอด ถ้าหากการเกิดอุบัติเหตุนั้นทำให้ทารกที่อยู่ในครรภ์แท้งออกมา นักวิชาการได้กล่าวว่า ถ้าทารกที่ออกมานั้นมีรูปร่างแล้ว ถือว่าเลือดนั้นเป็นนิฟาส  เธอต้องงดการละหมาดและงดการถือศีลอด และต้องหลีกเลี่ยงจากการมีเพศมสัมพันธ์กับสามี จนกว่าจะสะอาดและอาบน้ำ แต่ถ้าทารกที่ออกมานั้นยังไม่มีรูปร่าง  ให้ถือว่าเลือดนั้นไม่เป็นนิฟาส แต่เป็นเลือดเสีย ซึ่งไม่มีผลต่อการละหมาด และการถือศีลอดแต่อย่างใด นักวิชาการได้กล่าวว่า ( ระยะเวลาที่สั้นที่สุดสำหรับทารกจะมีรูปร่าง คือ 81วัน ) ตามปกติแล้ว ทารกจะไม่มีรูปร่างอย่างชัดเจนก่อนถึง90 วัน

 

(29) คำถาม ดิฉันเป็นหญิงมีครรภ์คนหนึ่งซึ่งได้เกิดการแท้งบุตร เมื่อตอนดิฉันตั้งครรภ์ได้เดือนที่ 3 ตั้งแต่วันนั้นดิฉันไม่ได้ทำการละหมาดจนกว่าดิฉันสะอาดจากเลือด และมีคนบอกกว่า เธอต้องละหมาด ในกรณีนี้ดิฉันจะทำอย่างไร ซึ่งดิฉันเองก็ไม่ทราบว่าดิฉันได้ขาดละหมาดไปทั้งหมดเป็นเวลากี่วัน ?

          คำตอบ  เป็นที่ทราบกันในบรรดานักวิชาการว่า แท้จริงสตรีที่แท้งในช่วงระยะเวลา 3 เดือนนั้น ไม่ต้องละหมาด เนื่องจากว่าสตรีแท้งบุตรและทารกในครรภ์เป็นรูปร่างแล้ว  แน่นอนเลือดที่ออกมานั้นเป็นนิฟาส ทำให้เธอไม่ต้องละหมาดในช่วงเวลานั้น  นักวิชาการส่วนใหญ่ได้กล่าวว่า ทารกในครรภ์จะมีรูปร่าง  เมื่อครบ 81 วัน ซึ่งมีเวลาน้อยกว่า 3 เดือน ดังนั้นถ้ามั่นใจว่า การแท้งอยู่ในช่วงทารกอายุน้อยกว่า 3 เดือน  เลือดที่ออกมานั้นเป็นเลือดเสีย ไม่ใช่เลือดนิฟาส  เพราะฉะนั้นต้องทำการละหมาดตามปกติ ในกรณีนี้สตรีจำเป็นต้องนับจำนวนวันให้แน่นอน เพราะถ้าการแท้งนั้นก่อนอายุ 80 วัน จะต้องละหมาดทดแทนการละหมาดที่ขาดไปทั้งหมด แต่ถ้าไม่สามารถจดจำจำนวนวันที่ขาด ต้องคำนวณหาจำนวนวันว่าควรจะเป็นเท่าไร และต้องละหมาดทดแทนตามจำนวนวันและเวลาดังกล่าว

 

(30) คำถาม สตรีได้ถามว่า เมื่อบรรลุนิติภาวะ เธอได้ถือศีลอด แต่ไม่ได้ถือศีลอดทดแทนในช่วงที่มีรอบเดือน เนื่องจากจำไม่ได้ว่าได้ขาดไปกี่วัน ขอความกรุณาช่วยชี้แจงด้วยว่าเธอจะต้องปฏิบัติอย่างไร ?

          คำตอบ  เป็นที่น่าเสียใจกับสิ่งที่เกิดขึ้นกับสตรีของเรา แท้จริงการที่ไม่ทดแทนการถือศีลอดที่ขาดไปนั้น ถือว่าเป็นสิ่งที่อันตรายไม่ว่าจะด้วยเหตุเพราะไม่มีความรู้หรือไม่มีความจริงใจต่อศาสนา เพราะหากไม่มีความรู้ ก็ต้องถามและเรียนรู้ ส่วนการไม่มีความจริงใจต่อศาสนานั้น วิธีแก้ไข คือ การยำเกรงต่ออัลลอฮ์   การมีความรู้สึกว่าอัลลอฮ์ ทรงมองเห็น รู้สึกเกรงกลัวจากการลงโทษจากอัลลอฮ์   และการรีบเร่งสู่สิ่งที่เป็นที่โปรดปรานของอัลลอฮ์ ให้มากที่สุด ฉะนั้นสำหรับสตรีกลุ่มนี้ต้องกลับใจ (เตาบะฮ์) และขออภัยโทษต่ออัลลอฮ์  ในสิ่งที่ได้กระทำมา และต้องพยายามคำนวณหาจำนวนวันที่ขาดให้ได้ และทำการถือศีลอดตามความสามารถและความจริงใจ แล้วถือศีลอดชดทดแทนที่ยังค้างอยู่ให้หมด เธอก็จะปลอดภัยจากบาป ขอให้อัลลอฮ์  ทรงรับการกลับใจของเธอ

 


คำถาม ข้อที่          1-10          11-20          21-30          31-40          41-50          51-60 

 

แปลและเรียบเรียง

อ.มีลีกอดียา จาปะกียา

อ.ซาอูเดาะห์  แฉ๊ะ

อ.ซูบัยดะห์  อูมา