60 คำถาม เกี่ยวกับรอบเดือนและน้ำคาวปลา (11-20)
  จำนวนคนเข้าชม  18839

60 คำถาม   เกี่ยวกับรอบเดือน(หัยฎ์) และน้ำคาวปลา(นิฟาส)


โดย: เชคมุหัมมัด  อิบนุ ศอลิห์ อัลอุษัยมีน 


(11) คำถาม สำหรับสตรีที่มีรอบเดือน หรือ นิฟาส (เลือดหลังคลอดบุตร) จะรับประทานอาหารหรือดื่มในเวลากลางวันของเดือนรอมาฎอนได้หรือไม่ ?

          คำตอบ  สตรีที่มีรอบเดือน หรือ นิฟาส สามารถรับประทานอาหารและดื่มน้ำได้ตามปกติ แต่ควรหลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารต่อหน้าเด็ก หรือคนอื่นๆ เพราะเกรงว่าจะทำให้ผู้ที่พบเห็นเข้าใจผิดคิดว่าเธอไม่ได้ถือศีลอด


(12) คำถาม  เมื่อสตรีสะอาดสิ้นสุดจากการมีรอบเดือนหรือนิฟาส ในช่วงเวลาอัสริจำเป็นหรือไม่ที่จะต้องละหมาดดุฮ์ริด้วย หรือเพียงแค่ละหมาดอัสริอย่างเดียว ?

          คำตอบ  ในกรณีนี้ไม่จำเป็นต้องละหมาดดุฮ์ริ ด้วย เพราะไม่มีหลักฐานอ้างอิงว่าจะต้องละหมาดชดใช้

ท่านเราะซูล   ได้ กล่าวว่า :

من أدرك ركعة من العصر قبل أن تغرب الشمس فقد أدرك العصر) رواه مسلم )

“ผู้ใดที่ทันละหมาดอัสริเพียงแค่หนึ่งรอกอัตก่อนพระอาทิตย์ตก ก็ถือว่าเขาทันละหมาดอัสริ”

          ท่านเราะซูล    ไม่ได้กล่าวถึงการละหมาดดุฮ์ริ และในกรณีเดียวกันหากสตรีมีรอบเดือนหลังจากเข้าเวลาดุฮ์ริแล้ว เธอต้องชดทดแทนการละหมาดดุฮ์ริอย่างเดียว โดยไม่ต้องละหมาดใช้ของอัสริ หรือถ้าสะอาดหรือสิ้นสุดการมีรอบเดือนก่อนเข้าเวลาอีซาอ์  ต้องละหมาดอีซาอ์โดยไม่จำเป็นต้องละหมาดมัฆริบด้วย


(13) คำถาม กรณีที่สตรีตกเลือด (แท้งบุตร)ไม่ว่าทารกจะมีรูปร่างแล้วหรือไม่  การถือศีลอดในวันนั้นและในระยะเวลาที่มีเลือดออกมาจะเป็นอย่างไร ?

          คำตอบ หากทารกที่แท้งออกมายังไม่มีรูปร่างแสดงว่าเลือดนั้นไม่ใช่นิฟาส  ฉะนั้นต้องถือศีลอดและละหมาด แต่ถ้าทารกที่แท้งออกมามีรูปร่างแล้ว ถือว่าเป็นเลือดนิฟาส เธอต้องไม่ละหมาดและไม่ถือศีลอด สำคัญที่ว่าหากทารกมีรูปร่างแล้ว เลือดที่ออกมานั้นถือว่าเป็นนิฟาส แต่หากการแท้งที่ยังไม่มีรูปร่างถือว่าไม่ใช่ นิฟาส


(14) คำถาม การที่สตรีตั้งครรภ์ ได้มีเลือดออกมาในเดือนรอมาฎอนจะมีผลต่อการถือศีลอดหรือไม่ ?

          คำตอบ  เมื่อมีเลือดรอบเดือนออกมาในระหว่างที่ถือศีลอด  ถือว่าการถือศีลอดนั้นเป็นโมฆะ 

ท่านนะบี   ได้กล่าวว่า :

أليس إذا حاضت لم تصل ولم تصم) متفق عليه )

“เมื่อสตรีมีรอบเดือนแล้วก็ไม่ต้องละหมาดและไม่ต้องถือศีลอดไม่ใช่หรือ?”

          ในกรณีของนิฟาส ก็เช่นเดียวกัน กล่าวคือ การมีเลือดรอบเดือนหรือนิฟาสนั้น ทำให้การถือศีลอดเสียทันที  และการมีเลือดรอบเดือนของสตรีมีครรภ์ก็เช่นกัน หากเกิดขึ้นในเวลากลางวันของเดือนรอมาฎอนถือว่ามีผลเสมือนรอบเดือนของสตรีที่ไม่ได้ตั้งครรภ์ และเลือดรอบเดือนที่ออกมาจากสตรีมีครรภ์ตามปกติ ถือว่าเป็นเลือดรอบเดือน ถ้าหากเลือดที่ออกมานั้นได้ขาดหายไปแล้วมีเลือดออกอีกหลังจากนั้น ถ้าเห็นว่าผิดปกติ ก็ถือว่าไม่ใช่เลือดรอบเดือนจึงไม่มีผลใด ๆ ต่อการถือศีลอดในวันนั้น


(15) คำถาม ในวันมีรอบเดือนของสตรี เธอได้เห็นเลือดออกมาเพียงแค่วันเดียวเท่านั้น ในกรณีนี้จะต้องปฏิบัติตัวอย่างไร ?

           คำตอบ ในกรณีที่มีรอบเดือนในระยะเวลาแค่เพียงวันเดียวแล้วขาดหายไป  นับว่าเป็นการมีรอบเดือนมาตามปกติถึงแม้จะมาแค่วันเดียวก็ตาม ให้ถือว่ามีรอบเดือน เพราะฉะนั้นเธอไม่สามารถที่จะละหมาดและถือศีลอดได้  นักวิชาการมุสลิมได้กล่าวว่า: ผู้ใดมีเลือดรอบเดือนมาแบบขาดๆ หายๆ จนถึง 15วัน ถ้ายังมีเลือดไหลออกมาหลังจาก 15 วันแล้ว ก็ถือว่าเป็นเลือดอิสตีฮาเฎาะห์ (เป็นความผิดปกติของร่างกาย) และทัศนะนี้คือทัศนะที่เป็นที่ยอมรับของท่านอีหม่ามอะหมัด


(16) คำถาม ในระยะปลายๆของการมีรอบเดือน ก่อนจะหมด สตรีไม่เห็นร่องรอยของเลือดหรือตกขาวแล้ว ถามว่าเธอต้องละหมาดและถือศีลอดในวันนั้นหรือไม่ หรือมีข้อปฏิบัติในกรณีนี้อย่างไร ?

          คำตอบ ในเมื่อปกติแล้วเธอไม่เคยมีตกขาวเหมือนสตรีคนอื่น ในกรณีนี้จำเป็นต้องทำความสะอาด ละหมาดและถือศีลอด แต่ถ้าปกติแล้วเธอมีตกขาวหลังสิ้นสุดเลือดแล้ว จำเป็นต้องรอตกขาวมาก่อนแล้วจึงจะถือศีลอดและละหมาดได้


(17) คำถาม  สตรีที่มีรอบเดือนและนิฟาส และจำเป็นจะต้องอ่าน อัลกุรอาน เช่น ครูสอน อัลกุรอานหรือ นักเรียน นักศึกษา มีข้อปฏิบัติอย่างไร ?

          คำตอบ  สตรีสามารถอ่าน อัลกุรอาน ได้ในกรณีที่จำเป็นเท่านั้น เช่นครูหรือนักศึกษาที่เคยอ่านเป็นประจำทุกวันทุกคืน ส่วนการอ่านเพื่อหวังได้บุญนั้นในทางที่ดีแล้วไม่ควรปฏิบัติ เพราะนักวิชาการมุสลิมส่วนใหญ่มีความเห็นว่าสตรีที่มีรอบเดือนนั้นไม่อนุญาตให้ อ่านอัลกุรอาน


(18) คำถาม  เมื่อสตรีสะอาดจาการมีรอบเดือน และได้อาบน้ำทำความสะอาดเรียบร้อยแล้ว จำเป็นหรือไม่ที่จะต้องเปลี่ยนชุดที่สวมใส่ตอนที่มีรอบเดือน ทั้งๆที่ชุดนั้นไม่ได้เปื้อนเลือดแต่อย่างใด  ?

          คำตอบ ไม่จำเป็นต้องเปลี่ยนเสื้อผ้า เพราะรอบเดือนนั้นไม่ได้ทำให้ร่างกายสกปรก แต่ที่เป็นนาญิสคือสิ่งที่เปื้อนเลือดรอบเดือนเท่านั้น เพราะเหตุนี้ท่านนะบี  ได้สั่งให้สตรีชำระล้างเสื้อผ้าที่เปื้อนเลือดรอบเดือน และให้ใช้สวมใส่ทำการละหมาด
 

(19) คำถาม  สตรีบางคนไม่ถือศีลอดในเดือนรอมาฎอนเป็นเวลา 7 วัน เพราะเธอมีนิฟาสและยังไม่สามารถถือศีลอดทดแทน จนกระทั่งเข้าเดือนรอมาฏอนปีที่ 2 อีก 7 วัน เพราะต้องให้นมลูก   จนกระทั่งเกือบเข้าเดือนรอมาฎอนปีที่  3  โดยอ้างสาเหตุว่าป่วย ในกรณีนี้มีข้อตัดสินอย่างไร  ?

          คำตอบ  หากสิ่งที่กล่าวอ้างเป็นความจริง ตามที่ได้กล่าวอ้างว่ามีอาการป่วยทำให้ไม่สามารถที่จะถือศีลอดทดแทนการถือศีลอดที่ขาดได้ ก็ให้สตรีถือศีลอดทดแทนเมื่อเธอมีความสามารถ เพราะถือว่าเธอนั้นเป็นผู้ที่ได้รับการผ่อนปรนยกเว้น ถ้าข้ออ้างนั้นไม่เป็นความจริง ไม่อนุญาตให้ปล่อยเวลาโดยไม่ถือศีลอดทดแทนจนถึงเดือนรอมาฎอนปีที่สอง 

          ท่านหญิงอาอีชะฮ์  ได้กล่าวว่า: "ฉันเองเคยขาดการถือศีลอด และฉันไม่สามารถทดแทนได้ นอกจากในเดือนชาอะบาน" 

          ฉะนั้นคนที่กล่าวอ้างจะต้องพิจารณาตนเองว่าหากสิ่งที่กล่าวอ้างไม่เป็นความจริง แต่เป็นเพียงข้อแก้ตัวแล้ว เธอต้องรับบาป และต้องสำนึกผิดกลับเนื้อกลับตัว เตาบะฮ์ต่ออัลลอฮ์ ทันที และต้องถือศีลอดทดแทนโดยเร็ว แต่ถ้าไม่มีความสามารถจริงๆแล้ว เธอสามารถที่จะถือศีลอดทดแทนหลังจากหนึ่งหรือสองปีก็ได้


(20) คำถาม มีสตรีบางคนปล่อยเวลาการทดแทนการถือศีลอดจนล่วงเข้าสู่รอมาฎอนปีที่  2   ทั้งๆที่ยังไม่ได้ชดทดแทนการถือศีลอดของปีที่ทีผ่านมา ในกรณีนี้เธอควรปฏิบัติอย่างไร ?

          คำตอบ  เธอต้องเตาบะฮ์ตัว ต่ออัลลลอฮ์ ในสิ่งที่กระทำไป  เพราะไม่เป็นที่อนุญาตสำหรับผู้ที่ยังไม่ทดแทนการถือศีลอดของเดือนรอมาฎอนปีที่ผ่านมา และละเลยไปจนถึงเดือนรอมาฎอนปีที่สองโดยไม่มีสาเหตุจำเป็น 

          ท่านหญิงอาอีชะฮ์  ได้กล่าวว่า: "ฉันเองเคยขาดการถือศีลอด และฉันไม่สามารถทดแทนได้ นอกจากในเดือนชาอะบาน" 

 


คำถาม ข้อที่          1-10          11-20          21-30         31-40          41-50          51-60 


แปลและเรียบเรียง

อ.มีลีกอดียา จาปะกียา

อ.ซาอูเดาะห์  แฉ๊ะ

อ.ซูบัยดะห์  อูมา