ประวัติและพัฒนาการของปรัชญาซูฟียฺ
  จำนวนคนเข้าชม  33839

ประวัติและพัฒนาการของปรัชญาซูฟียฺ

อ.ซอและห์ มีสุวรรณ 


ความหมายของคำว่า “ซูฟียฺ”

          คำว่า “ซูฟียฺ” หรือ “ตะเศาวุฟ” ตามนักปราชญ์ซูฟียฺรุ่นเก่าและใหม่นั้น ได้ให้คำนิยามไว้หลากหลายและแตกต่างกันมาก เราจะไม่พบคำนิยามใดที่ให้ความ หมายที่ชัดเจนและตรงความเป็นจริงมากที่สุด จะมีก็เป็นเพียงการสันนิษฐานของปวงปราชญ์ผู้สันทัดกรณีเท่านั้น ส่วนใหญ่คำว่า “ซูฟียฺ” จะใช้ในลักษณะของกลุ่มหรือลัทธิ ส่วนคำว่า “ตะเศาวุฟ” จะใช้ในลักษณะของพฤติกรรมหรือจริยธรรม (อับดุลฮะลีม มะห์มูด, มปป:38)

          นักวิชาการบางท่านได้นำเอาความหมายของ “ตะเศาวุฟ” มาปะปนกับความหมายของคำว่า “อิบาดะห์” (การประกอบศาสนกิจ) ในที่นี้นักซูฟียฺก็คือผู้ที่ทำอิบาดะห์อย่างมากมายนั่นเอง

            ในภาษาอาหรับนั้น คำว่า “ตะเศาวุฟ” ประกอบไปด้วยพยัญชนะ 4 ตัวคือ ตาอ์ ศ็อดด์ วาว และฟาอ์ ซึ่งซูฟียฺบางท่านได้ให้ความหมายดังนี้คือ

พยัญชนะ “ตาอ์” แทนคำว่า เตาบะห์ หมายถึงการขออภัยโทษ ซึ่งถือเป็นก้าวแรกที่จะนำไปสู่ขั้นสูงสุด

พยัญชนะ “ศ็อดด์” แทนคำว่า ศ่อฟาอ์ หมายถึงความบริสุทธิ์ซึ่งถือเป็นสัญญลักษณ์ของซูฟียฺ

พยัญชนะ “วาว” แทนคำว่า วิลายะห์ หมายถึงการเป็นผู้ที่อยู่เหนือคนทั่วไป ซึ่งเป็นภาวะหนึ่งของซูฟียฺผู้เคร่งครัด

พยัญชนะ “ฟาอ์” แทนคำว่า ฟะนาอ์ หมายถึงการสูญตัวตนเข้าไปรวมอยู่กับพระผู้เป็นเจ้า ซึ่งเป็นภาวะสูงสุดที่ซูฟียฺทุกคนปรารถนา (อับดุลกอดิร อัลญัยลานี, 1993:41)

         อันที่จริงคำนิยามของคำว่า “ตะเศาวุฟ” ในสมัยแรกๆนั้น จะมีความหมายที่สอดคล้องกับหลักการของอิสลามอันแท้จริง แต่ต่อมาภายหลังคำนิยามดังกล่าวเปลี่ยนแปลงไป มีการนำเอาความหมายแปลกใหม่ที่ขัดแย้งกับอัลอิสลามเข้ามา เป็นการอุตริคำนิยามขึ้นมา พร้อมๆกับการนำเอาความคิดจากภายนอกเข้ามาสู่อิสลาม


สาเหตุการขนานนามว่า “ซูฟียฺ”

          นักวิชาการมีทัศนะที่ขัดแย้งกันในคำว่า “ซูฟียฺ” บางกลุ่มมีทัศนะว่าคำนี้เป็นคำที่สร้างขึ้นมาใหม่ ไม่มีการเทียบหรือแยกออกมาจากภาษาอรับ อีกกลุ่มหนึ่งมีทัศนะว่าคำนี้แตกออกมาจากภาษาอรับ คือมาจากคำว่า “ซูฟ” แปลว่า ขนสัตว์ ชาวซูฟียฺจะนิยมใช้เสื้อผ้าขนสัตว์หยาบๆ แสดงถึงความเรียบง่าย สมถะ ซึ่งทัศนะนี้ได้รับการยอรับจากบรรดานักวิชาการและนักค้นคว้าส่วนใหญ่ ท่านซะฮ์ร่อวัรดีย์ได้กล่าวว่า คำนี้เหมาะสมในด้านภาษาและมีความสัมพันธ์กับลักษณะภายนอกของพวกซูฟียฺ ที่ชอบสวนใส่เสื้อผ้าขนสัตว์ ซึ่งแพร่หลายในหมู่ซูฟียฺในอดีตอีกด้วย (อัชชะฮ์ร่อวัรดีย์, 1939:334)


กำเนิดและพัฒนาการของซูฟียฺ

          ในเรื่องต้นกำเนิดของลัทธิซูฟียฺ หรือลัทธินิยมความลี้ลับในอิสลามนั้น นักวิชาการมีความเห็นที่แตกต่างกันไป บ้างก็ว่าลัทธินี้ได้รับอิทธิพลมาจากแนวคิดหรือปรัชญาจากภายนอก ท่านบารอน การาโดโว นักบูรพาคดีมีทัศนะว่า ซูฟียฺมิได้เกิดขึ้นในอิสลาม แต่เป็นลัทธิที่เกิดขึ้นใหม่ในอิสลาม สิ่งแรกที่เราควรศึกษาคือลัทธิซูฟียฺจะเกิดจากแหล่งอื่นใดไม่ได้ นอกจากคริสเตียน กรีก อินเดีย เปอร์เซีย หรือยิว (ยูดาย) บ้างก็ว่ามันเกิดขึ้นภายในศาสนาอิสลามเอง โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้อยคำในพระมหาคัมภีร์อัลกุรอาน ที่ให้ความหมายที่ลึกซึ้งและแฝงไปด้วยความเร้นลับมาก มาย ท่านซัยยิด นัดวีย์ กล่าวยืนยันการกำเนิดลัทธิซูฟียฺในอิสลามไว้ว่า “อัลกุรอานได้ยืนยันในหลายโองการว่า ทุกสิ่งทุกอย่างถือกำเนิดจากพระผู้เป็นเจ้าและกลับคืนสู่พระองค์ พระองค์เท่านั้นทรงเป็นนิรันด์ การให้ความรักต่อพระผู้เป็นเจ้าและศาสดาของพระองค์ การละทิ้งอารมณ์ปรารถนา การทำสมาธิ การอุทิศตนเพื่อพระองค์และการกลับไปสู่พระองค์ สิ่งต่างๆ เหล่านี้เกิดขึ้นในอิสลามทั้งสิ้น” (อิมรอน มะลูลีม, 2534:87)

         แต่อย่างไรก็ดีรูปแบบของลัทธินิยมความลี้ลับนี้มีมาตั้งแต่โบราณแล้ว จึงเป็นการยากที่จะมั่นใจว่า แหล่งที่มาของลัทธิซูฟียฺในอิสลามมาจากที่ใดกันแน่ ซึ่งจากการค้นคว้าในปัจจุบันจะพบว่า ต้นกำเนิดลัทธิซูฟียฺนั้นเกิดจากอิทธิพลจากแหล่งภายนอกดังต่อไปนี้

            1. คริสต์ศาสนา

          แนวโน้มในการบำเพ็ญตนถือสันโดษในอิสลามนั้น บางส่วนคล้ายคลึงกับทฤษฎีของคริสต์ศาสนา ในคัมภีร์ไบเบิลได้กล่าวถึงเรื่องราวชีวประวัติของซูฟียฺเก่าแก่ที่สุดเป็นจำนวนมาก นอกจากนี้ยังมีนักพรตคริสเตียนที่มีบทบาทเป็นครูสอนศาสนา ในการแนะนำแก่มุสลิม ดังนั้นกลุ่มผู้ถือสันโดษซึ่งซูฟียฺในอิสลามได้รับเอามานั้น คือกลุ่มบุคคลพิเศษซึ่งจะพบได้เฉพาะนักพรตชาวคริสเตียนเท่านั้น

            2. กรีก
                            
            ลัทธินิยมความลี้ลับได้เกิดขึ้นมากมายในดินแดนกรีก มุสลิมบางกลุ่มจะคุ้นเคยกับอริสโตเติล (ก่อน ค.ศ. 485-322) นักปรัชญากรีก แต่น้อยคนนักจะเคยได้ยินชื่อของโพลตินุส (ค.ศ. 203-269) ซึ่งได้รับสมญานามว่า เป็นครูของชาวกรีก และเป็นผู้ก่อตั้งสำนักปรัชญานิโอเพลโตนิส ทฤษฎีสำคัญของสำนักนี้คือ ทฤษฎี “การล้นออก” (Emanation) หมายถึงทุกสิ่งทุกอย่างได้ล้นออกมาจากพระผู้เป็นเจ้า (พระเมธีธรรมมาภรณ์, 2537:296) สิ่งใดที่ล้นออกมา ก็สามารถเข้าไปรวมกันได้อีก ดังนั้นการเข้าไปรวมอยู่กับพระผู้เป็นเจ้าจึงเป็นความปรารถนาสูงสุดของสำนักคิดนี้

            3. อินเดีย

          อินเดียถือเป็นแหล่งอารยธรรมที่เก่าแก่แห่งหนึ่งของโลก เป็นบ่อเกิดของภูมิปัญญาและปรัชญาต่างๆ หลักคำสอนในลักษณะซูฟียฺที่ค่อนข้างจะพิสดารเลยเถิดถือกำเนิดที่นี่ การใช้ชีวิตแบบฤาษีชีไพร การทรมานตน หรือการฝึกตนแบบโยคะ และอื่นๆ มีอยู่ในชนชาติอินเดียทั้งสิ้น รวมไปถึงเป็นต้นกำเนิดของศาสนามากมาย เช่น พราห์ม ฮินดู เชน และพุทธศาสนาด้วย

            4. จีน

          ปรัชญาจีนเป็นแพร่หลายในโลกตะวันออกรองจากปรัชญาอินเดีย ตามประวัติศาสตร์ชนชาติอาหรับมีความผูกพันกับชนชาติจีนมาเป็นเวลานาน แต่เพิ่งจะได้รับการบันทึกในคริสต์ศตวรรษที่ 5 เป็นต้นมา และในศตวรรษแรกของอิสลามนั้นมุสลิมได้เริ่มติดต่อกับจีนอีกครั้งหนึ่ง จึงสันนิษฐานได้ว่ามุสลิมบางกลุ่มได้รับเอาอิทธิพลของปรัชญาจีนเข้ามาด้วย โดยเฉพาะแนวคิดของ “เล่าจือ” (604-571 ก่อน ค.ศ.) ซึ่งเป็นนักปรัชญาจีนคนแรกที่พูดถึงสิ่งสมบูรณ์แห่งเอกภาพ หรือที่เรียกว่า “เต๋า” (ทองหล่อ วงษ์ธรรมา, 2536:24) ว่าทุกสิ่งจะต้องกลับคืนสู่เต๋า ดังนั้นผู้ที่สามารถติดต่อกับเต๋าได้นั้น จะต้องทำจิตใจให้ใสบริสุทธิ์ปราศจากความปรารถนาในโลก เพื่อบรรลุถึงจุดสุดยอดที่สามารถเข้าใจทุกสิ่งทุกอย่างในโลกนี้ได้

            5. ยิว (ยูดาย)
                                                           
         เป็นที่ทราบกันดีว่าคาบสมุทรอาหรับก่อนอิสลามจะอุบัติขึ้นนั้น อยู่ภายใต้อิทธิพลของศาสนายิวและคริสเตียน โดยเฉพาะศาสนายิว ได้ฝังรากลึกอยู่ในดินแดนแถบนี้มาเป็นเวลาช้านานแล้ว และพยายามแผ่ขยายความเชื่อสู่ชนชาติอาหรับมาโดยตลอด ท่านชะฮ์รอสตานีย์ (เสียชีวิตปี ค.ศ. 1153) ได้กล่าวไว้ว่า

 “ชาวอรับได้พบว่าในคัมภีร์เตาร็อตของชาวยิว นั้นเต็มไปด้วยถ้อยคำที่กล่าวถึงการอวตารของพระผู้เป็นเจ้า การตรัสด้วยเสียงอันดังของพระองค์ และการลงมาปรากฏตัวที่ภูเขาซีนาย บรรดาพวกนิยมความลี้ลับจึงเชื่อว่า ในคัมภีร์เตาร็อตนั้นมีทั้งถ้อยคำที่เปิดเผยและซ่อนเร้นอยู่ภายใน” (อัซซะฮ์รอสตานีย์, มปป.:226) และนั่นคือแนวทางของพวกนิยมความลี้ลับหรือซูฟียฺนั่นเอง

           6. เปอร์เซีย

         ชาวเปอร์เซียสมัยก่อนที่อิสลามจะเข้าไป มีแนวคิดและหลักคำสอนทางปรัชญามากมายเช่นเดียวกับชาติอื่นๆ นักวิชาการบางท่านเชื่อว่าชาวเปอร์เซียเป็นผู้นำเอาแนวคิดด้านความลี้ลับมาสู่อิสลาม เนื่องจากศาสนาโบราณของเปอร์เซียคือ ศาสนามานีเชียนและศาสนาโซโรเอสเตอร์ ได้นำเอาหลักคำสอนบางประการของศาสนาพุทธกับฮินดูเข้ามาโดยเฉพาะเรื่องจิตวิญญาณ การสละโลกและการใส่เสื้อผ้าขาดวิ่น เป็นต้น (อัชเชน, 1985:42)

       
          ในสมัยอับบาซียะห์ตอนต้น (ค.ศ.750-847) อิสลามมีความเจริญรุดหน้าในด้านวิชาการเป็นอย่างมาก แนวคิดของชาติต่างๆ ได้หลั่งไหลเข้าสู่อิสลาม มีการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมและวิทยาการทางด้านศาสนา จนทำให้มุสลิมส่วนหนึ่งรับเอาแนวคิดนิยมสิ่งลี้ลับเข้าไปด้วย นอกจากนี้นักวิชาการด้านซูฟียฺของอิสลามและเปอร์เซียได้แลกเปลี่ยนทัศนะกัน พร้อมกับประกาศให้มนุษย์หันเหออกจากความวุ่นวายสับสนของบ้านเมือง หันมาใช้ชีวิตที่เรียบง่าย ถือสันโดษ หาความสงบทางใจ และนี่คือต้นกำเนิดของซูฟียฺในอิสลาม (อัชเชน, 1985:44)

         ทั้งหมดที่กล่าวมาข้างต้นคือปัจจัยภายนอกที่มีอิทธิพลต่อสำนักคิดซูฟียฺในอิสลามเป็นอย่างมาก จนอาจกล่าวได้ว่าดินแดนต่างๆ ที่กล่าวมานั้นเป็นต้นกำเนิดอันแท้จริงของซูฟียฺก็ว่าได้ แต่เมื่อมาวิเคราะห์กันอย่างละเอียดแล้ว เราจะพบว่าต้นกำเนิดอันแท้จริงของซูฟียฺนั้นอยู่ภายใน นักการศาสนามุสลิมนี้เองที่เป็นผู้ช่วยก่อกำเนิดมันขึ้นมา จุดนี้เองทำให้เกิดคำถามตามมาอีกว่า ซูฟียฺเกิดในช่วงไหนของอิสลาม คำตอบอาจแบ่งออกเป็น 2 ประเด็นคือ

1. เกิดมาพร้อมๆ กับศาสนาอิสลาม

2. เกิดขึ้นในสมัยอับบาซียะห์ตอนปลายศตวรรษที่ 2 ของฮิจเราะห์ศักราช (ปลายคริสต์ศตวรรษที่ 8)

                                               
          เมล็ดพันธ์แห่งลัทธิซูฟียฺได้ถูกหว่านตั้งแต่เริ่มมีการแต่งตั้งศาสดาแห่งอิสลามแล้ว ท่านศาสดามูฮัมมัด  ก็มีแนวโน้มไปทางนิยมความลี้ลับและไปปลีกวิเวกอยู่บ่อยครั้ง เพื่อสำรวมจิตเพ่งพิจารณาถึงพระผู้เป็นเจ้า ผู้ที่อยู่ใกล้ชิดท่านก็ปฏิบัติเช่นเดียวกับท่าน และเมื่อคัมภีร์อัลกุรอานได้ถูกประทานลงมา ซึ่งหมายถึงการอุบัติขึ้นของศาสนาอิสลาม ถ้อยคำอันลี้ลับที่ถูกเปิดเผยแก่ท่านศาสดานั้น นักวิชาการทางภาษาอาหรับรู้ดีว่า มีบางส่วนเป็นข้อความเชิงเปรียบเทียบที่แฝงไปด้วยความลี้ลับ อาทิเช่น

هُوَ الأَوَّلُ وَالآخِرُ وَالظَّاهِرُ وَالْبَاطِنُ وَهُوَ بِكُلِّ شَيْءٍ عَلِيمٌ

“พระองค์ทรงเป็นสิ่งแรกและสิ่งสุดท้าย ทรงอยู่ภายนอกและทรงอยู่ภายใน และพระองค์ทรงเป็นผู้รอบรู้ในทุกสิ่ง” (57:3)


         และโองการอื่นๆอีกมากมาย ซึ่งพิสูจน์ให้เห็นว่าสรรพสิ่งในสากลจักรวาล เป็นเพียงภาพสะท้อนของพระผู้เป็นเจ้า ความปรารถนาที่จะสำแดงตัวของพระองค์ ทำให้มีการสร้างจักรวาลนี้ขึ้นมาในที่สุด ในหะดีษอัลกุดซีย์บทหนึ่ง พระองค์ได้ตรัสแก่ท่านศาสดามูฮัมมัด  ว่า

“ฉันคือสมบัติที่ซ่อนอยู่และฉันปรารถนาจะได้เป็นที่รู้จัก เพราะฉะนั้นฉันจึงสร้างโลกนี้ขึ้น เพื่อจะได้มีผู้รู้จักมัน” (อิมรอน มะลูลีม, 2534:86)

ถ้อยคำดังกล่าวนี้ได้รับการสนับสนุนจากอัลหะดีษที่ว่า

 “ใครก็ตามที่รู้จักตัวเขาเอง ย่อมรู้จักพระผู้อภิบาลของเขา” (อัลอัลบานีย์, 1992:165)

         พัฒนาการของซูฟียฺเริ่มมาตั้งแต่สมัยที่ท่านศาสดายังมีชีวิตอยู่ หลังจากนั้นมุสลิมเริ่มศึกษาวัฒนธรรมของชาวอินเดีย เปอร์เซียและกรีก ความโน้มเอียงไปในทางลี้ลับในสมัยต้นๆ นั้นมีอยู่ในหมู่มุสลิมกลุ่มน้อยเท่านั้น แต่หลังจากนั้นก็ได้แพร่หลายไปในหมู่มุสลิมกลุ่มใหญ่ เนื่องจากวิกฤติการณ์ครั้งใหญ่ในโลกมุสลิม อันเนื่องมาจากการสังหารค่อลีฟะห์อุสมาน (เสียชีวิต ค.ศ. 656) ต่อจากนั้นความระส่ำระสายเกิดมากขึ้นหลังจากการสังหารค่อลีฟะห์อลี (เสียชีวิต ค.ศ. 661) การเมืองยิ่งเลวร้าย ประชาชนใช้ชีวิตอย่างหรูหรา ฟุ่มเฟือย ผิดหลักการอันดีงาม ทำให้มุสลิมส่วนหนึ่งเบื่อหน่ายเกิดปฏิกริยาตอบโต้ความฟุ้งเฟ้อ ด้วยการหลบไปอยู่เงียบๆ หมกมุ่นอยู่ในการแสวงหาความสงบทางใจเท่านั้น

         นักวิชการบางกลุ่มได้สันนิษฐานว่า ซูฟียฺเริ่มก่อตัวขึ้นในต้นศตวรรษที่ 2 ของฮิจเราะห์ศักราช ในหนังสือ “อัรริซาละห์ อัลกุชัยรียะห์” กล่าวว่า ในปลายศตวรรษที่ 2 ของฮิจเราะห์ศักราช มุสลิมกลุ่มหนึ่งได้ปลีกตัวออกไปปฏิบัติตนเพื่อเข้าใกล้ชิดพระผู้เป็นเจ้า โดยเรียกตัวเองว่ากลุ่มผู้ถือสันโดษหรือกลุ่มผู้เคร่งครัดศาสนาหรือนักพรต ชื่อดังกล่าวนี้กลายเป็นสัญลักษณ์ของการใช้ชีวิตอยู่อย่างสมถะเรียบง่าย โดยไม่มีแนวทางที่แน่นอนแต่อย่างใด กลุ่มที่ปลีกตัวออกจากสังคมได้เรียกตัวเองว่ากลุ่มซูฟียฺ โดยมีศูนย์กลางอยู่ที่เมืองบัศเราะห์ ท่านอิบนุตัยมียะห์ (เสียชีวิต ค.ศ. 1328) ได้กล่าวว่า “ซูฟียฺเกิดขึ้นครั้งแรกที่บัศเราะห์ กลุ่มแรกที่ก่อตั้งคือลูกศิษย์ของอัลฮะซัน อัลบะศ่อรีย์ (เสียชีวิต ค.ศ. 728) และยังไม่ปรากฏกลุ่มซูฟียฺในเมืองใหญ่อื่นๆ ในขณะนั้น” (อับดุลลอฮ์ หนุ่มสุข, 1987:449)

          เมื่อพิจารณาถึงแหล่งกำเนิดซูฟียฺในอิสลามจากภายในและภายนอก อาจสามารถชี้ประเด็นในการวิเคราะห์ออกมาได้คือ

          1. หากพิจารณาถึงพฤติกรรมของกลุ่มซูฟียฺแล้ว น่าจะเกิดจากแหล่งภายนอกมากกว่า เพราะการปลีกตัวออกจากสังคม มุ่งค้นหาความลี้ลับหรือพระผู้เป็นเจ้านั้นมีอยู่เกือบทุกชาติ ทุกภาษาและทุกศาสนา

          2. หากพิจารณาถึงลักษณะการก่อตั้งกลุ่มและชื่อของกลุ่ม เราสามารถบอกได้เลยว่ากลุ่มซูฟียฺในอิสลาม ก่อกำเนิดจากแหล่งภายใน

ประเภทของซูฟียฺ

          จากการศึกษาวิเคราะห์ความเป็นมาของซูฟียฺในอิสลาม ก็สามารถแบ่งซูฟียฺออกเป็น 2 ประเภทคือ

          1. ซูฟียฺอะมะลีย์ หมายถึงซูฟียฺที่ปฏิบัติตนสอดคล้องกับหลักการอิสลาม พวกเหล่านี้จะมุ่งเน้นการถือสันโดษ ปลีกตัวออกจากสังคม ไม่หมกมุ่นอยู่กับโลกดุนยามากเกินไป คนเหล่านี้จะพบได้ในช่วงต้นของอิสลาม จนถึงต้นศตวรรษที่ 3 ของฮิจเราะห์ศักราช (ศตวรรษที่ 9 ของคริสต์ศักราช)

          2. ซูฟียฺฟัลสะฟะห์ หมายถึงซูฟียฺที่เน้นการปฏิบัติด้านจิตวิญญาณมากเกินไป คนเหล่านี้จะทุ่มเททั้งชีวิตและจิตใจ มุ่งตรงต่อพระผู้เป็นเจ้าเพียงอย่างเดียว มีการจัดวางระบบหรือทฤษฎีใหม่ขึ้นมาเป็นของตนเอง มีการประพันธ์หนังสือต่างๆ เพื่อเป็นแนวทางปฏิบัติสำหรับผู้ที่เลื่อมใส สิ่งต่างๆ เหล่านี้เกิดขึ้นจากการรับเอาอิทธิพลจากภายนอกเข้ามาผสมผสานกับหลักการของอิสลาม จนเกิดการเบี่ยงเบนในลักษณะที่ออกนอกลู่นอกทางไปในที่สุด ลักษณะเช่นนี้เราเรียกว่า “ปรัชญาซูฟียฺ” ซึ่งจะพบได้ในช่วงหลังศตวรรษที่ 3 แห่งฮิจเราะห์ศักราช (ศตวรรษที่ 9 แห่งคริสต์ศักราช)

    

ที่มา : มิฟตาฮู่ลอุลูมิดดีนียะห์ บ้านดอน

.

หลักการและทฤษฎีของซูฟียฺ >>>> Click

ปรัชญา ซูฟียฺ >>>> Click