ท่านอับดุลลอฮ์ อิบนุ อับบ๊าส
ศอหะบะฮฺผู้มีเกียรติท่านนี้นับได้ว่าเป็นอีกผู้หนึ่งที่มีความประเสริฐเพรียบพร้อมไปด้วยคุณธรรมไม่มีข้อตำหนิหรือขาดตกบกพร่อง เป็นญาติใกล้ชิดกับท่านรอซูล เพราะเป็นบุตรของลุงของท่านรอซูล เป็นอาลิมผู้มีวิชาความรู้แห่งประชาชาติของท่านนบีมุฮัมหมัด มีความรู้กว้างขวางประดุจดังมหาสมุทร เปี่ยมล้นอยู่เสมอไม่มีวันเหือดแห้งเป็นผู้ที่ "ตั๊กวา"ยำเกรงต่ออัลเลาะห์ ถือศีลอดตอนกลางวัน ลุกขึ้นละหมาดในยามค่ำคืน ยามดึกสงัดก็ลุกขึ้นขออภัยโทษต่ออัลเลาะห์ ร้องไห้เสมอเพราะความยำเกรงพระองค์จนใบหน้าเปียกชุ่มไปด้วยน้ำตา ศอหะบะห์ผู้มีเกียรติผู้นี้คือ "อับดุลลอฮ์ อิบนิ อับบ๊าส" ผู้เป็นอัจฉริยะแห่งประชาชาติของท่านนบีมุฮัมมัด เป็นผู้เชี่ยวชาญในอัลกุรอานทั้งด้านถ้อยคำและความหมาย สามารถเข้าถึงเป้าหมายของอัลกุรอาน รู้จุดประสงค์และฮิกมะห์ของอัลกุรอานได้เป็นอย่างดี
ท่านอับดุลลอฮ์ อิบนุ อับบ๊าส เกิดก่อนการฮิจญ์เราะฮฺของท่านนบี 3 ปี เมื่อท่านรอซูล วะฟาตขณะนั้นท่านอิบนิ อับบ๊าส มีอายุเพียง สิบสาม ปีทั้งๆที่อายุยังน้อย แต่ท่านก็ท่องจำฮะดีษจากท่านนบีถึง 1660 ฮะดีษ นับเป็นประโยชน์แก่มุสลิมเป็นอย่างยิ่ง ซึ่งท่านอิหม่ามบุคอรีย์และมุสลิม ได้บันทึกไว้ในซ่อฮี้ฮฺของท่านทั้งสอง
เมื่อมารดาของท่านอิบนุอับบ๊าส คลอดท่านออกมานั้นนางได้อุ้มท่านมาหาท่านรอซูล ท่านรอซูลใช้น้ำลายของท่านป้ายในลำคอของท่านอิบนิอับบ๊าส ด้วยเหตุนี้สิ่งแรกที่เข้ากระเพาะของเด็กน้อยก็คือน้ำลายของท่านนบี อันมีบะรอกะห์และสะอาดบริสุทธิ์ ดังนั้นความยำเกรง ความรู้ ความเข้าใจ และความถูกต้อง ก็เข้าสู่เรือนร่างของท่านพร้อมกันนั้นด้วย
อัลกุรอานกล่าวไว้มีความว่า :
และผู้ใดที่อัลเลาะห์ ทรงประทานฮิกมะห์(ฮิกมะฮฺ คือความรู้ความเข้าใจ พูดถูกต้อง มีสติปัญญา ยำเกรง และนอบน้อม) ให้แก่เขา ดังนั้นพระองค์ทรงประทานความดีมากมายให้แก่เขาแล้ว
(อัลบะกอเราะห์ 2 : 269)
เมื่อท่านอิบนุ อับบ๊าส อายุได้เจ็ดขวบ ก็ได้มาประจำอยู่กับท่านรอซูล เป็นห่วงเป็นใยและคอยปรนนิบัติท่านรอซูล ทุกอย่างเท่าที่สามารถทำได้ เช่นเตรียมน้ำให้ท่านร่อซูลใช้อาบน้ำละหมาด เมื่อท่านรอซูลละหมาดท่านอิบนิอับบ๊าสก็ละหมาดตาม เมื่อท่านร่อซูลเดินทางไกลท่านอับดุลเลาะห์ก็จะติดตามไปด้วยเสมอ จนกระทั่งเปรียบเสมือนดังเงาที่เฝ้าติดตามท่านรอซูลไปทุกฝีก้าว พร้อมกับหัวใจอันบริสุทธิ์คอยตอบรับคอยจดจำในทุกอิริยาบถของท่านรอซูล เอาไว้
ท่านอับดุลลอฮ์ อิบนุ อับบ๊าสเล่าไว้ว่า ครั้งหนึ่งท่านรอซูล จะอาบน้ำละหมาด ฉันจึงรีบนำน้ำมาให้ท่าน ท่านรอซูลก็กล่าวขอบใจ เมื่อท่านร่อซูลจะละหมาด ท่านชี้ให้ฉันยืนเคียงข้างท่านแต่ฉันกลับไปยืนที่ด้านหลัง เมื่อท่านละหมาดเสร็จท่านหันมาถามว่า :
โอ้อับดุลลอฮ์ทำไมถึงไม่ยอมยืนเคียงข้างฉัน?
ฉันตอบว่า :
ก็ท่านเป็นผู้มีเกียรติเกินกว่าที่ฉันจะเข้าไปยืนกระทบไหล่กับท่านนี่ครับ โอ้ท่านรอซูล
ทันใดนั้นท่านร่อซูลจึงยกมือทั้งสองข้างขอดุอาอฺต่ออัลลอฮฺว่า :
โอ้ อัลเลาะห์ขอพระองค์ทรงโปรดประทานฮิกมะห์ให้แก่อับดุลลอฮ์ อิบนิ อับบ๊าส ด้วยเถิด
และอัลเลาะห์ก็ทรงรับการดุอาอฺของท่านนบี พระองค์ทรงประทานฮิกมะห์ให้หนุ่มน้อยจากตระกูลฮาชิม จนกระทั้งเป็นผู้ปราดเปรื่องเหนือผู้มีความรู้ทุกคนที่อยู่ในสมัยเดียวกัน
ท่านอับดุลลอฮ์ อิบนุ อับบ๊าส สนใจศึกษาหาความรู้ พยายามทุกวิถีทางเพื่อให้ได้มาซึ่งวิชาความรู้ท่านได้รับการถ่ายทอดวิชาความรู้จากท่านรอซูลตลอดเวลาที่ท่านนบีมีชีวิตอยู่ และหลังจากที่ท่านรอซูลได้ "วะฟาต" ไปแล้ว ท่านอิบนิ อับบ๊าส จึงใช้เวลาช่วงที่ยังมีชีวิตอยู่ศึกษาหาความรู้จากบรรดาอุละมาอฺที่เป็นศอหะบะห์ชั้นอาวุโสกว่า ท่านเริ่มติดต่อขอพบบรรดาศอหะบะห์เพื่อแสวงหาวิชาความรู้ดังที่ท่านเล่าไว้ว่า :
เมื่อฉันทราบว่ามีศอหะบะห์ท่านหนึ่งท่านใดจำหฮะดีษของท่านรอซูล ถ้าหากฉันไปถึงบ้านของเขาตรงกับเวลาเที่ยงวัน ซึ่งเป็นเวลาพักผ่อน ฉันก็จะเอนหลังใช้ผ้าห่มหนุนศีรษะนอนอยู่ตรงเชิงบันไดหน้าบ้าน ลมพัดพาฝุ่นมาโดนฉันเต็มไปหมด ถ้าหากฉันจะขออนุญาตเข้าไปหาเขาเสียในตอนนั้นก็จะต้องได้รับอนุญาตอย่างแน่นอน แต่ฉันไม่ปรารถนาจะรบกวนช่วงเวลาพักผ่อนของเขา และเมื่อเขาออกจากบ้านจึงพบเห็นฉันอยู่ในสภาพเช่นนั้น เขาก็กล่าวว่า :
โอ้บุตรของลุงของท่านรอซูล ท่านมีธุระอันใดหรือ จึงต้องลำบากลำบนมาถึงที่นี่ด้วยตนเอง? เพียงแต่ท่านสั่งมา ฉันจะไปหาท่านทันที
อิบนิ อับบ๊าสตอบว่า :
จำเป็นเหลือเกินที่ฉันต้องมาหาท่าน เพราะวิชาความรู้นั้นเราต้องเป็นฝ่ายไปหามัน มิใช่มันจะมาหาเรา
ต่อจากนั้นฉันก็ถามถึงฮะดีษของท่านรอซูล ที่ศอหะบะห์ผู้นั้นท่องจำไว้
นอกจากท่านอิบนุ อับบ๊าส จะเป็นผู้ถ่อมตนเกี่ยวกับการแสวงหาวิชาความรู้แล้วท่านยังยกย่องให้เกียรติผู้มีวิชาความรู้อีกด้วย เช่นเหตุการณ์ครั้งหนึ่งขณะที่ท่านชัยดฺ อิบนิ ซาบิด ซึ่งเป็นผู้หนึ่งในบรรดาผู้บันทึกวะฮีย์และเป็นหัวหน้าคณะผู้ชี้ขาดปัญหาศาสนาของชาวมะดีนะห์เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านฟิกฮฺ การอ่าน วิชาการแบ่งมรดก ขณะนั้นท่านกำลังจะขี่อูฐ และท่านอิบนิ อับบ๊าส ยืนอยู่เบื้องหน้าในลักษณะนอบน้อมสงบเสงี่ยมเหมือนทาสที่กำลังยืนอยู่ต่อหน้านายของตน ท่านอิบนิ อับบ๊าส จับอูฐให้ท่านชัยดฺขึ้นขี่โดยสะดวก แล้วท่านอิบนิ อับบ๊าสก็คว้าเชือกสะพายอูฐจูงเดินออกไป ท่านชัยดฺกล่าวว่า :
ปล่อยเชือกเถิด โอ้บุตรของลุงของท่านรอซูล
ท่านอิบนิ อับบ๊าสกล่าวว่า :
เช่นนี้แหละที่เราถูกใช้ให้ปฎิบัติต่อผู้มีวิชาความรู้
ท่านชัยดฺจึงกล่าวว่า :
ฉันขอดูมือหน่อยซิ
ท่านอิบนุ อับบ๊าส จึงยื่นมือให้ดู ท่านชัยดฺจึงคว้ามือนั้นมาจูบและกล่าวว่า :
เช่นนี้แหละที่เราถูกใช้ให้ปฎิบัติต่อเครือญาติของท่านนบีของเรา
ท่านอิบนิ อับบ๊าส พากเพียรพยายามหาวิชาความรู้จนกระทั่งบรรลุถึงขั้นสูงสุดขนาดที่นักวิชาการชั้นยอดก็ต้องทึ่งในความรู้ความสามารถเป็นยิ่งนัก เกี่ยวกับเรื่องนี้ ท่านมัสรู๊ก อิบนิ อัจญดะอฺ ผู้อยู่ในสมัยถัดจากยุคศอหะบะห์หรือที่เรียกว่าตาบิอีนรุ่นอาวุโส ได้กล่าวว่า :
เมื่อฉันเห็นท่านอิบนิ อับบ๊าส ครั้งใด ฉันต้องกล่าวว่า นี่คือผู้ที่สง่างาม เมื่อท่านพูดอะไรออกไปฉันต้องกล่าวว่า นี่คือผู้ที่ชี้แจงที่ชัดเจนที่สุด เมื่อเขาสนทนาครั้งใด ฉันต้องกล่าวว่า นี่คือผู้มีความรู้ที่สุด
โปรดติดตามตอนต่อไป
ท่านอับดุลลอฮ์ อิบนิ อับบ๊าส 2 >>>Click