ข้อห้ามและข้ออนุมัติในการสู้รบ
โดย : إجلالى
หากศึกษาลักษณะการทำสงครามในอดีตสมัยก่อนอิสลาม จะพบได้ว่าการสู้รบมิได้จำกัดอยู่เพียงระหว่างหัวหน้าต่อหัวหน้า แม่ทัพต่อแม่ทัพ หรือพลทหารต่อพลทหารเท่านั้น แต่ได้รวมไปถึงราษฎรของฝ่ายปรปักษ์ทุกคน หากเผอิญมีใครพลัดหลงเข้าไปในต่างถิ่นซึ่งไม่มีสนธิสัญญาใดต่อกัน ผู้นั้นจะถูกจับตัวเป็นทาสตามธรรมเนียม และถูกนำไปขายในตลาดค้าทาส ซึ่งเหตุการณ์ในลักษณะนี้ก็ได้เคยเกิดขึ้นมาแล้วกับเพลโต้ (Plato) ปรัชญาเมธีชาวกรีกผู้มีชื่อเสียงโด่งดัง สภาพการณ์เหล่านี้ปรากฏอย่างต่อเนื่อง จนกระทั่งท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ได้วางระเบียบปฏิบัติแห่งการทำสงครามขึ้น ท่านได้แสดงให้เห็นทั้งโดยวาจาและโดยการปฏิบัติจริงว่า การฆ่ากันในสงครามนั้นต้องไม่ขยายวงออกไปนอกเขตการรบเป็นอันขาด และการทำสงครามควรเป็นเรื่องของหัวหน้าต่อหัวหน้า ไม่ใช่ราษฎรต่อราษฎร ถ้าหัวหน้าของกลุ่มชนใดก็ดี ยกกำลังเข้ารุกรานโจมตีก็มิได้หมายความว่าประชาราษฎร์ของชนนั้นๆได้กระทำผิด ผู้รุกรานที่แท้จริงก็คือผู้ที่ออกคำสั่งและใช้กำลังเข้ารบเข้าเผด็จคำสั่งนั้น
การทำสงครามของท่านนบีมุฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอลัยฮิวะซัลลัม มีลักษณะพิเศษคือ
ท่านมิได้สู้รบกับประชาชน แต่ท่านสู้รบกับพวกที่บงการอยู่เบื้องหลังการรุกราน ท่านไม่เคยชอบการฆ่าผู้ที่มิได้มีส่วนในการทำสงคราม และในชีวิตของท่าน ท่านไม่เคยฆ่าผู้ไม่ผิดดังกล่าวด้วย ท่านได้สั่งห้ามการฆ่าผู้หญิง ช่างฝีมือ เด็กและบุคคลอื่นๆที่ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการสู้รบโดยตรง
สำหรับในที่นี้จะประมวลข้อห้ามและข้ออนุมัติในการสู้รบตามแนวทางอิสลาม ซึ่งประกอบด้วยแนวปฏิบัติที่สำคัญ ดังต่อไปนี้
1. ห้ามจู่โจมโดยไม่แจ้งล่วงหน้า
อิสลามถือว่าการรบพุ่งจะเริ่มขึ้นได้ก็ต่อเมื่อได้ยื่นคำขาดให้ฝ่ายศัตรูผู้รุกรานเลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง ใน 3 ประการเสียก่อน คือ ทำสัญญาไม่รุกรานต่อกัน หรือยอมรับนับถือศาสนาอิสลาม หรือ ประกาศสงคราม ดังนั้น หากผู้รุกรานหรือข่มเหงนั้นเลือกที่จะประกาศสงคราม มุสลิมก็จะต้องเข้าเผชิญหน้ากับศัตรูอย่างไม่ท้อถอย
ท่านร่อซูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม กล่าวว่า
“ พวกท่านอย่าได้วาดหวังที่จะเผชิญหน้ากับศัตรู แต่เมื่อใดที่ได้เผชิญหน้ากับเหล่าศัตรูแล้ว ก็จงยืนหยัดไม่ท้อถอย ”
ดังกล่าวนี้หมายความว่า แม้มุสลิมจะทราบดีว่าฝ่ายใดตั้งตนเป็นศัตรู แต่ก็มิใช่ว่ามุสลิมจะตั้งหน้าแต่จะทำลายศัตรูอยู่ร่ำไป ยังให้ความสำคัญต่อการเปิดโอกาสผ่านการเจจาเพื่อแสวงหาสันติภาพ แต่ถ้าฝ่ายศัตรูยืนยันที่จะประกาศสงครามมุสลิมก็จะต้องยืนหยัดต่อสู่ไม่ท้อถอย แต่ลักษณะการต่อสู้นั้น อิสลามห้ามการจู่โจมโดยไม่มีการบอกกล่าวให้รู้ตัวเสียก่อน มุสลิมจะต้องประกาศให้ศัตรูรู้ล่วงหน้าเพื่อเตรียมตัวสู้รบกัน ข้อนี้เป็นการชี้ให้เห็นว่า อิสลามไม่มีเจตนารมณ์ที่จะทำสงครามเพื่อล่าดินแดนอื่นไว้เป็นเมืองขึ้น หรือใช้อำนาจบาตรใหญ่โดยพละการ หรือแม้แต่หวังจะได้เป็นนายเหนือหัวใครตามอำเภอใจ แต่มุสลิมต้องการเพียงจะสร้างหลักประกันที่จะให้ความปลอดภัยแก่ตนเองเท่านั้น โดยการทำสนธิสัญญาไม่รุกรานต่อกัน หรือไม่ก็ให้ข้าศึกหันมายอมรับนับถือศาสนาอิสลาม ต่อเมื่อข้าศึกไม่ยอมปฏิบัติอย่างใดอย่างหนึ่งจากข้อเสนอนั้น จึงถือเป็นหน้าที่ของมุสลิมที่จะหาทางป้องกันตนเองให้พ้นจากการรุกราน
มีแม่ทัพมุสลิมบางคนที่ทำสงครามโดยไม่ทันจะได้ยื่นคำขาดให้เลือก 3 ประการดังกล่าว แต่ได้เข้าโจมตีดินแดนอื่นโดยอีกฝ่ายไม่มีทางเลือก ดังเช่น ท่านกุตัยบะฮ อิบนุ มุสลิม อัลบาฮิลี กล่าวคือท่านได้ยึดครองเมืองเล็กๆแห่งหนึ่งในสะมัรกันดฺ โดยไม่บอกกล่าวให้ชาวเมืองทราบล่วงหน้า ชาวเมืองนั้นจึงได้ร้องเรียนต่อท่านค่อลีฟะฮฺ อุมัร ร่อฏิยัลลอฮุอันฮุ ( ผู้ปกครองอิสลามลำดับที่ 2 ) ว่า ท่านกุตัยบะฮฺได้ใช้อำนาจบาตรใหญ่ต่อพวกเรา และยึดครองเมืองของเราโดยพลการ เมื่อท่านอุมัรรับทราบท่านก็รีบมีหนังสือไปถึงผู้ว่าราชการเขต ดังมีใจความต่อไปนี้
“ประชาชนแห่งสะมัรกันดฺได้ร้องเรียนมายังฉันว่า กุตัยบะฮฺได้ใช้อำนาจกดขี่พวกเขา และขับไล่พวกเขาให้ต้องทิ้งบ้านเมืองไป ฉะนั้น ทันทีที่ท่านได้ทราบความตามหนังสือนี้แล้ว ก็จงให้โอกาสชาวเมืองยื่นฟ้องร้องต่อตุลาการได้ และหากปรากฏว่าคำวินิจฉัยของตุลาการเป็นคุณแก่ชาวเมือง ก็จงสั่งให้ถอนทัพอาหรับออกมาตั้งอยู่นอกเขตเมือง และให้กุตัยบะฮปฏิบัติตามธรรมเนียมสงครามต่อไปก่อนที่จะเข้าเมืองนั้นอีก”
ผู้ว่าราชการเขตจึงได้เปิดโอกาสให้ชาวเมืองยื่นฟ้องต่อตุลาการได้ หลังจากพิจารณาคดีแล้ว ตุลาการลงความเห็นว่าทหารอาหรับจะต้องถอนทัพออกไปตั้งมั่นอยู่นอกเมือง เพื่อให้โอกาสแก่ชาวเมืองได้มีเวลาเตรียมรับศึก เพื่อไม่เป็นการเสียเปรียบกัน จากนั้นก็ให้เปิดเจรจากัน และถ้าไม่เป็นที่ตกลงก็ให้ดำเนินการสู้รบต่อไป
ข้างต้นนี้เป็นตัวอย่างแห่งการอำนวยความยุติธรรมชนิดที่จะหาจากที่ไหนไม่ได้อีกแล้วประวัติศาสตร์ตอนใดบ้างที่บันทึกเรื่องราวของนักรบที่ปฏิบัติต่อศัตรูเยี่ยงที่กล่าวนี้ ผู้พิชิตคนใดบ้างที่ยอมถอนกำลังออกจากเขตที่ตนยึดได้โดยไม่ถูกขับไล่ออกมา แต่เป็นการสมัครใจที่จะปฏิบัติตามคำวินิจฉัยของตุลาการอย่างเดียว
จริยธรรมเกี่ยวกับการทำสงครามได้แก่พฤติกรรมและคำสั่งสอนของท่านร่อซูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม นั่นเอง การไม่เปิดฉากรบนอกเสียจากต้องทำการแจ้งล่วงหน้าเป็นสิ่งที่อิสลามริเริ่มและปฏิบัติจริงมาช้านาน ในขณะที่สหประชาชาติเพิ่งรู้จักและมีมติดังกล่าวในกฎการสงครามเมื่อปี ค.ศ 1907
ข้อความต่อไปนี้เป็นคำสั่งกองทัพที่ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ได้มีไปยังท่านอาลี บิน อบีฏอลิบ รอฏิยัลลอฮุอันฮฺ ซึ่งถูกส่งไปเป็นแม่ทัพในสนามรบ
“เมื่อท่านเข้าเขตแดนของศัตรูแล้ว ท่านจงอย่าประเดิมสงครามจนกว่าพวกนั้นจะโจมตีพวกท่านก่อน และถ้าพวกนั้นเข้าโจมตี ก็จงรอให้เขาฆ่าคนของท่านสักคนหนึ่งก่อน และถ้าเขาทำเช่นนั้นก็อย่าเพิ่งออกรบ จนกว่าท่านจะได้นำร่างของผู้ที่ถูกฆ่านั้นออกแสดงให้พวกเขาประจักษ์ และให้ถามดูว่าพวกเขาจะยอมรับพระผู้เป็นเจ้ามีเพียงองค์เดียวหรือไม่เสียก่อน หากอัลลอฮทรงโปรดให้ชายเพียงคนเดียวได้กลับใจมายอมรับอิสลาม นั่นก็นับว่ายังดีกว่าการที่ท่านจะได้ครอบครองโลกไว้ทั้งหมด ”
อิสลามห้ามทหารเปิดการรบขึ้นก่อน แม้ว่ามุสลิมจะถูกฆ่าก็ยังจะสู้รบไม่ได้จนกว่าจะได้นำศพนั้นออกแสดงให้ฝ่ายศัตรูได้ประจักษ์ถึงสิ่งที่เขากระทำต่อมุสลิม พร้อมกับกล่าวกับพวกเขาเพื่อแสวงหาสันติในทำนองว่า
“ จะไม่ดีกว่าหรือ ถ้าจะให้บังเกิดมีสันติภาพและเสถียรภาพขึ้น ด้วยการที่ท่านหันมายอมรับนับถืออิสลาม หรือไม่ก็มาทำสัญญาไม่รุกรานต่อกัน ?”
ถ้าหากภาพอันน่าสังเวชของฝ่ายมุสลิมผู้ที่ถูกฆ่านั้นยังไม่สามารถจะทำให้พวกศัตรูใจอ่อนลงได้ และไม่สามารถประนีประนอมได ก็ไม่มีทางเลี่ยง นอกจากมุสลิมจะต้องจับอาวุธขึ้นสู้
2. ห้ามฆ่าผู้ทรงศีล
บุคคลประเภทแรกที่ท่านอบูบักร ร่อฏิยัลลอฮุอันฮฺ ได้สั่งห้ามมิให้ฆ่าได้แก่บรรดาผู้ทรงศีลในศาสนา ดังจะเห็นได้จากคราว ที่ท่านส่งกองทัพไปยังซีเรีย ซึ่งในขณะนั้นมีอาณาเขตครอบคลุมถึงเยรูซาเล็มด้วย ในเยรูซาเล็มมีอารามของชนยิว วัดของสงฆ์และสถานที่สักการะบูชาอื่นๆอีก
ท่านอบูบักร ร่อฏิยัลลอฮุอันฮฺ ได้ให้การอารักขา โดยสั่งห้ามทหารมุสลิมใช้อาวุธใดๆต่อบรรดาผู้ที่อุทิศชีวิตของตนให้กับการประกอบศาสนพิธี ตลอดจนบรรดาผู้ที่ไม่มีหน้าที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับการรบ
มุสลิมมีความเคารพต่อผู้อื่นถึงขนาดที่ว่า ผู้บัญชาการแห่งบรรดาผู้ศรัทธา ( อมีรุ้ลมุอฺมินีน ) ท่านอุมัร อิบนุ้ล ค็อฏฏอบ ร่อฏิยัลลอฮุอันฮฺ ได้ลงมือทำความสะอาดคราบฝุ่นละอองที่ปกคลุมอารามแห่งหนึ่งของชนยิวด้วยมือของท่านเองใส่ลงชายเสื้อที่ท่านสวมอยู่ เพื่อขนไปเทที่อื่น บรรดาทหารเห็นดังนั้นก็ช่วยกันลอกคราบฝุ่นออกคนละไม้คนละมือ ไม่ช้าอารามนั้นก็ปรากฏขึ้นในสภาพที่ใช้งานได้ อารามนี้พวกบาเซนไทน์ได้เอาฝุ่นโปะไว้ เพื่อลบร่องรอยของอาคารให้หายไป
3. ห้ามฆ่า เด็ก สตรี คนชรา และผู้ป่วย
ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ยังได้เคยสั่งแก่กองทัพของท่านที่ยกทัพไปสมรภูมิรบไว้ดังนี้
“จงยาตราทัพไปในพระนามของอัลลอฮ ด้วยอุปการะคุณแห่งพระองค์ และด้วยความเห็นชอบของศาสนฑูตของพระองค์ จงอย่าได้ฆ่าคนชรา เด็ก ทารก และผู้หญิงเป็นอันขาด อย่าทำเกินเหตุ และจงเก็บรักษาทรัพย์เชลยไว้กับพวกท่านให้เรียบร้อย จงทำแต่สิ่งที่ถูกต้องและทำแต่ความดี แท้จริงอัลลอฮฺทรงรักบรรดาผู้ทำความดีเสมอ ”
ครั้งหนึ่งเมื่อการรบยุติลง ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ได้มองไปเห็นศพหญิงผู้หนึ่ง ท่านได้ต่อว่าว่า
“หญิงผู้นี้ไม่มีท่าทีว่าจะจับอาวุธสู้กับใครได้ พวกท่านจงส่งคนให้รีบไปสกัดคอลิดไว้ให้ทัน แล้วสั่งเขามิให้ฆ่าพวกผู้หญิง พวกทาส และเด็กๆ เป็นอันขาด ”
ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม จะรู้สึกขัดเคืองใจอย่างยิ่ง ถ้าท่านได้ทราบว่ามีเด็กหรือทารกต้องเสียชีวิตในการทำสงคราม วันหนึ่งท่านได้รับรายงานว่ามีเด็กถูกฆ่าตายหลายคน ท่านกล่าวขึ้นว่า
“ นี่อะไรกัน ทำไมทหารจึงอุกอาจถึงกับฆ่าเด็กๆได้ ห้ามฆ่าเด็ก ห้ามฆ่าเด็ก ห้ามฆ่าเด็ก ”
นอกจากนี้ท่านอบูบักร อัศศิดดี๊ก ( ผู้ปกครองคนแรกภายหลังการเสียชีวิตของท่านนบี) ได้เคยกำชับท่านแม่ทัพ ยะซีด บิน อบีซุฟยาน ซึ่งจัดทัพยกไปซีเรียไว้ ดังนี้ คือ
“อย่าฆ่าผู้หญิง เด็ก หรือคนชรา อย่าโค่นต้นอินทผลัมหรือไม้ให้ผลอื่นๆ อย่าเผาทำลายต้นไม้อย่าทำลายสิ่งที่อยู่ในสภาพดีๆ อย่าฆ่าสัตว์เลี้ยงเว้นแต่เพื่อนำมาเป็นอาหารประทังชีวิต อย่ามีใจขลาด และอย่าทำเกินเหตุ”
ท่านยังบอกท่านยะซีดอีกด้วยว่า
“อย่าได้สังหารผู้บาดเจ็บเพราะพวกเขาบางส่วนอาจไม่เกี่ยวข้องกับสงคราม”
ส่วนคนชรานั้นอิสลามไม่อนุมัติให้ฆ่านอกจากคนชราที่เป็นแม่ทัพหรือนายทหารเท่านั้น ส่วนคนชราอื่นจากนี้ซึ่งไม่มีส่วนเกี่ยวข้องใดๆในการรบห้ามฆ่าเด็ดขาด คนชราที่เป็นนายทหารนี้รวมถึงผู้ที่วางแผนหรือเป็นที่ปรึกษาด้วย ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ได้สั่งประหาร ดุเรด อิบนุซซิมมะฮฺ ณ สมรภูมิหุนัยนฺ ดุเรดผู้นี้มีอายุถึง 120 ปีแล้วก็จริงแต่ก็เป็นผู้ที่มีส่วนสำคัญในการวางแผนการรุกรานดินแดนมุสลิม
นอกจากนี้ยังหมายรวมถึงการไม่ทำร้ายทำลายชีวิต คนพิการ คนตาบอด คนเสียสติ ชาวนาชาวไร่ ช่างฝีมือ และ ทาสตลอดจนพ่อค้าพาณิชย์ผู้ไม่เกี่ยวข้องอีกด้วยอีกด้วย
4. ห้ามทำลายต้นไม้และพืชผล
ตามธรรมเนียมที่ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม เคยถือปฏิบัติมาถือว่า การทำลายต้นไม้ก็ดี ผลไม้ก็ดี นับว่าเป็นสิ่งต้องห้าม ในการทำสงครามมีเจตนาเพื่อปราบปรามการรุกราน มิใช่เพื่อยังความเสียหายแก่เพื่อนมนุษย์ ดังนั้น จึงต้องไม่ทำลายต้นไม้และพืชผลต่างๆ ยกเว้นเมื่อปรากฏต่อมาว่าศัตรูได้ใช้ต้นไม้หรือบ้านเรือนเป็นป้อมค่ายเพื่อหวังจะให้การทำสงครามยืดเยื้อออกไปอีก หรือใช้สะสมกำลังออกมารุกรานในโอกาสต่อไปแล้ว กฎการห้ามทำลายก็ต้องระงับไปบ้าง ซึ่งจากการตีความโดยนักนิติศาสตร์มุสลิม มีความเห็นว่าการตัดต้นไม้หรือการทำลายต้นไม้ของศัตรูย่อมกระทำได้นั้น โดยจะต้องจำกัดแต่ในกรณีที่จำเป็นแก่กลยุทธ์เท่านั้น.
5. ห้ามบ่อนทำลายและทำร้ายปศุสัตว์ของศัตรู
จากแบบอย่างตามคำสั่งของท่านอบูบักรตามที่ยกมากล่าวแล้วข้างต้น ยังสะท้อนถึงแนวปฏิบัติที่สำคัญอีกด้านหนึ่งในขณะทำสงคราม คือ ต้องไม่บ่อนทำลายพื้นที่ของศัตรู ไม่ว่าจะเป็นบ้านช่อง อาคารสถานที่ ตลอดจนสัตว์เลี้ยงที่สามารถเป็นอาหารได้ ดังที่ท่านย้ำไว้ว่า
“อย่าเผาทำลายต้นไม้ อย่าทำลายสิ่งที่อยู่ในสภาพดีๆ อย่าฆ่าสัตว์เลี้ยงเว้นแต่เพื่อนำมาเป็นอาหารประทังชีวิต”
กรณีการฆ่าสัตว์เลี้ยงจะกระทำได้เฉพาะใน 3 กรณีเท่านั้น คือ
5.1 เพื่อเป็นอาหารประทังชีวิต เช่น วัว อูฐ แพะ
5.2 เพื่อสกัดการรุกรานของศัตรู หากสัตว์ที่เป็นพาหนะมีส่วนช่วยในการจู่โจม เช่น ม้า
5.2 ต้องเป็นสัตว์ที่ศาสนาอนุมัติให้ฆ่าเท่านั้น เช่น สุกร
นอกจากนี้ อิสลามยังห้ามการฉกชิงวิ่งราวสินทรัพย์ศัตรู หรือแม้แต่การยุยงให้มีการปล้น
Part 2 >>>>Click
Next 4 >>>>Click