ความผิดตะอ์ซีร
.
ความหมายของตะอ์ซีรตามหลักวิชาการหมายถึงการลงโทษสำหรับความผิดที่บทลงโทษมิได้ถูกบัญญัติโดยอัลกุรอานและซุนนะฮ์ของนะบีมุฮัมหมัด ดังนั้นบทลงโทษตะอ์ซีรจะถูกกำหนดตามดุลพินิจของผู้พิพากษาหรือผู้ปกครองรัฐตามรูปคดี ทั้งนี้เพื่อเยียวยาผู้กระทำผิด และปกป้องเขามิให้กระทำผิดซ้ำอีก นอกจากนั้นเพื่อเป็นอุทาหรณ์ให้แก่ผู้อื่นด้วย
บทลงโทษตะอ์ซีรจะแตกต่างจากบทลงโทษหุดู๊ด เนื่องจากเป็นบทลงโทษที่มิได้ถูกกำหนดอย่างชัดเจนและเป็นบทลงโทษที่สามารถเปลี่ยนแปลงได้อยู่เสมอ ตะอ์ซีรจะครอบคลุมบทลงโทษตั้งแต่การตักเตือนจนถึงการประหารชีวิต ผู้พิพากษาอาจใช้ดุลพินิจกำหนดมาตรการเพื่อลงโทษผู้กระทำผิด ผู้พิพากษามีอำนาจกำหนดบทลงโทษตะอ์ซีรมากกว่าหนึ่งประเภท หรือเปลี่ยนแปลงบทลงโทษ หรือกำหนดบทลงโทษหนักขึ้น หรือสั่งรอลงอาญา หรือยกเลิกการลงโทษถ้าเห็นว่ามีความจำเป็นเพื่อปรับปรุงแก้ไขผู้กระทำผิด
อัล-กุรอานและซุนนะฮ์ซึ่งเป็นแหล่งปฐมภูมิของกฏหมายอาญาอิสลาม มิได้บัญญัติถึงบทลงโทษตะอ์ซีรแต่ละประเภทอย่างชัดเจน อย่างไรก็ตาม ทั้งอัล-กุรอานและซุนนะฮ์ได้บัญญัติถึงความผิดที่มีบทลงโทษตะอ์ซีรที่ส่งผลอันตรายต่อความสงบเรียบร้อยของสังคม โดยให้อำนาจแก่ผู้นำรัฐประกาศให้การกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย โดยคำนึงหลักการพื้นฐานของอิสลาม นอกจากนี้ผู้นำรัฐยังมีอำนาจออกกฏระเบียบเพื่อควบคุมความสงบเรียบร้อยของสังคม และลงโทษผู้ที่ฝ่าฝืนกฏระเบียบดังกล่าว
ความผิดซึ่งบทลงโทษมิได้ถูกบัญญัติโดยอัล-กุรอานแลซุนนะฮ์ของนะบีมุฮัมมัด มีมากมาย สามารถแบ่งเป็นสองประเภทใหญ่ๆ ได้แก่1. การกระทำหรือการละเว้นการกระทำที่ฝ่าฝืนบทบัญญัติของชะรีอะฮ์(กฏหมายอิสลาม) อาทิเช่น การลักทรัพย์ที่ไม่อยู่ในเงื่อนไข ในบทลงโทษหัด ละเมิดสัญญา การรับสินบน การพนัน เป็นต้น
2. การฝ่าฝืนกฏระเบียบหรือคำสั่งอำนาจนิติบัญญัติของรัฐที่บัญญัติบนพื้นฐานของผลประโยชน์ของสังคมโดยส่วนรวม และไม่ขัดกับบทบัญญัติของพระผู้เป็นเจ้า
สำหรับการพิสูจน์ความผิดตะอ์ซีรนั้น ประเภทและจำนวนของพยานบุคคลมิได้ถูกกำหนดอย่างชัดเจน ดังนั้นความผิดตะอ์ซีรอาจพิสูจน์ด้วยพยานบุคคลเพียงคนเดียว หรือพิสูจน์โดยพยานแวดล้อม หรือความเห็นของผู้เชี่ยวชาญ หรือพยานหลักฐานอื่นๆ ที่ศาลเห็นว่ามีน้ำหนักเพียงพอสำหรับพิสูจน์ความผิดที่กระทำลงไป
ความผิดตะอ์ซีร ในอัลกุรอานและซุนนะฮ์
ความผิดและการฝ่าฝืนที่มีบทลงโทษตะอ์ซีรหลายประเภทที่ได้กล่าวในอัลกุรอานและซุนนะฮ์ของนะบีมุฮัมมัด ซึ่งเป็นการให้อำนาจแก่ฝ่ายนิติบัญญัติและศาลในการกำหนดบทลงโทษสำหรับความผิดและการฝ่าฝืนดังกล่าว โดยต้องคำนึงถึงเงื่อนไขของอายะฮ์อัลกุรอานและซุนนะฮ์ ตลอดจนสถานการณ์ในขณะที่ความผิดเกิดขึ้น เช่นความผิดดังต่อไปนี้
1. การห้ามรับประทานอาหารบางชนิด
อัลลอฮ์ ทรงห้ามมิให้ทานเนื้อสัตว์ที่ตายเอง และเลือดและเนื้อสุกร (หมู) และสัตว์ที่ถูกเปล่งเสียงในขณะเชือด เพื่อการอื่นนอกจากอัลลอฮ์ (อัลกุรอาน 2: 173)
2. การฝ่าฝืนสัญญา
นะบีมุฮัมมัด ได้กล่าวไว้ว่า ผู้ที่ฝ่าฝืนสัญญานั้นไม่ถือว่าเป็นผู้ศรัทธาที่สมบูรณ์
นะบีมุฮัมมัด ยังได้กล่าวอีกว่า บุคคลที่มีคุณลักษณะสี่ประการนี้ถือว่าเป็นผู้หลอกลวง ถ้าหากเขาประพฤติข้อใดข้อหนึ่งในสี่ประการนี้ ถือว่าเขามีคุณสมบัติข้อหนึ่งของผู้หลอกลวง นอกจากเขาละทิ้งมันเสีย คุณลักษณะสี่ประการดังกล่าวได้แก่ การฝ่าฝืนสัญญารับฝากของ การพูดเท็จ การขาดความซื่อสัตย์ในสัญญาที่ได้ทำไว้ และการใช้กำลังเมื่อเกิดการทะเลาะวิวาทขึ้น
3. โกงตาชั่ง ตวงและวัด
อัลลอฮ์ ทรงสาปแช่งให้เกิดความหายนะ
ความหายนะแก่บรรดาผู้ทำให้พร่องในการตวงและการชั่ง คือบรรดาผู้ที่เมื่อพวกเขาตวงเอาจากคนอื่นก็ตวงเอาเต็ม และเมื่อพวกเขาตวงหรือชั่งให้คนอื่นก็ทำให้ขาด(อัลกุรอาน 83: 1-3)
เพราะพระองค์ทรงสั่งตวงให้เต็ม และชั่งด้วยตาชั่งที่เที่ยงตรง เพราะการกระทำดังกล่าวนั้นเป็นการดียิ่ง และเป็นการตัดสินใจที่ดีกว่า (อัลกุรอาน 17: 35)
4. การพัวพันกับดอกเบี้ย
อัลลอฮ์ ทรงเปรียบบรรดาผู้กินดอกเบี้ย เป็นเช่นเดียวกันกับผู้ที่ชัยฎอนทำร้ายการทรงตัวของเขา และแท้จริงนั้นอัลลอฮ์ ทรงอนุมัติการค้าขายและทรงห้ามการเอาดอกเบี้ย(อัลกุรอาน2: 275)
นอกจากนี้ อัลลอฮ์ จะทรงให้ดอกเบี้ยลดน้อยลงและหมดความจำเริญ และจะทรงให้บรรดาที่เป็นทานเพิ่มพูนขึ้น (อัลกุรอาน 2:276)
5. การปกปิดพยานหลักฐาน
อัลลอฮ์ ทรงสั่งมิให้ปกปิดพยานหลักฐาน และกำชับว่าผู้ใดปกปิดมันไว้แน่นอนหัวใจของเขามีบาป (อัลกุรอาน 2: 283)
นอกจากนี้พระองค์ยังได้สั่งมิให้บรรดาพยานปฏิเสธ เมื่อถูกเรียกร้องให้เป็นพยาน (อัลกุรอาน 2: 282)
6. ให้การเป็นพยานเท็จ
อัลลอฮ์ ทรงสั่งให้ปลีกตัวให้พ้นจากความโสมม และออกห่างจากการกล่าวคำเท็จ(อัลกุรอาน22: 30)
นอกจากนี้นะบีมุฮัมมัด ได้จัดระดับของความผิดฐานในการให้การเป็นเท็จอยู่ในระดับเดียวกับการตั้งภาคีต่ออัลลอฮ์และการอกตัญญูต่อบิดามารดา ซึ่งถือว่าเป็นบาปที่ร้ายแรง
7. การกล่าวหา การดูหมิ่น และการหมิ่นประมาท
อัลลอฮ์ ตรัสมิให้ชนกลุ่มหนึ่งเยาะเย้ยชนอีกกลุ่มหนึ่ง เพราะบางทีชนกลุ่มที่ถูกเยาะเย้ยจะดีกว่าชนกลุ่มที่เยาะเย้ย (อัลกุรอาน49: 11)
นอกจากนี้นะบีมุฮัมมัด ยังได้กล่าวว่า มุสลิมเป็นพี่น้องกัน ดังนั้นมุสลิมต้องไม่สบประมาท เย้ยหยัน และดูถูกมุสลิมด้วยกัน
และมีหะดีษที่รายงานโดยอับดุลลอฮ์ อิบนุ อับบาส กล่าวว่านะบีมุฮัมมัด ได้ประกาศจะลงโทษด้วยการโบยจำนวน 20 ที แก่ผู้ที่ดูถูกผู้อื่นดังนั้นการกระทำที่ถือว่าเป็นการดูถูก เย้ยหยัน หรือสบประมาทผู้อื่นถือว่าเป็นความผิดตะอ์ซีรทั้งสิ้น
8. การรับสินบน
อัลลอฮ์ ทรงห้ามมิให้ครอบครองและใช้ประโยชน์ทรัพย์สมบัติคนอื่นโดยมิชอบ และสั่งมิให้ติดสินบนแก่ผู้พิพากษาเพื่อให้ตัดสินชนะคดีที่พิพาทเกี่ยวกับทรัพย์สมบัติของผู้อื่น(อัลกุรอาน 2: 188)
นะบีมุฮัมมัด ยังได้กล่าวว่า อัลลอฮ์ทรงสาปแช่งผู้ให้สินบน ผู้รับสินบน และคนกลางซึ่งเป็นตัวประสานระหว่างเขาทั้งสอง9. การพนัน
อัลลอฮ์ตรัสไว้ความว่า
ที่จริงสุราและการพนันและแท่นหินสำหรับเชือดสัตว์บูชายัญ และเสี่ยงติ้วนั้นเป็นสิ่งโสมม อันเกิดจากการกระทำของซัยฏอน ดังนั้นจงห่างไกลจากมันเสียเพื่อความสำเร็จของชีวิตทั้งในโลกนี้และโลกอาคิเราะฮ์ (อัลกุรอาน5: 90-91)
และนะบีมุฮัมมัด ได้กล่าวความว่า ผู้ที่พูดกับเพื่อนของเขาว่า เรามาพนันกันไหมนั้นควรหันมาบริจาคทานเสีย
10. การเข้าไปในบ้านของบุคคลอื่นโดยมิได้รับอนุญาต
อัลลอฮ์ ทรงห้ามมิให้เข้าไปในบ้านคนอื่นปราศจากการขออนุญาตและให้สลามแก่เจ้าของบ้านเสียก่อน (อัลกุรอาน 24: 27)
การเข้าไปในบ้านของบุคคลอื่นโดยมิได้รับอนุญาตและการละเมิดความเป็นส่วนตัวของบุคคลอื่นนั้นถือว่าเป็นความผิดตะอ์ซีร
สรุปอิสลามถือว่าการดำรงไว้ซึ่งบทลงโทษที่กำหนดโดยอิสลาม ถือเป็นการคืนชีวิตแก่มนุษยชาติที่นำพาสังคมพบกับความสันติสุขอันแท้จริง หาไม่แล้วสังคมจะประสบแต่ความปั่นป่วนอย่างไม่มีวันสิ้นสุด การลงโทษผู้กระทำผิดในอิสลามนั้นไม่สามารถกระทำได้โดยพลการหรือปฏิบัติโดยปัจเจกบุคคล การตัดสินคดีต้องดำเนินภายใต้กฏกติกาที่รัดกุม โปร่งใส ยุติธรรมและเสมอภาค โดยที่บรรดานักวิชาการด้านนิติศาสตร์อิสลามได้เขียนบันทึกและอธิบายในตำราอย่างละเอียด ซึ่งจำเป็นต้องมีการศึกษาอีกมากมาย บทความชิ้นนี้ ได้อธิบายคำสอนของอิสลามว่าด้วยบทลงโทษในภาพรวมเท่านั้น ไม่ใช่เป็นบทกฏหมายว่าด้วยการลงโทษผู้กระทำผิด
อิสลามถือว่าทุกอย่างที่เป็นข้อห้ามตามศาสนบัญญัติ ล้วนนำมาซึ่งความหายนะแก่ชีวิตทั้งโลกนี้และโลกอาคิเราะฮ์ ด้วยเหตุนี้ บรรดาผู้ศรัทธาจึงไม่มีทางเลือกอื่น เว้นแต่ระมัดระวังมิให้ตกหลุมพรางในข้อห้ามทั้งปวง ซึ่งถือเป็นเขตหวงห้ามของอัลลอฮ์ หาไม่แล้วเขาจะเป็นหนึ่งในกลุ่มผู้อธรรม ดังที่อัลกุรอานกล่าวไว้ความว่า
.
เหล่านั้นแหละคือหุดู๊ด(ขอบเขต)ของอัลลอฮ์ พวกเจ้าจงอย่าละเมิดมัน
และผู้ใดละเมิดขอบเขตของอัลลอฮ์แล้ว ชนเหล่านั้น คือผู้ที่อธรรมแก่ตัวเอง
(อัลกุรอาน 2 : 229)
.
.
เรียบเรียงโดย อ.มัสลัน มาหะมะ
ความผิดกิศ็อด >>>>Click
ความผิดหุดู๊ด >>>>Click