Palestine...ปาเลสไตน์ อดีตและปัจจุบัน 2
  จำนวนคนเข้าชม  22586

 ปาเลสไตน์ อดีตและปัจจุบัน

 

          อาราฟัต เข้าร่วมเคลื่อนไหวทางการเมืองมาตั้งแต่สมัยที่ยังศึกษาด้านวิศวกรรมศาสตร์ ที่มหาวิทยาลัยแห่งกษัตริย์ฟาฮัดที่ 1 ณ กรุงไคโร ประเทศอียิปต์ และได้เข้าร่วมเป็นทหารในกองทัพอียิปต์เมื่อครั้งสงครามคลองสุเอซ ในปี ค.ศ.1956 จากนั้นได้ไต่เต้าขึ้นมาสู่ตำแหน่งสำคัญๆ ในองค์การปลดปล่อยปาเลสไตน์ จนกระทั่งก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งผู้นำในที่สุด


          อาราฟัต พยายามอย่างยิ่งในการแสดงให้ชาวโลกยอมรับการมีตัวตนของชาวปาเลสไตน์และพยายามแสดงให้เห็นถึงความชอบธรรม ในการกอบกู้ดินแดนของชาวปาเลสไตน์คืนจากอิสราเอล   


         หลังจากที่ทั้งสองฝ่ายปฏิบัติการด้วยความรุนแรงทั้งอย่างลับๆ และอย่างโจ่งแจ้งมาช่วงระยะหนึ่ง ซึ่งต่างฝ่ายต่างก็พบว่าการใช้ความุรนแรงไม่ได้ก่อให้เกิดประโยชน์อันใด ผู้นำของ PLO และอิสราเอล ยอมหันหน้าเข้าหากัน โดยเจรจาผ่านทางสหประชาชาติในปี 1972 การประนีประนอมครั้งนี้เป็นผล ก่อให้เกิดการลงนามใน "ข้อตกลงสันติภาพออสโล ฉบับที่ 1" ในปี 1993 เป็นการประกาศว่าโลกยอมรับให้มีดินแดนปกครองตนเองที่ชื่อปาเลสไตน์ ในเขตเวสต์แบงก์และฉนวนกาซ่า


         จากข้อตกลงสันติภาพดังกล่าว ทำให้นายอาราฟัต ได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ ในปี 1994 ร่วมกับ พลเอกยิตซัค ราบิน (Yitzhak Rabin) และนายชิมอน เปเรส (Shimon Peres) นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของอิสราเอลในสมัยนั้น

          แต่แล้วความสงบสุขก็อยู่ได้ไม่นาน เมื่อกลุ่มชาวยิวหัวรุนแรงในอิสราเอล ไม่พอใจท่าทีที่ยอมอ่อนข้อของนายราบิน จึงเกิดการลอบสังหารขึ้น ในปี 1995 ตามด้วยการลุกฮือของชาวปาเลสไตน์ จากนั้นสันติภาพก็ลอยห่าง ความขัดแย้งทวีเพิ่มขึ้น แม้นายอาราฟัตจะได้เป็นประธานาธิบดีปาเลสไตน์ในปีถัดมา ซึ่งมีการถ่ายทอดสดพิธีแต่งตั้งประธานาธิบดีไปยังทั่วโลก ถือเป็นประธานาธิบดีคนเดียวและคนแรกในโลกนี้ ที่ไม่มีอำนาจใดๆ แม้กระทั่งจะเดินทางออกนอกประเทศก็ต้องขอวีซ่าจากรัฐบาลอิสราเอล     เสรีภาพที่ได้มาทำให้ชาวปาเลสไตน์ปิติยินดี ออกมาฉลองกันอย่างยิ่งใหญ่ มีการยิงปืนขึ้นฟ้าและลุกลามไปถึงขั้นจุดไฟเผาทำลายทุกสิ่งทุกอย่างที่เป็นสัญลักษณ์ของชาวยิว จากนั้นก็ชักธงชาติปาเลสไตน์ขึ้นยอดเสา แต่ขณะเดียวกันชาวยิวบางส่วนที่ยังอาศัยอยู่ในดินแดนนี้ก็เกิดความไม่พอใจ ออกมาก่อความวุ่นวายตามท้องถนนจนเกิดเป็นจลาจลไปทั่วเมือง 

          หลังจากนั้น ชาวปาเลสไตน์เริ่มเข้าใจว่า เสรีภาพที่ได้มา มิใช่อื่นใดนอกจากละครหลอกคนดูทั้งโลก นายอาราฟัตก็มิใช่เป็นคนอื่นนอกจากเป็นข้าราชการใกล้เกษียนของรัฐบาลอิสราเอลเท่านั้น ทำให้ความนิยมในตัวเขาลดลง หนำซ้ำ นายอาเรียล ชารอน(Ariel Sharon) นายกรัฐมนตรีคนใหม่ของอิสราเอล ก็มีทีท่าแข็งกร้าว ไม่ยอมเจรจากับเขา เนื่องจากเห็นว่านายอาราฟัตยังแอบหนุนให้มีการใช้ความรุนแรงกับอิสราเอลอยู่ และที่สำคัญไม่สามารถทำหน้าที่เป็นตำรวจให้กับรัฐบาลอิสราเอลในการปราบปรามขบวนการใหม่ของชาวปาเลสไตน์โดยการนำของขบวนการฮามาส


          ปัญหาปาเลสไตน์นับเป็นประเด็นความขัดแย้งที่สำคัญยิ่งของโลก เพราะมีมหาอำนาจหลายฝ่ายเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย ที่ผ่านมาได้มีความพยายามกันแล้วหลายครั้งหลายคราที่จะแก้ไขปัญหาผ่านกระบวนการเจรจาแบบสันติวิธี แต่ท้ายที่สุดความพยายามเหล่านั้นก็ล้มเหลวลงอย่างไม่เป็นท่า ส่วนคณะปกครองปาเลสไตน์หรือรัฐบาลปาเลสไตน์ภายใต้การนำของกลุ่มฟาตะห์ (ซึ่งได้รับการจัดตั้งขึ้นมาหลังการเจรจาสันติภาพที่กรุงมาดริดในปี ค.ศ. 1993) ก็ไม่สามารถทำอะไรได้มากไปกว่า การให้ความหวังต่อชาวปาเลสไตน์ทั้งมวลว่า พวกเขาจะได้รัฐเอกราชกลับคืนมา อันจะเป็นดินแดนที่ประกอบไปด้วยพื้นที่เหล่านี้รวมกันคือ ฉนวนกาซ่า ฝั่งตะวันตกของแม่น้ำจอร์แดน (West Bank) และเยรูซาเล็มตะวันออก ซึ่งทั้งหมดล้วนเป็นดินแดนที่อิสราเอลยึดครองอย่างผิดกฎหมาย มาตั้งแต่หลังสงคราม 6 วันในปี ค.ศ. 1967


           ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1993 ที่กระบวนการสันติภาพได้เริ่มต้นขึ้น ซึ่งมีการตกลงเห็นพ้องกันว่า รัฐปาเลสไตน์จะได้รับการสถาปนาขึ้นภายในอีกไม่กี่ปีหลังจากนั้น แต่จนกระทั่งถึงบัดนี้ ชาวปาเลสไตน์ยังคงมีแต่ความว่างเปล่า ไม่เคยได้อะไรจากความหวังที่ตนตั้งหน้าตั้งตารอคอยเลย มิหนำซ้ำพวกเขากลับต้องทนทุกข์ทรมานจากมาตรการอันป่าเถื่อนของยิวไซออนิสต์ และการปิดกั้นทางเศรษฐกิจของฝ่ายอิสราเอล ส่วนทางด้านคณะปกครองปาเลสไตน์นั้น นับวันก็ยิ่งสร้างความผิดหวังให้แก่ประชาชนเพิ่มมากขึ้น เพราะนอกจากจะไม่สามารถทำอะไรได้แล้ว ยังมีการคอร์รัปชั่นกันภายในอย่างมโหฬารและมีความแตกแยกกันเองภายในกลุ่ม มิหนำซ้ำ นายยัซเซอร์ อาราฟัต ผู้นำหนึ่งเดียวของฟาตะห์วีรบุรุษจอมปลอมและสัญลักษณ์แห่งการต่อสู้อันว่างเปล่าของชาวปาเลสไตน์ กลับต้องมาจบชีวิตลงในช่วงเวลาที่เป็นหัวเลี้ยวหัวต่อนี้อีกด้วย


         เมื่อต้นปี ค.ศ. 2006 พรรคฮามาส ชนะในการเลือกตั้งสภานิติบัญญัติ จนสามารถก้าวขึ้นมาเป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล ยังความไม่พอใจให้แก่กลุ่มอำนาจเก่าอย่างฟาตะห์เป็นอย่างยิ่ง นับจากนั้นเป็นต้นมากระบวนการที่จะโค่นล้มรัฐบาลฮามาสจึงเริ่มต้นขึ้น ทั้งจากภายในและภายนอกโดยมีสหรัฐฯและอิสราเอลเป็นแกนนำ แม้รัฐบาลฮามาสจะพยายามประนีประนอม โดยยอมแบ่งสรรอำนาจให้กลุ่มฟาตะห์อย่างที่ไม่เคยมีพรรคการเมืองที่ไหนทำกัน

แต่ความพยายามเหล่านั้นก็ไม่เป็นผล ท้ายที่สุดเหตุการณ์จึงจบลงด้วยการปะทะต่อสู้กันอย่างดุเดือด เป็นสงครามกลางเมืองภายใน อันนำไปสู่การยึดอำนาจในเมืองกาซ่าโดยพรรคฮามาส ในขณะที่กลุ่มฟาตะห์ก็หันไปยึดครองเวสต์แบงค์ และจัดตั้งรัฐบาลขึ้นใหม่ที่นั่นเมื่อช่วงกลางปี 2007  ซึ่งก็เท่ากับว่า ขณะนี้ดินแดนปาเลสไตน์ในอดีตไม่ได้ถูกแบ่งออกเป็น 2 ส่วนตามที่เข้าใจกันอีกต่อไปแล้ว แต่ยังเพิ่มขึ้นมาอีกหนึ่งส่วน กลายเป็น 3 ส่วน คือ

 
1. อิสราเอล

2. กาซ่าภายใต้การนำของรัฐบาลฮามาส และ       
 
3. เวสต์แบงค์ภายใต้การนำของรัฐบาลฟาตะห์

         แน่นอนความแตกแยกในหมู่ปาเลสไตน์ในลักษณะเช่นนี้ไม่เคยปรากฏขึ้นมาก่อนในประวัติศาสตร์


           การแบ่งแยกกันระหว่างกาซ่ากับเวสต์แบงค์  เป็นการเอื้อประโยชน์แก่อิสราเอลที่ต้องการเห็นการชุลมุนวุ่นวายเช่นนี้ดำเนินต่อไป และอิสราเอลก็คงจะทำทุกอย่างให้มีการแบ่งแยกกันอย่างจริงจัง เพราะการแบ่งแยกอย่างนี้จะก่อให้เกิดปัญหาชุดใหม่ที่ชาวปาเลสไตน์ต้องเสียเวลาหาทางแก้ไข ซึ่งเท่ากับเป็นการเบี่ยงเบนความสนใจของชาวปาเลสไตน์ จากความปรารถนาเดิมที่จะปลดปล่อยชาติ และหากปัญหานี้ดำเนินต่อไปเรื่อย ๆ มันก็จะเป็นปัจจัยที่เข้าไปทำลายความฝันของชาวปาเลสไตน์ ที่จะจัดตั้งรัฐเอกราชของตนเองขึ้นมา

         ในขณะที่พรรคฮามาสที่สามารถเข้ามาบริหารปาเลสไตน์นั้น อิสราเอลมองไว้เป็นกลุ่มหัวรุนแรงและใช้ทุกวิถีทางบีบการบริหารของพรรคฮามาส และอิสราเอลเองมีแผนโดยอ้างความชอบธรรมในการใช้กำลังอย่างรุนแรง ซึ่งจริง ๆ แล้ว กาซ่าก็เป็นดินแดนเปิดสำหรับอิสราเอลอยู่แล้ว ที่จะสามารถรุกเข้ามาโจมตีทั้งทางบก ทางทะเล และทางอากาศได้ตลอดเวลา


           ฮามาสเองตระหนักถึงผลลัพธ์อันนี้ดี เพราะฉะนั้น ฮามาสคงจะให้ความใส่ใจต่อการสร้างความสามัคคี และสร้างเอกภาพของผู้คนภายในเมืองกาซ่าเป็นลำดับแรก ในขณะเดียวกันก็คงไม่พยายามจะยั่วยุอิสราเอล และได้ตกลงหยุดยิงนาน 6 เดือนตั้งแต่ 20 มิถุนายนถึง 19 ธันวาคม 2551


           ท้ายสุด วันที่ 27 ธันวาคม 2551 ที่ผ่านมาว่า กองทัพอิสราเอล ได้โจมตีทางอากาศซึ่งตั้งเป้าที่ฐานที่ตั้งเครื่องยิงจรวดของพรรคและแนวร่วมของฮามาส ซึ่งอยู่ในเขตชุมชนของฉนวนกาซ่า จากการยิงจรวดเข้าใส่ของอิสราเอลที่ยาวนานติดต่อกันหลายสิบวันในครั้งนี้ ทำให้มีผู้เสียชีวิตพุ่งสูงถึงกว่า 1,000 คน และผู้บาดเจ็บมากกว่า 4,000 คน 50% ของเหยื่อดังกล่าวคือสตรีและเด็ก นับเป็นสังหารหมู่อย่างรุนแรงที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์การสู้รบอิสราเอลปาเลสไตน์นับตั้งแต่ได้เกิดข้อขัดแย้งมาเป็นเวลาหลายสิบปี


          ทางการอิสราเอลระบุว่า การโจมตีทางอากาศของอิสราเอลต่อฉนวนกาซ่าครั้งนี้ รวมทั้งการทิ้งระเบิดมากกว่า 100 ตัน ต่อบรรดาฐานที่มั่นหลักๆ ของฮามาส เป็นสิ่งจำเป็นและต้องดำเนินการไปเรื่อยๆ จนกว่าจะมั่นใจว่าอิสราเอลจะปลอดภัย สร้างความตื่นตะหนกและความสับสนอย่างกว้างขวาง ขณะที่ควันสีดำพวยพุ่งเหนือดินแดนปาเลสไตน์


         ขณะที่นายเอฮุด บารัค รัฐมนตรีกลาโหมอิสราเอลกล่าวว่า "ปฏิบัติการคาสต์ ลีด" (Operation Cast Lead) เพื่อปราบปรามพรรคฮามาสครั้งนี้ จะยังคงดำเนินต่อไปตามความจำเป็น และแม้ว่าการต่อสู้ครั้งนี้จะต้องใช้เวลานานและเต็มไปด้วยความยากลำบาก แต่ก็ถึงเวลาแล้วที่อิสราเอลจะต้องดำเนินการในเรื่องนี้และปราบปรามการบริหารงานของพรรคฮามาส


ความประเสริฐของดินแดนปาเลสไตน์


          ความประเสริฐของดินแดนปาเลสไตน์ เนื่องจากดินแดนแห่งนี้เป็นที่ตั้งของมัสยิดอัลอักซอและมัสยิดศิลาอันทรงเกียรติ ซึ่งทั้งสองมัสยิดนี้ถูกสร้างมาก่อนการกำเนิดนบีมูซา นอกจากนี้ อัลกุรอานได้เรียกดินแดนแห่งนี้เป็นดินแดนแห่งสิริมงคล(บะเราะกะฮฺ) เป็นจุดหมายปลายทางของ อิสเราะ(การเดินทางของ นบีมูฮัมมัด  ในเวลากลางคืนจากมัสยิดอัลหะรอม ณ นครมักกะฮฺ ถึงมัสยิด อัลอักซอที่ปาเลสไตน์) และเป็นจุดเริ่มต้นของมิอฺรอจ(การเดินทางของนบีมูฮัมมัด จากมัสยิดอัลอักซอสู่ฟากฟ้า)


          ดินแดนปาเลสไตน์เป็นดินแดนแห่งคำวิวรณ์ของอัลลอฮ์ เนื่องจากบรรดาศาสนทูตหลายท่านเช่น ดาวูด สุลัยมาน อีซา ได้ถือกำเนิดและอาศัยอยู่ ณ ดินแดนแห่งนี้ ในขณะที่อิบรอฮีม ลูฏ อิสหาก ยะกู๊บ ยูซุฟและมูซา เคยอพยพเข้ามาสู่ดินแดนนี้เช่นเดียวกัน

ที่มา : จากหนังสือ"ปาเลสไตน์ แผ่นดินที่ไร้ประชาชน เพื่อทรชนผู้ไม่มีแผ่นดิน"

ผู้เขียน : มัสลัน มาหะมะ

الكاتب : مرسلان محمد

สถาบันอัสสลาม มหาวิทยาลัยอิสลามยะลา

ตอนที่ 1>>>>Click