การทำสงคราม (ญิฮาด) ในอิสลาม : นิยาม และเงื่อนไข 2
  จำนวนคนเข้าชม  12583

การทำสงคราม (ญิฮาด) ในอิสลาม : นิยาม และเงื่อนไข


ผู้ช่วยศาสราจารย์ ดร. อับดุลเลาะ หน่มสุข

คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง

د.عبدالله نومسوك

ประเด็นที่ห้า : จุดประสงค์ของการทำสงคราม

          จากการศึกษาและวิเคราะห์โองการต่างๆของอัลกุรอานที่เกี่ยวกับการทำสงครามสามารถสรุปได้ว่า สงครามในอิสลามไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อการแก้แค้น หรือการก่อการร้าย หรือการบังคับคนให้เปลี่ยนศาสนา หรือการล่าอาณานิคม หรือการแสวงหาดินแดนที่มั่งคั่ง หรือแสวงหาความยิ่งใหญ่ แต่วัตถุประสงค์ที่สำคัญของสงคราม คือเพื่อปกป้องชีวิต ทรัพย์สิน ดินแดน เกียรติยศ และเสรีภาพของตนเช่นเดียวกับการป้องกันคนอื่น ให้พ้นจากความไม่เป็นธรรม และการกดขี่
 
การทำสงครามในอิสลามจะต้องทำเพื่อวัตถุประสงค์อย่างใดอย่างหนึ่งต่อไปนี้ คือ:

1.)   ตอบโต้ความอยุติธรรม และการรุกราน ปกป้อง และพิทักษ์ชีวิต ครอบครัว ทรัพย์สิน ศาสนา และมาตุภูมิ ดังที่อัลลอฮฺได้ตรัสว่า:

{وَقَاتِلُواْ فِي سَبِيلِ اللّهِ الَّذِينَ يُقَاتِلُونَكُمْ وَلاَ تَعْتَدُواْ إِنَّ اللّهَ لاَ يُحِبِّ الْمُعْتَدِينَ}

“ และพวกเจ้าจงต่อสู้ ในหนทางของอัลลอฮฺกับบรรดาผู้ที่ทำร้ายพวกเจ้า และจงอย่ารุกราน แท้จริงอัลลอฮฺไม่ชอบบรรดาผู้รุกราน ” (อัลบะเกาะเราะฮฺ 190)


 2.)    ช่วยเหลือผู้อ่อนแอ และผู้ที่ถูกกดขี่ในหมู่ผู้ศรัทธา ดังที่อัลลอฮฺได้ตรัสว่า:

{وَمَا لَكُمْ لاَ تُقَاتِلُونَ فِي سَبِيلِ اللّهِ وَالْمُسْتَضْعَفِينَ مِنَ الرِّجَالِ وَالنِّسَاء وَالْوِلْدَانِ الَّذِينَ يَقُولُونَ رَبَّنَا أَخْرِجْنَا مِنْ هَذِهِ الْقَرْيَةِ الظَّالِمِ أَهْلُهَا{

“ มีเหตุใดเกิดขึ้นแก่พวกเจ้ากระนั้นหรือ ที่พวกเจ้าไม่สู้รบในหนทางของอัลลอฮฺทั้งๆที่บรรดาผู้อ่อนแอไม่ว่าชาย หรือหญิง และเด็กๆต่างกล่าวกันว่า โอ้พระผู้อภิบาลของเรา โปรดนำพวกเราออกไปจากเมืองนี้ ซึ่งชาวเมืองเป็นผู้ข่มเหงรังแก ” (อันนิสาอฺ 75 )


3.)     ให้บทเรียนแก่ผู้ละเมิดสัญญา หรือผู้ปฏิเสธความยุติธรรมการประนอมไกล่เกลี่ย ดังที่อัลลอฮฺได้ตรัสว่า:

{وَإِن نَّكَثُواْ أَيْمَانَهُم مِّن بَعْدِ عَهْدِهِمْ وَطَعَنُواْ فِي دِينِكُمْ فَقَاتِلُواْ أَئِمَّةَ الْكُفْرِ إِنَّهُمْ لاَ أَيْمَانَ لَهُمْ لَعَلَّهُمْ يَنتَهُونَ }

“และถ้าพวกเขาทำลายคำมั่นสัญญาของพวกเขา หลังจากที่พวกเขาได้ทำสัญญาไว้ และใส่ร้ายในศาสนาของพวกเจ้าแล้วไซร้ ก็จงต่อสู้กับบรรดาผู้นำแห่งการปฏิเสธศรัทธาเถิด แท้จริงพวกเขานั้นหาได้มีคำมั่นสัญญาใดๆ แก่พวกเขาไม่ เพื่อว่าพวกเขาจะหยุดยั้ง ” (อัตเตาบะฮฺ 12)


 4.)  ประกันเสรีภาพด้านการศรัทธา และการปฏิบัติตามศาสนบัญญัติที่บรรดาผู้รุกรานพยายามกีดขวาง  ดังที่อัลลอฮฺได้ตรัสว่า:

{{وَقَاتِلُوهُمْ حَتَّى لاَ تَكُونَ فِتْنَةٌ وَيَكُونَ الدِّينُ لِلّهِ فَإِنِ انتَهَواْ فَلاَ عُدْوَانَ إِلاَّ عَلَى الظَّالِمِينَ

“และจงสู้รบกับพวกเขา จนกว่าความเลวร้าย (ฟิตนะฮฺ) จะไม่ปรากฏขึ้น และจนกว่าการเคารพภักดี (อิบาดะฮฺ)ทั้งหลายจะเป็นสิทธิ์ของอัลลอฮฺเท่านั้น แต่ถ้าพวกเขายุติก็ย่อมไม่มีการปฏิปักษ์ใดๆนอกจากแก่บรรดาผู้อธรรมเท่านั้น ”  (อัลบะเกาะเราะฮฺ 193)


 5.)    สร้างสันติภาพในกลุ่มมุสลิมที่ขัดแย้งกัน ดังที่อัลลอฮฺได้ตรัสว่า:

{وَإِن طَائِفَتَانِ مِنَ الْمُؤْمِنِينَ اقْتَتَلُوا فَأَصْلِحُوا بَيْنَهُمَا فَإِن بَغَتْ إِحْدَاهُمَا عَلَى الْأُخْرَى فَقَاتِلُوا الَّتِي   تَبْغِي حَتَّى تَفِيءَ إِلَى أَمْرِ اللَّهِ فَإِن فَاءتْ فَأَصْلِحُوا بَيْنَهُمَا بِالْعَدْلِ وَأَقْسِطُوا إِنَّ اللَّهَ يُحِبُّ  الْمُقْسِطِينَ }

“และหากมีสองฝ่าย จากบรรดาผู้ศรัทธาทะเลาะวิวาทกัน พวกเจ้าก็จงไกล่เกลี่ยระหว่างทั้งสองฝ่าย หากฝ่ายหนึ่งในสองฝ่ายนั้นละเมิดอีกฝ่ายหนึ่ง พวกเจ้าก็จงปรามฝ่ายที่ละเมิดจนกว่าฝ่ายนั้นจะกลับสู่พระบัญชาของอัลลอฮฺ ฉะนั้นหากฝ่ายนั้นกลับ (สู่พระบัญชาของอัลลอฮฺ)แล้ว พวกเจ้าก็จงประนีประนอม ระหว่างทั้งสองฝ่ายด้วยความยุติธรรม และพวกเจ้าจงให้ความเที่ยงธรรม(แก่ทั้งสองฝ่าย)เถิด แท้จริงอัลลอฮฺทรงรักใคร่บรรดาผู้ให้ความเที่ยงธรรม ”  (อัลหุญูร๊อต 9)


          จากวัตถุประสงค์ข้างต้นสามารถแยกประเภทของการทำสงครามในอิสลามออกเป็น3 ประเภทด้วยกัน คือ:

1. สงครามป้องกัน  เพื่อยับยั้งศัตรูของมุสลิมที่โจมตี

2. สงครามปลดปล่อย  เพื่อช่วยเหลือผู้อ่อนแอ และผู้ที่ถูกกดขี่

3. สงครามที่เริ่มต้นบุกก่อน ซึ่งจะทำได้ก็ต่อเมื่อมุสลิมรู้แน่ชัดว่ามีการทรยศต่อสัญญาสันติภาพที่ทำไว้กับศัตรู เมื่อศัตรูมีแผนที่จะโจมตีมุสลิมอย่างจริงจัง

          
          จุดประสงค์ต่างๆเหล่านี้หากพิจารณาดูให้ดีจะพบว่า ล้วนเป็นจุดประสงค์ที่ต้องการให้การต่อสู้ และสงครามที่หลีกเลี่ยงไม่ได้เป็นวิธีการที่นำไปสู่ความเป็นธรรม และความสงบสุขในสังคมมนุษย์ทั้งสิ้น
 

ประเด็นที่หก : เงื่อนไขของการทำสงคราม 

         การทำสงคราม(ญิฮาด) นั้นจะต้องอยู่ภายใต้เงื่อนไข และกฏเกณฑ์ดังต่อไปนี้ คือ:

         1.) จะต้องทำเพื่ออัลลอฮฺ และเพื่อศาสนาของอัลลอฮฺเท่านั้น หากทำเพื่อสิ่งอื่น เช่น เพื่ออามิส สินจ้าง เพื่อพวกพ้องวงศ์ตระกูล เพื่อเผ่าพันธุ์ เพื่อประเทศชาติ หรือเพื่อลาภยศ และสรรเสริญการต่อสู้เพื่อเป้าหมายดังกล่าวไม่ถือว่าเป็นการญิฮาด ดังปรากฏหลักฐานจากหะดีษของท่านอะบูมูซา (รฎ.) ท่านได้รายงานว่า:

" جاءَ رَجُلٌ إلَى النبي صلى الله عليه وسلم فقالَ: الرَّجُلُ يُقاَتِلُ لِلْمَغْنَمِ، وَالرَّجُلُ يُقاَتِلُ لِلذِّكْرِ،
 وَالرَّجُلُ يُقاَتِلُ لِيَرَى مَكاَنَه، فَمَنْ فِيْ سَبِيْلِ الله؟ قاَلَ: مَنْ قاَتَلَ لِتَكُوْنَ كَلِمَةُ الله هِيَ الْعُلْياَ فَهُوَ
فِيْ سَبِيْلِ الله. "                                                                              
  
“มีชายคนหนึ่งมาหาท่านนะบี และถามว่า : ชายคนหนึ่งสู้รบเพื่อทรัพย์เชลย อีกคนหนึ่งสู้รบเพื่อได้รับการสรรเสริญ และอีกคนหนึ่งสู้รบเพื่อตำแหน่ง คนไหนจะอยู่ในหนทางของอัลลอฮฺ (หมายถึงการต่อสู้ของเขาเป็นญิฮาด) ?

 
ท่านนะบีตอบว่า : คนที่สู้รบเพื่อให้พระดำรัสของอัลลอฮฺ (หมายถึงศาสนา) สูงส่ง เขาผู้นั้นอยู่ในวิถีทางของอัลลอฮฺ ” (บุคอรีย์ 1997 หมายเลข 2810)

      2.)  ถูกกดขี่ข่มเหงทางด้านชีวิต ครอบครัว เกียรติยศ ทรัพย์สิน และถูกขับไล่อย่างอยุติธรรม

       3.)   ถูกลิดรอนสิทธิทางด้านศาสนา จนไม่สามารถประกอบกิจกรรมต่างๆทางด้านศาสนาได้

  เงื่อนไขทั้งสองนี้ได้มาจากอัลกุรอานบทอัลมุมตะหินะฮฺ ที่อัลลอฮฺได้ตรัสว่า:

  {لَا يَنْهَاكُمُ اللَّهُ عَنِ الَّذِينَ لَمْ يُقَاتِلُوكُمْ فِي الدِّينِ وَلَمْ يُخْرِجُوكُم مِّن دِيَارِكُمْ أَن تَبَرُّوهُمْ وَتُقْسِطُوا إِلَيْهِمْ إِنَّ اللَّهَ يُحِبُّ الْمُقْسِطِينَ }    

                                                                    
 “อัลลอฮฺไม่ได้ทรงห้ามพวกเจ้าเกี่ยวกับบรรดา (ชนต่างศาสนิก) ที่มิได้รุกรานพวกเจ้าในเรื่องศาสนา และพวกเขามิได้ขับไล่พวกเจ้าออกจากบ้านเรื่อนของพวกเจ้า ในการที่พวกเจ้าจะทำความดีแก่พวกเขา แท้จริงอัลลอฮฺทรงรักผู้ที่มีความยุติธรรม ” (อัลมุมตุหินะฮฺ 8)

     โองการนี้ได้ให้ความชัดเจนในเงื่อนไขสองประการของการอยู่ร่วมกันฉันมิตรระหว่างมุสลิมกับชนต่างศาสนิก คือ :

  1.        لَمْ يُقاَتِلُوْكُمْ فِيْ الدِّيْنِ  หมายถึงพวกเขา (ชนต่างศาสนิก)ไม่ได้คุกคาม หรือต่อต้านในเรื่องสิทธิทางศาสนา

  2.      لَمْ يُخْرِجُوْكُمْ مِنْ دِياَرِكُمْ   หมายถึงพวกเขาไม่ได้คุกคามในเรื่องสิทธิของที่อยู่อาศัย     และการดำรงชีพ

        สำหรับผู้ที่มีพฤติกรรมเป็นภัยต่อมุสลิมในสองประการข้างต้น อัลลอฮฺได้บัญญัติห้ามการผูกมิตรกับพวกเขา และอนุญาตให้ทำการญิฮาดกับพวกเขาได้ ดังคำดำรัสของอัลลอฮฺในโองการถัดมาว่า:
 
{إِنَّمَا يَنْهَاكُمُ اللَّهُ عَنِ الَّذِينَ قَاتَلُوكُمْ فِي الدِّينِ وَأَخْرَجُوكُم مِّن دِيَارِكُمْ وَظَاهَرُوا عَلَى إِخْرَاجِكُمْ أَن تَوَلَّوْهُمْ وَمَن يَتَوَلَّهُمْ فَأُوْلَئِكَ هُمُ الظَّالِمُونَ}                                                 
 
“อัลลอฮฺทรงเพียงแต่ห้ามพวกเจ้าเกี่ยวกับบรรดาผู้รุกรานพวกเจ้าในเรื่องศาสนา และขับไล่พวกเจ้าออกจากบ้านเรือนของพวกเจ้า และช่วยเหลือ (ผู้อื่น) ในการขับไล่พวกเจ้า ในการที่พวกเจ้าจะผูกมิตรกับพวกเขา และผู้ใดผูกมิตรกับพวกเขาชนเหล่านั้นเป็นผู้อธรรม ” (อัลมุนตะยินะฮฺ 9)

        4.)   จะต้องไม่ทำสงครามกับผู้ปฏิเสธ 3 ประเภทคือ

  ก. อัลมุสตะอฺมันالْمُسْتَأْمَنْ
   
 ได้แก่กลุ่มผู้ปฏิเสธที่ได้รับอนุญาตให้เข้ามาทำธุระในรัฐอิสลามชั่วคราว เช่นนักการทูต พ่อค้า นักธุรกิจ และนักศึกษาเป็นต้น

  ข. อัลมุอาฮัดالْمُعاَهَد   
     
 ได้แก่กลุ่มผู้ปฏิเสธที่มีสัญญาสงบศึก หรือมีสัญญาผูกพันที่จะอยู่ร่วมกันอย่างสันติ

  ค. อัซซิมมี่ย์الذِّمِّي 
          
  ได้แก่กลุ่มผู้ปฏิเสธที่อยู่ภายใต้การปกครองของรัฐอิสลาม และจ่ายญิซยะฮฺ(ภาษีที่เก็บจากผู้อยู่ในอารักขา) ให้แก่รัฐอิสลาม

            กลุ่มผู้ปฏิเสธทั้งสามประเภทนี้จะได้รับหลักประกันจากอิสลาม ในความปลอดภัยของชีวิต ทรัพย์สิน และเกียรติยศ (ซอและห์  อัลเฟาซาน http://www.mahadi.net 20/5/2007)

          5.)  จะต้องอยู่ภายใต้จริยธรรมในการทำสงคราม ซึ่งปรากฏในหลักคำสอน และแบบฉบับของท่านรอซู้ล (ซล.) อาทิเช่น :

 - ไม่เป็นฝ่ายรุกราน และเริ่มการเป็นศัตรูก่อน

 - ไม่ทำลายศพด้วยการตัดคอ ตัดแขน ตัดขา หรือหั่นศพ หรือฆ่าแล้วเผา

 - ไม่ฆ่าเด็ก คนชรา ทาส ผู้หญิง และนักบวช ผู้ทรงศีล

  - ไม่ทำลายโฉมหน้าของศัตรูจนจำไม่ได้

 - ไม่ทิ้งศพผู้ที่ล้มตายไว้ในสนามรบให้ตกเป็นเหยื่อของสิงห์สาราสัตว์

 -  ไม่ตัดหรือเผาทำลายต้นไม้ที่ออกผล

 - ไม่ฆ่าสัตว์ เช่นแกะ วัวหรืออูฐ นอกจากเพื่อเป็นอาหาร

 - ไม่ปล้นสะดมข้าวของของผู้ออกรบ

 - ปฏิบัติต่อเชลยสงครามด้วยความเมตตา และละมุนละม่อม


          เหตุผลของข้อห้ามดังกล่าวนั้น ก็เพราะว่าการทำสงครามมีเจตนาเพื่อปราบปรามการรุกรานมิใช่เพื่อยังความเสียหายแก่เพื่อนมนุษย์ และสิ่งแวดล้อม (ดูมูฮัมมัด อะบู ซะเราะห 2549 : 65-75 , 83-91)

          6.)  จะต้องประกาศโดยผู้นำสูงสุด (อีมาม) 

          ดร.ซอและห์ อัลมัรซูกีย์ นักวิชาการอิสลามที่มีชื่อเสียงคนหนึ่งกล่าวว่า ไม่อนุญาตให้กลุ่มมุสลิมกลุ่มใดประกาศสงครามกับศัตรูโดยไม่ได้รับความเห็นชอบจากผู้นำ (อิมาม) เนื่องจากนักนิติศาสตร์อิสลามมีความเห็นสอดคล้องกันว่าการประกาศสงครามนั้นเป็นเรื่องของผู้นำ และฝ่ายปกครอง มิใช่เป็นเรื่องของบุคคลหรือกลู่มบุคคลที่จะทำได้ ดังนั้น การประกาศญิฮาดจึงจำเป็นจะต้องได้รับความเห็นชอบ และอนุมัติจากผู้นำสูงสุดเสียก่อน        (http://www.islamweb.net 30/5/2007)
 

ประเด็นที่เจ็ด : ญิฮาดกับการก่อการร้าย
 
         จากเงื่อนไขต่างๆที่ได้กล่าวมาทำให้สามารถแยกแยะ ระหว่างญิฮาด กับการก่อการร้ายได้อย่างชัดเจน สงครามหรือการต่อสู้ใดๆที่เกิดขึ้นที่ภาคใต้ของไทย หรือที่ใดๆในโลก หากไม่ได้อยู่ภายใต้ เงื่อนไขและกฎเกณฑ์ดังกล่าว ถือว่าไม่ใช่เป็นการทำญิฮาด แต่เป็นการก่อการร้าย ซึ่งมีโทษอันมหันต์  ทั้งในโลกนี้ และโลกหน้า ดังที่อัลลอฮฺได้ตรัสไว้ว่า:

{إِنَّمَا جَزَاء الَّذِينَ يُحَارِبُونَ اللّهَ وَرَسُولَهُ وَيَسْعَوْنَ فِي الأَرْضِ فَسَادًا أَن يُقَتَّلُواْ أَوْ يُصَلَّبُواْ أَوْ تُقَطَّعَ أَيْدِيهِمْ  وَأَرْجُلُهُم مِّنْ خِلافٍ أَوْ يُنفَوْاْ مِنَ الأَرْضِ ذَلِكَ لَهُمْ خِزْيٌ فِي الدُّنْيَا وَلَهُمْ فِي الآخِرَةِ عَذَابٌ  عَظِيمٌ }

“แท้จริงการตอบแทนแก่บรรดาผู้ที่ทำสงครามกับอัลลอฮฺ และรอซูลของพระองค์ และพยายามก่อการ ร้ายในแผ่นดินนั้น ก็คือ การที่พวกเขาจะต้องถูกฆ่า หรือถูกตรึงบนไม้กางเขน หรือถูกตัดมือ และเท้าสลับข้าง หรือถูกเนรเทศออกไปจากแผ่นดิน นั่นแหละพวกเขาจะได้รับความอัปยศในโลกนี้ และจะได้รับการลงโทษอันมหันต์ในปรโลก” (อัลมาอิดะห์ 33)
 
          ดร.มูฮัมมัด  ซัยยิด  ฏอนฎอวีย์ ผู้นำสูงสุดแห่งมหาวิทยาลัยอัลอัซฮัร กล่าวว่า ความแตกต่างระหว่างญิฮาด กับการก่อการร้ายนั้น เหมือนความแตกต่างระหว่างฟ้ากับแผ่นดิน สองอย่างนั้นขัดแย้งกันไม่สามารถรวมกันได้ และเมื่อการก่อการร้ายมีหลากหลายประเภท ดังนั้นประเภทที่ น่าเกลียดที่สุด คือการฆ่าผู้บริสุทธิ์ และการก่อความเสียหาย (
http://www.islamonline.net 30/5/2007)

          ปัจจุบันมีผู้ที่ชอบแอบอ้างคำสอนเรื่องญิฮาดเพื่อนำมาสนับสนุนการก่อการร้ายทุกรูปแบบ นับว่าเป็นสิ่งที่อันตรายมาก เนื่องจากทำให้เข้าใจผิดว่าอิสลามสนับสนุน และส่งเสริมการก่อการร้าย ทั้งที่ในความเป็นจริง อิสลามต่อต้าน และประณามการก่อการร้ายทุกรูปแบบ และเรียกมันว่า  ฟะซาด فَساَد فِيْ اْلأرْضِ        แปลว่าการก่อความเสียหายบนหน้าแผ่นดิน (ดูอัลกุรอาน ซูเราะอัลมาอิดะฮฺ 32,64)  พฤติกรรมการก่อการร้ายต่างๆที่เกิดขึ้น เช่นการเผาโรงเรียนที่เป็นสถานศึกษาของเด็ก การฆ่าและทำร้ายครู การฆ่าเด็ก ผู้หญิง คนชรา พระสงฆ์ การฆ่าตัดคอ การฆ่าแล้วเผา รวมถึงการวางระเบิดเพื่อสร้างความเสียหาย และความหวาดกลัวแก่ผู้คน พฤติกรรมเหล่านี้อยู่นอกเหนือกฎเกณฑ์ และหลักจริยธรรมของการญิฮาดทั้งสิ้น


ประเด็นที่แปด : การแบ่งประเภทของดินแดน

 นักนิติศาสตร์อิสลามได้แบ่งดินแดนในโลกออกเป็น 3 ประเภทด้วยกัน คือ:

 1.  แดนสันติ   داَرُ السَّلاَم          หมายถึงดินแดนที่ประชากรเกือบทั้งหมดเป็นมุสลิม และมีระบบการปกครอง และกฎหมายอิสลามเป็นบรรทัดฐาน

 2.  แดนข้าศึก หรือแดนศัตรู    دَارُ الْحَرْبِ    หมายถึงดินแดนที่มีการประกาศสงคราม และ การต่อสู้ระหว่างมุสลิม กับศัตรู

 3.  แดนสัญญาพันธไมตรี     داَرُ مُعاَهَدَة    คือดินแดนของรัฐที่ประชากรส่วนใหญ่ไม่ใช่ มุสลิม แต่มีสนธิสัญญาผูกพันที่จะอยู่ร่วมกันอย่างสันติ

           การทำศึกสงคราม (ญิฮาด) นั้นจะอนุญาตเฉพาะในแดนข้าศึก  (داَرُ الحَرْبِ) เท่านั้น เพราะถือว่ากลุ่มผู้ปฏิเสธในดินแดนดังกล่าวเป็นกลุ่มผู้ปฏิเสธประเภทคู่สงคราม หรือกาฟิรหัรบีย์    (ดู  มูฮำมัด  อะบู  ซะห์เราะฮ์ 2549:46-48)

          อย่างไรก็ตาม การแบ่งประเภทของดินแดนดังกล่าวเป็นเรื่องใหม่ที่พึ่งเกิดขึ้นจากการวินิจฉัย ของเหล่านักปราชญ์ ไม่มีตัวบทในเรื่องดังกล่าวจากอัลกุรอาน และซุนนะฮฺ    บรรดานักปราชญ์ส่วนใหญ่ให้ทัศนะว่าการพิจารณาว่าประเทศใดเป็นแดนสันติและประเทศใดเป็นแดนสงครามนั้น ให้พิจารณาที่ความปลอดภัยของมุสลิมในด้านศาสนาเป็นหลัก แม้ว่าเขาจะอยู่ในประเทศที่ไม่มีศาสนา หรือมีศาสนาที่ไม่ใช่อิสลามก็ตาม หากความเป็นมุสลิมของเขาดำรงอยู่ได้ด้วยความปลอดภัยในประเทศใดก็ถือว่าประเทศนั้นเป็นแดนสันติ มิใช่แดนสงคราม (http://www.islamonline.net 30/5/2007)
 
          กรณีของประเทศไทยก็อยู่ในข่ายเดียวกัน เนื่องจากมุสลิมในประเทศไทยมีเสรีภาพโดยบริบูรณ์ในการนับถือศาสนา และมีเสรีภาพโดยบริบูรณ์ในการปฏิบัติตามบทบัญญัติของศาสนา
 
         ทัศนะดังกล่าวนี้เป็นทัศนะที่ได้รับการรับรองจากอิมาม อะบู  หะนีฟะห์ ( 150 ฮศ.)  โดยท่านถือว่าใกล้เคียงกับหลักคำสอนของอิสลามมากที่สุด และสอดคล้องกับเหตุผลในการบัญญัติเรื่องการทำสงคราม กล่าวคือ เพื่อเป็นการป้องกันการรุกราน และกดขี่ (มูฮัมมัด อะบู ซะห์เราะฮ์ 2549:52)


บทส่งท้าย
  
          อิสลามเป็นศาสนาเเห่งความสันติ เเต่ถึงกระนั้นอิสลามก็อนุญาตให้ทำสงคราม(ญิฮาด)เพื่อต่อต้านการรุกรานเเละการกดขี่ การทำสงคราม(ญิฮาด)มีเป้าหมายเพื่อสร้างสันติภาพมิใช่สร้างความพินาศ เละความหายนะ ด้วยเหตุนี้การทำสงคราม(ญิฮาด)จึงต้องอยู่ภายใต้เงื่อนไข กฎเกณฑ์ เเละหลักจริยธรรมที่มีเเบบฉบับอันงดงามจากท่านนบี(ซล.) การกระทำที่เป็นการทำลายชีวิต เละทรัพย์สินของผู้บริสุทธิ์ ตลอดจนการทำลายสถานที่ราชการ เเละสถานที่สาธารณะประโยชน์นั้น ไม่ว่าฝ่ายใดเป็นผู้กระทำก็ตามถือเป็นการก่อการร้ายทั้งสิ้น การอ้างคำสอนเรื่องญิฮาดเพื่อนำมาสนับสนุนการกระทำดังกล่าวถือเป็นความผิดบาปอันมหันต์ เพราะพฤติกรรมเช่นนี้ได้นำไปสู่ความเข้าใจผิดของประชาชนโดยทั่วไป เเละยังทำให้สังคมโลกมีทัศนคติอันเป็นลบต่อศาสนาอิสลามเเละพี่น้องมุสลิมโดยรวมอีกด้วย
  
          อย่างไรก็ตามผู้เขียนขอให้ทุกฝ่ายได้ตระหนักร่วมกันว่าการใช้ความรุนเเรงไม่สามารถเเก้ปัญหาสถานการณ์ใดๆได้ และการใช้ความรุนแรงไม่เคยนำมาซึ่งความสงบสุข  เพราะเป็นวิธีที่ไม่ถูกต้อง เเละไม่สอดคล้องกับหลักการเเละข้อเท็จจริง

   
           ขออัลลอฮฺ(ซุบฮานะฮูวะตะอาลา)ได้ทรงประทานแนวทางที่ถูกต้องแก่ทุกฝ่ายในการแก้ปัญหา และขอให้ความสงบสุขและร่มเย็นได้กลับคืนมาสู่สังคมมุสลิมและสังคมของพี่น้องประชาชนในจังหวัดชายแดนภาคใต้โดยเร็ววัน อามีน

 การทำสงครามในอิสลาม >>>>Click