การศรัทธาต่อกฏกำหนดสภาวะ(กอฏอ กอดัร)
  จำนวนคนเข้าชม  94877

การศรัทธาต่อกฎกำหนดสภาวะ


          คำว่า ฆอ-ดะ-รอ  โดยอ่านด้วย ฟัตฮะฮ์ที่อักษร (ดาล) หมายถึง การกำหนดของอัลลอฮ์   ที่มีต่อสากลจักรวาล ซึ่งเป็นไปตามความรอบรู้ ปรีชาญานและสอดคล้องกับฮิกมะฮ์ ของพระองค์

การศรัทธาต่อกฎกำหนดสภาวะประกอบด้วยสี่ประการ

ประการที่หนึ่ง ศรัทธาว่าอัลลอฮ์   ทรงรอบรู้อย่างละเอียดในทุกสรรพสิ่ง ไม่ว่าเรื่องนั้นจะเกี่ยวกับพระองค์ หรือบรรดาปวงบ่าวของพระองค์

ประการที่สอง ศรัทธาว่าพระองค์ทรงได้บันทึกเรื่องดังกล่าวไว้ใน  ( اللوح المحفوظ)  เลาฮิร มะห์ฟูซ สมุดบันทึกของมนุษย์ทุกคน

เกี่ยวกับเรื่องทั้งสองนี้พระองค์ทรงตรัสว่า
 
        
“พวกเจ้ามิรู้ดอกหรือว่า แท้จริงอัลลอฮ์นั้นทรงรอบรู้ สิ่งที่อยู่ในชั้นฟ้าและแผ่นดิน แท้จริงสิ่งนั้นอยู่ในบันทึก (เลาฮิร มะห์ฟูซ) แล้ว  แท้จริงในการนั้นเป็นการง่ายดายสำหรับอัลลอฮ์”  อัล ฮัจญ์  ๗๐
  
         
ปรากฏหลักฐานในเศาะเฮี้ยะมุสลิมซึ่งรายงานโดยท่าน อับดุลลอฮ์ บิน อัมรู บินอาส รอฏิยัลลอฮุอันฮุ ได้กล่าวว่าฉันได้ยินท่านนะบี   ได้กล่าวว่า

(( كتب الله مقادير الخلائق قبل أن يخلق السموات والأرض بخمسين ألف سنة ))
 
“อัลลอฮ์   ทรงได้บันทึกกำหนดการเป็นไปของสรรพสิ่งถูกสร้าง ก่อนที่พระองค์จะทรงสร้างชั้นฟ้าและแผ่นดินถึงห้าหมื่นปี”


ประการที่สาม   ต้องศรัทธามั่นว่าจักรวาลทั้งหลายจะเกิดขึ้นไม่ได้ นอกจากพระประสงค์แห่งอัลลอฮ์    ไม่ว่าเรื่องนั้นจะเกี่ยวกับพระองค์  หรือการกระทำของบรรดาสรรพสิ่งถูกสร้างของพระองค์ 
อัลลอฮ์   ทรงตรัสเกี่ยวกับพระองค์ว่า


“และพระเจ้าของเจ้า  ทรงสร้างสิ่งที่พระองค์ทรงประสงค์และ..... ”     อัล กอศ็อศ  ๖๘
                                                                    
       
 “.....และอัลลอฮ์ ทรงกระทำในสิ่งที่พระองค์ทรงประสงค์” อิบรอฮีม ๒๗

          
“พระองค์คือผู้ทรงทำให้พวกเจ้า  เป็นรูปร่างขึ้นในมดลูก ตามที่พระองค์ทรงประสงค์..... ”     อาละ อิมรอน ๖  


อัลลอฺฮ์   ทรงตรัสเกี่ยวกับการกระทำของสรรพสิ่งถูกสร้างว่า

        
 “.....และหากว่าอัลลอฮ์ทรงประสงค์แล้ว แน่นอนก็ทรงให้พวกเขามีอำนาจเหนือพวกเจ้าแล้ว  แล้วแน่นอนพวกเขาก็สู้รบกับพวกเจ้าแล้วด้วย.... ”  อัล นิซาอ์  ๙๐


“.....และหากว่าพระเจ้าของเจ้าทรงประสงค์  แล้วพวกเขาก็มิกระทำมันขึ้นได้ ดังนั้นเจ้าจงปล่อยพวกเขาและสิ่งที่พวกเขาอุปโลกน์ขึ้นเถิด” อัลอันอาม ๑๑๒


ประการที่สี่ ศรัทธาว่าจักรวาลทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็นธรรมชาติหรือ การเคลื่อนไหวของสิ่งถูกสร้างเป็นสิทธิ์ของอัลลอฮ์ 
อัลลอฮ์   ทรงตรัสว่า

    
“ อัลลอฮ์ คือผู้ทรงสร้างทุกสิ่ง และพระองค์เป็นผู้ทรงดูแล คุ้มครองทุกสิ่ง”   อัซ ซุมัรฺ  ๖๒
                                                                         
     
“ .....และพระองค์ทรงให้บังเกิดทุกสิ่ง แล้วทรงกำหนดมันให้เป็นไปตามกฏกำหนดสภาวะ”   อัล ฟุรกอน  ๒
                
                       

ทรงตรัสเกี่ยวกับนะบีอิบรอฮีม อลัยฮิสลาม ซึ่งได้กล่าวแก่ชนของท่านว่า


“ทั้งๆที่อัลลอฮ์ทรงสร้างพวกท่าน  และสิ่งที่พวกท่านประดิษฐมันขี้นมา”  อัศ ศอฟฟาต ๙๖      


         การศรัทธาต่อกฎกำหนดสภาวะดังที่เราได้อธิบายลักษณะข้างต้น มิได้ขัดแย้งต่อสิทธิในการเลือกสรรค์ ความสามารถของปวงบ่าว เพราะว่าข้อเท็จจริงและกฎข้อบังคับศาสนบัญญัติได้ระบุยืนยันเกี่ยวกับเรื่องนี้ไว้  


ดังอัลลอฮ์   ได้ทรงตรัสว่า


“.....ดังนั้นผู้ใดประสงค์  ก็ให้เขายึดทางกลับไปสู่พระเจ้าของเขาเถิด”  อัน นะบะอ์  ๓๙
                                                           

“ .....ดังนั้นพวกเจ้าจงมายังแหล่งเพาะปลูกของพวกเจ้า  ตามแต่พวกเจ้าประสงค์.....”  อัลบะเกาะเราะฮ์  ๒๒๓
 

ทรงตรัสเกี่ยวกับกฎกำหนดสภาวะว่า


“ดังนั้น จงยำเกรงอัลลอฮ์เถิด เท่าที่พวกเจ้ามีความสามารถ.....”อัตตะฆอบุน  ๑๖

           
“อัลลอฮ์จะไม่ทรงบังคับชีวิตหนึ่งชีวิตใด นอกจากตามความสามารถของชีวิตนั้น เท่านั้น.....”  อัลบะเกาะเราะฮ์  ๒๘๖


          หากมนุษย์ถูกบังคับให้กระทำ เท่ากับว่าเขาได้แบกภาระในสิ่งที่ไม่มีความสามารถที่จะปลดเปลื้องได้ ด้วยเหตุนี้หากการฝ่าฝืนได้เกิดขึ้นโดยที่เขาไม่รู้  หลงลืมหรือถูกบังคับ จะไม่มีบาปอันใดแก่เขาเพราะเขาจะได้รับการอภัย


 ประการที่ห้า กฏกำหนดแห่งอัลลอฮ์   เป็นสิ่งซ่อนเร้น ปิดบังไม่สามารถหยั่งรู้ได้ นอกจากสิ่งนั้นได้เกิดขึ้นแล้วหรือเป็นความต้องการของมนุษย์เองต่อสิ่งที่เขาได้กระทำลงไป ซึ่งมิได้ตั้งอยู่บนพื้นฐานแห่งความรู้  ความเข้าใจในกฏกำหนดแห่งอัลลอฮ์ ดังนั้นมนุษย์ไม่สามารถหยั่งรู้และเข้าใจได้


ประการที่หก มนุษย์พยายามที่จะแสวงหาสิ่งที่เหมาะสมแก่เขาในการดำรงชีวิตในโลกนี้ แต่เขามิได้ปรับตนเองให้เข้ากับสิ่งแวดล้อมที่ไม่เหมาะสม และต้องพึ่งพาอาศัยความเป็นธรรมของกฎกำหนดสภาวะนี้ แล้วทำไม!เขาจึงไม่แสวงหาสิ่งที่ยังประโยชน์ในเรื่องของศาสนา ขอยกตัวอย่างเพื่อให้เป็นที่ชัดแจ้ง

*หาก   ว่ามนุษย์มีทางเลือกสองทาง  ทางหนึ่งนำเขาไปสู่เมืองที่เต็มไปด้วยความอลหม่าน ยุ่งเหยิง การรบราฆ่าฟัน  การปล้นสดมภ์  แย่งชิงทรัพย์   ละเมิดสิทธิ เกียรติ์ยศและชื่อเสียง ความกลัวและความหิวโหย       

*ส่วน  อีกทางหนึ่งไปสิ้นสุดหรือนำไปสู่เมืองที่เต็มไปด้วยความเป็นระเบียบเรียบร้อย  ความปลอดภัย  อาหารการกินอุดมสมบูรณ์  เคารพต่อชีวิต  เกียรติยศและทรัพย์สินของประชาราษฎร์  เช่นนี้เขาจะเลือกเดินไปทางใด?    
          แน่นอนเป็นอย่างยิ่งว่ามนุษย์จะต้องเลือกทางที่สอง ทางที่นำไปสู่เมืองที่มีระเบียบวินัย สงบและปลอดภัย  ไม่มีผู้มีสติคนใดที่จะเลือกเดินไปสู่เมืองที่เต็มไปด้วยความอลหม่าน ความหวาดกลัว แล้วอ้างถึงกฎกำหนดสภาวะของอัลลอฮ์   แล้วทำไม!จึงเลือกในเรื่องของโลกอาคิเราะฮ์ไปสู่ทางนำไปขุมนรกไม่ใช่สวนสวรรค์ แล้วอ้างถึงกฎกำหนดสภาวะที่พระองค์ทรงกำหนดไว้ ในเมื่อมนุษย์ผู้นั้นเป็นผู้ที่เลือกทางเดินของตนเอง


ประการที่เจ็ด ผู้ที่กล่าวอ้างกฎกำหนดสภาวะเพื่อละเลยต่อบทบัญญัติหน้าที่ และทำการฝ่าฝืน  ถ้ามีคนมาทำร้ายและยึดเอาทรัพย์สินเงินทองไป โดยได้ละเมิดต่อสิทธิแล้วกล่าวอ้างกฎกำหนดสภาวะ โดยกล่าวว่าจงอย่าตำหนิฉัน การเข้าทำร้ายของฉันนี้เกิดขึ้นด้วยกฎกำหนดที่อัลลอฮ์   ได้ทรงกำหนดไว้ ข้ออ้างจะไม่ถูกยอมรับอย่างแน่นอน แล้วทำไมจึงไม่ยอมรับการทำร้ายของผู้อื่นที่มีแก่เขา แต่กลับอ้างเพื่อตนเอง ในการเข้าทำร้ายสิทธิแห่งอัลลอฮ์  

         ได้มีการกล่าวถึงท่านผู้นำแห่งศรัทธาชน อุมัร อิบนุ ค๊อฎฎอบ รอฏิยัลลอฮูอันฮุ เมื่อมีขโมยคนหนึ่งต้องถูกตัดมือ  ถูกนำตัวขึ้นฟ้องร้องต่อท่าน ท่านจึงสั่งให้นำเขาไปตัดมือ  เขาจึงกล่าวขึ้นว่า ช้าก่อนท่านผู้นำแห่งศรัทธาชน  อันที่จริงฉันขโมยเพราะกฎกำหนดแห่งอัลลอฮ์    ท่านอุมัรจึงกล่าวว่า แท้ที่จริงเราตัดมือท่านเพราะกำหนดนั้นเช่นกัน
 
 
ภาคผลที่ประเสริฐยิ่งของการศรัทธาต่อกฎกำหนดสภาวะ  
                             
1. การมอบหมายต่ออัลลอฮ์   เมื่อกระทำสิ่งใดด้วยเหตุและผลโดยที่ไม่ขึ้นกับอารมณ์ เพราะทุกอย่างเกิดขึ้นด้วยกฎกำหนดสภาวการณ์แห่งอัลลอฮ์ 

2. ไม่ควรประหลาดใจต่อการได้รับความยินดี   เพราะนั่นเป็นความโปรดปรานที่มาจากอัลลอฮ์   โดยที่พระองค์ทรงกำหนดจากสาเหตุของความดีงามและความสำเร็จ เพราะความประหลาดใจเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ลืมการขอบคุณต่อความโปรดปราน

3. ความสงบของจิตใจที่เกิดขึ้นเป็นกฎกำหนดแห่งอัลลอฮ์   จึงไม่จำเป็นต้องวิตกกังวล ต่อการพลัดพรากจากไปของสิ่งที่เป็นที่รักยิ่งหรือต่อความชิงชัง ความเลวร้ายที่เกิดขึ้น เพราะนั่นเป็นกฎกำหนดสภาวะการณ์จากอัลลอฮ์   ผู้ทรงอำนาจแห่งชั้นฟ้าและแผ่นดิน ไม่มีทางหลบหลีกพ้นไปได้

พระองค์ทรงตรัสว่า
 

“ ไม่มีเคราะห์กรรมใดเกิดขึ้นในแผ่นดินนี้ และไม่มีแม้แต่ในตัวของพวกเจ้าเอง เว้นแต่มีอยู่ในบันทึก ก่อนที่เราจะบังเกิดมันขึ้นมา  แท้จริงนั่นมันเป็นการง่ายสำหรับอัลลอฮ์ เพื่อพวกเจ้าจะได้ไม่ต้องเสียใจต่อสิ่งที่ได้สูญเสียไปจากพวกเจ้า และไม่ดีใจต่อสิ่งที่พระองค์ ได้ทรงประทานแก่พวกเจ้า และอัลลอฮ์มิทรงชอบทุกผู้หยิ่งจองหอง และผู้คุยโวโอ้อวด”  อัล ฮะดีด  ๒๒-๒๓         


ท่านนะบี   ได้กล่าวว่า

(( عجبا لأمر المؤمن إن أمره كله  له خير ، وليس ذاك لأحد إلا للمؤمن إن أصابته سراء شكر فكان خيرا له ، وإن أصابته ضراء صبر فكان خيرا له )) رواه مسلم

“เป็นที่แปลกยิ่งสำหรับการงานของมุมิน แท้ที่จริงกิจการของเขาทั้งหมดเป็นเรื่องประเสริฐ  จะไม่มีสำหรับผู้ใดนอกจากมุมิน – ผู้ศรัทธา  เมื่อความสุขประสพแก่เขา  เขาก็ขอบคุณต่ออัลลอฮ์   นั่นเป็นการดีกว่าสำหรับเขา  และเมื่อเขาประสพความทุกข์ยาก เขาก็อดทน นั่นเป็นการดีกว่าสำหรับเขา”     รายงานโดยท่านอิมามมุสลิม 

กลุ่มชนผู้หลงผิดเกี่ยวกับกฎกำหนดมีสองกลุ่มใหญ่

กลุ่มแรก   อัล ญิบรียะฮ์ ได้กล่าวอ้างว่า แท้จริงปวงบ่าวได้ถูกบังคับต่อการงานของเขา โดยที่ไม่มีสิทธิ์ในการเลือกสรรและแสดงความสามารถของตน

กลุ่มที่สอง  อัลกอดะรียะฮฺ ได้กล่าวอ้างว่า แท้จริงปวงบ่าวนั้นมีสิทธิเป็นเอกเทศต่อหน้าที่การกระทำ สิทธิในการเลือกสรรตามความต้องการ และความสารถของตน มิได้ขึ้นอยู่กับพระประสงค์แห่งอัลลอฮ์   แต่อย่างใด แต่กฎกำหนดของพระองค์มีผลต่อการกระทำนั้น

          การโต้ตอบสำหรับกลุ่มแรก อัล ญิบรียะฮ์ ด้วยบทบัญญัติอิสลามและสิ่งที่ปรากฏขึ้น กฏหมายชารีอะฮ์   แท้จริงอัลลอฮ์   ทรงยืนยันแก่ปวงบ่าวแล้วว่าเขามีสิทธิในการเลือกความต้องการและการงานของตน    ดังพระองค์ทรงตรัสว่า

        
“จากพวกเจ้านั้นมีผู้ที่ต้องการโลก(ดุนยา)นี้  และจากพวกเจ้านั้นมีผู้ที่ต้องการปรโลก(อาคิเราะฮ์)”  อาละอิมรอน ๑๕๒

             
“ จงกล่าวเถิด (มุฮัมมัด) สัจธรรมนั้นมาจากพระผู้เป็นเจ้าของพวกเจ้า ดังนั้นผู้ใดประสงค์ก็จงศรัทธา  และผู้ใดประสงค์ก็จงปฏิเสธ แท้จริงเราได้เตรียมไฟนรกไว้สำหรับพวกอธรรม  ซึ่งกำแพงของมันล้อมกรอบพวกเขา และถ้าพวกเขาร้องขอความช่วยเหลือ  ก็จะถูกช่วยเหลือด้วยน้ำเสมือนน้ำทองแดงเดือดลวกใบหน้า  มันเป็นน้ำดื่มที่ชั่วช้า และเป็นที่พำนักที่เลวร้าย”   อัลกะฮ์ฟ   ๒๙

          
 “ ผู้ใดกระทำความดี ก็จะได้แก่ตัวของเขาเอง  และผู้ใดกระทำความชั่ว ก็จะได้แก่ตัวเขาเองและพระเจ้าของเจ้านั้นมิทรงอธรรมต่อปวงบ่าวของพระองค์” ฟุศศิลัต  ๔๖

หลักฐานต่อหลักความจริง 
              
         จากข้อเท็จจริงมนุษย์ทราบถึงความแตกต่างระหว่างการกระทำโดยความสมัครใจทำด้วยความต้องการของตนเอง เช่น การกิน ดื่ม และการเกิดเหตุการณ์ต่างๆโดยปราศจากความต้องการ เช่น การเจ็บป่วย  การพลัดหล่น ในครั้งแรกเขาได้เลือกกระทำด้วยความต้องการปราศจากการขู่เข็นบังคับ ส่วนในครั้งที่สอง เขาไม่ได้เลือกที่จะทำและไม่ต้องการให้มันเกิดขึ้น

          การโต้ตอบกลุ่มที่สอง อัลกอดะรียะฮ์ ด้วยหลักฐานกฎข้อบังคับทางศาสนบัญญัติและสติปัญญามนุษย์ แท้จริงอัลลอฮ์   คือ ผู้ทรงสร้างทุกสรรพสิ่ง และทุกสรรพสิ่งเกิดขึ้นด้วยการอนุมัติและพระประสงค์ของพระองค์  อัลลอฮ์   ทรงอธิบาย ในคัมภีร์อัลกุรอานว่าการกระทำของปวงบ่าวเกิดขึ้น ด้วยพระประสงค์ของพระองค์ ดังที่ทรงตรัสว่า

           
“ .....และหากอัลลอฮ์ ทรงประสงค์แล้ว  บรรดาชนหลังจากพวกเขา ก็คงไม่ฆ่าฟันกัน หลังจากได้มีหลักฐานอันชัดแจ้งมายังพวกเขา  แต่ทว่าพวกเขาขัดแย้งกัน แล้วในหมู่พวกเขานั้นมีผู้ศรัทธา และในหมู่พวกเขานั้นมีผู้ปฏิเสธศรัทธา  และหากว่าอัลลอฮ์ทรงประสงค์แล้ว พวกเขาก็คงไม่ฆ่าฟันกัน แต่ทว่าอัลลอฮ์นั้นทรงกระทำตามที่พระองค์ทรงประสงค์”   อัลบะเกาะเราะฮฺ ๒๕๓         

           
“ และถ้าเราประสงค์ แน่นอนเราจะทำให้ทุกชีวิตสู่แนวทางที่ถูกต้องของมัน แต่ว่าคำสัญญาของข้าจะต้องสมจริง แน่นอนข้าจะให้นรกเต็มไปด้วยญินและมนุษย์รวมทั้งหมด” อัซซัจญดะฮ์   ๑๓


หลักฐานและเหตุผลด้านสติปัญญา      
        
          จักรวาลทั้งหลายเป็นกรรมสิทธิ์แห่งอัลลอฮ์   มนุษย์ได้กำเนิดมาในจักรวาลใบนี้ มนุษย์จึงอยู่ภายใต้กรรมสิทธิ์ของอัลลอฮ์   ผู้ที่อยู่ภายใต้อำนาจไม่สามารถที่จะทำการใดๆ นอกจากจะต้องได้รับอนุญาตและด้วยความประสงค์ของผู้ถือกรรมสิทธิ์นั้นเท่านั้น

จุดประสงค์ของหลักการขั้นพื้นฐานของการศรัทธาในอิสลาม  
            
          คำว่า ฮะดัฟ ถูกใช้ในหลายความหมาย คือ จุดประสงค์ จุดมุ่งหมาย หรือเป้าหมาย และทุกกิจการงานย่อมมีเป้าหมาย จุดประสงค์หลักการศรัทธาในอิสลาม และเป้าหมายคือความดีงาม ซึ่งเป็นผลสืบเนื่องมาจากการยึดมั่นต่อหลักการที่มีอยู่มากมายหลายประการ  แต่นำมาเสนอเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น

1. มีความตั้งใจที่บริสุทธิ์ เพื่อทำการเคารพภักดีต่ออัลลอฮ์   องค์เดียว  เพราะพระองค์คือ พระผู้ทรงสร้าง ปราศจากหุ้นส่วนใดๆ สำหรับเป้าหมายและการเคารพภักดี  จึงจำเป็นต้องเป็นไปเพื่อพระองค์เท่านั้น

2. ปลดปล่อยสติปัญญาและความนึกคิด จากความไขว้เขวและสับสนที่เกิดขึ้นภายในจิตใจที่ว่างเปล่าปราศจากการยึดมั่นต่อหลักการ ใครก็ตามที่จิตใจเขาว่างเปล่าต่อการยึดมั่น อาจเป็นเพราะจิตใจไม่มีการยึดถือใดๆ หรือเป็นผู้เคารพบูชาวัตถุนิยม หรือซ่อนเร้นอยู่ในการหลงผิด และเรื่องคุรอฟาตที่เหลวไหล

3. ความสงบด้านจิตใจและความนึกคิด ปราศจากความกังวลใจความคิดที่ยุ่งเหยิง เพราะหลักความเชื่อถือนี้ทำให้ผู้ศรัทธามีความสัมพันธ์กับพระผู้สร้าง เขาจึงพึงพอใจต่อพระองค์ในฐานะเป็นองค์ผู้อภิบาล ผู้บริหารจัดการ ผู้ปกครอง ผู้ทรงบัญญัติกฎหมายข้อบังคับ ทำให้มีจิตใจที่สงบ น้อมรับต่อกฎกำหนดสภาวะของพระองค์ หัวใจเปิดกว้างสู่อัลอิสลาม

4. ทำให้เป้าหมายและกิจการงานถูกต้องสมบูรณ์ ปลอดภัยจากการบิดเบือนในการเคารพภักดีต่อพระองค์ การคบค้าสมาคมกับเพื่อนมนุษย์ และสัตว์โลกที่ถูกสร้างขึ้น เพราะนั่นเป็นพื้นฐานของความศรัทธาต่อบรรดาเราะซูล   ประกอบด้วยการเชื่อและการปฏิบัติตาม แนวทางของพวกเขาที่มีแต่ความถูกต้องทั้งในเป้าหมายและกิจการงาน

5. มีความตั้งใจที่แน่วแน่ ขยันหมั่นเพียร โดยไม่ปล่อยให้โอกาสการทำคุณงามความดีผ่านพ้นไป นอกจากจะฉวยโอกาสนี้เพื่อมุ่งหวังการตอบแทนแห่งผลบุญ เขาจะไม่พบเห็นสถานที่อันเป็นบาป นอกจากว่าเขาจะต้องออกห่างจากมัน  เพราะความเกรงกลัวต่อการลงโทษ  เป็นพื้นฐานของความศรัทธาต่อวันฟื้นคืนชีพ และการตอบแทนแห่งผลกรรม
อัลลอฮ์   ทรงตรัสว่า
 
     
“  และสำหรับแต่ละคนนั้นมีหลายระดับขั้น  เนื่องจากสิ่งที่พวกเขาได้ประกอบไว้  และพระเจ้าของเจ้านั้น มิเผลอไผลในสิ่งที่พวกเขากระทำกัน” อัล อันอาม  ๑๓๒
 
          
ท่านนะบี   เรียกร้องผู้ศรัทธาสู่จุดหมายนี้  ดังที่ท่านได้กล่าวว่า

(( المؤمن القوي خير وأحب إلى الله من المؤمن الضعيف ، وفي كل خير ، احرص على ما ينفعك واستعن بالله ، ولا تعجز ، وإن أصابك شيء فلا تقل لو أني فعلت  كذا كان وكذا ولكن قل : قدر الله وما شاء فعل ، فإن( لو) تفتح عمل الشيطان )) رواه مسلم .

“ผู้ศรัทธาที่แข็งแรงย่อมดีกว่าและเป็นที่รักยิ่งสำหรับอัลลอฮ์    มากกว่าผู้ศรัทธาที่อ่อนแอ  และในทุกความดีงาม  จงระวัง (ดูแลรักษาไว้ซึ่ง) สิ่งที่ยังประโยชน์แก่เจ้า   และ เจ้าจงขอความช่วยเหลือจากอัลลอฮ์   จงอย่าหมดหวัง และหากสิ่งใดได้ประสพแก่เจ้า จงอย่ากล่าวว่า แท้ที่จริง หากฉันทำมัน จะเป็นเช่นนั้น เช่นนี้ แต่ให้จงกล่าวว่า  ก้อด- ดะ- รอล- ลอฮ    วะมา- ชาอฺ- ฟะ อะ ละ อ (อัลลอฮ์ทรงได้กำหนดและพระองค์ทรงกระทำในสิ่งที่พระองค์ทรงประสงค์)”   รายงานโดยท่านอิมามมุสลิม
             
 6. การสร้างประชาติที่แข็งแกร่งขึ้นได้นั้น จำต้องใช้ความพยายาม อุตสาหะทั้งทางกาย ทรัพย์สินและจิตใจ เพื่อความมั่นคงทางศาสนา การรวมตัวกันสนับสนุนและค้ำจุน โดยปราศจากความวิตกกังวลใดๆ ต่อสิ่งที่มาประสพในวิถีดังกล่าว เกี่ยวกับเรื่องนี้พระองค์ทรงตรัสว่า


“แท้จริงศรัทธาชนที่แท้นั้น คือบรรดาผู้ศรัทธาต่ออัลลอฮ์ และเราะซูล ของพระองค์  แล้วพวกเขาไม่สงสัยเคลือบแคลงใจ แต่พวกเขาได้เสียสละ ต่อสู้ดิ้นรน ด้วยทรัพย์สมบัติของพวกเขา และชีวิตของพวกเขาไปในหนทางของอัลลอฮ์ ชนเหล่านั้นแหละคือบรรดาผู้สัตย์จริง”    อัลหุยุรอต  ๑๕

7. การบรรลุถึงความสุขที่แท้จริงทั้งในดุนยา(โลกนี้) และอาคิเราะฮ์(โลกหน้า) ด้วยการแก้ไข  ปรับปรุง  บุคคลและสังคมโดยรวมในเรื่องนี้ทรงตรัสว่า
        

“ ผู้ใดปฏิบัติความดีงาม ไม่ว่าจะเป็นเพศชายหรือเพศหญิงก็ตาม  โดยที่เขาเป็นผู้ศรัทธา ดังนั้นเราจะให้เขาดำรงชีวิตที่ดี   และแน่นอน เราจะตอบแทนพวกเขาซึ่งรางวัลของพวกเขา ที่ดียิ่งกว่าที่พวกเขาได้เคยกระทำไว้” อัล นะห์ล  ๙๗
 
             
          ที่กล่าวมาทั้งหมดข้างต้นเป็นเป้าหมายหลักของพื้นฐานแห่งการศรัทธาในศาสนาอิสลาม หวังว่าอัลลอฮ์   จะทรงประทานความสำเร็จ ความสมประสงค์ให้แก่เราและบรรดามวลมุสลิม ผู้ศรัทธาทั้งหลาย

จากหนังสือ "อัล อะกีดะฮ์"

หลักการศรัทธาในศาสนาอิสลาม>>>>Click