การทำอิบาดะฮ์ในอิสลาม
  จำนวนคนเข้าชม  33159

 

การทำอิบาดะฮ์ในอิสลาม

อ. อับดุลฆอนี  บุญมาเลิศ

 

          อัลอิบาดะฮ์      العبادة  การทำอิบาดะฮ์ในศาสนาอิสลาม หมายถึง ชื่อที่ใช้เรียกทุกสิ่งที่อัลลอฮ์ ทรงโปรดปรานไม่ว่าจะเป็นคำพูดต่างๆหรือการกระทำทั้งปวงที่เปิดเผยหรือซ่อนเร้น

 

          การทำอิบาดะฮ์ที่เปิดเผย เช่น การกล่าววาจาด้วยคำปฏิญาณตนทั้งสองประโยค  การทำพิธีละหมาด การจ่ายซะกาต การทำพิธีฮัจญ์ การทำญิฮาดในหนทางของอัลลอฮ์   การบนบาน  การเชือด การขอความช่วยเหลือ  การช่วยเหลือกันในการทำความดี การห้ามปรามไม่ให้ทำชั่ว การสงเคราะห์คนขาดแคลน และอื่นๆ

 

          การทำอิบาดะฮ์ในที่ลับ ซ่อนเร้น มองไม่เห็นได้แก่ ความยำเกรงต่ออัลลอฮ์ ความกลัวต่อการลงโทษของอัลลอฮ์ ความรักต่ออัลลอฮ์ ความหวังในอัลลอฮ์ การมอบหมายต่ออัลลอฮ์ การขอพึ่งพาอัลลอฮ์ ความรักเพื่ออัลลอฮ์ โกรธเพื่ออัลลอฮ์ และอื่นๆ

          ฉะนั้นทุกสิ่งที่มนุษย์ทำไปเพื่อมอบให้อัลลอฮ์ไม่ว่าจะเป็นการพูด การกระทำตามบทบัญญัติศาสนาทั้งมวล นับได้ว่าเป็นการทำอิบาดะฮ์ทั้งสิ้น
 

เงื่อนไขที่จะทำให้การทำงานนั้นถูกรับ

      งานใดก็แล้วแต่ที่คนมุสลิมทำลงไปนั้นจะยังไม่ถูกรับนอกจากต้องครบสองเงือนไขคือ:

1. ทำด้วยความบริสุทธิ์ใจพื่ออัลลอฮ์

ดังเช่นที่พระองค์  ได้ตรัสไว้ในซูเราะฮ์ อัซซุมัร อายะฮ์ที่ 2-3 ความว่า :

 "ดังนั้นเจ้าจงเคารพภักดีต่ออัลลอฮ์โดยเป็นผู้มีความบริสุทธิ์ใจในศาสนาต่อพระองค์

พึงทราบเถิดว่าการอิบาดะฮ์โดยบริสุทธิ์ใจนั้นเป็นของอัลลอฮ์องค์เดียว”
 
 

และท่านนบี     ได้กล่าวไว้ว่า

إِنَّمَا الأَعْمَالُ بِالنِّيَّاتِ ......“ แท้จริงกิจการงานต่างๆนั้นขึ้นอยู่กับเจตนารมย์…..”

(บันทึกโดยบุคคอรีย์และมุสลิม)

2. การกระทำตามหลักศาสนบัญญัติ  

ดังที่ท่านนบี   ได้กล่าวว่า

مَنْ عَمِلَ عَمَلاً لَيْسَ عَلَيْهِ أَمْرُنَا فَهُوَ رَدٌّ   “ใครที่ทำงานหนึ่งงานใด โดยที่มิได้มีคำสั่งของเรา การงานนั้นจะไม่ถูกตอบรับ” 

 (บันทึกโดยบุคอรีย์และมุสลิม)  
 

           ดังนั้นถ้าการกระทำที่ขาดความบริสุทธิ์ใจ งานนั้นจะไม่ถูกตอบรับ และถ้าไม่ตรงกับแนวทางของศาสนาก็จะไม่ถูกตอบรับเช่นเดียวกัน อัลลอฮ์ ได้ตรัสไว้ในซูเราะห์อัลกาฮ์ฟิ อายะห์ที่ 110 ความว่า

 “ ดังนั้นผู้ใดหวังที่จะพบพระผู้เป็นเจ้าของเขา ก็ให้เขาประกอบการงานที่ดี

และอย่าตั้งผู้ใดเป็นภาคีในการเคารพภักดีต่อพระผู้เป็นเจ้าของเขาเลย”


ชนิดของการทำอิบาดะฮ์

      การทำอิบาดะฮฺนั้นมีหลากหลายชนิด ต่อไปนี้จะพูดถึงบางชนิดพร้อมหลักฐาน เช่น


การขอดุอาอ์  ( الدعاء )  อัดดุอาอ์

 อัลลอฮ์   ตรัสไว้ในซูเราะฮ์ ฆอฟิร อายะห์ที่ 60 ความว่า 

“และพระเจ้าของพวกเจ้าตรัสว่า : จงวิงวอนขอต่อข้า และข้าจะตอบรับแก่พวกเจ้า

ส่วนบรรดาผู้โอหังต่อการเคารพภักดีแก่ข้านั้น จะเข้านั้นจะเข้าไปอยู่ในนรกอย่างต่ำต้อย”
 
 

อัลลอฮ์ ได้ตรัสไว้อีกในซูเราะฮ อัลญิน อายะห์ที่ 18 ความว่า

 “แท้จริงบรรดามัสยิดทั้งหลายนั้นสำหรับอัลลอฮฺ ดังนั้นพวกเจ้าอย่าได้ทำการอิบาดะฮฺกับผู้ใดคู่เคียงอัลลอฮฺ”
 
 

ท่านนบีมุฮัมมัด    ได้กล่าวว่า

(أَلدُّعَاءُ هُوَالعِبَادَةُ)   رواه الترمذى  “การขอดุอาอ์นั้นคือการทำอิบาดะฮ์”
 

          ดังนั้นการขอดุอาอ์วิงวอนต่ออัลลอฮ์   อันเนื่องจากว่าการทำเช่นนั้นเป็นการทำอิบาดะฮ์ที่ดีที่สุด แล้วถ้าใครที่ไปทำการวิงวอนขออื่นจากอัลลอฮ์ การขอจากผู้อื่นในสิ่งที่เขาไม่มีให้หรือเขาทำให้ไม่ได้ แน่นอนเขาได้ตกอยู่ในการตั้งภาคีต่ออัลลอฮ์แล้ว
 
ดังที่อัลลอฮ์    ได้ทรงตรัสไว้ในซูเราะฮ์ อัลอะอ์กอฟ อายะห์ที่ 5-6 ความว่า

“และใครเล่าจะหลงทางมากไปกว่าผู้ที่วิงวอนขออื่นจากอัลลอฮ์ ซึ่งมันจะไม่ตอบรับ (การวิงวอนขอของ)เขา จนถึงวันกิยามะฮ์

และ เพิกเฉยต่อการวิงวอนของพวกเขา

และเมื่อมนุษย์ได้ถูกรวมให้มาชุมนุมกัน พวกมัน(เจว็ด)จะเป็นศัตรูกับพวกเขา และจะเป็นผู้ปฏิเสธการเคารพบูชาของพวกเขา”

 และทรงตรัสไว้ในซูเราะฮ์ ฟาฏิร อายะห์ที่ 13-14 ความว่า

“และสิ่งที่พวกเจ้าวิงวอนขออื่นจากพระองค์นั้น พวกมันมิได้ครอบครองสิ่งใด แม้แต่เยื่อบางที่หุ้มเมล็ดในของอินทผลัม

หากพวกเจ้าวิงวอนขอพวกมัน พวกมันจะไม่ได้ยินการวิงวอนของพวกเจ้า ถึงแม้ว่าพวกมันได้ยิน พวกมันก็จะไม่ตอบรับพวกเจ้า

และในวันกิยามะฮ์ พวกมันจะปฏิเสธการตั้งภาคีของพวกเจ้า และไม่มีผู้ใด บอกแจ้งแก่เจ้าได้ นอกจากผู้ทรงรอบรู้ตระหนักยิ่ง”


การเกรงกลัวอัลลอฮฺ  ( اَلخَوْفُ مِنَ اللهِ تَعَالىَ )  

อัลลอฮ์ ได้ตรัสในซูเราะห์ อัรเราะฮ์มาน อายะฮ์ที่ 46 ความว่า

  “และสำหรับผู้ที่ยำเกรงต่อการยืนหน้าพระพักตร์แห่งพระเจ้าของเขา(เขาจะได้)สวนสวรรค์สองแห่ง”

(สำหรับตนเองและสำหรับครอบครัวด้วย)

          การกลัวเกรงที่เป็นอิบาดะห์นั้นกระทำด้วยความนอบน้อมถ่อมตัวและจงรักภักดี ดังนั้นใครที่กลัวเกรงอื่นจากอัลลอฮ์ ในรูปนี้ และมีความเชื่อมั่นว่าพวกมันมีความสามารถในสิ่งที่ไม่มีใครทำได้ เช่น เกรงกลัวว่าเขาจะทำให้เกิดความเจ็บป่วย ความยากจน การโดนสังหารด้วยความประสงค์ของเขาผู้นั้น เท่ากับว่าผู้ที่กลัวเช่นนั้นเขาได้ตั้งภาคี (ชีริก) ต่ออัลลอฮ์ แล้ว

         อัลลอฮ์ได้ตรัสถึงพวกมุชริกที่มีความเชื่อมั่นต่อเจว็ดของพวกเขาว่า ทำสิ่งดังกล่าวข้างต้นได้ใน ซูเราะห์อัซซุมัร อายะฮ์ที่ 36ความว่า

 “....และพวกเขายังขมขู่เจ้าให้กลัวเจว็ดทั้งหลายอื่นจากพระองค์…” 


การมุ่งหวัง ( اَلرَّجَاءُ )

           اَلرَّجَاءُ อัรรอญาอ์ หมายถึง เขามีความปรารถนาหรือมุ่งหวังที่อยากจะได้คุณความดีความโปรดปรานจากอัลลอฮ์ เสมอ พร้อมทั้งการนอบน้อมถ่อมตัว และบริสุทธิ์ใจในเรื่องดังกล่าวนั้น อัลลอฮ์ตรัสไว้ในซูเราะห์อัลกะฮ์ฟิอายะห์ที่ 110 ความว่า

  “ดังนั้นผู้ใดที่หวังการพบพระเจ้าของเขาก็จงทำการงานที่ดี

และอย่าได้ตั้งผู้ใดเป็นการตั้งภาคีในการเคารพภักดีต่อพระผู้เป็นเจ้าของเขาเลย”

          ฉะนั้นใครที่ยังหวังจากสิ่งถูกสร้างในส่วนที่เขาไม่มีความสามารถ แน่นอนเขาได้ทำการตั้งภาคีแล้วกับอัลลอฮ์


ความรัก      ( اَلمَحَبَّةُ )

           ( اَلمَحَبَّةُ )  อัลมะอับบะห์  หมายถึง   การให้ความรักที่มีต่ออัลลอฮ์พร้อมกับความนอบน้อมถ่อมตนและให้ความยิ่งใหญ่ เทิดทูลและภักดี ดังนั้นใครที่ให้ความรักชอบอื่นจากอัลลอฮ์เช่นเดียวกับที่ให้พระองค์ เขาได้ตั้งภาคีขึ้นแล้ว

อัลลอฮ์ได้ตรัสไว้ในซูเราะฮ์ อัลบะกอเราะฮ์ อายะฮ์ที่  165 ความว่า :

  “และในหมู่มนุษย์นั้น มีผู้ที่ยึดถือบรรดาภาคีอื่นจากอัลลอฮ์ ซึ่งพวกเขารักภาคีเหล่านั้นเช่นเดียวกับที่รักอัลลอฮ์

แต่บรรดาผู้ศรัทธานั้นเป็นผู้ที่รักอัลลอฮ์มากยิ่งกว่า…”

           และแท้จริงแล้ว สิ่งที่ทำให้เกิดความรักในอัลลอฮ์ขึ้นนั้นคือ การกระทำตามสิ่งใช้ต่างๆ ของพระองค์  และออกห่างจากสิ่งห้ามต่างๆของพระองค์


การมอบหมายต่ออัลลอฮ์   ( اَلتَّوَكُّلْ )

           ( اَلتَّوَكُّلْ ) อัตตะวักกุล คือการมอบหมายต่ออัลลอฮ์ ด้วยหัวใจเต็มไปด้วยความแน่วแน่มั่นคงกับพระองค์ในการที่จะทำให้เกิดความสมหวังและปกป้องคุ้มครองให้พ้นจากภัยอันตรายได้ พร้อมกับต้องกระทำในสิ่งที่ทางศาสนาอนุญาตให้กระทำได้

อัลลอฮ์ ทรงกล่าวไว้ใน ซูเราะฮ์อัลมาอิดะฮ์ อายะฮ์ที่  23 ความว่า

  “และแด่อัลลอฮ์เท่านั้นพวกเจ้าจงมอบหมายเถิด หากพวกเจ้าเป็นผู้ศรัทธา”

           ฉะนั้นใครที่มอบหมายต่ออัลลอฮ์ อย่างแท้งจริงแล้ว พระองค์ก็จะเป็นที่พอเพียงสำหรับเขา และปกป้องคุ้มครองให้เขา ดังที่อัลลอฮ์ตรัสไว้ในซูเราะฮ์อัฎฎอลาค อายะฮ์ที่ 3 ความว่า
 
 

  “และใครที่มอบหมายต่ออัลลอฮ์ ดังนั้นพระองค์ก็ทรงเป็นที่พอเพียงแล้วสำหรับเขา”

            ใครที่มอบหมายอื่นจากอัลลอฮ์  ทั้งๆที่เขาไม่มีความสามารถใดๆ แน่นอนเขาได้ตั้งภาคี (ชิริก) แล้ว ดังเช่น การมอบหมายกับคนที่ตายแล้วเพื่อให้ได้มาซึ่งปัจจัยยังชีพ หรือมีชัยชนะ หรือการมอบหมายกับคนที่ยังมีชีวิตอยู่แต่เป็นส่วนที่เขาไม่สามารถเช่น การยกโทษจากบาปที่ได้กระทำไว้ หรืออื่นๆ