อิสลามเป็นศาสนาแห่งการเผยแผ่
( Islam, The Religion of Convocation )
อิสลามเป็นศาสนาแห่งมนุษยชาติ อิสลามบัญญัติว่าทุกคนที่ได้รับอิสลามจำเป็นต้องเผยแผ่อิสลาม ( ที่เขารู้และเข้าใจ ) แก่ผู้อื่น ด้วยเหตุผลดังกล่าว อิสลามจึงแพร่หลายยังส่วนต่างๆของโลก ปัจจุบันมีมุสลิมจำนวนมากกว่าหนึ่งพันล้านคน หรือประมาณหนึ่งในสี่ของประชากรโลกกระจัดกระจายอยู่ในทุกทวีป และมีประเทศที่ปกครองโดยรัฐบาลมุสลิมมากกว่าสี่สิบประเทศ มีองค์กรมากมายที่ทำงานเผยแผ่ศาสนาอิสลามตั้งแต่ระดับท้องถิ่นจนถึงระดับนานาชาติ ภารกิจหลักขององค์กรเหล่านี้คือ การเชิญชวนให้มนุษย์ไปสู่หนทางของอิสลามที่ถูกต้อง
สาเหตุสำคัญประการหนึ่งที่ทำให้อิสลามเผยแผ่ยังส่วนต่างๆของโลกคือ ความเคร่งครัดและความนุ่มนวลของมุสลิม แม้ว่าในปัจจุบัน ลักษณะดังกล่าวจะจางลง แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าการแพร่หลายของอิสลามโดยเฉพาะในทวีปแอฟริกา และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ล้วนเป็นผลงานของนักเผยแผ่ผู้เคร่งครัดและมีจรรยานุ่มนวลทั้งสิ้น
อิสลามกับความหลากหลายของมุสลิมดังที่ได้กล่าวมาแล้วว่า อิสลามเป็นศาสนาสากลและเป็นศาสนาแห่งธรรมชาติของมวลมนุษย์ ดังนั้น อิสลามจึงไม่ปฏิเสธความหลากหลายอันเป็นธรรมชาติของมนุษย์ในสิ่งต่อไปนี้คือ :
1. ชาติกำเนิดและสีผิว ( Race and Colors )อิสลามสามารถแพร่หลายในหมู่ชนชาติทุกสีผิว เพราะอิสลามไม่ยึดถือสิ่งเหล่านี้เป็นบรรทัดฐานในการประเมินคุณค่า สิ่งที่อิสลามยึดถือคือ คุณความดีในรูปของการตั๊กวา อันหมายถึงการปฏิบัติตามสิ่งที่พระเจ้าทรงใช้และออกห่างจากสิ่งที่พระองค์ทรงห้าม
อัลกุรอานได้ยืนยันถึงหลักการนี้ไว้ในบทที่ 49 อายะฮฺที่ 13 ว่า :
โอ้มวลมนุษย์ แท้จริงเราได้บังเกิดพวกเจ้ามาจากชายหนึ่งหญิงหนึ่ง และเราได้บันดาลพวกเจ้าให้แตกออกเป็นเผ่าพันธุ์และเป็นกลุ่มต่างๆ เพื่อพวกเจ้าจะได้ทำความรู้จักซึ่งกันและกัน แท้จริงผู้ที่มีเกียรติที่สุดในหมู่พวกเจ้า ณ อัลลอฮฺ คือผู้มีความยำเกรงอัลลอฮฺ ( ตั๊กวา ) ที่สุดในหมู่พวกเจ้า" ( อัลหุญุร๊อต 49 :13 )
และท่านศาสดาเคยกล่าวไว้ว่า :
ชนชาติอาหรับมิได้เลอเลิศกว่าชนชาติอื่น นอกจากด้วยการตั๊กวา
ความหลากหลายในชาติกำเนิดและสีผิวของประชาชาติมุสลิมนั้น ปรากฏเด่นชัดในช่วงเทศกาลฮัจญ์ของทุกปี ด้วยการชุมนุมของมุสลิมจากทุกเชื้อชาติและสีผิว เพื่อแสดงความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันในการจงรักภักดีต่อพระผู้เป็นเจ้า
2. ภาษา ( Language )มุสลิมมีภาษาที่หลากหลายตามเชื้อชาติและเผ่าพันธุ์ที่กำเนิด และตามสังคมที่ใช้ชีวิตอยู่ ไม่ว่ามุสลิม จะมีภาษาพูดอย่างไร เขาก็สามารถเป็นมุสลิมที่ดีได้ ภาษาจึงมิใช่สิ่งสำคัญ หากสิ่งสำคัญอยู่ที่ความเป็นมุสลิม
มีหลายคนเข้าใจผิดว่ามุสลิมนั้นมีภาษาเฉพาะ เช่น ภาษามลายู มีคนเรียกว่าภาษาอิสลาม ใครพูดภาษามลายูไม่ได้ก็เป็นมุสลิมไม่ได้ หรือภาษาอื่นๆเช่น อุรดู เปอร์เซีย และอาหรับ สำหรับกรณีภาษาอาหรับสามารถเรียกได้ว่าเป็นภาษาของอิสลาม เนื่องจากเป็นภาษาของคัมภีร์อัลกุรอาน และเป็นภาษาของอัลฮะดีษ ตลอดจนเป็นภาษาของตำราหลักๆ ของวิชาอิสลามศึกษา แต่ก็มิได้หมายความว่ามุสลิมจำเป็นจะต้องพูดและอ่านภาษาอาหรับได้ทุกคน เพียงแต่ในการประกอบศาสนกิจบางประเภทมุสลิมจำเป็นจะต้องอ่านบทอัลกุรอานที่เป็นภาษาอาหรับ เช่น ในการละหมาด เป็นต้น
3. การแต่งกาย ( Dress )การแต่งกายของมุสลิมโดยทั่วไปนั้นขึ้นอยู่กับประเพณีนิยมของชนชาติและเผ่าพันธุ์ของตน เราจึงเห็นการแต่งกายของมุสลิมอินโดนิเซียซึ่งนิยมสวมเสื้อกางเกง และหมวกสีดำแตกต่างจากมุสลิมซูดาน ซึ่งนิยมสวมชุดโต๊บ ( เสื้อยาว ) สีขาว และพันผ้าโพกศีรษะใหญ่ และแตกต่างจากมุสลิมซาอุดิอาระเบียและอาหรับ บางประเทศที่นิยมใช้ผ้าขาวหรือลายแดงคลุมศีรษะและเอาเชือกลักษณะวงกลมสีดำ ( อิกอล ) ทับไว้ เช่นเดียวกับการแต่งกายของมุสลิมะห์ ( มุสลิมหญิง )ชาวมาเลเซีย จะแตกต่างจาการแต่งกายของมุสลีมะฮฺชาวปากีสถานและอิหร่าน เป็นต้น คนที่เคยเดินทางไปประกอบพิธีฮัจญ์ ณ นครมักกะฮ์ ประเทศซาอุดิอาระเบีย จะได้มีโอกาสเห็นความหลากหลายในการแต่งกายของมุสลิมะฮฺจากทั่วทุกมุมโลก
อย่างไรก็ตาม อิสลามได้วางหลักเกณฑ์ทั่วไปสำหรับการแต่งกายของมุสลิมและมุสลิมะห์ จะขอนำมากล่าวสรุปเป็นหัวข้อดังนี้ คือ :
1. ต้องปกปิดเอาเราะฮฺ ( ส่วนที่พึงสงวนตามศาสนบัญญัติ ) สำหรับชายต้องปิดตั้งแต่สะดือถึงหัวเข่า และสำหรับหญิงต้องปกปิดทั่วร่างกายเว้นแต่ใบหน้า และฝ่ามือ
2. เสื้อผ้าที่สวมต้องไม่บางและรัดรูป แสดงให้เห็นสัดส่วนที่เป็นจุดดึงดูดทางเพศ
3. ต้องไม่เลียนแบบเพศตรงข้าม หรือลอกเลียนแบบต่างศาสนิกในส่วนที่เกี่ยวข้องกับประเพณีศาสนา
4. มุสลิมชายต้องไม่สวมใส่ทองคำ หรือเสื้อผ้าที่ทำจากไหมบริสุทธิ์ จะอนุญาตเฉพาะสตรีเท่านั้น
5. การแต่งกายต้องอยู่บนพื้นฐานของความสะอาดและไม่ฟุ่มเฟือย ตลอดจนไม่แสดงถึงความโอ้อวด
หลักเกณฑ์ต่างๆเหล่านี้ได้แสดงถึงเจตนารมณ์ของอิสลามในอันที่จะให้มุสลิมได้รักษาไว้ซึ่งความบริสุทธิ์ในศีลธรรมและศาสนาของตน
4. ขนบธรรมเนียมประเพณี ( Customs )ขนบธรรมเนียมประเพณีเป็นอีกสิ่งหนึ่งที่มีความหลากหลายในสังคมมนุษย์ มนุษย์ทุกหมู่เหล่าจะมีขนบธรรมเนียมประเพณีของตนที่นิยมปฏิบัติสืบทอดกันมาจนเป็นแบบแผน ขนบธรรมเนียมประเพณีเหล่านั้นส่วนใหญ่ มีแหล่งที่มาจากค่านิยมของคนในสังคม หรือสิ่งที่คนในสังคมเห็นดีว่าควรกระทำ อาทิเช่น ประเพณีการทักทายของของมุสลิมชาวซาอุดิอาระเบีย และประเทศใกล้เคียงด้วยการจูบแก้มทั้งสองข้าง ( ชายจูบชาย หญิงจูบหญิง ) ซึ่งแตกต่างจากมุสลิมชาวซูดานที่นิยมทักทายกันด้วยการจับบ่า ส่วนมุสลิมชาวอัฟกานิสถานจะนิยมทักทายกันด้วยการสวมกอดในขณะที่มุสลิมส่วนใหญ่นิยมทักทายกันด้วยการสัมผัสมือ ( พร้อมด้วยการกล่าวสลาม ซึ่งเป็นบัญญัติของศาสนา ) เป็นต้น
ในเรื่องขนบธรรมเนียมประเพณีนี้อิสลามได้แบ่ง ( ในเชิงฮุก่มหรือข้อชี้ขาดในทางกฎหมายอิสลาม ) ออกเป็น 2 ประเภท คือ :
1. ขนบธรรมเนียมประเพณีที่ถูกต้อง ได้แก่ ขนบธรรมเนียมประเพณีที่ถือปฏิบัติกันมาโดยไม่ขัดกับบทบัญญัติศาสนา
2. ขนบธรรมเนียมประเพณีที่ไม่ถูกต้อง ได้แก่ ขนบธรรมเนียมประเพณีที่ขัดแย้งกับบทบัญญัติศาสนา หรือทำให้เสียผลประโยชน์ หรือนำมาซึ่งความเสียหาย เช่น ประเพณีการทำความเคารพด้วยการโค้งคำนับหรือก้มกราบ
จากการแบ่งประเภทของขนบธรรมเนียมประเพณีดังกล่าว จะเห็นได้ว่าอิสลามยอมรับในความหลากหลายของขนบธรรมเนียมประเพณีตราบใดที่ไม่ขัดแย้งกับบทบัญญัติศาสนา หรือไม่ทำให้เสียผลประโยชน์หรือนำมาซึ่งความเสียหาย ดังกล่าวนี้ สอดคล้องกับทฤษฎีของนักวิชาการมุสลิมที่ว่า : เดิมของทุกสิ่งนั้นเป็นที่อนุมัติ (ฮะล้าล) เว้นแต่สิ่งนั้นขัดแย้งกับตัวบท ทฤษฎีนี้เรียกว่า บารออะฮฺ อัศลี่ยะฮฺ เป็นที่รู้จักแพร่หลายในวงวิชาการอิสลามศึกษา
ยิ่งกว่านั้นอิสลามยังยึดถือประเพณีของหมู่ชนมาเป็นเกณฑ์ในการกำหนดบทบัญญัติอีกด้วย หรือที่รู้จักในหมู่นักวิชาการว่า อุรฟฺมุฮักกัม ตัวอย่างเช่น ประเพณีการซื้อขายรถยนต์ที่ผู้ซื้อ ( หรือผู้ขาย ) จะต้องเป็นฝ่ายจ่ายค่าโอน อิสลามก็บัญญัติให้เป็นไปตามนั้น หรือการพิจารณาคดีลักทรัพย์ จะต้องคำนึงถึงวิธีการเก็บรักษาหรือดูแลทรัพย์สินตามประเพณีของท้องถิ่นนั้นๆ เป็นต้นการใช้อุรฟฺมุฮักกัมนี้ มีข้อจำกัดอยู่ว่า ใช้ได้เฉพาะเรื่องที่เกี่ยวกับสังคม และการดำเนินธุรกิจทั่วไป ( มูอามะล๊าต ) เท่านั้น จะนำไปใช้อย่างอื่น เช่น ในเรื่องหลักการยึดมั่น ( อะกีดะห์ ) หรือหลักจริยธรรม ( อัคล๊าค ) หรือการประกอบศาสนกิจทั่วๆไป ( อิบาดะฮฺ ) ไม่ได้ เนื่องจากเรื่องเหล่านี้ถูกกำหนดด้วยศาสนบัญญัติ มนุษย์ไม่สามารถจะเปลี่ยนแปลงตามความต้องการหรือตามคนส่วนใหญ่ในสังคมนั้นๆได้
5. ทัศนะหรือความคิดเห็น ( Opinions )อิสลามถือว่าความแตกต่างทางทัศนะ หรือความคิดเห็นของมนุษย์เป็นธรรมชาติอย่างหนึ่งที่พระเจ้าทรงสร้างไว้ในตัวมนุษย์ เหมือนกับความแตกต่างของรูปร่าง หน้าตา ลายนิ้วมือ น้ำเสียง หรือความแตกต่างของรสนิยม บุคลิก นิสัย และอื่นๆ ด้วยเหตุนี้อิสลามจึงไม่ปิดกั้นความคิดของมนุษย์ แม้ในเรื่องที่เกี่ยวกับบทบัญญัติศาสนา ตราบใดที่ความคิดเห็นของมนุษย์นั้นตั้งอยู่บนหลักฐานทางวิชาการที่ถูกต้อง
ในโลกมุสลิมตั้งแต่อดีตกาลได้เกิดมัซฮับขึ้นมากมาย มัซฮับที่มีชื่อเสียงและแพร่หลายในโลกมุสลิมปัจจุบันมี 4 มัซฮับ คือ :
1. มัซฮับ ฮะนะฟีย์ของอิหม่ามอบูฮะนีฟะฮ์ (ฮ.ศ.80-150,ค.ศ.693-767) แพร่หลายในหมู่มุสลิมชมพูทวีปเอเชียกลาง ตุรกี และยุโรปตะวันออก เช่น อัลบาเนีย บอสเนีย และ ยูโกสลาเวีย และแพร่หลายในหมู่ มุสลิมประเทศจีน อัฟกานิสถาน พม่าบางส่วน และอาหรับบางประเทศ เช่น อิรัก และอียิปต์อาจกล่าวได้ว่าเป็นมัซฮับที่มีผู้นิยมมากที่สุด
2. มัซฮับ มาลิกีย์ของอิหม่ามมาลิก (ฮ.ศ.93-176,ค.ศ.721-795)แพร่หลายในหมู่มุสลิมส่วนใหญ่ ในทวีปแอฟริกาโดยเฉพาะ แอฟริกาเหนือได้แก่ประเทศลิเบีย อัลจีเรีย ตูนิเซีย โมรอคโค และ แอฟริกาตะวันตก เช่นมอริตาเนีย ไนจีเรีย มาลี ไนเจอร์ ซินิกัล และกานา เป็นต้น อาจกล่าวได้ว่าเป็นมัซฮับที่มีมุสลิมนิยมเป็นอันดับสามรองจากมัซฮับชาฟิอีย์
3. มัซฮับ ชาฟิอีย์ ของอีหม่ามชาฟิอีย์ (ฮ.ศ.150-204-ค.ศ.767-819 )แพร่หลายในหมู่มุสลิมชาวเยเมน มุสลิมบางประเทศในแอฟริกาตะวันออกเช่น เคนย่า แทนซาเนีย โซมาเลีย เอธิโอเปีย และได้รับความนิยมใน หมู่มุสลิมประเทศต่างๆในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เกือบทั้งหมด
4. มัซฮับ ฮัมบาลีของอิหม่ามอะฮ์หมัดอิบนุฮัมบัล (ฮ.ศ.164-214-ค.ศ.781-855) ได้รับความนิยมในซาอุดิอาระเบีย และบางประเทศในคาบสมุทรอาหรับ
มัซฮับเหล่านี้เกิดขึ้นจากความคิดเห็นของนักปราชญ์ที่แตกต่างกันในข้อปลีกย่อยของศาสนบัญญัติ และในเรื่องที่ไม่มีตัวบทชัดเจน ความแตกต่างดังกล่าว นอกจากจะเป็นสิ่งที่จำเป็นแล้ว ยังถือได้ว่าเป็นความโปรดปราน (นิอฺมะฮ์) และความเมตตา( เราะหฺมะฮ์) จากอัลลอฮฺอีกด้วย เพราะจะทำ ให้เกิดความสะดวกและกว้างขวาง ในการปฏิบัติศาสนกิจและยังทำให้เกิดขุมทรัพย์ทางปัญญาอันทรงคุณค่าในรูปแบบของวรรณกรรมวิชาฟิกฮ์(กฎหมายอิสลาม) ที่ประชาชาติมุสลิมควรมีความภาคภูมิใจ
อย่างไรก็ตาม ยังมีหลายคนเข้าใจผิดว่า ความคิดเห็นและการปฏิบัติที่แตกต่างในลักษณะดังกล่าว เป็นสิ่งไม่พึงปรารถนาในอิสลามเพราะมันเป็นความแตกแยกของมุสลิม ในเรื่องนี้ขอทำความเข้าใจว่า อิสลามได้แบ่งลักษณะการขัดแย้งออกเป็นสองประเภทคือ :
1. การขัดแย้ง ในหลักการยึดมั่น เป็นการขัดแย้งที่ต้องห้ามในอิสลามเพราะเป็นฉนวนให้เกิดความแตกแยกและความเป็นศัตรู มุสลิมทุกคนจึงจำเป็นจะต้องอยู่ในแนวทางเดียวกันคือ แนวทาของ อะฮ์ลิสซุนนะฮ์ วัลญะมาอะฮ์ ซึ่งหมายถึงแนวทางของท่านศาสดา และบรรดาค่อลีฟะห์ผู้ทรงคุณธรรม
2. การขัดแย้งในปัญหาปลีกย่อยของศาสนบัญญัติ และปัญหาที่ไม่มีตัวบทชัดเจนจากอัลกรุอานและอัลหะดีษ การขัดแย้งประเภทนี้ได้รับการรับรองและไม่ถือว่าเป็นเรื่องแตกแยกแต่อย่างใด ตัวอย่างเช่น ขัดแย้งกัน ในปัญหาปลีกย่อยที่เกี่ยวกับการละหมาด การจ่ายซะกาต
มุสลิมที่ มีความคิดเห็นแตกต่างกันในเรื่องเหล่านี้สามารถอยู่ร่วมกันได้ โดยสันติตามเจตนารมณ์ของอิสลาม ส่วนความแตกแยกที่เกิดขึ้นในมุสลิมบางกลุ่มนั้น เป็นความแตกแยกที่เกิดขึ้นจากความใจแคบ และความไม่รู้จริงในอิสลาม
สรุปอิสลามเป็นระบบการดำเนินชีวิตที่พระผู้เป็นเจ้า ( อัลลอฮ์ )ได้ทรงประทานให้แก่ท่านศาสดามูฮัมหมัด (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยอิวะซัลลัม) ศาสดาคนสุดท้าย เป็นผู้นำมาเผยแพร่สั่งสอน
คำว่าอิสลามแปลว่าการนอบน้อมมอบตนต่อพระผู้เป็นเจ้า ( อัลลอฮ์ ) แต่ผู้เดียว ผู้ปฏิบัติดังกล่าวเรียกว่ามุสลิม
อิสลามมีคุณลักษณะพิเศษ ที่มีเอกลักษณ์หลายประการ เช่น มีแหล่งที่มาอันบริสุทธิ์จากพระเจ้า มีคำสอนครอบคลุม มีความเป็นสากล มีระบบการตอบแทนทั้งในโลกนี้และโลกหน้า และมีความเป็นธรรมชาติ อิสลามยอมรับในความหลากหลายของมนุษย์ ในชาติกำเนิด ภาษา สีผิว และถือว่ามนุษย์ทุกคนเท่าเทียมกัน ส่วนการแต่งกายและขนบธรรมเนียมประเพณีนั้น อิสลามได้วางกรอบเพื่อให้ความแตกต่างและหลากหลาย เป็นไปได้ในทางสร้างสรรค์และคุณธรรมอันดีงาม เช่นเดียวกับที่ได้วางกรอบในการพิจารณาความคิดเห็นที่แตกต่างกัน โดยเฉพาะในเรื่องที่เกี่ยวกับศาสนบัญญัติ ทั้งนี้ เพื่อให้ความแตกต่างเป็นความแตกต่างที่ไม่แตกแยกและเป็นความแตกต่างที่สร้างสรรค์และสวยงาม ประดุจความสวยงามของอัญมณีที่เกิดจากการเจียระไนโดย ผศ.ดร. อับดุลเลาะ หนุ่มสุข
د.عبدالله نومسوك