ท่านมุอ๊าซ อิบนิ ญะบัล 3
ในสมัยท่านอุมัรอีกเช่นกัน ท่านยะซีด บิน อะบีซุฟยาน ข้าหลวงชามในสมัยนั้น ได้ส่งสาส์นมายังท่านอุมัรมีใจความว่า :
“โอ้อะมีรุลมุอฺมินีน แท้จริงชาวชามมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น และในทุกๆเมืองมีประชาชนอยู่หนาแน่น (ประเทศชามในสมัยนั้นประกอบไปด้วยประเทศต่างๆ ในปัจจุบันหลายประเทศคือ ซีเรีย เลบานอน ปาเลสไตน์ และจอร์แดน) ดังนั้น ขอให้ท่านหาผู้ที่สอนอัลกุรอาน และบัญญัติอิสลามไปสอนพวกเขา ด้วยการพิจารณาหาผู้รู้หลายๆท่านไปทำหน้าที่ดังกล่าวด้วย”
ท่านอุมัรจึกเรียกผู้ที่มีความรู้ห้าท่าน ดังต่อไปนี้มาประชุมกันคือ
1. ท่านมุอ๊าซ อิบนิ ญะบัล
2. ท่านอุบาดะห์ บิน อัศศอมิต
3. ท่านอบู อัยยู๊บ อัลอันซอรีย์
4. ท่านอุบัย อิบนิ กะอฺบ
5. ท่านอบู อัดดัรด๊าอฺ
เมื่อผู้รู้ทั้ง 5 มาถึงแล้ว ท่านอุมัร อะมีรุลมุอฺมินีน จึงพูดขึ้นว่า :
"พี่น้องของท่านในเมืองชาม ได้ขอร้องฉันให้จัดส่งผู้มีความรู้ เพื่อไปสอนอัลกุรอาน และบัญญัติอิสลาม ฯลฯ ฉะนั้นจึงขอให้ผู้รับผิดชอบในการทำหน้าที่ดังกล่าว 3 ท่าน หากว่าพวกท่านชอบที่จะจับฉลากกัน ก็ให้กระทำได้ มิเช่นนั้นก็ขอให้อยู่ในดุลยพินิจของพวกท่าน”
ทั้งหมดเห็นว่าเรื่องอะไรที่จะต้องจับฉลาก เพราะท่านอบูอัยยู๊บ ก็เป็นคนชราแล้ว และท่านอุบัยก็สุขภาพไม่ค่อยจะดีเจ็บป่วยออดๆแอดๆ ดังนั้น จึงเหลืออีก 3 คน ซึ่งพวกเขาก็พร้อมที่จะรับทำหน้าที่ดังกล่าวแทน
เมื่อตกลงเช่นนั้น ท่านอุมัร จึงมีคำสั่งให้ทั้งสามท่านเริ่มทำหน้าที่สอนอัลกุรอาน และบทบัญญัติอิสลามที่เมือง ฮิมซฺ เป็นอันดับแรก และเมื่อเห็นว่าประชาชนมีความเข้าใจกันดีแล้วก็ให้ออกไปยังเมืองอื่น และให้มีคนหนึ่งยังคงอยู่ที่เมือง ฮิมซฺนั้น ส่วนอีกสองคนนั้น ให้คนหนึ่งไปยัง ดามัสกัส และอีกคนหนึ่งไปยังปาเลสไตน์
ดังนั้นท่านอุบาดะฮฺ บิน อัศศอมิตจึงอยู่ที่เมือง ฮิมซฺ ท่านอบู อัดดัรด๊าอฺ จึงอยู่ที่ดามัสกัส และท่านมุอ๊าซ อิบนิ ญะบัลจึงอยู่ที่ปาเลสไตน์
แต่ท่านมุอ๊าซประสบกับโรคระบาด และสิ้นชีวิตที่ปาเลสไตน์นั่นเอง ก่อนที่ท่านจะสิ้นชีวิต ท่านกล่าวว่า :
"ยินดีต้อนรับความตายที่มาเยือน ซึ่งได้หายหน้าไปเสียนานและขณะนี้ฉันกำลังคิดอยู่"
ท่านมองไปยังฟากฟ้า และกล่าวว่า :
"ข้าแต่อัลลอฮฺ แท้จริงพระองค์ทรงรู้ดีว่า ข้าพระองค์มิได้เป็นผู้รักและหลงในดุนยา หรืออยากจะมีชีวิต อยู่อย่างยาวนานเพื่อสนุกสนานเพลิดเพลินกับการปลูกต้นไม้หรือทำสวน หากแต่ข้าพระองค์อยู่เพื่ออดทนต่อความหิวกระหาย ในขณะที่ข้าพระองค์ถือศิลอด ยอมอดนอนเพื่อลุกขึ้นกระทำละหมาดในตอนกลางดึก และอยู่เพื่อแข่งขันกับผู้รู้ในการแสวงหาวิชาความรู้”
“ข้าแต่อัลลอฮฺ ข้าพระองค์ขอให้พระองค์ทรงรับเอาชีวิตของข้าพระองค์ไปด้วยดี ดังที่พระองค์ทรงรับเอาชีวิต ของบรรดาผู้ศรัทธาทั้งหลายด้วยเถิด"
หลังจากนั้น ท่านมุอ๊าซก็สิ้นชีวิต
ท่านผู้อ่านที่รัก พิจารณาดูเถิดว่า ท่านมุอ๊าซรอต้อนรับความตาย เสมือนกับว่าบ่าวสาวที่รอคอยสมรส ท่านอาจจะนึกว่าประวัติชีวิตอันดีเด่นของท่านมุอ๊าซคงจะเป็นชีวิตที่ยาวนานแต่แท้จริงแล้วท่านมุอ๊าซ มีชีวิตอยู่ในโลกนี้เพียงสามสิบกว่าปีเท่านั้นเอง
ท่านเข้ารับนับถือศาสนาอิสลาม และเป็นผู้หนึ่งที่ให้สัตยาบันแก่ท่านร่อซูลุลลอฮฺ ณ อัลอะกะบะฮฺ และในคราวสงครามอุฮุดซึ่งเกิดขึ้นในฮิจญเราะฮฺศักราชที่สองนั้น ท่านมีอายุได้ 20 ถึง 21 ปีเท่านั้นเอง และท่านสิ้นชีวิตที่ ปาเลสไตน์ในฮิจญเราะฮฺศักราชที่ 18
ขออัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา ทรงพอพระทัยท่านมุอ๊าซ และขอให้ท่านกลับไปหาอัลเลาะห์ ในสภาพ ของคนหนุ่มที่เป็นตัวอย่างแก่บรรดาหนุ่มสาวที่รักอิสลามด้วย
วัสลาม
Click<<< ท่านมุอ๊าซ อิบนิ ญะบัล 2