การเดินทางเพื่อค้นหาฮะดีษ 2
  จำนวนคนเข้าชม  5332

การเดินทางเพื่อค้นหาอัลฮะดีษ


 โดย ผศ.ดร.อับดุลลอฮฺ หนุ่มสุข

د.عبدالله نومسوك 

ประโยชน์ที่ได้รับจากการเดินทางหาฮะดีษ

           การเดินทางของนักรายงานฮะดีษเพื่อสืบหาฮะดีษได้ก่อให้เกิดคุณประโยชน์ที่สำคัญนานัปการต่อวิชาการฮะดีษ เช่น


ประการที่หนึ่ง :

          ทำให้ฮะดีษแพร่หลาย และทำให้สายรายงาน (อิสนาด) ของฮะดีษมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น การเพิ่มจำนวนของสายรายงานนั้นเป็นประโยชน์ต่อการพิจารณาฮะดีษในหลายๆด้านเช่น

ก. การพิจารณาความเป็นมุตะวาติ้ร และอาห๊าด (ฮะดีษมุตะวาติ้รคือฮะดีษที่มีผู้รายงานเป็นจำนวนมาก รายงานสืบทอดกันมาอย่างต่อเนื่อง โดยที่สติปัญญามิอาจยอมรับได้ว่า ผู้รายงานเหล่านั้นสมคบกันรายงานเท็จ ส่วนฮะดีษอาห๊าดคือ ฮะดีษที่ไม่ถึงระดับมุตะวาติ้ร)

ข. การพิจารณาสายรายงานต่างๆ เพื่อสนับสนุนสู่การเป็นฮะดีษซ่อฮี้ฮฺลิฆอยริฮี [ คือฮะดีษ หะซันที่มีสายรายงานอื่นๆ (มีฐานะเดียวกันหรือเหนือกว่า) มาสนับสนุน]  หรือฮะซันลิฆ้อยริฮี [ คือฮะดีษฎ่ออีฟ (ที่มิได้มีสาเหตุมาจากผู้รายงานเป็นฟาสิก : ทำบาปใหญ่ หรือสะสมบาปเล็กเป็นนิจ หรือเป็นผู้โกหก ) เมื่อมีสายรายงานอื่น ( ที่ฐานะเดียวกันหรือเหนือกว่า)  มาสนับสนุน ]

ค. การพิจารณาสำนวนของฮะดีษที่แตกต่างกันในแต่ละสายรายงาน เพื่อกำหนดส่วนที่เพิ่มเติม หรือส่วนที่แตกต่าง หรือขัดแย้งกันในแง่ของการนำมาใช้เป็นหลัก

ง. การพิจารณาสำนวนของฮะดีษและลักษณะการนำสายสืบของสายรายงานที่แตกต่างกัน เพื่อกำหนดว่าสำนวนใดหรือสายรายงานใดมีอิลละฮฺ ( อิลละฮฺคือข้อบกพร่องที่ซ่อนเร้นในตัวบทหรือ สายรายงานของฮะดีษ มีผลกระทบต่อสถานภาพของฮะดีษโดยตรง และนักฮะดีษทั่วไปไม่อาจทราบ ยกเว้นปราชญ์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางเท่านั้น)

 
ประการที่สอง :

          ทำให้ได้รู้จักบรรดานักรายงานฮะดีษ และชีวประวัติของพวกเขาอย่างละเอียด ทั้งนี้เนื่องจากนักรายงานที่เดินทางตระเวนยังเมืองต่างๆเพื่อหาฮะดีษนั้น ต่างก็ได้พบเจอและรู้จักนักรายงานฮะดีษจำนวนมากทั้งที่เป็นชาวเมือง และที่เดินทางมาจากเมืองอื่นๆ นักรายงานเหล่านี้ นอกจากจะจดจำและบันทึกส่วนที่เกี่ยวข้องกับฮะดีษแล้ว พวกเขายังจดจำและบันทึกส่วนที่เกี่ยวข้องกับบุคคลอีกด้วย ดังที่ท่าน ฮาฟิซ อัรรอมฮุรมุซีย์ ( 405 ฮ.ศ. ) ได้บักทึกรายชื่อของนักรายงานฮะดีษที่เดินทางยังเมืองต่างๆ โดยเรียบเรียงเป็นรุ่นๆ (ฏอบะเกาะฮฺ) ท่านได้กล่าวถึงนักรายงานที่เดินทางยังเมืองหลายเมือง และนักรายงานที่เดินทางยังเมืองเดียว หรือซีกเดียว

สำหรับเมืองต่างๆที่นักรายงานฮะดีษเดินทางไปเพื่อสืบหาฮะดีษคือ

1. มะดีนะฮฺ

2. มักกะฮฺ

3. กูฟะฮฺ ประเทศอิรัก

4. บัศเราะฮฺ ประเทศอิรัก

5. ญะซีเราะฮฺ  เมืองต่างๆที่อยู่ในคาบสมุทรอาหรับ

6. ชาม หมายถึง จอร์แดน ซีเรีย และเลบานอนในปัจจุบัน

7. ยะมามะฮฺ อยู่ในแคว้นนัจดฺ ประเทศซาอุดิอารเบีย

8. เยเมน

9. มิศรฺ คือประเทศอียิปต์

10. มัรวฺ เมืองหนึ่งในประเทศตรุกมานิสตาน

11. ร็อย เมืองหนึ่งทางตอนเหนือของประเทศอิหร่าน

12. บุคอรอ เมืองหนึ่งของประเทศอุซเบกิสถาน บ้านเกิดของท่านอิมามอัลบุคอรีย์

          เมืองต่างๆเหล่านี้ ถือเป็นศูนย์กลาง แห่งการแสวงหาความรู้ เนื่องจากมีเหล่านักปราชญ์ (อุละมาอฺ) มากมายพำนักอยู่ในเมืองเหล่านี้ และการรายงานฮะดีษก็ตื่นตัวอยู่ในเมืองเหล่านี้ทั้งสิ้น

 

ประการที่สาม :

         การเดินทางของนักรายงานฮะดีษได้ก่อให้เกิดการเคลื่อนไหวและตื่นตัวในการรวบรวมรายงานต่างๆ ไว้เป็นเล่ม เริ่มตั้งแต่ศตวรรษที่หนึ่งในยุคของบรรดาซอฮาบะฮฺ และตาบีอีนรุ่นอาวุโสในรูปแบบของศุฮุฟ และอัจซาอฺ


[ ศุฮุฟ : พหูพจน์ของคำว่า ศอฮีฟะฮฺ ในที่นี้หมายถึงวัสดุที่จารึกตัวบทของท่านนบี ฮัจซาอฺ : พหูพจน์ของคำว่า ญุซอฺ ในที่นี้หมายถึง วัสดุที่บันทึกฮะดีษของท่านนบีเฉพาะเรื่อง หรือเฉพาะของซอฮาบะฮฺคนใดคนหนึ่งๆ ]
 
          ต่อมาได้พัฒนามาเป็นรูปแบบ มุศ็อนนะฟาต และมุวัฏเฏาะอาต [ มุศ็อนนะฟาต : หมายถึง เอกสารที่รวบรวมฮะดีษที่สืบถึงท่านนบี ( ฮะดีษมัรฟูอฺ ) ฮะดีษที่สืบถึงซอฮาบะฮฺ (ฮะดีษเมากูฟ) และฮะดีษที่สืบถึงตาบิอีน (อะดีษมักฎัวะอฺ ) ไว้ในเล่มเดียวกัน มีความหมายเดียวกันกับ มุวัฏเฏาะอาต]ในศตวรรษที่สองของยุคตาบิอีน และตาบิอิตตาบิอีนรุ่นอาวุโส เช่น มุศ็อนนัฟของท่านอับดุรร็อซซาก อัศศอนอานีย์ ( ฮ.ศ. 211 ) และอัลมุวัฏเฏาะอฺของอิมามมาลิก ( ฮ.ศ. 179 )
 
          และได้พัฒนามาสู่ยุคที่รุ่งเรืองที่สุดของฮะดีษในศตวรรษที่สาม ในรูปแบบของหนังสือมะสานีด [ มะสานีดในที่นี้หมายถึง  เอกสารที่รวบรวม และเรียบเรียงฮะดีษตามชื่อซอฮาบะฮฺผู้รายงาน โดยไม่คำนึงถึงเรื่องของฮะดีษ] เช่น มุสนัดของท่านอิมาม อะหฺหมัด ( 240 ฮ.ศ.) หนังสืออิศหาฮฺ [ ศิหาฮฺ ในที่นี้หมายถึง หนังสือที่ผู้แต่งรวบรวมเฉพาะฮะดีษที่ซ่อฮี้ฮฺ เท่านั้น ส่วนการเรียบเรียงนั้น จะเรียบเรียงตามบทต่างๆของวิชาฟิกฮฺ]  เช่นอัลญาเมียะอฺ อัซซอฮี้ฮฺ ของท่านอิมามอัลบุคอรีย์ (256 ฮ.ศ.) และหนังสืออัสสุนัน [ อัสสุนัน ในที่นี้หมายถึง หนังสือที่รวบรวมฮะดีษที่เกี่ยวข้องกับเรื่องส่วนใหญ่ในอิสลาม โดยเน้นเรื่องที่เกี่ยวกับอะฮฺกาม (ข้อบัญญัติ : ฮะลาล ฮะรอม) มีฮะดีษหลากหลายสถานภาพทั้งซอฮีฮฺ และไม่ซอฮีฮฺ ส่วนการเรียบเรียงนั้นจะเรียงตามบทของวิชาฟิกฮฺ ] เช่นสุนันของท่านอบูดาวูด (275 ฮ.ศ.) เป็นต้น

 
         นอกเหนือจากนั้นแล้ว การเคลื่อนไหวและตื่นตัวยังครอบคลุมการรวบรวมอัตชีวประวัติของนักรายงานฮะดีษไว้เป็นเล่มอีกด้วย ผลงานเหล่านี้มีหลากหลายประเภทเช่น

ก. หนังสือ มัอฺริฟะตุซซอฮาบะฮฺ ได้แก่ หนังสือรวบรวมชีวประวัติของซอฮาบะฮฺโดยเฉพาะ เช่นผลงานของท่านอบูอุบัยดะฮฺ มุอัมมัร อิบนุลมุษันนา ( 208 ฮ.ศ.) ผลงานของท่านยะอฺกู๊บ อิบนุ ซุฟยาน อัลฟิสวี่ย์ (233 ฮ.ศ.) และผลงานของอิมามบุคอรีย์ (256 ฮ.ศ.) เป็นต้น

ข. หนังสือฏอบากอต ได้แก่หนังสือรวบรวมชีวประวัติของซอฮาบะฮฺ ตาบิอีน ตาบีอิตตาบิอีน หรือบุคคลในยุคหลังจากนั้นโดยจัดเป็นรุ่นๆ เช่นผลงานของท่านอัลวากิดีย์ (207 ฮ.ศ.) ผลงานของท่านอิบนุสะอฺด (230 ฮ.ศ.)  และผลงานของท่านคอลีฟะฮฺ อิบนุคอยยาต (240 ฮ.ศ.) เป็นต้น

ค. หนังสือ อัลญัรฮุ วัตตะอฺดีล ได้แก่ หนังสือรวบรวมชีวประวัติผู้รายงานฮะดีษพร้อมวิจารณ์สถานภาพทั้งด้านดี ( ความน่าเชื่อถือ ) และด้านเสีย( ความไม่น่าเชื่อถือ ) หนังสือกลุ่มนี้บางเล่มรวบรวมเฉพาะ ชีวประวัติผู้รายงานที่เชื่อถือได้ (ซิเกาะฮฺ) เช่นผลงานของท่านอาลี อิบนุลมะดีนีย์ (234 ฮ.ศ.)และผลงานของท่านอิบนุ ฮิบบาน (345 ฮ.ศ.)
 


          บางเล่มรวบรวมเฉพาะชีวประวัติผู้รายงานที่อ่อน ( เชื่อถือไม่ได้ ) เช่นผลงานของท่านยะหฺยา อิบนุ มะอีน (233 ฮ.ศ.) และผลงานของท่านอบูฮาติม อัรรอซีย์ (277 ฮ.ศ.)  และผลงานของท่านอับดุลลอฮฺ อิบนุ อะดีย์ อัลญุรญานีย์ ( 365ฮ.ศ.)

           และบางเล่มรวมระหว่างผู้รายงานทั้งสองประเภท เช่นผลงานของท่านอะฮฺหมัด อิบนุฮัมบัล ( 241 ฮ.ศ.) ผลงานของท่านอันนะซาอีย์ (303 ฮ.ศ.) และผลงานของท่านอิบนิ อบีฮาติม อัรรอซีย์ ( 327 ฮ.ศ. ) เป็นต้น

            เจ้าของผลงานเหล่านี้ได้รวบรวมเรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับชีวประวัติผู้รายงานฮะดีษ เช่น ชื่อ ทั้งชื่อจริงและชื่อกุนยะฮฺ ( คือชื่อเล่นที่ใช้คำนำหน้าว่า อบู สำหรับชาย และอุมมุ สำหรับผู้หญิง ) ชื่อบิดา ชื่อปู่ ชื่อตระกูล ชื่อเมืองที่เกิด ปีที่เกิด ปีที่เสียชีวิต ฉายาที่ได้รับ การศึกษา ( หมายถึงครูของแต่ละคน วิชาที่ได้เรียนจากครู หรือจำนวนฮะดีษที่ได้รายงานจากครู ) การเดินทาง ( หมายถึงเมืองต่างๆที่ได้เดินทางไปศึกษา และหาฮะดีษ ) ลูกศิษย์ ( หมายถึง ลูกศิษย์ที่ได้ถ่ายทอดฮะดีษให้โดยเฉพาะบุคคลที่มีชื่อเสียง และความน่าเชื่อถือในการรายงาน โดยใช้ถ้อยคำเฉพาะที่นักฮะดีษบัญญัติขึ้นเพื่อสื่อถึงระดับต่างๆของความน่าเชื่อถือ และไม่น่าเชื่อถือ)
 
       
   อย่างไรก็ตามเป็นที่น่าสังเกตอย่างหนึ่งว่า การรวบรวมฮะดีษ (เป็นเล่ม) ทั้งในด้านตัวบท และชีวประวัติของผู้รายงานได้เกิดขึ้นพร้อมๆกัน และโดยกลุ่มนักปราชญ์กลุ่มเดียวกัน นักปราชญ์กลุ่มนี้จึงสามารถปกปักษ์รักษาฮะดีษให้พ้นจากเงื้อมมือของกลุ่มผู้ไม่ประสงค์ดีต่ออิสลามมาตลอดตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน


บทสรุป

           แม้ว่าปัจจุบันสังคมมนุษย์จะมีความก้าวหน้าทางด้านการสื่อสาร และการใช้เทคโนโลยี ด้านสารสนเทศ แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า การเดินทางเพื่อแสวงหาความรู้ยังแหล่งต่างๆ ยังคงมีความจำเป็นต่อไป การเดินทางของนักรายงานฮะดีษในอดีตได้บ่งบอกถึงวิธีวิทยาการในการค้นคว้าและวิจัยที่ถูกต้อง กล่าวคือ การหาข้อมูลจากแหล่งที่เป็นปฐมภูมิ ( Primary Sources ) แต่เหนือสิ่งอืนใดคือ ได้บ่งบอกถึงสัจธรรมของอิสลามที่อัลลอฮฺประสงค์จะปกปักษ์รักษาของเหล่ากัลป์ญาณชนมุสลิมในอดีต ( สะลัฟซอและฮฺ ) โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุคของซอฮาบะฮฺ ตาบิอีน และตาบิอิตตาบิอีน ขออัลลอฮฺได้ทรงพึงพอพระทัยพวกเขา และตอบแทนคุณงามความดีของพวกเขาด้วยสรวงสวรรค์ตลอดนิรันดร์กาล อามีน

การเดินทางเพื่อค้นหาฮะดิษ>>>>Click