เหตุการณ์ช่วงสุดท้ายของท่านเราะซูล(ศ็อล)
  จำนวนคนเข้าชม  16295

 

เหตุการณ์ช่วงสุดท้ายของท่านเราะซูล 

 

บรรดาตัวแทนเข้าพบท่านเราะซูล

          หลังจากได้เปิดเมืองมักกะฮ์ การต่อต้านจากชาวกุเรชสิ้นสุดลง พวกเขาได้พากันเข้ารับอิสลาม และหลังจากปราบปรามเผ่าของ “ฮาวาซิน” ในสมรภูมิฮุนัย อุปสรรคที่ยิ่งใหญ่ในการเผยแพร่อิสลามในคาบสมุทรอาหรับ และชนเผ่าต่างๆ ก็หมดไป ส่วนเผ่าอื่นๆ คอยดูทีท่าการขัดแย้งระหว่างมุฮัมมัดกับชาวกุเรช ครั้นเมื่อการต่อต้านหมดไป ชาวกุเรชเข้ารับอิสลาม เผ่าที่เหลือจึงเข้ารับอิสลามเช่นกัน (*1*)

อัลลอฮ์ซุบฮานะฮูวะตะอาลา ได้ทรงประทานซูเราะฮ์อันนัศร์ โดยที่พระองค์ทรงตรัสว่า :

เมื่อการช่วยเหลือของอัลลอฮ์ได้มาถึงพร้อมกับการพิชิต (เมืองมักกะฮ์)

เจ้าจะเห็นบรรดาผู้เข้ารับอิสลามของอัลลอฮ์ ระลอกแล้วระลอกเล่า

          ดังนั้นเจ้าจงสดุดี จงสรรเสริญและจงขออภัยโทษต่อพระผู้อภิบาลของเจ้าเถิด เพราะพระองค์ทรงตอบรับผู้สำนึกผิดกลับตัวเสมอ

  ( อันนัศร์ 110 : 1-3)

          ในปี ฮ.ศ.ที่ 9 บรรดาตัวแทนจากคาบสมุทรอาหรับ ได้หลั่งไหลเข้ามาเมืองมะดีนะฮ์ จนกระทั่งถูกขนานนามว่า อามุ้ลวุฟูด(*2*)  กล่าวกันว่าตัวแทนเหล่านั้นมีมากถึง 70 – 100 คน(*3*)  ซึ่งเป็นตัวแทนจากเผ่าต่างๆ ตั้งแต่ทิศเหนือจรดทิศใต้ ตะวันออกถึงตะวันตก(*4*) ชาวมะดีนะฮ์มีความกระตือรือร้นในการต้อนรับบรรดาตัวแทนที่มาเยือน ซึ่งจำนวนแต่ละกลุ่มไม่เท่ากัน บางกลุ่มมี 9-10 คน บางกลุ่มมีผู้ชายถึง 400คน(*5*) และท่านเราะซูล ได้ให้ความสำคัญกับบรรดาตัวแทนเหล่านั้นเป็นอย่างดี ซึ่งเห็นได้จากปรากฏการณ์ต่างๆ ดังต่อไปนี้ ;

  1. ท่านเราะซูล ได้แต่งตั้งท่านอบูบักร อัซซิดดีก เป็นผู้นำบรรดามุสลิมีนไปทำฮัจญ์ในปีนั้น เพราะท่านต้องต้อนรับแขกที่มาเยือนตลอดปี(*6*) 
  2. การต้อนรับตัวแทนด้วยความดีให้เกียรติและให้ที่พักที่ปลอดภัย โดยบางท่านให้พำนักในมัสยิดและบางส่วนได้พักในบ้านของบรรดาซอฮาบะฮ์
  3. ท่านเราะซูล ได้รับฟังคำปราศรัยและรับทราบความรู้สึกของพวกเขาและตอบปัญหาในสิ่งที่สงสัย ซึ่งก่อให้เกิดความประทับใจเป็นอย่างมาก 

          เมื่อบรรดาตัวแทนเดินทางกลับไปยังบ้านเกิด ท่านเราะซูล ได้ให้ซอฮาบะฮ์ บางท่านติดตามไปด้วย ทั้งนี้เพื่อไปสอน อัลกุรอานและคำสอนของศาสนาให้แก่ชนเผ่าเหล่านั้น และยังแต่งตั้งผู้นำในการตัดสินให้แก่ทุกเผ่าด้วย

          เหตุนี้ คาบสมุทรอาหรับในยุคแรกๆนั้น ได้รวมเป็นหนึ่งเดียวกัน และมีเป้าหมายและหัวใจเดียวกันเพื่ออิสลาม  ด้วยการทำอิบาดะฮฺต่ออัลลอฮฺซุบฮานะฮูวะตะอาลา เพียงองค์เดียวเท่านั้น


ฮัจญ์อำลา

          ในปี ฮ.ศ. ที่ 10 ท่านเราะซูล    ตั้งใจที่จะเดินทางไปทำฮัจญ์ ท่านจึงประกาศให้บรรดาซอฮาบะฮ์และบุคคลทั่วไปได้ทราบ เมื่อประชาชนทราบข่าวจึงเตรียมตัวเพื่อที่จะไปทำฮัจญ์ร่วมกับท่านอย่างมากมาย  บางคนเดินทางมาพร้อมกับท่านเราะซูล ทางคนมาร่วมในระหว่างทาง บางคนมารวมที่มักกะฮ์ จำนวนผู้มาทำฮัจญ์นั้นมีมากมาย จนไม่สามารถที่จะให้ทุกคนได้ยินเสียงของท่านได้ จึงต้องใช้ “มุบัลลิค” (ผู้ประกาศ) เพื่อที่จะให้ได้ยินในสิ่งที่ท่านพูด กล่าวกันว่ามีผู้คนจำนวนมากถึง 4 หมื่นคน(*7*) 

          สาเหตุที่เรียกการทำฮัจญ์ครั้งนี้ว่าเป็น “ฮัจญ์อำลา” เพราะท่านเราะซูล ได้อำลาซอฮาบะฮ์ของท่าน

ท่านได้กล่าวว่า :

          หวังว่าฉันคงไม่ได้ทำฮัจญ์หลังจากปีนี้

         เรียกอีกชื่อหนึ่งว่าฮัจญ์แห่งการเผยแพร่ เพราะท่านเราะซูล ได้บอกถึงฮุก่ม(ข้อบัญญัติ)ของการทำฮัจญ์ มีคำสั่งเสียต่างๆมากมายและยังใช้ให้ทุกคนเผยแพร่คำพูดของท่านในสิ่งที่ได้ยินมา(*8*) 


คำสั่งเสียของท่านเราะซูล

          ท่านเราะซูล ได้ทำการปราศรัยขณะทำฮัจญ์อำลาหลายครั้งด้วยกัน บางครั้งท่านปราศรัยระหว่างทาง บางครั้งใกล้เมืองมักกะฮ์ ซึ่งคำสั่งเสียต่างๆนั้น ได้ให้สาระสำคัญดังต่อไปนี้

  1. แจ้งรายละเอียดในการทำพิธีฮัจญ์
  2. ห้ามละเมิดสิทธิของผู้อื่นไม่ว่าจะเป็นชีวิต ทรัพย์สินและเกียรติยศ
  3. เน้นถึงภราดรภาพระหว่างมุสลิม และแจ้งให้ทราบถึงสิทธิของกันและกัน
  4. ให้ยึดมั่นในคัมภีร์ของอัลลอฮ์ซุบฮานะฮูวะตะอาลา  และแบบอย่างของท่านเราะซูล และห้ามโกหกต่อท่านเราะซูล
  5. ระวังการแตกแยกและการทะเลาะวิวาทระหว่างมุสลิมด้วยกัน  และให้ระวังในการที่จะดำเนินตามรอยเท้าของชัยฏอน
  6. ห้ามการกินดอกเบี้ยและข่มเหงมนุษย์ด้วยกัน
  7. เน้นให้ยึดหลักการต่างๆ และข้อบัญญัติของอิสลาม
  8. สั่งเสียให้ผู้ชายทำดีต่อบรรดาสตรี ให้เมตตาสงสารและเอาใจใส่ต่อสิทธิต่างๆของพวกนาง และยังได้แจ้งสิทธิของสามีที่มีต่อภรรยา
  9. เชื่อฟังบรรดาผู้นำ ในการทำความดี
  10. สั่งเสียให้ทำดีต่อทาส (*9*)

            เมื่อการทำฮัจย์อำลาเสร็จสิ้นสมบูรณ์ ท่านเราะซูล ได้ชี้แจงสาระสำคัญและคำสั่งต่างๆของอิสลาม ซึ่งเป็นความโปรดปรานของอัลลอฮ์ซุบฮานะฮูวะตะอาลา ที่ให้ศาสนาของพระองค์สมบูรณ์ และทรงมอบให้กับมุสลิมทุกคน โดยที่พระองค์ประทานอายะฮ์สุดท้าย เพื่อเป็นการยืนยันถึงความโปรดปรานของพระองค์ในโองการที่ว่า :

          “วันนี้เราได้ทำให้ศาสนาของพวกท่านสมบูรณ์แล้ว และความโปรดปรานของข้าที่ให้แก่พวกท่าน ก็สมบูรณ์เช่นกัน และเราพอใจที่จะให้อิสลามเป็นศาสนาของท่าน” ( อัลมาอิดะฮ์ 5 : 3) 

 

ดร.อัดุลลอฮฺ  อิบนุ อับดิรเราะฮ์มาน อัลค็อรอาน

 ...ประเด็นต่างๆในการศึกษาชีวประวัตินะบีมุฮัมมัด


  1. ซอฮีฮุ้ลบุคอรี กิตาบุ้ลมะฆอซี บาบุฆ้อซวะตุ้ลฟัตหฺ ฮะดิษที่ 4302ฟิลฟัตหิ้ลร็อบบานี 8/22
  2. ซีเราะฮฺอิบนุฮิชาม 4/221-222
  3. อัลอัมรี อัซซีเราะต้ลนะบะวียะฮฺอัซซ่อฮีฮะฮฺ 2/541. เหมือนกับท่านซามีได้กล่าวไว้ในซีเราะฮฺของเขา
  4. เพื่อเป็นการพอเพียงต่อการอธิบายรายละเอียดถึงจำนวนกลุ่มคน ดู مهدي رزق الله ซีเราะฮฺ อิบนุฮิชาม 4/221 และถัดมา . อัตต่อบะกอต อัลกุบรอ ลิอิบนิซะอฺ 1/259-291
  5. อัตต่อบะกอต อัลกุบรอ ลิอิบนิซะอฺ 1/291- 292 -295
  6. อิมาดุดดีน ค่อลีล ดิรอซะฮฺ ฟิซซีเราะฮฺ 264
  7. ซีเราะฮฺอิบนุฮิชาม4/276. อบูซัรอะฮฺแจ้งจำนวนดังกล่าว อัลอัมรี อัซซีเราะต้ลนะบะวียะฮฺอัซซ่อฮีฮะฮฺ 2/549
  8. สุนัน อัลติรมิซี กิตาบุ้ลฮัจฮฺ 55 . มุสนัด อิม่ามอะฮฺมัด 5/262
  9. คำปราศรัยของท่านร่อซูลในเทศกาลฮัจฮฺ ดู ซอฮีฮุลบุคอรี  กิตาบุ้ลมะฆอซี  บทฮัจฮฺอำลา  ฮะดิษที่ 4403-4406 . ซอเฮี๊ย มุสลิม 2/889-890 مهدي رزق الله อัซซีเราะตุ้ลนะบ่าวี 683