วิธีการต่างๆ ของพวกมุนาฟีกีน
  จำนวนคนเข้าชม  14920

 

ท่าทีของพวกมุนาฟิกีน(ผู้กลับกลอก)

 

ดร.อัดุลลอฮฺ  อิบนุ อับดิรเราะฮ์มาน อัลค็อรอาน


          “อันนิฟ๊าก” (การกลับกลอก การบิดพลิ้ว) คือ การเปิดเผยความดี และปกปิดความชั่วไว้ข้างใน มีอยู่สองประเภท

     - ประเภทที่ 1 กลับกลอกทางหลักยึดมั่นศรัทธา คือ การเปิดเผยการเป็นอิสลามออกมาอย่างชัดเจน และปกปิดการเป็นกุฟุร (การปฏิเสธ) การกลับกลอกประเภทนี้ผู้กลับกลอกจะอยู่ในนรกตลอดกาล

     - ประเภทที่ 2 กลับกลอกทางการปฏิบัติซึ่งถือว่าเป็นบาปใหญ่(*1*)  คือ คนที่มีลักษณะบางประการของพวกมุนาฟิกีน(ผู้กลับกลอก) อยู่ และคนที่คำพูดของเขาไม่ตรงกับการกระทำ “นิฟ๊าก” (การกลับกลอก) 
                                                                                                                              

อันนิฟ๊าก (การกลับกลอก การบิดพลิ้ว)

          การกลับกลอกไม่ปรากฏชัดเจนในมักกะฮ์ระยะต้นของอิสลาม แต่เกิดขึ้นหลังจากการอพยพสู่เมืองมะดีนะฮ์แล้ว เพราะมุสลิมที่มักกะฮ์ยังอ่อนแอ ไม่มีพลังอำนาจ ฉะนั้นผู้ที่ต้องการอยู่กับการทำชิริก(ตั้งภาคี) จึงไม่มีความจำเป็นที่จะต้องมาเอาใจมุสลิม แต่เมื่อการอพยพไปสู่นครมะดีนะฮ์เสร็จสิ้นลง มุสลิมมีความเข้มแข็งและชัยชนะเป็นของมุสลิม จึงพบว่าผู้ที่ต้องการคงอยู่กับการเป็นผู้ปฏิเสธศรัทธาในหมู่ผู้ที่คิดถึงแต่ผลประโยชน์เฉพาะของตน จึงไม่พิจารณาใคร่ครวญถึงสิ่งใดนอกจากชีวิตความเป็นอยู่แห่งโลกนี้ และไม่พิจารณาใคร่ครวญถึงโลกอาคิเราะฮ์ เมื่อพบว่าพวกตนนั้นจะต้องเป็นพวกที่อยู่นอกสังคม และผลประโยชน์ทางการค้าและสังคมต้องประสบกับอันตราย ด้วยเหตุนี้เขาจึงเลือกการมีบุคลิกภาพที่เป็นคนตีสองหน้า (ซาตุ วัจญ์ฮัยน์) คือ คงการปฏิเสธไว้ภายในใจ  และแอบอ้างการเป็นอิสลามอย่างเปิดเผยเพื่อให้มุสลิมพอใจ พวกนี้มาปรากฏตัวอย่างเปิดเผยในช่วงต้นๆ แต่เหตุการณ์ต่างๆได้เผยให้เห็นชัดถึงท่าทีของพวกเขา และได้ปรากฏชัดในช่วงต่อมา

 

วิธีการต่างๆ ของพวกมุนาฟีกีน (พวกกลับกลอก) ในการต่อต้านอิสลาม

          ทั้งๆ ที่พวกมุนาฟีกีนมิได้จับอาวุธทำสงครามกับมุสลิม แต่ถือว่าเป็นศัตรูที่เป็นอันตรายยิ่ง เพราะพวกเขามีชีวิตอยู่ท่ามกลางชาวมุสลิม และสามารถล่วงรู้ความลับต่างๆ และแสดงออกถึงความรักที่มีต่อมุสลิม แน่นอนพวกเขาได้ดำเนินการหลายรูปแบบที่จะนำไปสู่การทำสงครามและการต่อต้านอิสลาม วิธีการต่างๆ ที่ได้ทำไว้ มีดังนี้ ;

 

1. พยายามทำให้พลังแห่งความกลมเกลียวของมุสลิมเกิดความแตกแยกกัน หลังจากที่อัลลอฮ์ได้ทรงรวมพวกเขาไว้ในศาสนาแล้ว

          เมื่อชาวมุฮาญิรีนอพยพมาอยู่ที่เมืองมะดีนะฮ์ พวกมุนาฟิกต้องการที่จะล้างแค้น จึงพยายามที่จะทำให้หัวใจของชาว“อันศ็อร” มีความอิจฉาริษยา เกลียดชังต่อกลุ่ม“มุฮาญิรีน” เมื่อใดก็ตามที่ประสบกับโอกาสพวกเขาจะฉวยโอกาสนั้นทันที ดังเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นใน“ฆ็อซวะฮ์ บะนิล มุสฏอลิก” (สงคราม บะนิล มุสฏ่อลิก) ขณะที่เกิดเหตุการณ์ถกเถียงกันระหว่างชาวอันศ็อร(ชาวมะดีนะฮ์) กับชาวมุฮาญิรีน(ผู้ที่อพยพมาจากมักกะฮ์สู่มะดีนะฮ์) ได้มีมุนาฟีกีน คือ อับดุลลอฮ์ อิบนุ อุบัยย์  อิบนิ ซะลูล ฉวยโอกาสตำหนิติเตียนชาวอันศ็อรที่ให้ที่พักอาศัยแก่ชาวมุฮาญิรีน และให้ชาวอันศ็อรระงับการจ่ายทรัพย์สินช่วยเหลือชาวมุฮาญิรีน เพื่อที่ชาวมุฮาญิรีนจะได้แยกตัวออกไปจากท่านเราะซูล

อัลลอฮ์ซุบฮานะฮูวะตะอาลา ได้ประทานอัลกุรอานเกี่ยวกับเรื่องนี้ว่า :

         “พวกเขา(มุนาฟีกีน) คือ ผู้ที่กล่าวว่าพวกท่าน(ชาวอันศ็อร) อย่าได้บริจาคให้แก่ผู้ที่อยู่กับเราะซูลของอัลลอฮ์ (มุฮาญิรีน)เลย  เพื่อพวกเขาจะได้แยกตัวออกไป(จากท่านเราะซูลุลลอฮ์) แต่ทว่า คลังแห่งบรรดาฟากฟ้าและแผ่นดินนั้น เป็นกรรมสิทธิ์ของอัลลอฮ์ แต่ทว่าพวกมุนาฟีกีนนั้นไม่เข้าใจ”  

(อัลมุนาฟิกูน 63 : 7)

 

2. ยุยงให้ละทิ้งการต่อสู้และการเสียสละทั้งคำพูดและการกระทำ (อัลญิฮาด)

          พวกมุนาฟิกูน รู้ดีว่าการที่มุสลิมได้รับชัยชนะเหนือพวกมุชริก และยะฮูดหลายครั้ง ทำให้พลังอำนาจของมุสลิมเพิ่มมากขึ้น และทำให้มีความมั่นคงยิ่งขึ้น ด้วยเหตุนี้พวกมุนาฟิกจึงพยายามแพร่กระจายแนวความคิด ให้ละทิ้งการทำญิฮาด(การเสียสละต่อสู้) และทำให้ขวัญกำลังใจของมุสลิมอ่อนแอลง บางครั้งมาในรูปแบบของคำพูดเหมือนที่พูดเอาไว้ในสงครามตะบู๊ก ว่า :

          “พวกท่านอย่าออกไปเลย ขณะที่อากาศมีความร้อนจัด”

และในสงครามอุฮุด ขณะที่มีมุสลิมบางคนถูกฆ่าตาย(ชะฮีด) พวกมุนาฟิกูนได้กล่าวไว้ ดังที่อัลลอฮ์ซุบฮานะฮูวะตะอาลา ได้ทรงบอกให้ทราบว่า :

 

          “บรรดาผู้ที่พูด(อับดุลลอฮ์ อิบนุ อุบัยย์ อิบนิ สะลูล) กับพี่น้องของพวกเขา ขณะที่เขานั่งเฉยอยู่ว่า ถ้าหากพวกเขาเชื่อฟังเรา พวกเขาก็ไม่ถูกฆ่า จงกล่าวเถิด(มุฮัมมัด)ว่า พวกท่านจงป้องกันความตายให้พ้นจากตัวของพวกท่านเถิด หากพวกท่านเป็นผู้พูดจริง (ฉะนั้น แสดงว่าเขาจะเป็นผู้ถูกทอดทิ้งนั่นเอง)” 

(อาละอิมรอน 3 : 168)

          ส่วนในรูปแบบของการกระทำ คือ การแสดงออก เช่นพวกเขาจำนวน 300 คน ได้ถอนตัวออกจากกองทหารมุสลิมในสงครามอุฮุด ขณะที่เดินทางร่วมไปกับมุสลิม การกระทำเช่นนั้นเพื่อต้องการให้เกิดความปั่นป่วนวุ่นวาย และทำให้มุสลิมเสียขวัญกำลังใจ

 

3. ช่วยเหลือ สนับสนุนศัตรูอิสลามให้ทำสงครามกับมุสลิม

          อัลลอฮ์ซุบฮานะฮูวะตะอาลา ได้ทรงให้ความกระจ่างชัดถึงความสัมพันธ์ของพวกมุนาฟิกีนที่มีต่อบรรดาศัตรูของอิสลาม และให้ความร่วมมือกับศัตรูวางแผนเพื่อทำสงครามสู้รบกับมุสลิม ดังดำรัสของอัลลอฮ์ซุบฮานะฮูวะตะอาลา ที่ได้ทรงกล่าวถึงพวกเขาว่า :

 

          “และเมื่อพวกเขา(มุนาฟิกีน) พบบรรดาผู้ศรัทธา พวกเขาก็กล่าวว่า เราศรัทธาแล้ว และเมื่อพวกเขาได้ร่วมอยู่กับบรรดาหัวโจกของพวกเขาแต่ลำพัง พวกเขาก็กล่าวว่า แท้จริง เรายังอยู่กับพวกท่าน แท้จริงเราเป็นแต่เพียงผู้เย้ยหยันเท่านั้น”

( อัลบะเกาะเราะฮ์ 2 : 14)

          ความหมายของคำว่า“ชะยาฏีนิฮิม” ในที่นี้ หมายถึง หัวหน้า ผู้นำที่เป็นบาทหลวงของพวกยะฮูด หัวหน้าผู้นำมุชรีกีน และพวกมุนาฟิกีน(*2*) แผนการณ์นั้นคือ พวกเขาได้สร้างมัสญิดหลังหนึ่งเพื่อต้องการแสดงให้เห็นว่า พวกเขาทำการละหมาด แต่ในความเป็นจริงแล้วมัสญิดหลังนั้นสร้างขึ้นมาเพื่อจะใช้ประชุมกัน เพราะห่างไกลจากสายตาของมุสลิม สามารถพูดคุยกันตามใจชอบและมีการพบปะกับพวกตัวแทนที่เป็นศัตรูของมุสลิม เพื่อกำหนดแผนการณ์ต่างๆในมัสญิดนั้น พวกเขาสร้างมัสยิดก่อนที่ท่านเราะซูล จะไปทำสงครามตะบู๊กเพียงเล็กน้อย และได้ร้องขอให้ท่านเราะซูล ไปละหมาดที่มัสยิดหลังนั้น เพื่อจะได้เป็นหลักฐานในการเห็นชอบของท่านเราะซูล ท่านได้ให้สัญญาว่าจะไปทำละหมาดที่มัสญิดนั้นหลังจากสงครามตะบู๊ก แต่หลังจากที่ได้เดินทางกลับมาและก่อนที่จะเข้ามาถึงมะดีนะฮ์เพียงวันเดียว อัลลอฮ์ซุบฮานะฮูวะตะอาลา ได้ประทานอายะฮ์ต่างๆ ลงมาให้แก่ท่านเราะซูลุลลอฮ์ โดยเปิดเผยถึงเจตนาร้ายของพวกมุนาฟีกีนไว้ในอายะฮ์เหล่านั้นว่า :  

       “และบรรดาผู้ที่ยึดเอามัสญิดหลังหนึ่งเพื่อก่อให้เกิดความเดือดร้อนและการปฏิเสธศรัทธา และก่อให้เกิดการแตกแยกระหว่างบรรดามุมินด้วยกัน และเป็นแหล่งซ่องสุมสำหรับผู้ที่ทำสงครามต่อต้านอัลลอฮ์ และเราะซูล ของพระองค์มาก่อน และแน่นอนพวกเขาจะสาบานว่า เราไม่มีเจตนาอื่นใดนอกจากสิ่งที่ดี และอัลลอฮฺ ทรงเป็นพยานยืนยันว่า แท้จริง พวกเขาเป็นผู้กล่าวเท็จอย่างแน่นอน” 

(อัตเตาว์บะฮ์  9 : 107)

 

4. เยาะเย้ยถากถางมุสลิม

          ส่วนหนึ่งของวิธีการเยาะเย้ยของพวกมุนาฟิกีน ที่มีต่อมุสลิม ต่ออัลลอฮ์ซุบฮานะฮูวะตะอาลา และเราะซูล ตลอดจนบรรดามุมิน ดังเช่น ระหว่างที่ขุดสนามเพลาะอยู่นั้น ท่านเราะซูล ได้แจ้งข่าวดีแก่บรรดามุมินว่า อัลลอฮ์ซุบฮานะฮูวะตะอาลา จะทรงเปิดเมืองชาม เมืองเปอร์เชีย และเมืองยะมันให้แก่บรรดามุมิน บรรดามุนาฟิกีนได้พูดตามที่ อัลลอฮ์ซุบฮานะฮูวะตะอาลา  ทรงกล่าวถึงพวกเขาให้ทราบว่า :

          “และจงรำลึกถึงขณะที่พวกมุนาฟิกูน และบรรดาผู้ที่หัวใจของพวกเขามีโรค ได้กล่าวว่า อัลลอฮ์และเราะซูลของพระองค์มิได้สัญญาแก่เราอย่างใด นอกจากการหลอกลวงเท่านั้น”

( อัลอะฮ์ซ๊าบ 33 : 12 )

          ขณะที่พวกมุนาฟิกูนจ้องมองบรรดามุมินที่แข่งขันกันบริจาคในหนทางของอัลลอฮ์ซุบฮานะฮูวะตะอาลา ได้นำเอาทรัพย์สินเงินทองมากองรวมกัน พวกมุนาฟิกูนได้พูดจาทิ่มแทงเยาะเย้ย พอพวกเขาเห็นใครบริจาคมากก็กล่าวหาว่าโอ้อวด ใครที่บริจาคน้อย จะพูดว่าเขาสุดความสามารถแล้ว พวกมุนาฟิกูนพูดว่า : 

          “แท้จริงอัลลอฮ์ซุบฮานะฮูวะตะอาลา ทรงร่ำรวย ไม่ทรงต้องการการบริจาคขนาดนี้”

ทันใดนั้น อัลลอฮ์ซุบฮานะฮูวะตะอาลา ได้ประทานอายะฮ์ลงมาเกี่ยวกับพวกเขาว่า :
                      


          “พวกที่ตำหนิบรรดาผู้ที่สมัครใจจากบรรดาผู้ศรัทธาในการบริจาคทาน และได้ตำหนิผู้ที่ไม่พบสิ่งใด(จะบริจาค) นอกจากค่าแรงงานอันเล็กน้อยของพวกเขา แล้วยังได้เย้ยหยันพวกเขา(ผู้บริจาค) นั้น อัลลอฮ์ ได้ทรงเย้ยหยันพวกเขาแล้ว และสำหรับพวกเขานั้น คือ การลงโทษอันเจ็บแสบ” 

 (อัตเตาว์บะฮ์ 9 : 79) 

 

5. โฆษณาชวนเชื่อสิ่งที่เป็นเท็จในสังคมมุสลิม

          การแพร่กระจายสิ่งที่เป็นเท็จของพวกมุนาฟิก โดยสร้างเรื่องเท็จขึ้นเพื่อสร้างความแตกแยกให้เกิดขึ้นและทำให้เกิดความขัดแย้งกัน การแพร่กระจายเรื่องเท็จที่น่ารังเกียจที่สุด คือ การสร้างข่าวเท็จเกี่ยวกับ ท่านหญิงอาอิชะฮ์ รอฎิยัลลอฮุอันฮา อุมมิลมุมินีน (มารดาของบรรดามุสลิม) เมื่อโอกาสอำนวยให้แก่พวกมุนาฟิก เมื่อครั้งที่ท่านเราะซูล เดินทางกลับมาจากสงคราม “บะนีมุซฏ่อลิก” ต่างหูของท่านหญิงได้หล่นหายเธอจึงออกไปค้นหา ขณะที่ท่านเราะซูล และบรรดาซอฮาบะฮ์กำลังเตรียมตัวเดินทางต่อไป เจ้าหน้าที่ที่แบกเสลี่ยง(*3*) “เฮาว์ดัจญ์” ได้เข้ามาทำหน้าที่โดยพวกเขาคิดว่าเธออยู่ใน“เฮาว์ดัจญ์”นั้น ประกอบกับท่านหญิงเป็นคนมีน้ำหนักตัวเบา เมื่อกลับจากการค้นหาต่างหูที่หล่นหายจึงได้พบว่าหมู่คณะได้ออกเดินทางไปแล้ว เธอจึงนั่งอยู่ตรงที่เดิม

         และมีซอฮาบะฮ์ท่านหนึ่งคือ ท่านซอฟวาน อิบนิล มุอัฏฏอล เราะฎิยัลลอฮุอันฮุ เดินผ่านมา เขาจะเป็นคนรั้งท้ายกองทหารเพื่อสำรวจตรวจตราจึงได้ให้เธอขึ้นนั่งบนหลังอูฐของเขา เมื่อเดินทางเข้ามาถึงเมืองมะดีนะฮ์ พวกมุนาฟิกซึ่งนำโดย อับดุลลอฮ์ บิน อุบัยย์ บิน ซะลูล ได้แสดงอาการเกลียดชังออกมาอย่างชัดเจน และเปิดเผยการปฏิเสธศรัทธาออกมาอย่างเดือดดาล โดยกล่าวหาท่านหญิงอาอิชะฮ์ ร่อฎิยัลลอฮุอันฮา ว่ากระทำการ“ฟาฮิซะฮ์” (ลามก คือ ผิดประเวณี) กับท่านซ็อฟวาน เราะฎิยัลลอฮุอันฮุ พวกเขาได้กระจายเรื่องเท็จโดยการตีแผ่ออกไปในระหว่างผู้คนทั้งหลาย บ้านของท่านนะบี จึงตกอยู่ในความระทมทุกข์เป็นแรมเดือน

          จนกระทั่งอัลลอฮ์ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา ทรงประทาน อัลกุรอานลงมา 10 อายะฮ์ ได้แจ้งรายละเอียดไว้ในอายะฮ์เหล่านั้น ถึงโทษอันใหญ่หลวงของพวกที่สร้างความทุกข์ให้เกิดกับเราะซูล ของอัลลอฮ์ซุบฮานะฮูวะตะอาลา ด้วยกับการใส่ร้ายป้ายสีที่ต่ำทรามเช่นนี้ แล้ว อัลลอฮ์ซุบฮานะฮูวะตะอาลา ได้ทรงทำให้อุมมุลมุมินีน บริสุทธิ์ ปราศจากความผิดใดๆ และแจ้งข่าวดีแก่เธอว่าการกล่าวหานั้น มิใช่จะเป็นเรื่องเลวร้ายสำหรับเธอแต่กลับเป็นเรื่องดีสำหรับเธอ และเริ่มต้นของอายาตเหล่านี้คือ ดำรัสของอัลลอฮ์ซุบฮานะฮูวะตะอาลา ที่ว่า :

 

 

          “แท้จริง บรรดาผู้ที่นำข่าวเท็จมานั้น เป็นบุคคลกลุ่มหนึ่งจากพวกเจ้า พวกเจ้าอย่าคิดว่ามันเป็นการเลวร้ายแก่พวกเจ้า แต่ทว่ามันเป็นการดีแก่พวกเจ้า และสำหรับทุกคน ในพวกเขานั้น คือสิ่งที่พวกเขาได้แสวงหาเอาไว้จากการทำบาป ส่วนผู้ที่วางแผนในเรื่องนี้ในหมู่พวกเขานั้น เขาผู้นั้นจะได้รับการลงโทษอย่างมหันต์” 

(อันนู๊ร 24 : 11)


 

 ...ประเด็นต่างๆในการศึกษาชีวประวัตินะบีมุฮัมมัด

 

 

 

 

 

 


 

 

  1. ตัฟซี๊รฺ อิบนิ กะซี๊รฺ เล่ม 1 หน้า 72
  2. ตัฟซีร อิบนิ กะซี๊รฺ เล่ม 1 หน้า    76
  3. คือ สถานที่ที่มีการปกปิดอย่างมิดชิดสำหรับสตรี ตั้งอยู่บนหลังอูฐ
  4.