ท่านสะอี๊ด อิบนิ อามิร อัลญุมะฮีย์ 2
หลังจากนั้นไม่นาน ค่อลีฟะฮฺอุมัร อิบนุลค็อฎฎ็อบ ได้มาเยือนประเทศชาม เมื่อเดินทางมาถึงเมืองฮิมศฺ และเข้าไปพักอยู่ที่นั่น บรรดาชาวเมืองก็พากันไปเยี่ยมคารวะแก่ค่อลีฟะฮฺ และท่านได้ถามชาวเมืองว่า พวกท่านเห็นอย่างไรกับผู้ปกครองเมืองของท่าน บรรดาชาวเมืองจึงพากันร้องเรียนค่อลีฟะฮฺ ถึงข้อบกพร่องสี่ประการที่มีในตัวสะอี๊ด ผู้ปกครองเมืองฮิมศฺ และแต่ละเรื่องเป็นที่ตำหนิไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากันเลย
ท่านอุมัร กล่าวว่า :
ฉันได้เรียกสะอี๊ดและชาวเมืองฮิมศฺให้มาพบปะกัน และฉันขอดุอาอฺต่ออัลลอฮฺ อย่าให้ฉันประสบกับความผิดหวังในตัวของสะอี๊ดเลย เพราะฉันมีความเชื่อมั่นในตัวของเขามาก
เมื่อทั้งสองฝ่ายได้มาพบกันแล้ว ฉันก็กล่าวขึ้นว่า :
พวกท่านจะมีอะไรร้องเรียนเกี่ยวกับผู้ปกครอง เมืองของพวกท่าน ก็จงบอกมา
พวกเหล่านั้นจึงพูดขึ้นว่า :
ข้อที่หนึ่งเขา (สะอี๊ด) . . . จะไม่ออกจากบ้านมาทำงานจนกว่าตะวันจะขึ้นโด่ง
อุมัรจึงถามสะอี๊ดว่า :
ท่านมีอะไรจะเป็นข้อแก้กล่าวหาบ้างไหม? สะอี๊ดเอ๋ย ?
สะอี๊ดหยุดนิ่งครู่หนึ่งแล้วจึงกล่าวว่า :
ฉันขอสาบานด้วยพระนามของอัลลอฮฺ ฉันไม่อยากแก้ตัวแต่อย่างใด แต่ในเมื่อจำเป็น ฉันก็จะขอกล่าวว่า ที่บ้านของฉันไม่มีคนรับใช้ ในทุกๆเช้าฉันจะต้องทำหน้าที่นวดแป้ง แล้วก็คอยจนกระทั้งผิงขนมปังเสร็จ หลังจากนั้นฉันก็อาบน้ำละหมาด แล้วก็ออกไปทำงาน
ท่านอุมัรจึงกล่าวแก่ประชาชนที่มารับฟังว่า :
พวกท่านมีอะไรที่จะร้องเรียนอีกไหม?
พวกเขาจึงพูดว่า :
ข้อที่สอง. . . เขาจะไม่ต้อนรับผู้ร้องเรียนคนใดในเวลากลางคืน
อุมัรจึงพูดกับสะอี๊ดว่า :
ท่านมีข้อแก้ตัวอย่างไรบ้าง โอ้สะอี๊ดเอ๋ย
เขากล่าวว่า :
ข้อนี้ก็เหมือนกัน ฉันไม่อยากจะแก้ข้อกล่าวหานี้เลย แต่ก็เอาละฉันขอแจ้งให้ทราบว่าในเวลากลางวัน ฉันได้รับใช้พวกเขามาทั้งวัน ส่วนเวลากลางคืนก็ควรจะเป็นเวลาของอัลลอฮฺ บ้างซิ
ท่านอุมัรจึงถามพวกเหล่านั้นว่า :
มีอะไรที่พวกท่านจะร้องเรียนต่อไปอีก?
พวกเขากล่าวว่า :
ข้อที่สาม . . . เขาไม่ออกไปทำงาน 1 วัน ในทุกๆเดือน
อุมัรกล่าวว่า :
โอ้ สะอี๊ดแล้วท่านจะแก้ตัวว่าอย่างไร?
สะอี๊ดกล่าวว่า :
ฉันไม่มีคนรับใช้ ท่านอะมีรุลมุอฺมินีนที่รัก ฉันไม่มีเสื้อตัวอื่นอีก นอกจากตัวที่ฉันสวมใส่อยู่นี้ และเดือนหนึ่งฉันจะซักมันครั้งหนึ่ง เมื่อฉันซักเสื้อ ก็ต้องรอจนกว่ามันจะแห้ง แล้วฉันก็ออกไปหาพวกเขา ในเวลาเย็น
ท่านอุมัรกล่าวว่า :
มีอะไรที่จะร้องเรียนอีกไหม?
พวกเขากล่าวว่า :
ข้อที่สี่ . . . สภาพของการลืมตัวจะเกิดขึ้นกับเขาเป็นบางครั้งบางคราว แล้วเขาก็ไม่ไยดีกับผู้ที่นั่งอยู่กับเขา
อุมัรกล่าวว่า :
มันเกิดอะไรขึ้นกับท่านหรือ? โอ้สะอี๊ด
สะอี๊ดกล่าวตอบว่า :
เมื่อครั้งที่ฉันยังเป็นมุชริก ฉันได้ไปร่วมชมการสังหาร คุไบบฺ อิบนิ อะดียฺ ฉันเห็นพวกกุไรซฺทรมานเขา ทั้งฟันทั้งแทง แล้วพวกกุไรซฺเหล่านั้นก็ถามขึ้นว่า เจ้าพอใจไหมที่จะให้มุฮัมมัดมายืนแทนที่ของเจ้า เพื่อให้เจ้ารอดพ้นจากการทรมานในครั้งนี้ และฉันได้ยินคำตอบจากคุไบบฺที่ว่า ฉันขอสาบานด้วยพระนามของอัลลอฮฺ ฉันไม่ปรารถนาที่จะได้รับความปลอดภัยและมีความสุขอยู่กับ ครอบครัวของฉัน แล้วปล่อยให้มุฮัมมัดเป็นอันตราย แม้กระทั่งถูกหนามตำ"
ฉันขอสาบานด้วยพระนามของอัลลอฮฺ ทุกครั้งที่ฉันนึกถึงวันนั้นว่าทำไมฉันจึงนิ่งเฉยไม่ช่วยเหลือเขา? และฉันก็เกรงว่าอัลลอฮฺ จะไม่ทรงยกโทษให้แก่ฉัน และนี่แหละคือสภาพการลืมตัวชั่วขณะที่ประสบแก่ฉันเป็นบางครั้งบางคราว เมื่อฉันหวนนึกถึงเหตุการณ์ ที่เกิดขึ้นในวันนั้น
เมื่ออุมัรได้ยินข้อแก้ต่างของสะอี๊ดจบลง ก็กล่าวขึ้นว่า :
อัลฮัมดุลิลลาฮฺ เขาไม่ทำให้ฉันผิดหวัง
แล้วก็มอบเงินจำนวนหนึ่งพันดีนาร์ให้แก่เขาเพื่อช่วยเหลือในการใช้จ่าย
และเมื่อภรรยาของสะอี๊ด เห็นเงินจำนวนดังกล่าวก็พูดขึ้นว่า :
อัลฮัมดุลิลลาฮฺ ที่ให้เราพักผ่อนจากการทำงานหนักเสียที จะได้เอาเงินนี้ ไปซื้อเสบียงอาหาร และหาคนรับใช้มาอยู่กับเราสักคนหนึ่ง
สะอี๊ดจึงกล่าวแก่ภรรยาของเขาว่า :
เธอไม่อยากได้อะไรที่ดีไปกว่านี้หรือ?
นางกล่าวว่า :
อะไรเล่า?
เขากล่าวว่า :
เราจ่ายเงินนี้ให้แก่ผู้ที่มาหาเรา ในขณะที่เราก็มีความต้องการเงินจำนวนนี้อยู่
นางกล่าวว่า :
ทำอย่างไรนะ?
สะอี๊ดตอบว่า :
เราให้อัลลอฮฺยืมเงินจำนวนนี้ไงเล่า
นางกล่าวว่า :
ดีแล้ว ท่านจะได้รับการตอบแทนที่ดี
ก่อนที่สะอี๊ดจะออกจากที่ชุมนุมในวันนั้น เขาได้จัดการกับเงินจำนวนนั้น โดยแบ่งออกเป็นถุงเล็กๆหลายถุง แล้วบอกกับชายคนหนึ่งซึ่งอยู่แถวนั้นว่า จงนำเงินจำนวนนี้ไปมอบให้แม่หม้ายคนนั้น และบรรดาเด็กกำพร้า เหล่านั้น และคนยากคนจนตระกูลนั้น และผู้ขัดสนตระกูลนั้นๆ
นี่คือชีวประวัติของสาวกคนหนึ่งของท่านร่อซูล ที่เกรงว่าโลกดุนยานี้จะทำให้ เกิดฟิตนะฮฺขึ้นในบ้านของเขา และจะมาทำลายล้างโลกอาคีเราะฮฺที่เขายึดเป็นจุดหมายปลายทาง และชะตากรรมของเขา
บุคคลที่กำลังลืมตัวเอง และคิดว่าความตายยังห่างไกลนักนั้น ขอได้โปรดใช้เวลาสักเล็กน้อยเพื่อทบทวนชีวิตของตนเอง แล้วนำไปเปรียบเทียบกับเสี้ยวหนึ่งของชีวิตของ บรรดาศอหะบะฮ์ หวังว่าจะได้รับบทเรียนอันมีค่า และคงมีการเปลี่ยนแปลงต่อชีวิตของตนเองบ้างไม่มากก็น้อย
วัสสลาม Click<<< ท่านสะอี๊ด อิบนิ อามิร อัลญุมะฮีย์ 1 จาก หนังสือประวัติซอฮาบะห์ เผยแพร่โดย สายสัมพันธ์