การเกิดและวัยเด็กของท่านนบีมุฮัมหมัด
ท่านเราะซูล เกิดวันจันทร์ที่ 12 เดือนรอบิอุ้ลเอาวัล ปีช้าง(*1*) ตรงกับปีคริสตศักราชที่ 570 พระองค์อัลลอฮ์ ได้กำหนดให้เด็กที่เกิดใหม่นี้จะไม่ได้เห็นบิดา ซึ่งบิดาของท่านได้เสียชีวิตก่อนที่ท่านจะเกิด ขณะที่เดินทางไปทำธุระให้กับปู่ที่นครมะดีนะห์ อับดุลมุฏฏอลิบ ผู้เป็นปู่ได้ให้การช่วยเหลืออามีนะฮ์ มารดาและทารกที่เกิดใหม่เป็นอย่างดี อับดุลมุฏฏอลิบได้ให้การต้อนรับด้วยความยินดีและตั้งชื่อว่า มุฮัมหมัด
การให้นม และการผ่าหน้าอก
เป็นธรรมเนียมของชาวอาหรับที่จะส่งเด็กเกิดใหม่ให้ได้รับการเลี้ยงดูตามชนบท เพื่อที่จะได้ใช้ชีวิตท่ามกลางธรรมชาติ อากาศที่บริสุทธิ์และอาหารที่ดี และจะทำให้เด็กมีสุขภาพร่างกายที่แข็งแรง มีจิตใจเข้มแข็งเด็ดเดี่ยว ซึ่งถือว่าเป็นหน้าที่ที่สำคัญในการดำเนินชีวิตของชาวอาหรับ ที่เต็มไปด้วยการต่อสู้อันเป็นสัญลักษณ์ของชนชาติอาหรับ และพบว่าในทุกๆปีจะมีแม่นมจากชนบทเดินทางเข้าไปในเมืองเพื่อรับจ้างเลี้ยงทารกที่เกิดใหม่ เพื่อที่จะได้รับค่าตอบแทน
ในปีที่ท่านนะบี เกิด ได้มีแม่นมจำนวนหนึ่งไปรับจ้างเลี้ยงเด็ก แต่เมื่อถูกเสนอให้รับเลี้ยงมุฮัมมัด พวกนางเหล่านั้นต่างปฏิเสธ เนื่องจากการกำพร้าพ่อ ดังที่ฮาลีมะฮ์ซะอฺดียะห์(*2*) ได้กล่าวไว้ว่า "มารดาหรือลุงหรือปู่ของเด็กคงจะให้อะไรเราไม่ได้มาก" และฮาลีมะฮ์ซะอฺดียะห์เป็นแม่นมที่ไปถึงช้ากว่าใคร เพราะพาหนะที่นางขี่ไปนั้นผอมอ่อนแอ จึงทำให้เดินได้ช้า เมื่อนางไปถึงในเมืองก็พบว่าแม่นมต่างๆเลือกรับทารกที่เกิดใหม่ไปหมด เหลือแต่เพียงมุฮัมมัดเท่านั้นที่ไม่มีใครรับไปเลี้ยง ในตอนแรกนางไม่ต้องการเลี้ยงดูมุฮัมมัด แต่เมื่อนางได้ปรึกษากับสามีแล้ว นางจึงบอกกับสามีว่านางไม่ต้องการจะกลับไปแบบมือเปล่าไม่มีเด็กกลับไปเลี้ยง นางจึงสาบานต่ออัลลอฮ์ ว่าต้องรับเอามุฮัมมัดไปเลี้ยง
ทันทีที่นางให้นมมุฮัมมัดดูด ความประเสริฐได้ปรากฏขึ้นกับฮาลีมะฮ์ นางมีน้ำนมอย่างมากมาย จากที่เคยแห้งหรือเกือบจะแห้ง เช่นเดียวกับแพะของนางที่รังนมของมันแห้งเพราะความผอม ก็กลับมีน้ำนมอย่างมากมาย จึงทำให้นางและสามีได้ดื่มน้ำนมแพะและนอนหลับอย่างสบายในคืนนั้น สามีของนางจึงเข้าใจทันที่ว่าทารกน้อยคนนี้คงมิใช่ทารกธรรมดาแน่ จึงได้กล่าวแก่ภรรยาของเขาว่า ฮาลีมะฮ์ฉันขอสาบานต่ออัลลอฮ์ ว่า เราได้รับเด็กที่มีความประเสริฐไว้เลี้ยงดูแล้ว เช่นเดียวกันพาหนะของนางที่ซูบผอมอ่อนแอ กลับแข็งแรงขึ้นสามารถเดินนำหน้าบรรดาแม่นมคนอื่นๆ จนสร้างความประหลาดใจให้กับพวกนางเหล่านั้นอย่างมาก ทำให้พวกนางถามขึ้นว่า "ฮะลีมะฮ์เกิดอะไรขึ้นกับพาหนะของเธอ ?" นางตอบว่า "ขอสาบานต่ออัลลอฮ์ ว่า ฉันได้เด็กที่มีศิริมงคลขี่บนหลังของมัน"
ความเป็นศิริมงคลของมุฮัมมัด ได้เกิดขึ้นกับครอบครัวของฮาลีมะฮ์อย่างต่อเนื่อง เมื่อนางกลับถึงบ้าน หมู่บ้านของเธอในปีนั้นเป็นปีที่มีความแห้งแล้ง ฝูงแกะฝูงแพะที่ออกไปหาหญ้ากินอย่างหิวโหย ก็ต้องกลับมาอย่างหิวโหย เพราะทุ่งหญ้ามีน้อยมาก แต่ว่าแกะของฮาลีมะฮ์ออกไปอย่าหิวโหยแต่กลับมาอย่างอิ่มหนำ และสามารถให้น้ำนมอย่างมากมาย
โดยธรรมเนียมเมื่อครบ 2 ปี แม่นมจะนำเด็กที่รับมาเลี้ยง ไปส่งคืนให้แก่มารดาของเขา แต่ฮาลีมะฮ์และสามีของนางได้นำมุฮัมมัดไปหามารดาของเขามิใช่เพื่อไปส่งคืนให้ แต่ต้องการที่จะไปขอร้องให้อนุญาตเลี้ยงดูมุฮัมมัดต่อไป เพื่อที่เขาทั้งสองจะได้รับความเป็นศิริมงคลจากมุฮัมมัด อามินะฮ์มารดาของท่านก็ไม่ขัดข้องที่ทั้งสองจะรับเลี้ยงดูมุฮัมมัดต่อไป หลังจากนั้นอีก 4-5 เดือนได้เกิดเหตุการณ์ผ่าหน้าอกของท่านนะบี ขึ้น (*3*)
การผ่าหน้าอกครั้งแรก
เมื่อมุฮัมมัดอายุได้ 3ปี (*4*) เหตุการณ์ผ่าหน้าอกจึงเกิดขึ้น ท่านอิม่ามมุสลิมได้รายงานเหตุการณ์ผ่าหน้าอกไว้ดังนี้ ;
รายงานจากอนัส อิบนิ มาลิก ว่า : ท่านญิบรีลได้มาที่ท่านเราะซูล ขณะที่กำลังเล่นกับเพื่อนๆ ญิบรีลได้จับท่านให้นอนลง และผ่าหน้าอก เอาหัวใจออกมา แล้วเอาก้อนเลือดก้อนหนึ่งออกจากหัวใจ แล้วกล่าวขึ้นว่า "นี่เป็นส่วนของชัยฎอน แล้วญิบรีลได้นำหัวใจล้างด้วยน้ำซัมซัมในภาชนะที่ทำด้วยทองคำ เสร็จแล้วญิบรีลได้ประสานหัวใจแล้วนำกลับเข้าไว้ที่เดิม บรรดาเด็กๆ ที่เล่นอยู่ด้วยกัน รีบกลับไปหาแม่นมของท่าน แล้วบอกว่ามุฮัมมัดได้ถูกฆ่าแล้ว พวกเขาจึงรีบไป จึงพบว่าใบหน้าของท่านซีดเผือก ถอดสี
อนัสได้เล่าว่า : ฉันเคยเห็นรอยเย็บที่หน้าอกของท่านนะบี (*5*)
ศาสตราจารย์ อักรอม อัลอุมารี ได้วิเคราะห์เหตุการณ์การผ่าหน้าอกว่า : การขจัดส่วนที่เป็นของชัยฏอนออกนั้น ถือได้ว่าเป็นความมหัศจรรย์อย่างหนึ่งสำหรับการแต่งตั้งให้เป็นนะบี และเป็นการคุ้มครองให้พ้นจากความชั่วร้ายและการเคารพสิ่งอื่นนอกจากอัลลอฮ์ เพื่อไม่ให้มีสิ่งแปลกปลอมใดๆ เข้าไปในจิตใจ นอกจากการให้เอกภาพต่อพระองค์อัลลอฮ์ เท่านั้น และเหตุการณ์นั้นได้เห็นผลอย่างชัดเจน โดยที่ท่านนะบี ไม่เคยทำบาป ไม่เคยเคารพเจว็ด(รูปปั้น) ทั้งๆที่การเคารพเจว็ดนั้นแพร่สะพัดอยู่ในหมู่พวกของท่าน(*6*) และเหตุการณ์ผ่าหน้าอกได้เกิดขึ้นอีกครั้งในคืนที่ท่านอิสรออ์และมิอ์ร็อจญ์ จากมักกะฮ์ ไปยังบัยตุลมักดิส และขึ้นไปยังฟากฟ้า
การสิ้นชีวิตของมารดาและปู่
มุฮัมมัดได้รับการเลี้ยงดูจากฮาลีมะฮ์(แม่นม) 4-5 ปี จึงได้ถูกส่งคืนกลับให้มารดาเพื่อที่จะได้รับความรักความอบอุ่น แต่อัลลอฮ์ มิทรงประสงค์ที่จะให้ท่านได้อยู่ร่วมกับมารดานานนัก แล้วมารดาของท่านได้เสียชีวิตระหว่างทางนครมักกะฮ์กับนครมะดีนะฮ์ หลังจากที่ได้กลับมาจากการไปเยี่ยมน้าของมุฮัมมัด ซึ่งขณะนั้นมุฮัมมัดอายุได้ 6 ปี การอุปการะเลี้ยงดูจึงต้องกลับไปที่อับดุลมุฏฏอลิบ ผู้เป็นปู่จึงรับหน้าที่เลี้ยงดูมุฮัมมัดซึ่งเป็นเด็กกำพร้าอย่างเต็มตัว และท่านได้ให้สิทธิพิเศษซึ่งไม่เคยให้แก่ลูกหลานคนใดมาก่อน มุฮัมมัดได้รับการเลี้ยงดูจากปู่ไม่นานนัก ปู่ก็เสียชีวิตหลังการเสียชีวิตของมารดาเพียง 2 ปี ขณะนั้นมุฮัมมัดมีอายุได้ 8 ปี เมื่อมารดาและปู่ต้องจากไป อบูฏอลิบลุงของท่านจึงได้รับอุปการะเลี้ยงดูมุฮัมมัดอย่างดีไม่ได้น้อยไปกว่ามารดาและปู่ของท่านเลย
แน่นอนเหลือเกินการที่ท่านนะบี มิได้เห็นบิดา เพราะกำพร้าพ่อตั้งแต่เกิด และอยู่ภายใต้การเลี้ยงดูของมารดาเพียง 2 ปี เท่านั้น และเมื่อสูญเสียมารดาไปได้ไม่นาน ท่านก็ต้องสูญเสียปู่ของท่านไปอีก ทั้งหมดได้เกิดขึ้นในช่วงเวลาเพียง 8 ปี ช่วงชีวิตดังกล่าวเป็นไปตามพระประสงค์ของพระองค์อัลลอฮ์ ที่ต้องการจะดูแลมุฮัมมัดด้วยพระองค์เอง และเพื่อให้ท่านได้ยึดมั่นอยู่กับอัลลอฮ์ องค์เดียวตั้งแต่แรกเริ่มของชีวิต มิต้องพึ่งพาผู้อื่นผู้ใด หรือใครก็ตามที่ยึดมั่นอยู่กับอัลลอฮ์ อัลลอฮ จะทรงเป็นผู้ดูแลเขา ความดีงามและความสำเร็จต่างๆจะเป็นของเขาทุกอย่าง เป็นที่ยอมรับกันว่าเด็กกำพร้าจำนวนไม่น้อย ที่ต้องสูญเสียบิดาไป หรือสูญเสียทั้งบิดาและมารดา ทำให้ผู้ใกล้ชิดต้องอาลัยอาวรณ์ และเป็นห่วงเป็นใย เกรงว่าชีวิตของเขาจะเป็นไปในทางที่ไม่ดี แต่เมื่อเขายึดมั่นต่ออัลลอฮ์ อย่างแท้จริง พระองค์จะให้การดูแลและทำให้ชีวิตของพวกเขามีความสุข ซึ่งดีกว่าบางคนที่ได้รับการเลี้ยงดูจากบิดามารดาเสียอีก
การเลี้ยงแพะเลี้ยงแกะ
หลังจากผู้เป็นปู่ได้จากไป มุฮัมมัดได้อยู่ภายใต้การเลี้ยงดูของ อบูฏอลิบผู้เป็นลุง ซึ่งมีลูกหลายคนฐานะก็ยากจน แม้กระนั้นก็ตาม ท่านยินดีรับอุปการะ และให้การเลี้ยงดูเป็นมุฮัมมัดอย่างดี มุฮัมมัดจึงไม่ต้องการที่จะสร้างภาระหนักให้แก่ลุง ท่านจึงแบ่งเบาภาระของลุง โดยไปรับจ้างเลี้ยงแพะเลี้ยงแกะให้กับชาวมักกะฮ์ อาชีพเลี้ยงแพะเลี้ยงแกะนั้นเป็นอาชีพหนึ่งในช่วงชีวิตของบรรดานะบี
ดังที่มีรายงานมาจากฮะดีษ(*7*) (مَابَعَثَ اللهُ نَبَيًّا إلاَّ رعَى الغَنَمَ)
ความว่า อัลลอฮ์ มิได้ส่งนะบีท่านใดมา เว้นแต่เขาจะมีอาชีพเลี้ยงแพะเลี้ยงแกะ
ดร.อัดุลลอฮฺ อิบนุ อับดิรเราะฮ์มาน อัลค็อรอาน
...ประเด็นต่างๆในการศึกษาชีวประวัตินะบีมุฮัมมัด
- ปีที่กษัตย์อับรอฮะห์ ฮับซีย์ จากเยเมน ยกทัพไปเพื่อทำลายกะอฺบะฮฺ นำทับโดยกองทัพช้าง อัลลอฮ์ ได้ส่งให้นกหลายฝูงนำหินโสโครกมาโยนใส่พวกเขาเหล่านั้น
- คือฮาลีมะฮ์ บุตรีของฮาริษจากเผ่าบะนีสะอดิ์
- เรื่องการให้นมของฮาลีมะฮ์ ซีเราะตุบนิฮิชาม หน้า 1/172-177 มะวาริด อัลซอมอาน ลิบนิฮิบบาน 512-513 , อัลมุฮญัมอัลกะบีร อัฎฏอบรอนีย์ 24/212 -213 ดะลาอิลนุบูวะห์ ของอบูนะอีม 1/193-196 ตัครีด คอบัร ดูที่ อัลอัมรีย์- อัซซีเราะห์อันนะบะวียะห์อัซเซาะฮีฮะห์ 1/102-103 ศอฮีย์ ซีเราะห์นะบี ของอิบรอฮีม อะลี 39
- ซีเราะตุบนิฮิชาม หน้า 1/175-176
- ดูซอเฮียะห์มุสลิม กิตาบ อัล อีมาน บาบ อัล อิซรออฺ บิรรอซูลหน้า 1/166
- 205/7173/2: اجتهاد العلماء في استجلاء الحكمة من الحادثة الروض الأنف للسهيلي
104/1 อัซซีเราะห์อันนะบะวียะห์อัซเซาะฮีฮะห์ - ดูที่ซอเฮียะห์อัลบุคอรีย์ กิตาบ อัลอิญาเราะห์ เรื่อง การเลี้ยงแพะเลี้ยงแกะ อิบนุ ฮาญัร รอฮิมะฮุลลอฮฺ นักวิชาการกล่าวว่า เคล็ดลับในการดลใจให้บรรดานะบีต่าง ๆ ทำอาชีพเลี้ยงแพะเลี้ยงแกะ ก่อนที่จะได้รับการแต่งตั้งก็คือ ทำให้พวกเขาเหล่านั้นคุ้ยเคยกับการดูแลเอาใจใส่ต่อแพะแกะเหล่านั้น เพื่อที่จะได้นำมาใช้ในการดูแลประชาชาติของพวกเขา เพราะว่าการคลุกคลีอยู่กับสัตว์เลี้ยงเหล่านั้น ต้องอาศัยความอดทนความสงสาร เมื่อพวกเขาต้องอดทนในการเลี้ยงดู ในการรวบรวมมัน เมื่อมันกระจายอยู่ตามทุ่งหญ้าต่างๆ และคอยไล่ต้อนพวกมันตามทุ่งต่าง ๆ พร้อมทั้งปกป้องสัตว์ร้ายต่าง ๆ ที่จะมาขโมย ทำให้พวกเขาได้เรียนรู้นิสัยที่แตกต่างกัน และความแตกแยกของพวกมัน ซึ่งมันต้องการความคุ้นเคย การเรียนรู้ดังกล่าว ทำให้บรรดาศาสดาเหล่านั้นต้องมีความอดทนต่อประชาชาติของเขา และได้รู้ถึงนิสัยที่แตกต่างกัน สติปัญญาที่ไม่เท่าเทียมกัน เขาจึงปรับความแข็งลง มีความ เมตตาสงสารต่อผู้ที่อ่อนแอ ทำให้พวกเขาให้เข้ากันได้ และอยู่ร่วมกันด้วยดี ดังนั้นการรับภาระที่หนัก ของบรรดานะบีเหล่านั้น จึงง่ายกว่า การทีจู่ๆเขาก็ได้รับหน้าที่มาเลย เพราะว่าเขาได้มีการเรียนรู้มาตามขั้นตอนในการเลี้ยงแพะเลี้ยงแกะของพวกเขา