การมีจรรยามารยาที่ดีต่อผู้ใกล้ชิด
โดย : ฟะฎีละตุชเชค มุฮัมมัด บินซอและห์ อัลหุษัยมีน
อีกส่วนหนึ่งของการที่มีจรรยามารยาทที่ดี ในการอยู่ร่วมกับผู้คนด้วยกัน คือ การอยู่ร่วมกับบรรดาเพื่อนๆ ญาติพี่น้องใกล้ชิด และครอบครัวด้วยจรรยามารยาทที่ดีงาม ไม่สร้างความลำบากยุ่งยากใจกับพวกเขา หากแต่จะต้องทำให้เกิดความปีติยินดีแก่พวกเขาภายใต้ขอบเขตของศาสนา ซึ่งเป็นเงื่อนไขสำคัญอันดับแรก เพราะมีบุคคลบางจำพวกที่ชอบหาความสุขโดยการกระทำที่เป็นการฝ่าฝืนคำสั่งของ อัลลอฮฺ พฤติกรรมเช่นนี้เราไม่เห็นด้วย หากการทำให้เกิดความปลาบปลื้มกับผู้ที่มาติดต่อกับท่านไม่ว่าจะเป็นครอบครัว หรือเพื่อนๆ หรือญาติพี่น้อง ภายใต้ขอบเขตของศาสนา จึงนับว่าเป็นเรื่องจรรยามารยาทดีอีกประการหนึ่ง
ดังที่ท่านนบี ได้กล่าวไว้ในฮะดีษว่า
“คนที่ดีสุดในหมู่พวกท่านนั้น คือ คนที่ดีที่สุดกับครอบครัวของเขาเอง และฉันก็เป็นคนที่ดีที่สุดของครอบครัวของฉัน”
แต่เป็นที่น่าเสียดายมาก ที่คนส่วนใหญ่ ไม่มีคุณธรรม แม้จะมีจรรยามารยาทดีสูงส่งกับคนโดยทั่วไป แต่เขากับไม่มีในเรื่องดังกล่าวกับครอบครัวของตนเองเลย การกระทำเช่นนี้ถือว่าเป็นความผิด และเป็นกระทำตรงกันข้ามกับสภาพความเป็นจริง ถึงแม้ท่านจะมีจรรยามารยาทที่ดีกับคนไกล แต่ท่านขาดจรรยามารยาทที่ดีกับคนใกล้ชิด บางครั้งอาจจะกล่าวว่า เพราะฉันไม่มีความจำเป็นที่ต้องมีการทำเป็นมีจรรยามารยาทดี หรือทำเป็นเอาใจระหว่างฉันกับญาติใกล้ชิดทั้งหลาย ฉันจึงเป็นคนที่ไม่ต้องมีจรรยามารยาทดีกับพวกเขา การกระทำเช่นนั้นไม่ถูกต้อง เพราะญาติใกล้ชิด มีสิทธิที่ท่านจะต้องมีจรรยามารยาทที่ดี ด้วยการที่ท่านจะต้องอยู่ใกล้และปรนนิบัติด้วย
มีชายคนหนึ่งได้ถามท่านร่อซูล ว่า “โอ้ ท่านร่อซูลลุลลอฮฺ ใครเล่าที่มีความเหมาะสมที่สุดที่ฉันจะอยู่ร่วมด้วยอย่างยิ่ง?”
ท่านตอบว่า “มารดาของท่าน”
เขาถามอีกว่า “แล้วใครอีก”
ท่านตอบว่า “มารดาของท่าน”
เขาถามอีกว่า “แล้วใครอีก”
ท่านตอบว่า “มารดาของท่าน”
เขาถามอีกว่า “แล้วใครอีก”
ท่านตอบว่า “บิดาของท่าน”
แต่เรื่องราวดังกล่าว ผู้คนบางส่วนกลับทำตรงข้ามกัน เขามีจรรยามารยาทไม่ดีกับแม่ แต่กลับไปมีจรรยามารยาทที่งดงามกับภรรยา จึงกลายเป็นว่าเขาได้ทำดีปรนนิบัติกับภรรยาของตนมากกว่าการกตัญญูกับมารดาไปแล้ว
สรุปว่า การอยู่ร่วมกันด้วยจรรยามารยาทที่ดีงามกับครอบครัวและบรรดามิตรสหาย หรือญาติพี่น้องใกล้ชิดทั้งหมด เป็นเรื่องของการมีจรรยามารยาทที่ดีงาม และเป็นการสมควรอย่างยิ่งแก่พวกเรา
ในสถานที่ต่างๆ ที่มีการจัดอบรมภาคฤดูร้อนแก่เยาวชนหรือวัยรุ่น จะต้องฝึกฝนให้เกิดความเคยชินกับการมีคุณธรรมมีจรรยามารยาทที่ดีงาม เพราะความรู้สึกนั้นถ้าขาดการฝึกฝน บางครั้งอันตรายของความรู้อาจมีมากกว่าประโยชน์ด้วยซ้ำไป แต่ถ้ามีการฝึกฝนด้วยก็จะเป็นความรู้ที่นำสู่ภาคผลที่น่าชมเชย ด้วยเหตุนี้ อัลลอฮฺได้ตรัสไว้ ในซูเราะฮฺ อาละอิมรอน อายะฮ์ที่ 79 ความว่า :
“ ไม่เคยปรากฏแก่บุคคลใดที่อัลลอฮฺ ประทานคัมภีร์และข้อตัดสินและการเป็นนบีแก่เขา
แล้วเขากล่าวแก่ผู้คนว่า ท่านทั้งหลายจงเป็นบ่าวของฉัน อื่นจากอัลลอฮฺ
หากแต่(เขาจะกล่าวว่า) ท่านทั้งหลายจงเป็นผู้ที่ผูกพันกับพระเจ้าเถิด เนื่องจากการที่พวกท่านเคยสอนคัมภีร์ และเคยศึกษาคัมภีร์มา”
สิ่งเหล่านี้เป็นประโยชน์ของความรู้ที่มนุษย์จะต้องเป็นผู้ที่ผูกพันอยู่กับพระเจ้า หมายความว่า ความรู้ที่มีเป็นการฝึกฝนให้แก่บ่าวของอัลลอฮฺ อยู่บนหลักการของศาสนา ดังนั้นศูนย์อบรมควรพิจารณาดูว่าผู้ที่ทำงานทำหน้าที่ให้ศูนย์แห่งนี้ ได้สร้างสนามฝึกการแข่งขันจริงจังกันในเรื่องของมารยาทที่ดีงาม ส่วนหนึ่งคือ การทำให้เกิดมีจรรยามารยาทที่ดีงามขึ้น
การมีจรรยามารยาทที่ดีงามนั้นจะเป็นโดยมีมารยาทดีที่มีมาตั้งแต่กำเนิด และที่ปรับปรุงมารยาทให้ดีขึ้นและ แท้จริงแล้วการมีจรรยามารยาทดีที่มีมาแต่กำเนิดนั้นสมบูรณ์ดีกว่าการมีจรรยามารยาทดีโดยการปรับปรุงมารยาทให้ดีขึ้น ดังที่ได้นำหลักฐานมายืนยันเรื่องดังกล่าวนั้น ด้วยถ้อยคำของท่านร่อซูล แก่ อะชัจญฺอับดิลกอยส ว่า
“...หามิได้ อัลลอฮฺ ทรงสร้างท่านมาแต่เดิมเช่นนั้น..”
การมีจรรยามารยาทดีที่มีมาแต่กำเนิดนั้นจะติดเป็นนิสัยไม่หายไปจากมนุษย์ได้ แต่ถ้าการมีจรรยามารยาทที่ดีโดยการปรับปรุงแต่งขึ้นในบางเวลาบางโอกาสหรือบ่อยครั้งก็อาจหายไปจากมนุษย์ เพราะฉะนั้นต้องมีการพยายามฝึกฝนเตือนตนอยู่ตลอดเวลา เนื่องจากยังมีสิ่งยั่วยวนแก่มนุษย์
ดังเรื่องราวที่ขณะที่มีชายคนหนึ่งมาหาท่านนบี แล้วกล่าวว่า “โอ้ท่านร่อซูลุลลอฮฺ ท่านกรุณาสั่งสอนฉันด้วย”
ท่านร่อซูลุลลอฮฺ กล่าวว่า “ท่านอย่าโกรธ” เขาได้ถามหลายครั้ง
ท่านนบี ตอบว่า “ท่านอย่าโกรธ” และท่านได้กล่าวต่อว่า
“ไม่ใช่เป็นความเข้มแข็งแรงอยู่ที่การใช้กำลังปล้ำ อันที่จริงนั้นความแข็งแรงคือ คนที่สามารถระงับจิตใจของตนได้ในขณะโกรธ”
“อัศศุรอะฮฺ” นั้น คือคนที่สามารถใช้กำลังปล้ำคนอื่นลงได้เช่นเดียวกับ คำว่า “อัลฮุมะซะฮฺ” กับคำว่า “อัลลุมะซะฮฺ” ซึ่ง “อัลฮุมะซะฮฺ” นั้นคือคนที่ชอบนินทาผู้อื่น และ “อัลลุมะซะฮฺ” คือคนที่ชอบตำหนิใส่ร้ายผู้อื่น ดังนั้น การมีความแข็งแรงมิใช่เป็นผู้ที่สามารถปล้ำผู้อื่นจนชนะ
“แท้จริงแล้วผู้ที่แข็งแรงนั้นคือ ผู้ที่สามารถระงับจิตใจของตนได้ในขณะที่มีความโกรธ”
ฉะนั้น ผู้ที่สามารถระงับยับยั้งจิตใจของตนได้ ในขณะมีความโกรธเขาผู้นั้นคือคนที่แข็งแรงจริงๆ และการระงับยับยั้งจิตใจในขณะโกรธจึงนับว่าเป็นผู้ที่มีจรรยามารยาทที่ดีงาม เมื่อใดที่ท่านโกรธ จงอย่าให้ความโกรธนั้นเป็นผลร้ายต่อท่าน จงขอความคุ้มครองต่ออัลลอฮฺ ให้พ้นจากชัยฏอนที่ชั่วร้าย หากท่านยืนก็ให้นั่งลง หากท่านนั่งอยู่ก็จงนอนตะแคง และหากยังโกรธอยู่ก็ให้อาบน้ำละหมาดเพื่อความโรธจะได้หมดไปจากจิตใจท่าน
กล่าวโดยสรุปคือ การมีจรรยามารยาทที่ดีมีมาแต่กำเนิดนั้น ดีกว่าการมีจรรยามารยาทดีโดยการปรับปรุงตนเองให้มีมารยาทดี เพราะเป็นมารยาทที่ดีติดตัวมาแต่กำเนิด ย่อมไม่มีความลำบากแก่มนุษย์นั้นในทุกเวลาทุกสถานที่ แต่ถ้าเป็นการปรับปรุงให้เป็นผู้มารยาทดีแล้ว อาจขาดหายไปบ้างบางเวลา บางโอกาสหรือบางสถานที่
สามารถที่จะกล่าวได้ว่า การมีจรรยามารยาทที่ดีด้วยการแสวงหา หมายถึงบุคคลผู้นั้นหมั่นฝึกฝน แล้วบุคคลผู้นั้นก็จะเป็นผู้ที่มีจรรยามารยาทดีได้ ด้วยหลักสามประการคือ
1. เขาจะต้องพิจารณาดูในกีตาบุลลอฮฺ และซุนนะฮฺ ของท่านร่อซูล มีการพิจารณาคำสอนที่ชมเชยถึงเรื่องที่มีการจรรยามารยาททีดี คนนุอฺมินนั้นเมื่อได้พบเห็นหลักฐานเรื่องการมีจรรยามารยาทที่ดี ที่ได้รับการชมเชยแล้ว หรือพูดถึงการกระทำอันดีงามแล้ว เขาก็จะต้องรีบนำไปปฏิบัติทันที
2. เขาจะต้องอยู่ใกล้ชิดคลุกคลีกับบุคคลที่เห็นว่า เป็นผู้มีจรรยามารยาทดี ซึ่งท่านร่อซูล ได้บอกไว้ในเรื่องนี้ว่า
“อุปมาของการนั่งร่วมกับคนดี และนั่งร่วมกับคนชั่ว อุปมัยดั่งคนแบกน้ำหอมกับคนสูบลมเตาเผาเหล็ก
ซึ่งคนแบกน้ำหอมนั้นบางครั้งเขาป้ายน้ำหอมให้ท่าน หรือท่านซื้อน้ำหอมจากเขา หรือไม่ท่านก็ได้รับกลิ่นหอมจากเขา
ส่วนคนสูบลมเป่าเตาเผาเหล็กนั้น บางครั้งก็ไหม้เสื้อผ้าท่านหรือไม่ท่านก็ได้รับกลิ่นเหม็นจากเขา”
(บุคอรีย์-มุสลิม)
ดังนั้น วัยรุ่นหรือเยาวชนทั้งหลาย พวกท่านจงใกล้ชิดกับคนที่พวกท่านเห็นว่าเป็นคนมีจรรยามารยาทดี จงระมัดระวังอย่าเข้าไปใกล้คนที่มีจรรยามารยาทไม่ดี ตลอดจนคนที่ประพฤติไม่ดีต่ำทราม เพื่อท่านจะได้เอาความใกล้ชิดจากคนที่มีจรรยามารยาทดีนั้นเป็นบทเรียนที่เอื้ออำนวย ช่วยให้เป็นผู้ทีมีจรรยามารยาทที่ดี
3. คนเราจะต้องพิจารณาดู สิ่งที่เกิดขึ้นหลังจากการมีจรรยามารยาทที่ไม่ดี ซึ่งการมีจรรยามารยาทไม่ดีเป็นที่โกรธกริ้ว การมีจรรยามารยาทไม่ดีจะต้องออกห่างไกล การมีจรรยามารยาทที่ไม่ดีจะถูกกล่าวถึงในลักษณะที่ชั่วร้าย เมื่อคนเราทราบถึงผลของการมีจรรยามารยาทที่ไม่ดีไม่งดงามแล้ว เขาจำเป็นจะต้องปลีกตัวให้ห่างไกล
แปลและเรียบเรียงโดย : อับดุลฆอนี บุณมาเลิศ
ที่มา อัลอิศลาห์ สมาคม