สัญญา(นิติกรรม)ตามหลักการ
  จำนวนคนเข้าชม  191

สัญญา(นิติกรรม)ตามหลักการ

 

.อิสหาก พงษ์มณี  : เรียบเรียง

 

     สัญญา หรือ นิติกรรม  ตามหลักการแบ่งหยาบๆได้สองลักษณะคือ ต่างตอบแทนและสงเคราะห์

 

     สัญญาหรือข้อตกลงลักษณะต่างตอบแทนสามารถทำกำไรได้ แต่ลักษณะสงเคระห์ห้ามทำกำไร

 

     ข้อตกลงหรือสัญญาลักษณะสงเคราะห์ เช่น ซะกาต ศ่อดะเกาะห์ ให้กู้ จำนำ จำนอง ฯลฯ ไม่สามารถนำไปหาประโยชน์เข้าตัวได้

 

     กรณีสัญญาหรือข้อตกลงที่มีหนี้สินมาเกี่ยวข้อง หากมีประโยชน์ใดๆ ที่เกิดจากสัญญานั้นย้อนมายังเจ้าหนี้ ประโยชน์นั้นคือ "ดอกเบี้ย"  ยกเว้นกรณีการใช้หนี้ที่ดีกว่ามูลหนี้ โดยไม่มีข้อตกลงใดๆ มาก่อนระหว่างเจ้าหนี้และลูกหนี้

 

     สัญญาหรือข้อตกลงตั้งแต่สองฝ่ายขึ้นไป หรือในทางกฏหมายเรียกว่านิติกรรมนั้น แบ่งได้หลายลักษณะ ในที่นี้ขอนำเสนอสองลักษณะก่อนคือ

1-ต่างตอบแทน (อัลมุอาวะฎ๊อด)

2-สงเคราะห์ (อัตตะบัรรุอาต)

 

     สัญญาประเภทแรกคือสัญญาลักษณะแลกเปลี่ยนซึ่งครอบคลุมสัญญาซื้อขายทุกรูปแบบ สัญญาเช่า ว่าจ้าง สังทำ และฯลฯ สัญญาลักษณะนี้ศาสนาเปิดทางให้ทำกำไรได้

 

     สัญญาประเภทที่สองเป็นลักษณะสงเคราะห์กัน ช่วยเหลือเกื้อกูลกัน ศาสนาจึงไม่เปิดทางให้ทำกำไรใดๆ ได้ ครอบคลุมถึงการกู้หนี้ยืมสินทุกรูปแบบ และยังรวมถึงการจำนำจำนอง ซะกาต ศ่อดะเกาะ ฮะดียะห์ ฮิบะห์ อะฏียะห์ ด้วย

 

          ดังนั้นประโยชน์ใดๆ ที่ได้จากสัญญาประเภททำให้เกิดมูลหนี้ ศาสนาถือว่าเป็นดอกเบี้ยทั้งสิ้น โดยมีหลักว่า

 

كل قرض جر نفعا فهو ربا

 

"ทุกการกู้หนี้ยืมสินอันเป็นเหตุให้ได้มาซึ่งประโยขน์ ประโยชน์นั้นคือดอกเบี้ย"

(อิจมาอ์)

 

          หากฝ่ายหนึ่งให้อีกฝ่ายหนึ่งกู้ยืมเงินไป สัญญาลักษณะนี้เรียกว่าสัญญาสงเคราะห์ นักวิชาการเรียกว่า "อิรฟ๊าก" โดยที่ผู้ให้ยืมต้องไม่หวังเอาประโยชน์ใดๆ จากผู้ยืม ไม่ว่าประโยชน์นั้นจะเป็นวัตถุสิ่งของ เงิน หรือสิทธิ์ประโยชน์อื่นที่มิใช่วัตถุ

          หากการกู้ยืมมีค่าใช้จ่ายใดๆ กรณีนี้ผู้ยืมต้องรับผิดชอบเอง ผู้ให้กู้อาจเรียกเก็บได้ตามจริงเป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินให้กูลุล่วงไป แต่ถ้าไม่เรียกเก็บก็ถือว่าเป็นสิทธิ์โดยชอบ ค่าใช่จ่ายนี้ต้องไม่ใช่เป็นรูปแบบการหากำไร แต่ต้องเป็นค่าใช้จ่ายตามจริง การที่จะประเมินว่าตามจริงหรือเกินจริงหรือไม่ นักวิชาการได้วางกรอบไว้ชัดเจน

 

          มัจมะอฺฟิกฮี่ กำหนดว่าต้องไม่นำไปยึดโยงกับปริมาณเงินทที่ยืมและเวลาที่ยืม หาไม่แล้วจะกลายเป็นการแสวงประโยชน์จากการให้กู้ยืม 

 

          การกู้ยืมที่มีสินทรัพย์ค้ำประกันก็ไม่ต่างกัน การคำ้ประกันตามหลักการแบ่งได้เป็นสามลักษณะคือ

1-อัรเราะฮฺนุ

2-อัฏฏ่อมาน

3-อัลกะฟาละห์

 

     ในที่นี้ขอกล่าวถึงแต่เพียง "อัรเราะนุ" ก่อน ซึ่งก็คือการนำสินทรัพย์ค้ำหนี้ 

     ในทางกฏหมายบ้านเราหากทรัพย์นั้นคือสังหาริมทรัพย์ (เคลื่อนย้ายได้) จะเรียกว่า "จำนำ" แต่ถ้าเป็นอสังหาริมทรัพย์ (เคลื่อนย้ายไม่ได้) จะเรีกว่า "จำนอง" แต่ในทางหลักการฯ จะเรียกรวมกันว่า "อัรเราะฮฺนุ"

 

     หากสินทรัพย์นั้นต้องมีค่าดูแลรักษา ผู้รับจำนำหรือจำนองสามารถเรียกเก็บอีกฝ่ายหนึ่งได้ตามจริง หากเกินจริงก็จะกลายเป็นได้ประโยชน์จากการให้กู้ ประโยชน์เป็นอื่นไปไม่ได้ยกเว้น "ดอกเบี้ย" ส่วนว่าแค่ไหนถึงจะเรียกว่าตามจริง ตรงนี้นักวิชาการวางกรอบไว้แล้วซึ่งรายเอียดมีมาพอควร  แต่ที่ได้กล่าวไปแล้วคือต้องไม่นำไปยึดโยงกับปริมาณของหนี้และเวลาของหนี้ซึ่งจะได้กล่าวโดยละเอียดในโอกาสต่อไป