ความสัจจริง และความซื่อสัตย์
  จำนวนคนเข้าชม  32657

ความสัจจริง และ ความซื่อสัตย์

        

           ความสัจจริง ตรงข้ามกับการ"มุสา" คือการไม่โกหก เป็นการแสดงออกถงจริยธรรมที่ดีงาม อันจะทำให้สังคมเต็มไปด้วยความจริงใจ ไว้เนื้อเชื่อใจกัน ถ้าบุคคลที่อยู่ในสังคมนั้นต่างพูดแต่ความจริง ไม่โกหกกัน  อัลลอฮ์ได้ตรัสใช้ให้มุสลิมยืนหยัดอยู่กับการพูดความจริง ว่า

"โอ้ผู้ศรัทธาแล้วทั้งหลาย พวกเจ้าทั้งหลายจงยำเกรงอัลลอฮ์ และจงเป็นบุคคลในบรรดาผู้ที่สัจจริง" (อัตเตาบะฮ์ 119)

ผลดีของการสัจจริง

          การพูดจริงทำจริงก่อให้เกิดผลดีต่อสังคมโดยรวมอย่างมากมายกล่าวคือ

  1. ทำให้เกิดความไว้วางใจระหว่างกัน
  2. การพูดจริงทำจริง จะทำให้การทำงานมีบะร่อกัต(ความเจริญก้าวหน้า)
  3. จะทำให้ได้รับเกรียติ ดังเช่นผู้ที่ตายชะฮีด(ตายในสงครามศาสนา)
  4. จะเป็นที่รักใคร่ในหมู่เพื่อนฝูงและสังคมโดยทั่วไป
  5. จะไม่ถูกกล่าวหาว่าเป็นคนมุนาฟิก (กลับกลอก)

ขอบเขตของความสัจจริง

          ขอบเขตของความสัจจริง มีมากมายกว้าขวางเช่น

  1. ความสัจจริงในการศรัทธาต่ออัลลอฮ์ว่า อัลลอฮ์ทรงเป็นเจ้าองค์เดียว พระองค์เท่านั้นคือ ผู้ทรงได้รับการเคารพภักดี
  2. ความสัจจริงในการพูด ลักษณะหนึ่งของมุสลิมคือ เขาจะไม่พูดสิ่งใดนอกจากจะเป็นสิ่งที่จริง และถ้าหากเขาจะนำสิ่งใดมาบอกเขาก็จะบอกแต่สิ่งที่จริง
  3. ความสัจจริงทางการปฏิบัติ  จะดำรงอยู่กับความจริงจังและความจริงใจ เขาจะไม่หลอกลวง จะไม่ปลอมปนสิ่งของ และไม่ฉ้อฉล
  4. ความสัจจริงทางด้านเจตจำนงค์ ผู้ที่เป็นมุสลิมเมื่อเขามีความตั้งใจจะปฏิบัติสิ่งที่ดีใดๆแล้ว เขาจะปฏิบัติทันทีโดยไม่ลังเลใจ เขาจะทำจนเสร็จเรียบร้อย ไม่ปล่อยทิ้งไว้ และจะไม่บิดพลิ้วเด็ดขาด
  5. มีความสัจจริงในการแสดงออก มุสลิมจะแสดงออกตามความรู้สึกที่เป็นความจริงใจ เขาจะไม่ซ่อนเร้นการโอ้อวด การแปลกปลอม และการหลอกลวงไว้ภายใน

ความซื่อสัตย์

          ความซื่อสัตย์ ผูกพันกับคำว่า "อามานะฮ์" หมายถึงการรับผิดชอบ การไว้วางใจ เป็นต้น

ท่านเราะซูล  กล่าวว่า

"ไม่มีความศรัทธา (อีหม่าน) สำหรับผู้ที่ไม่มีความซื่อสัตย์ และไมศาสนาสำหรับผู้ที่ไม่รักษาสัญญา" (บันทึกโดย อะหมัด)

ท่านอัดดารุกุฏนีย์ ได้รายงานฮะดิษว่า

"ท่านทั้งหลายจงมีความซื่อสัตย์ ต่อผู้ที่ไว้วางใจต่อท่าน และท่านจงอย่าบิดพลิ้วต่อผู้ที่บิดพลิ้วท่าน"

ประเภทของความซื่อสัตย์

          ความซื่อสัตย์แบ่งออกเป็นประเภทต่างๆได้มากมาย กล่าวคือ

          (1) ความซื่อสัตย์ทางวิชาการ ผู้ที่มีความจำเป็นจะต้องรักษาความซื่อสัตย์ประเภทนี้ไว้คือ

  • ครู อาจารย์ จำเป็นที่ท่านเหล่านั้น จะต้องปฏิบัติหน้าที่โดยครบถ้วนสมบูรณ์ และทุ่มเทความอุตสาหะอย่างเต็มที่ให้การถ่ายทอดความรู้ ให้แก่ผู้เป็นศิษย์ นักเรียน และผู้ที่สนใจในการศึกษา จะต้องสั่งสอนและถ่ายทอดความรู้ที่ถูกต้อง และปฏิบัติตัวให้เป็นแบบอย่างที่แก่ลูกศิษย์และคนทั่วไป จะปิดบังหรือบิดเบือนความรู้ไม่ได้ เพราะการกระทำดังกล่าวถือว่าเป็นความผิดขั้นมหันต์
  • นักเรียน จำเป็นที่นักเรียนจะต้องมีความซื่อสัตย์ มีความซื่อตรง ตั้งใจศึกษาเล่าเรียน และแสวงหาวิชาความรู้ ขณะเดียวกันก็จะต้องมีคุณธรรม มีศีลธรรม ไม่กระทำโดยออกนอกกรอบบัญญัติศาสนา

           (2) ความซื่อสัตย์ทางด้านการปฏิบัติ และการประกอบอาชีพ อิสลามใช้ให้ทุกคนปฏิบัติงานอย่างซือตรง ตรงต่อเวลา ไม่บิดพลิ้ว หลีกเลี่ยง คดโกง ทุจริต ในการปฏิบัติงาน

ท่านเราะซูล  กล่าวว่า

"ผู้ใดที่คดโกงเรา เขาก็ไม่ใช่พวกเรา" (บันทึกโดย บุคอรีย์)

           (3) ความซื่อสัตย์ต่อตัวเอง มุสลิมจะต้องดูแลรักษาสุขภาพของเขาให้มีความแข็งแร็ง กระปรี่กระเปร่ามีความสุขทั้งกายและใจ โดยเหตุนี้อิสลามจึงใช้ให้มุสลิมรับประทานอาหาร และเครื่องดื่มที่ดีเป็นที่อนุมัติ (หะล้าล) ห้ามรับประทานอาหารเครื่องดื่มที่ต้องห้าม(หะรอม) และเป็นอันตรายต่อสุขภาพ เช่น ซากสัตว์ที่ตายเอง สุรา ยาเสพติด นอกจากนี้สิ่งที่เป็นกรรมสิทธิ์ หรือผู้ที่อยู่ภายใต้การรับผิดชอบ เช่น ทรัพย์สิน ตระกูล สามี ภรรยา พ่อแม่ จำเป็นต้องเอาใจใส่ดูแลเขาเหล่านั้นด้วย

          (4) ความซื่อสัตย์ต่ออัลลอฮ์ จำเป็นที่มุสลิมผู้ปฏิญาณว่า ไม่มีพระเจ้าอื่นใดนอกจากอัลลอฮ์ จะต้องซื่อสัตย์ต่อคำปฏิญาณของเขา คือจะต้องเคารพภักดีต่ออัลลอฮ์องค์เดียว และจะต้องปฏิบัติในสิ่งที่พระองค์ทรงใช้ และละเว้นในสิ่งที่พระองค์ทรงห้าม

"ชมรมผู้บริหารมัสยิดหนองจอก"