ช่องว่างระหว่างปฏิทินจันทรคติกับสุริยคติกับผลพวงทางศาสนบัญญัติ 1
  จำนวนคนเข้าชม  1670


ช่องว่างระหว่างปฏิทินจันทรคติกับสุริยคติกับผลพวงทางศาสนบัญญัติ 1

 

โดย อบูลัยซ์ อัลอัชอะรีย์

 

          การใช้ชีวิตอยู่กับสองระบบสร้างความสับสนให้กับมุสลิมหลายคนไม่น้อย ในการติดต่อค้าขาย นัดหมาย ประชุม ปฏิทินงานของบริษัท ปฏิทินการศึกษาตามสถาบันการศึกษา สื่อสิ่งพิมพ์ วิทยุ โทรทัศน์ ฯลฯ ต่างใช้การนับวันเวลาตามระบบสุริยคติอันถือเป็นระบบสากลที่ใช้กันทั่วโลก และใช้กันมานานในหลายชนชาติ เช่น เปอร์เซีย โรมัน อียิปต์ แต่อีกด้านหนึ่งในทางศาสนา บัญญัติต่าง ๆ ถูกกำหนดให้อิงกับจันทรคติ อันเป็นระบบที่ใช้กันมายาวนานในหลายชนชาติเช่นกัน แต่กลับมีวิธีการนับต่างกัน ทำให้ระยะเวลาหนึ่งเดือนในแบบสุริยคติต่างกับหนึ่งเดือนในแบบจันทรคติ ปัญหาเกิดกับหลายคนเมื่อต้องปฏิบัติศาสนกิจบางอย่างที่ผูกพันเฉพาะตัวบุคคล เมื่อไม่มีประกาศอย่างเป็นทางการ ทุกคนย่อมต้องนับระยะเวลาเอาเอง จึงเกิดการสับสนขึ้นสำหรับหลาย ๆ คน หลายครั้งมีการนำระบบการนับแบบสุริยคติที่ใช้กันในชีวิตประจำวันมานับเพื่อการปฏิบัติศสนกิจ จึงเกิดเป็นความคลาดเคลื่อนไม่ถูกต้องตามศาสนบัญญัติขึ้นมา

 

          เป็นที่ทราบกันดี (อย่างน้อยก็ในทางทฤษฎี) ว่าการนับเดือนและปีในระหว่างสองระบบมีความแตกต่างกัน นอกจากนั้นการนับวันในแบบสากลกับในแบบอิสลามก็ยังมีความแตกต่างกันด้วย ในส่วนของวันนั้น ทางสากลถือเกณฑ์เวลาเที่ยงคืนตรง (24.00 . หรือ 00.00 .) เป็นเส้นแบ่งวัน เมื่อถึงเวลาดังกล่าวถือว่าเข้าสู่วันใหม่แล้ว ขณะที่การนับเวลาในแบบอิสลามถือเอาเวลาที่ตะวันตกลับขอบฟ้าหมดทั้งดวงเป็นเส้นแบ่งวัน เมื่อถึงเวลาดังกล่าวถือว่าเข้าสู่วันใหม่แล้ว นั่นหมายถึงการนับวันในสองแบบถือว่ากลางคืนมาก่อนกลางวัน เพียงแต่ในการนับแบบอิสลาม กลางคืนจะไม่ถูกแบ่งส่วน แต่กลางคืนทั้งท่อนจะเป็นของวันใดวันหนึ่งทั้งหมด ขณะที่การนับแบบสากลมีการแบ่งกลางคืนออกเป็นสองส่วน ส่วนแรกเป็นของวันก่อนหน้า ส่วนหลังเป็นของวันถัดมา ความแตกต่างดังกล่าวส่งผลให้เด็กที่เกิดคืนวันพุธเวลา 21.00 . สำหรับการนับแบบสากล เขาเกิดวันพุธเพราะยังไม่เลยเที่ยงคืน ขณะที่ในแบบอิสลามนับว่าเขาเกิดวันพฤหัสบดี เพราะเลยเวลาดวงอาทิตย์ตกไปแล้ว (สำหรับประเทศส่วนใหญ่ในโลก เพราะมีเป็นส่วนน้อย ที่แม้จะ 21.00 . ดวงอาทิตย์ก็ยังไม่ตก) การนับวันที่ต่างกันนี้มีผลต่อการปฏิบัติศาสนกิจหลายประการพอสมควร

 

         ขณะที่การนับเดือนและปีก็มีความแตกต่างกัน แม้วันหนึ่งจะมีเวลาเท่ากัน แต่จำนวนวันในหนึ่งเดือนกลับไม่เท่ากัน และแน่นอนว่าจำนวนวันในหนึ่งปีก็ไม่เท่ากันด้วย การนับปีในแบบสุริยคติอาศัยการโคจรของโลกรอบดวงอาทิตย์เป็นหลัก เมื่อครบหนึ่งปีปฏิทินสุริยคติหมายถึง โลกได้โคจรรอบดวงอาทิตย์มาหนึ่งรอบโดยมาหยุดอยู่บริเวณแนวเดิมกับที่เริ่มนับ โดยหนึ่งปีมีจำนวน 365 วัน กับอีกเศษหนึ่งส่วนสี่ของวัน (365 วันกว่า ๆ) เศษของวันดังกล่าวจะถูกรวมกันครบสี่ส่วนเมื่อผ่านไป 4 ปี โดยจะถูกทดเพิ่มเข้าไป ในเดือนกุมภาพันธ์ของปีนั้น ทำให้กุมภาพันธ์ของปีนั้นมี 29 วัน (จากเดิม 28 วัน) โดยเรียกปีนั้นว่าปีอธิกสุรทิน และมีการแบ่ง 365 วันดังกล่าวไปเป็น 12 เดือน แต่ละเดือนมี 30 วันบ้าง 31 วันบ้างตามที่ ทราบกันดี

 

          ขณะที่การนับเดือนและปีแบบจันทรคติถือเอาการโคจรของดวงจันทร์รอบโลกหนึ่งรอบเท่ากับหนึ่งเดือน โดยใช้เวลาบ้าง 30 วัน บ้าง 29 วัน ทำให้ปฏิทินฮิจเราะฮ์แบบอิสลามมีจำนวนวันในหนึ่งเดือนต่างกันไปในแต่ละปี เดือนเดียวกันในปีหนึ่งอาจมี 29 วัน ในปีถัดมาอาจมี 30 วัน (แม้แต่ในภูมิภาคที่ใช้ปฏิทินฮิจเราะฮ์เหมือนกันก็ยังมีวันที่ไม่ตรงกันในหลายท้องที่) โดยอ้างอิงจากการเห็นดวงจันทร์เป็นหลัก โดยจะไม่มีเดือนใดมี 28 วัน หรือ 31 วัน เมื่อครบ 12 เดือน จะมีจำนวนวันอยู่โดยประมาณ 354 วันกว่า โดยไม่มีการรวมเศษของวันเข้าเป็นหนึ่งวันในแบบอธิกสุรทินของปฏิทินสุริยคติ และไม่มีการเพิ่มเดือนที่ 13 เข้ามาเพื่อให้ตรงตามฤดูกาลตามแบบปีอธิกมาสของปฏิทินจันทรคติไทย (นับเดือนแปดซ้อนเพิ่มขึ้นมาอีกหนึ่งเดือนเท่ากับมี 13 เดือนในปีนั้น ทำให้เราเห็นประเพณีไทยต่าง ๆ อยู่ในช่วงเดิม ๆ ของทุกปีสุริยคติ)

          ความคลาดกันระหว่างปฏิทินสุริยคติสากลกับปฏิทินจันทรคติของไทยจึงมีระบบไล่ตามโดยการทดวันเข้าไป ขณะที่ปฏิทินฮิจเราะฮ์ไม่มีระบบดังกล่าว ในแต่ละปีมี 12 เดือนตายตัว ระยะห่างระหว่างสองปฏิทินจึงค่อย ๆ ห่างออกไปทีละน้อย เฉลี่ยปีละสิบกว่าวัน มุสลิมทั่วไปจะรู้สึกถึงช่องว่างระหว่างสองปฏิทินก็เมื่อถือศีลอดเดือนรอมฎอน พวกเขาจะรู้สึกว่ารอมฎอนจะเร็วขึ้นกว่าเดิมเสมอในทุกปี จนเมื่อถึง 30 กว่าปีผ่านไป ก็จะห่างกันประมาณหนึ่งปี ทำให้คน ๆ เดียวกันที่อายุ 40 ปีตามปีสุริยคติสากล อาจมีอายุ 41 – 42 ปีตามปฏิทินจันทรคติแบบฮิจเราะฮ์ เพราะปีฮิจเราะฮ์มีจำนวนวันน้อยกว่าจึงหมุนเร็วกว่า คนที่มีอายุมากกว่านี้ตามปีสากลก็จะต้องบวกเพิ่มไปอีกในการนับตามฮิจเราะฮ์ ความต่างดังกล่าวจึงมีผลกับการนับอายุคนด้วยเช่นกัน

 

          ด้วยความต่างตามที่ได้เห็น มุสลิมจึงควรใส่ใจเดือนและปีในปฏิทินแบบจันทรคติอิสลามควบคู่ไปกับระบบสากล เพราะหลายครั้งบัญญัติที่ต้องกระทำเป็นเรื่องส่วนบุคคลที่ต้องนับ ต้องดูเอง การหลีกเลี่ยงปฏิทินอิสลามจึงเป็นไปไม่ได้ทางปฏิบัติ

 

ท่านอิมามตาญุดดีน อัซซุบกีย์ กล่าวในฟัตวาของท่านว่า

     “กำหนดเวลาต่าง ๆ (ที่ถูกกล่าวถึงในซูเราะฮ์อัลบะกอเราะฮ์ 189-ผู้แปล) ที่ต้องใช้จันทร์เสี้ยวยืนยันคือ การละหมาดอีด ซะกาต ซะกาตุ้ลฟิฏร์ ถือศีลอดเดือนรอมฎอน ถือศีลอดกลางเดือน วันอาซูรอ การไม่ชอบให้ถือศีลอดหลังนิซฟูซะอฺบาน ศีลอดหกวันของเซาวาล อายุของแกะ อูฐ วัวซะกาต การบนบาน เอี๊ยอฺติกาฟ ฮัจญ์ วุกู๊ฟ กุรบาน อะกีเกาะฮ์ สัตว์พลีในฮัจญ์ กำหนดเวลาต่าง ๆ ตกลงซื้อขายล่วงหน้า การบรรลุศาสนภาวะ สัญญาเรือกสวน ให้เช่า...การให้ความสนใจเรื่องเวลาจึงเป็นสำคัญ รวมถึงการรู้ว่าเข้าเดือนแล้วหรือไม่

(ดู.... เล่ม 1 หน้า 207)

 

อิบนุ ฮัซม์ กล่าวเกี่ยวกับการนับเวลาในทางศาสนบัญญัติว่า

     “การพิจารณาจันทร์เสี้ยว (ในทางศาสนา-ผู้แปล) ใช้เพียงปีแบบอาหรับเท่านั้น จึงเป็นอันว่า บัญญัติใดที่ถูกกำหนดเวลาเอาไว้เป็นเดือนหรือปีก็ตามถือเป็นหน้าที่ผูกพันตามเดือนและรอบปีแบบอาหรับเท่านั้น

(ดู.... เล่ม 4 หน้า 76)

 

ท่านอัลมัรดาวีย์กล่าวว่า

     “ความหมายของคำว่าปีตรงนี้ (ประเด็นการแต่งงาน -ผู้แปล) คือปีทางจันทรคติ 12 เดือนจันทรคติ เชคตะกียุดดีน (อิบนุ ตัยมียะฮ์-ผู้แปล) ร่อฮิมะฮุลลอฮฺ ระบุว่า นี่เป็นความหมายที่เข้าใจกันจากคำนักวิชาการ เมื่อใดที่พวกท่านพูดถึงคำว่าปี พวกท่านจะหมายถึงในทางจันทรคติ

(ดู.... เล่ม 8 หน้า 188)

 

ท่านอัลกุรฏบีย์กล่าวไว้ในตัฟซีรของท่านว่า

     “อายะฮ์นี้ (อัตเตาบะฮ์ 36 -ผู้แปล) ชี้ให้เห็นว่าจำเป็นต้องผูกโยงศาสนบัญญัติเอาไว้กับเดือนและปีที่ชาวอาหรับรู้ หาใช่เดือนที่ต่างชาติ โรมัน หรือคอปติกรู้

(ดู.... เล่ม 8 หน้า 133)

 

ฟัครุดดีน อัรรอซีย์กล่าวไว้ว่า

เดือนที่ใช้ในทางศาสนายึดที่การเห็นจันทร์เสี้ยว ปีที่ใช้ในทางศาสนาคือปีจันทรคติ

(ดู.... เล่ม 17 หน้า 35 - 36)

 

           ปัจจุบันการสืบค้นย้อนกลับเพื่อหาวันต่าง ๆ ในปฏิทินจันทรคติแบบฮิจเราะฮ์โดยเทียบกับปฏิทินสากลมีความสะดวกสบายมากขึ้น มีเว็บไซต์และโปรแกรมให้บริการสืบค้นย้อนหลังพอสมควร ทำให้ทราบวันสำคัญต่าง ๆ ของแต่ละบุคคล โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเกี่ยวพันกับการปฏิบัติศาสนกิจ เราจึงควรใส่ใจว่าได้ปฏิบัติถูกต้องมากน้อยเพียงใด

     ศาสนกิจบางอย่างเมื่อทำไม่ตรงเวลา เช่น ทำก่อนจะได้เวลาจริง ก็ทำให้งานชิ้นนั้นไม่ได้ จำเป็นต้องทำใหม่ ถือเป็นผลร้ายแรงที่สุด

     บางอย่างล่วงเลยเวลาไปแล้วจึงทำ งานดังกล่าวแทนที่จะกระทำในเวลา (อะดาอ์) กลับกลายเป็นทำนอกเวลา (กอฎออ์)

     บางอย่างเมื่อทำไม่ตรงเวลาก็เท่ากับเสียโอกาสทองไป เสียความประเสริฐสุดไป แต่ไม่ทำให้งานเป็นโมฆะ เป็นต้น

     จะเห็นว่ามีผลพวงตามมากมากมายทีเดียว ณ ที่นี้จะกล่าวถึงบทบัญญัติบางประการเพื่อแนะแนวแก่ผู้อ่านได้ศึกษาเพิ่มเติมต่อไป

 

ซะกาต

 

          ปฏิเสธไม่ได้ว่าซะกาตมีความเกี่ยวพันกับการนับเวลาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะซะกาตของเงินและทองนั้นมีเงื่อนไขที่สำคัญประการหนึ่งก็คือต้องครอบครองทรัพย์นั้นไว้ครบหนึ่งปี หนึ่งปีนั้นย่อมเป็นหนึ่งปีในทางศาสนา อันหมายถึงปฏิทินจันทรคติฮิจเราะฮ์ ไม่ใช่ปฏิทินสุริยคติสากล ปัญหาเกิดกับหลายคนเมื่อไม่ทราบว่าตนเริ่มต้นครอบครองทรัพย์นั้นเมื่อเดือนอะไร หลายคนอ้างอิงกับเดือนสากลและนับครบรอบปีตามปฏิทินสากล ผลที่ตามมาก็คือความล่าช้าในการออกซะกาต

           ตามที่ได้ทราบแล้วว่าปีฮิจเราะฮ์ มีจำนวนวันน้อยกว่า หมุนครบรอบเร็วกว่า ขณะที่ครบรอบปฏิทินฮิจเราะฮ์ไปแล้ว ผู้ครองทรัพย์กลับยังไม่ออกซะกาตเพราะรอให้ครบรอบปฏิทินสากล (ซึ่งหมุนช้ากว่า) ความคลาดเคลื่อนในปีแรก ๆ นั้นจะอยู่ที่ไม่กี่วัน แต่เมื่อยึดไปนานเข้าทำให้เขาออกซะกาตล่าช้าเป็นหลายเดือน หรือในบางรายเป็นปี ขณะที่บางคนเลือกวิธีรายสะดวก ยึดเดือนที่ตนจำง่ายเป็นหลัก เช่น ขึ้นปีใหม่มกราคม จ่ายซะกาตทุกมกราคม เป็นต้น ก็ทำให้เวลาคลาดเคลื่อนดังที่กล่าวไปแล้วเช่นกัน

 

          ทรัพย์ที่มีเงื่อนไขว่า เมื่อครอบครองในจำนวนหนึ่ง ๆ (นิศอบ) แล้วจำเป็นต้องครอบครองต่อเนื่องจนครบรอบปีได้แก่ ทอง เงิน ปศุสัตว์ และสินค้าในธุรกิจของตน โดยให้เริ่มนับรอบ ณ เวลาที่ทรัพย์นั้นถึงเกณฑ์ที่กำหนด (นิศอบ) ให้เริ่มนับจนครบรอบหนึ่งปีปฏิทินฮิจเราะฮ์ นั่นหมายถึง ผู้ครอบครองต้องทราบว่าทรัพย์ของตนเริ่มต้นนับเมื่อใดในปฏิทินฮิจเราะฮ์ไม่ใช่ปฏิทินสากล โดยระหว่างที่ยังไม่ครบปีเมื่อทรัพย์นั้นมีจำนวนมากขึ้น (ได้มาเพิ่ม) ก็ให้นับรวมเข้ากับกองหลัก (ที่อยู่ระหว่างนับรอบปี) และชำระซะกาตในเวลาเดียวกับกำหนดชำระของกองหลักนั้น โดยไม่ต้องนับรอบต่างหากสำหรับทรัพย์สินแต่ละกองที่เพิ่มเข้ามา หากมันเพิ่มขึ้นหลังจากชำระซะกาตไปแล้วก็ให้รวมเข้ากับส่วนที่จะชำระในรอบปีถัดไป และหากเงิน ทองพร่องไปต่ำกว่าเกณฑ์ (นิศอบ) ก็ให้ยุติการนับ จนกว่าจะถึงเกณฑ์แล้วจึงเริ่มนับใหม่ หากพร่องไปอีกก็หยุดนับอีก เป็นเช่นนี้ ทั้งหมดนั้นใช้เวลาในปฏิทินแบบฮิจเราะฮ์ทั้งสิ้น

          ส่วนซะกาตปศุสัตว์ ศาสนาก็กำหนดอายุของสัตว์ชนิดนั้น ๆ ว่าต้องมีอายุเท่าใด ทั้งสัตว์ที่ครอบครองและสัตว์ที่จะชำระเป็นซะกาต อายุของสัตว์เหล่านั้นก็นับเป็นเดือนแบบจันทรคติอิสลามอีกเช่นเดียวกัน

 

 

ซะกาตุลฟิฏร์

 

          เมื่อสิ้นเดือนรอมฎอนมีบัญญัติให้มุสลิมออกซะกาตฟิฏร์ ได้แก่ อาหารหลักจำนวน 4 กอบมือ นักวิชาการระบุว่าบุคคลที่จำเป็นต้องชำระซะกาตประเภทนี้คือมุสลิมที่มีชีวิตทันเดือนรอมฎอน แม้เพียงเล็กน้อยก็ตาม ในการนี้ต้องใช้ระบบการนับวันตามแบบอิสลามเข้ามานับว่าใครมีชีวิตทันรอมฎอนหรือไม่ โดยขอบเขตระยะเวลาของเดือนรอมฎอนเริ่มเมื่อหลังตะวันตกดินในวันสุดท้าย เมื่อลับหมดทั้งดวงแล้วคือสิ้นสุดเดือนรอมฎอนเข้าสู่วันแรกของเซาวาล ผู้ใดมีชีวิตอยู่ในช่วงระหว่างเวลานี้ถือว่ามีชีวิตอยู่ทันในเดือนรอมฎอน เมื่อถึงช่วงท้ายของรอมฎอน เขาจำเป็นต้องชำระซะกาตฟิฏร์ตามเงื่อนไขที่ศาสนากำหนด หากบุคคลนั้นเสียชีวิตไปแล้วก็ให้ญาติดำเนินการให้ หากเป็นเด็กก็เป็นหน้าที่ของผู้ปกครอง เป็นเช่นนี้

          ตามนัยนี้หากบุคคลเสียชีวิตก่อนดวงอาทิตย์ตกในวันสุดท้ายของชะอ์บานเขาไม่ทันรอมฎอน ไม่ต้องชำระซะกาต หรือ หากทารกเกิดมาหลังดวงอาทิตย์ลับขอบฟ้าไปแล้วในวันสุดท้ายของรอมฎอน เขาไม่ต้องชำระซะกาต จะเห็นว่าการนับวันดังกล่าวอาศัยเกณฑ์ดวงอาทิตย์ลับของฟ้าตามระบบอิสลามเพื่อเข้าสู่วันใหม่ ไม่ใช่เวลาเที่ยงคืนตามแบบสากล

 

การให้นมบุตร

 

     อิสลามส่งเสริมให้ให้นมบุตรเป้นเวลาสองปีด้วยกัน

มารดาทั้งหลายจะให้นมบุตรของตนสองปีเต็ม สำหรับผู้ประสงค์ในการให้นมครบสมบูรณ์

(อัลบะกอเราะฮ์ 2 : 233)

          โดยไม่ได้บังคับเป็นหน้าที่ (วาญิบ) แต่สนับสนุนให้กระทำ เป็นประโยชน์กับทั้งเด็กและผู้ใหญ่ ในวงการแพทย์ถือว่านมแม่เป็นแหล่งอาหารี่อุดมไปด้วยประโยชน์มากมาย เป็นอาหารี่ดีที่สุดสำหรับทารก การให้นมบุตรเพื่อให้ครบกำหนดสองปีดังกล่าวนี้ ก็ให้นับตามปีปฏิทินฮิจเราะฮ์เช่นกัน เป็นเวลาทั้งสิ้น 24 เดือน เมื่อครบเวลาดังกล่าวถือว่าได้กระทำการตามที่ศาสนาส่งเสริมเสร็จสิ้นแล้ว

           การให้นมยังเกี่ยวพันกับบัญญัติเกี่ยวกับความสัมพันธ์ทางเครือญาติ โดยถือว่าผู้ที่ดื่มนมจากหญิงคนเดียวกัน ให้ถือเป็นพี่น้องร่วมน้ำนม มีผลตามมาเกี่ยวกับการอนุมัติให้อยู่กันตามลำพังได้ และไม่อนุญาตให้แต่งงานกันสำหรับพี่น้องร่วมน้ำนมชายกับหญิง โดยนักวิชาการโดยมากถือว่า การให้นมที่จะทำเกิดความเป็นพี่น้องและมีผลพวงตามที่ว่านี้จะต้องเกิดขึ้นกับทารกที่มีอายุไม่เกินสองขวบ (สองปีปฏิทินฮิจเราะฮ์, 24 เดือนอาหรับ) หากอายุมากกว่านี้แล้วได้ดื่มน้ำนมจากหญิงคนเดียวกันจะไม่ทำให้เกิดสัมพันธ์ทางเครือญาติตามที่กล่าวมาข้างต้น

          แน่นอนว่าระยะห่างระหว่างปฏิทินสุริยคติสากลกับจันทรคติฮิจเราะฮ์ในช่วงสองปีเป็นจำนวน 20 กว่าวันนั้นเป็นช่วงเวลาที่สำคัญมากในการยืนยันการเป็นพี่น้องกัน หากนับเอาตามสุริยคติแล้วดื่มนมในช่วงระยะนี้ จะไม่ทำให้เกิดความสัมพันธ์ใด ในระหว่างเด็ก ที่ดื่มนมจากหญิงคนเดียวกัน เพราะได้เลยช่วงสองปีตามปฏิทินฮิจเราะฮ์ไปแล้ว แม้จะยังไม่ครบสองปีตามปฏิทินสุริยคติสากลก็ตาม

 

การถือศีลอด

 

         เวลาของการถือศีลอดคือระหว่างเริ่มแสงอรุณจนถึงดวงอาทิตย์ลับขอบฟ้า ในเดือนรอมฎอน มุสลิมผู้มีภาระจำเป็นต้องถือศีลอดในช่วงระยะเวลาดังกล่าว สำหรับเด็กที่บรรลุศาสนภาวะก่อนแสงอรุณขึ้น เขามีหน้าที่ต้องถือศีลอดตั้งแต่วันนั้นเป็นต้นไป โดยไม่ต้องชดใช้วันก่อนหน้าในตอนที่เขายังไม่บรรลุศาสนภาวะระหว่างวัน (หลังเข้าเวลาถือศีลอดไปแล้ว) ผู้นั้นสมควรงดเว้นการกินการดื่ม โดยไม่ต้องชดใช้วันดังกล่าวหลังจากนั้น โดยหน้าที่การถือศีลอดให้นับตั้งแต่วันถัดมา โดยในกรณีกาเฟรรับอิสลาม (ไม่รวมตกมุรตัด) คนเสียสติฟื้นคืนสติ ให้เป็นเหมือนกรณีเด็กบรรลุศาสนภาวะ

          สำหรับผู้เดินทางหลังจากแสงอรุณขึ้นแล้ว จำเป็นต้องถือศีลอดวันดังกล่าว หากไม่ถือหรือถือแล้วแก้ในภายหลังจำเป็นต้องชดใช้วันดังกล่าวหลังเสร็จสิ้นรอมฎอน หากออกเดินทางก่อนแสงอรุณไม่จำเป็นต้องถือศีลอดในวันดังกล่าว

 

การทำสัญญาต่าง ๆ

 

         การทำสัญญาประเภทต่าง ๆ หลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องระบุวัน-เวลาในเนื้อหาสัญญา เพื่อกำหนดสารัตถะสำคัญให้คู่สัญญาเข้าใจได้ตรงกัน สำหรับสัญญาทั่ว ๆ ไปที่ทำกันในเมืองไทยมักเป็นวันเวลาในระบบสากล แต่สำหรับการทำสัญญาระหว่างมุสลิมด้วยกันอาจมีบางท่านอยากใช้วันเวลาแบบอิสลามก็จำเป็นต้องเข้าใจให้ตรงกันระหว่างคู่สัญญาว่าจำนวนวันที่มีการระบุในสัญญาต่าง ๆ นั้นอิงตามการนับแบบใด

         ความจริงแล้วการทำสัญญาไม่ว่าจะแบบใด สัญญาเช่า กู้ยืม ซื้อขาย ฯลฯ การระบุรายละเอียดไม่มีความจำเป็นใด ๆ ในทางศาสนาว่าต้องระบุเป็นวันเวลาในระบบของอิสลาม เพราะสัญญาต่าง ๆ มีจุดประสงค์เพียงเพื่อการตกตงให้ทั้งสองฝ่ายเข้าใจตรงกัน รักษาเงื่อนไขตามที่ระบุในสัญญา ตามวันและเวลาที่กำหนด ดังนั้นจะใช้การนับแบบใดก็ให้เป็นที่ตกลงและเข้าใจตรงกันระหว่างคู่สัญญาถือว่าเพียงพอ จากที่โดยทั่วไปใช้การนับในแบบสากล กล่าวได้ว่าสัญญาใดจะเป็นทางการหรือไม่ เมื่อมีการระบุวันเวลาเอาไว้ เช่น 30 วัน 1 ปี ให้ถือว่าเป็นตามระบบสากล เพราะเป็นระบบที่ใช้กันทั่วไปในประเทศ จนกว่าจะมีการระบุกำกับเอาไว้เป็นอย่างอื่น ดังนั้นจะเห็นว่าหากคู่สัญญาเข้าใจในเนื้อหาส่วนนี้ไม่ตรงกันก็อาจทำให้เกิดปัญหา นำมาซึ่งความยุ่งยากอีกมากมาย

 

     อิมามอันนะวะวีย์ ร่อฮิมะฮุลลอฮฺ กล่าวเกี่ยวกับการทำสัญญาซื้อขายประเภทสลัมเอาไว้ว่า

     “มีเงื่อนไขว่าต้องรู้เวลาที่แน่นอน หากมีการระบุเป็นเดือนอาหรับ เดือนเปอร์เซีย หรือเดือนโรมันถือว่าใช้ได้ หากไม่ระบุเอาไว้ให้ถือเป็นเดือนอาหรับ

 

      โดยท่านอัดดะมีรีย์อธิบายว่า ที่ใช้ได้แม้จะไม่ใช่เดือนอาหรับนั้นเพราะถือว่าระบุกำหนดไว้ชัดเจนระหว่างคู่สัญญา ส่วนหากไม่ระบุให้ถือเป็นเดือนอาหรับ เพราะถือเอาตามธรรมเนียมปฏิบัติในทางศาสนา

(ดู.... เล่ม 4 หน้า 246 - 247)

 

     ดังนั้นธรรมเนียมปฏิบัติจึงถือเป็นตัวแปรในการพิจารณา ซึ่งแต่ละพื้นที่มีแตกต่างกันออกไป เมื่อระบบที่ใช้ในท้องถิ่นเป็นระบบสากลก็ให้ถือเอาระบบดังกล่าวเป็นตัวกำกับในฐานะธรรมเนียมปฏิบัติตามที่นักวิชาการได้กล่าวไว้ ยิ่งกว่านั้นการกำหนดเวลาเป็นวันสำคัญประจำชาติ ประเพณีใดที่ไม่ใช่ของมุสลิม เช่น ตรุษจีน คริสต์มาส วันลอยกระทง ฯลฯ หากคู่สัญญาเข้าใจกำหนดของสิ่งเหล่านั้นก็ให้ถือว่าสัญญาใช้ได้

(ดู.... เล่ม 10 หน้า 29 -30)

 

มีต่อ...

 

ที่มา : วารสารสายสัมพันธ์ กันยายนตุลาคม 2559