30 ก้าวในชะอฺบาน เพื่อเตรียมเข้ารอมฎอน
  จำนวนคนเข้าชม  8980

 

30 ก้าวในชะอฺบาน เพื่อเตรียมเข้ารอมฎอน

 

เขียนโดย ฟาฎีย์ มุฮัมมัด ยาซีน
 

แปลและเรียบเรียงโดย อุมมุ อุ้ลยา


قال صلى الله عليه وسلم: «ذاك شهر يغفل الناس عنه بين رجب ورمضان وهو شهر ترفع فيه الأعمال إلى رب العالمين فأحب أن يرفع عملي وأنا صائم»


 [رواه النسائي وحسنه الألباني].


“เดือนนั้นเป็นเดือนที่ผู้คนพากันหลงลืม เดือนที่อยู่ระหว่างร่อญับ กับ รอมฎอน

(เดือนชะอฺบาน) เป็นเดือนที่การงานจะถูกยกขึ้นสู่พระผู้เป็นเจ้าแห่งโลกทั้งผอง

ดังนั้น ฉันจึงชอบให้การงานของฉันถูกยกขึ้นไปโดยที่ฉันกำลังถือศีลอดอยู่”  
 

(หะดีษบันทึกโดยอิมาม อันนะซาอียฺ และเชคอัลอัลบานีย์ระบุว่าเป็นหะดีษหะซัน)

          หากเราพิจารณาดูคนที่ประสบความสำเร็จในชีวิต ทุกคนต่างอาศัยความมานะอุตสาหะในการเตรียมความพร้อมของตนมาก่อนทั้งสิ้น นักเรียนนักศึกษาที่อยากเรียนดีสอบได้ อาจต้องเตรียมพร้อมตั้งแต่ก่อนเปิดภาคเรียนใหม่ นักกีฬาต้องฝึกซ้อมจนชำนาญก่อนลงชิงชัย แต่ใช่ว่าทุกคนที่เตรียมตัวจะมีชัย การเตรียมความพร้อมของแต่ละคนจึงแตกต่างกันออกไป ขึ้นอยู่กับการทุ่มเท ความมานะบากบั่นของแต่ละบุคคล แล้วนับประสาอะไรกับคนที่ไม่มีการเตรียมความพร้อมใดๆ ไม่แม้แต่จะคิดเตรียมตัว เขาจะได้รับชัยชนะได้อย่างไร?

          สิ้นรอมฎอน ชาวสลัฟ (ขออัลลอฮฺทรงเอ็นดูเมตตาพวกท่าน) ขอดุอาต่ออัลลอฮฺ ให้พระองค์ทรงตอบรับรอมฎอนของพวกเขาเป็นเวลา 6 เดือน ส่วนอีก 6 เดือนที่เหลือ พวกเขาต่างวอนขอต่อพระองค์ให้มีชีวิตอยู่ทันรอมฎอนหน้า นี่คือความรู้สึกของชาวสลัฟที่มีต่อสถานะอันสูงส่งของวันเวลาอันทรงคุณค่าในเดือนรอมฏอน 

        อินชาอัลลอฮฺ สิ่งที่เราหวังและปรารถนาที่จะเตรียมพร้อมเพื่อรอมฎอนที่กำลังจะมาถึงนี้ก็คือ “อิบาดะห์” ที่มีตัวบทหลักฐานยืนยัน ไม่ใช่ “บิดอะห์” ที่ถูกประดิษฐ์ขึ้นใหม่ในศาสนา และสิ่งที่เราตั้งเป้าเอาไว้คือ เราจะเพิ่มปริมาณการประกอบอิบาดะห์ของเราได้อย่างไร ?



{وَسَارِعُوا إِلَىٰ مَغْفِرَةٍ مِّن رَّبِّكُمْ وَجَنَّةٍ عَرْضُهَا السَّمَاوَاتُ وَالْأَرْضُ أُعِدَّتْ لِلْمُتَّقِينَ} 

“และพวกเจ้าจงรีบเร่งสู่การขออภัยโทษจากพระเจ้าของพวกเจ้า และสู่สรวงสวรรค์

ซึ่งความกว้างขวางของมันนั้น คือบรรดาชั้นฟ้าและแผ่นดิน โดยที่มันถูกตระเตรียมไว้สำหรับบรรดาผู้ยำเกรงทั้งหลาย”  

(อาละอิมรอน :133)


وَفِي ذَلِكَ فَلْيَتَنَافَسِ المُتَنَافِسُونَ

 

“และในการนี้ ผู้แข่งขันทั้งหลายจงแข่งขันกันเถิด”
 

(อัลมุฏอฟฟีน :26)

 

1. สำรวจเจตนารมณ์ตนเอง ก่อนเริ่มต้นงานใดๆ
 

2. ปฏิบัติฟัรฎูเป็นนิจ และสำนึกผิดกลับเนื้อกลับตัวต่ออัลลอฮฺ  อย่างจริงจัง
 

3. ฝึกหัวใจให้เคยชินอยู่กับการยำเกรงอัลลอฮฺตั้งแต่บัดนี้
 

4. รีบเร่งเชื่อมสัมพันธ์กับเครือญาติ
 

5. รักษาหัวใจให้บริสุทธิ์ผ่องแผ้ว อย่าให้มัวหมองด้วยความผิด อคติต่างๆ
 

6. ใช้งานอินเตอร์เน็ตให้น้อยลงกว่าเดิม

7. รีบใช้บวชที่เหลือค้างอยู่

8. กำหนดปริมาณการอ่านอัลกุรอ่านในแต่ละวันให้ตายตัว

9. ฝึกละหมาดกิยามุ้ลลัยล์ให้เคยชิน 

10. ฝึกขอดุอานานๆ และท่องจำดุอาที่มาจากท่านร่อซู้ล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม

11. ฝึกอยู่ประจำในมัสยิดหลังละหมาดให้นานขึ้น

12. ฝึกถือศีลอด

13. เลี้ยงอาหารคนยากจนและเลี้ยงละศีลอด

14. บริจาคทานรายวันในเดือนชะอฺบาน เพื่อจะได้เคยชินที่จะบริจาคทานรายวันในเดือนรอมฎอน

15. หากตั้งใจจะทำอุมเราะห์ในเดือนรอมฎอน ควรฝึกเดินเป็นประจำอย่างน้อยครึ่งชั่วโมง

       16. หากท่านไม่สามารถทำอุมเราะห์ในเดือนรอมฎอนได้เนื่องจากมีอุปสรรค พึงทราบเถิดว่า การนั่งรำลึกถึงอัลลอฮฺหลังจากละหมาดซุบฮิจนกระทั่งอาทิตย์ขึ้น แล้วละหมาดสองร็อกอัต จะได้รับผลบุญเทียบเท่ากับการทำฮัจญ์และอุมเราะห์โดยสมบูรณ์ 

17. รับประทานอาหารให้น้อยลง

18. หลีกเลี่ยงการนอนดึก และลองฝึกตื่นกลางดึกก่อนละหมาดซุบฮิ

19. ฝึกลดจำนวนชั่วโมงของการนอนหลับ

20. ฝึกฝนการทำอิบาดะห์ที่ไม่เคยได้ลองทำมาก่อน

21. พยายามไปร่วมละหมาดญะนาซะห์ และติดตามมะยัตจนกระทั่งฝังเสร็จ (สำหรับผู้ชาย)

22. จัดตารางเวลาในการประกอบอิบาดะห์ต่างๆ แล้วทำตามตารางให้ได้

23. ค่อยๆ ลด ละการนั่งร่วมอยู่กับสิ่งที่ทำให้สูญเวลาเปล่า

       24. สำหรับคนที่ติดสิ่งเสพติดต่างๆ รอมฏอนเป็นโอกาสอันดีที่จะเลิก จึงควรเลิกเสพตั้งแต่บัดนี้ โดยมีเจตนาเลิกเพื่ออัลลอฮฺ ตะอาลาอย่างแท้จริง

25. ให้ลิ้นเคยชินอยู่กับ ซิกรุ้ลลอฮฺ 

26. จัดระบบระเบียบ เรียงลำดับงานการและการประกอบศาสนกิจต่างๆ  โดยเริ่มทำให้ได้อย่างต่อเนื่องตั้งแต่เดือนชะอฺบาน

27. ทบทวนอัลกุรอานที่ท่องจำแล้ว หรือเริ่มท่องใหม่ตั้งแต่เดือนชะอฺบาน

       28. เตรียมของกินของใช้ที่จำเป็นสำหรับรอมฎอน รวมทั้งเสื้อผ้าสำหรับออกอีด ตั้งแต่เดือนชะอฺบาน (เพื่อที่ว่าจะได้ไม่สูญเวลารอมฏอนไปกับการจับจ่ายซื้อของ)

29. วางกำหนดการณ์สำหรับกิจกรรมต่างๆ ที่ตั้งใจจะทำในรอมฎอนให้แน่นอน อาทิ เวลาสำหรับที่บ้าน สำหรับการทำงานและสำหรับมัสญิด 

30. ส่งเสริมเป็นกำลังใจให้เด็กๆ ในครอบครัว (ตั้งแต่ 7 ปีขึ้นไป) ได้ฝึกหัดถือศีลอด


          ขออัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา โปรดทรงให้เราได้เป็นหนึ่งในบรรดาผู้มีชัยในเดือนรอมฎอน ให้การทำอิบาดะห์เป็นเรื่องสะดวกง่ายดาย และให้เราเป็นผู้ได้รับการปลดปล่อยให้รอดพ้นจากไฟนรกด้วยเถิด อามีน

 

 

 

 

 


 

 

ที่มา : 

- http://ar.islamway.net/article/6292/30
- http://www.ahlalhdeeth.com/vb/showthread.php?t=254771