บุคคล 7 กลุ่มที่จะได้อยู่ในร่มเงาของอัลลอฮฺ ในวันกิยามะฮฺ
  จำนวนคนเข้าชม  43365

 

บุคคล 7 กลุ่มที่จะได้อยู่ในร่มเงาของอัลลอฮฺ ในวันกิยามะฮฺ

 

โดย.. อาจารย์ ยาซิร กรีมี

 

          ท่านพี่น้องมุสลิมและมุสลิมะฮฺที่เคารพรักทุกท่าน วันนี้เป็นวันศุกร์ เป็นวันที่โลกอิสลามตั้งแต่ ยุคอดีตจนถึงปัจจุบันให้ความสำคัญกับวันนี้ เพราะวันศุกร์ถือเป็นวันอีดประจำสัปดาห์ของมวลมุสลิม

 

          ท่านพี่น้องมุสลิมและมุสลิมะฮฺที่เคารพรักทุกท่าน หากเรามองไปยังประชาชาติหนึ่งประชาชาติใด เราจะพบว่าในแต่ละประชาชาติที่เราเรียกว่าอุมมะฮฺนั้น ประกอบไปด้วยสังคมเล็ก ๆ ซึ่งในแต่ละสังคมเล็กๆ นั้น จะมีดัชนีหรือตัวชี้วัดว่า สังคมนั้นจะเป็นสังคมที่ดีหรือเป็นสังคมที่ตกต่ำ ตัวชี้วัดตัวหนึ่งที่สำคัญก็คือ กลุ่มเยาวชน เพราะกลุ่มเยาวชนนั้นคือ กลุ่มผู้ใหญ่ในอนาคต นั่นคือ ถ้ากลุ่มเยาวชนในสังคมใด ให้ความสำคัญเกี่ยวกับงานส่วนรวม ให้ความสำคัญกับบทบาทเรื่องราวของศาสนา เราก็สามารถจะพูด ได้ว่า อนาคตของสังคมนั้นจะมีคนดีที่มีคุณภาพมาจรรโลงสังคมนั้น 

 

           แต่ในทางกลับกัน ถ้ากลุ่มเยาวชนในสังคมใดมิได้มีการศึกษา ตกอยู่ในอบายมุข อยู่ในอารมณ์ใฝ่ต่ำ ก็เป็นที่คาดการณ์ได้ว่า ในอนาคตอีก ไม่นานสังคมนั้นก็จะเป็นสังคมที่ตกต่ำ เพราะฉะนั้นจึงเป็นเรื่องสำคัญที่เราผู้เป็นผู้ใหญ่ เราผู้เป็นคุณตา คุณลุง คุณพ่อ คุณแม่จะต้องหันมาดูเยาวชนว่าเยาวชนที่อยู่ใกล้ ๆ ตัวเรานั้นมีคุณภาพในเรื่องศาสนาระดับไหน เพราะเราไม่สามารถที่จะเฝ้าคอยติดตามดูเยาวชนได้ตลอดเวลาถ้าหากเราไม่ส่งเสริมให้เยาวชนของเรามีความรู้ความเข้าใจในเรื่องราวของศาสนา เมื่อถึงวันที่เราจากไป วันที่เราได้สิ้นชีวิตลง สังคมของเราก็อาจจะตกต่ำ เยาวชนของเราก็อาจไม่ได้ปฏิบัติเรื่องราวของศาสนา เราก็อาจจะไม่มีคนที่มาขอดุอาอฺให้กับเรา

 

          ท่านพี่น้องมุสลิมและมุสลิมะฮฺที่เคารพรักทุกท่าน มีหะดีษรายงานว่า สภาพของวันกิยามะฮฺ ดวงอาทิตย์จะอยู่เหนือศีรษะของเราแค่เอื้อมมือ บางรายงานบอกว่า ดวงอาทิตย์จะอยู่เหนือศีรษะเราระยะหนึ่งไมล์ เพราะฉะนั้นมนุษย์ตั้งแต่ในยุคของท่านนบีอาดัม จนถึงยุคสุดท้ายนั้น ไม่ว่าจะมีจำนวนมากมายขนาดไหน ทุกคนจะถูกต้อนมาอยู่ ณ ทุ่งแห่งเดียวกัน ยืนอยู่ท่ามกลามความร้อนจากดวงอาทิตย์ โดยที่ในวันนั้นจะเป็นวันที่ไม่มีร่มเงาใด ๆ ที่จะให้ความร่มเย็นได้ นอกจากร่มเงาของอัลลอฮฺ ที่จะทรงมอบให้แก่บุคคลเจ็ดกลุ่มเท่านั้น ดังหะดีษบันทึกโดยอิมามอัลบุคอรีและอิมามมุสลิม รายงานจากท่าน อบีฮุรอยเราะฮฺ เล่าว่า ท่านร่อซูลุลลอฮฺ  กล่าวว่า

 

ในวันกิยามะฮฺจะมีมนุษย์ 7 กลุ่ม ที่อัลลอฮฺ จะทรงให้ร่มเงาของพระองค์แก่พวกเขาในวันซึ่งไม่มีร่มเงาใด ๆ นอกจากร่มเงาของพระองค์ 

ร่มเงาที่ทรงให้แก่บุคคล กลุ่มที่หนึ่ง คือ กลุ่มของอิมามหรือผู้นำที่ทรงคุณธรรม อยู่ในหลักการ มีความเที่ยงธรรม 

กลุ่มที่สอง คือ กลุ่มเยาวชนหรือชายหนุ่มที่ตลอดชีวิตวัยหนุ่มของเขานั้นเติบโตมาในเรื่องของการทำอิบาดะฮฺ เรื่องของการศึกษาหาความรู้ในเรื่องราวของศาสนา 

กลุ่มที่สาม คือ กลุ่มของชายที่จิตใจของเขาผูกพันอยู่กับมัสยิด 

กลุ่มที่สี่ คือ กลุ่มของบุคคลที่รักกันเพื่ออัลลอฮฺรวมกัน เป็นมิตรกัน เป็นสหายกันในหลักการของอัลลอฮฺ แล้วก็จากกัน แยกกันในเรื่องของศาสนา มิใช่เรื่องของทรัพย์สินเงินทอง 

กลุ่มที่ห้า คือ ชายที่มีหญิงผู้มีความสวยงามมาชักชวนเขา (ให้ทำซินา) แต่เขากล่าวว่า “แท้จริงฉันกลัวอัลลอฮฺ

กลุ่มที่หก คือ กลุ่มของคนที่ทำทาน บริจาคทานโดยเขาปกปิดมันไว้จนกระทั่งมือซ้ายไม่รู้ว่ามือขวาได้บริจาค ได้ทำบุญอะไรไปบ้าง 

กลุ่มที่เจ็ด คือ กลุ่มของคนที่เมื่อเขารำลึกถึงอัลลอฮฺ อยู่เพียงลำพังแล้ว ดวงตาของเขาก็หลั่งน้ำตาเอ่อออกมา”

 

          ถ้าเราสังเกตดูบุคคลเจ็ดกลุ่มนี้ เราจะพบว่ามีทั้งกลุ่มคนที่เป็นเยาวชน มีทั้งกลุ่มคนที่เป็นผู้นำ มีทั้งกลุ่มคนที่มอบกายมอบใจให้กับศาสนาของอัลลอฮฺ ถ้าเราเรียนวิชาอุศูลุลฟิกฮฺ เราจะทราบว่า คำใน อัลกุรอานหรืออัลฮะดีษ ที่กล่าวถึงคำว่า “เราะญุลุน” ซึ่งแปลว่าผู้ชาย อาจทำให้บรรดาสตรีหรือมุสลิมะฮฺแปลกใจว่า ทำไมไม่มีส่วนของผู้หญิงหรือมุสลิมะฮฺอยู่ในบุคคลเจ็ดกลุ่มนี้เลย อุละมาอฺ จึงให้คำอธิบายว่าฮุก่มใดก็ตามที่เอ่ยถึงผู้ชายนั้นมีความหมายรวมไปถึงผู้หญิงด้วย คือ บอกในส่วนที่มันเฉพาะ แต่ความหมายที่ต้องการก็คือ บุคคลทั่วไป เพราะฉะนั้นผู้หญิงจึงมีสิทธิที่จะอยู่ในบุคคลทั้งเจ็ดกลุ่มที่จะได้รับร่มเงาของอัลลอฮฺ ด้วยเช่นกัน

 

 

บุคคล 7 กลุ่มที่จะได้รับสิทธิให้อยู่ร่มเงาของอัลลอฮฺในวันกิยามะฮฺ ตามที่หะดีษได้ระบุไว้ก็คือ

 

 บุคคลกลุ่มที่

 

           คือ กลุ่มของอิมาม ผู้นำ ผู้ปกครองที่มีความยุติธรรม ซึ่งผู้นำในยุคก่อนกับผู้นำในยุคปัจจุบันจะมีความแตกต่างกันโดยสิ้นเชิง ผู้นำในยุคก่อนจะมีอำนาจ เพราะปกครองด้วยระบอบอิสลาม เขาจึงมีความสามารถที่จะชี้ถูกชี้ผิด เขาสามารถที่จะเอาบุคคลที่ทำผิดต่อหลักการศาสนา มีความประพฤติที่เป็นปรปักษ์กับอิสลาม สามารถที่จะเอามาลงโทษได้ แต่ในยุคปัจจุบัน โดยเฉพาะในประเทศไทย เราเป็นมุสลิมที่อยู่ภายใต้กฎหมายรัฐธรรมนูญ เพราะฉะนั้น บริบทของคำว่าผู้นำของบ้านเรานั้นก็ถูกตัดทอนลงมา ไม่มีสิทธิที่จะทำอะไรได้มาก ใครทำซินา อิมามก็ไม่สามารถที่จะเอาตัวคนทำผิดมาเฆี่ยนได้ ใครพูดโกหก อิมามก็ไม่สามารถที่จะลงโทษได้ ทำได้เต็มที่ก็เพียงแค่ตักเตือน การปกครองในสังคมมุสลิมยุคปัจจุบันนี้มันกลายเป็นเรื่องของกรรมการมัสยิดที่มีหน้าที่ช่วยอิมามเรื่องต่างๆ เพราะฉะนั้นกรรมการมัสยิดนี้เองก็คือส่วนหนึ่งของผู้นำเมื่อมีการปรึกษาหารืออะไรกันแล้ว ทุกคนต้องรับผิดชอบร่วมกันในฐานะที่เป็นตัวแทนที่ประชาชนเลือกมา

 

          ท่านอิบนุตัยมียะฮฺ ได้กล่าวถึงคำว่า “อิมามุนอาดิล” ไว้ว่า ส่วนหนึ่งจากความยุติธรรมที่ครูได้ให้แก่เด็กนักเรียนสองคน หมายความว่า เราตรวจข้อสอบของเด็ก เราได้ให้ความเป็นธรรมในการให้คะแนน ไม่ใช่ว่าเราให้คะแนนเด็กคนนั้นดีเพราะสนิทกับเรา หรือว่าเรารู้จักผู้ปกครองของเขา 

           การกระทำในลักษณะที่เราให้ความเป็นธรรมแก่เด็กเช่นนี้ ท่านอิบนุตัยมียะฮฺ เรียกว่า อิมามุนอาดิล อิมามผู้มีความยุติธรรม อิมามจึงมีอยู่ทุก ๆ สถานที่ ในบ้าน หัวหน้าครอบครัวก็เป็นอิมาม สามารถที่จะดูแลลูก ดูแลสมาชิกในครอบครัว แล้วก็ให้ความเป็นธรรมกับสมาชิกในครอบครัว ก็เรียกว่าอิมามุนอาดิล อิมามผู้ทรงไว้ซึ่งความยุติธรรมเช่นนี้แหละที่เขามีสิทธิที่จะได้ร่มเงาของอัลลอฮฺ ในวันกิยามะฮฺ 

 

         ในโรงเรียน มีมุดีร มีผู้จัดการ มีมุดีเราะฮฺ ถ้าเป็นผู้หญิงที่เขาให้ความยุติธรรมในระหว่างเด็กนักเรียน ในระหว่างครูด้วยกัน เขาก็มีสิทธิที่จะได้รับร่มเงาของอัลลอฮฺ ในชีวิตประจำวัน เรามีหน้าที่ที่ต้องรับผิดชอบต่อลูกน้อง มีลูกน้องสิบคน ยี่สิบคน เรามีคุณธรรมต่อลูกน้อง ต่อผู้ใต้บังคับบัญชาเราก็มีสิทธิที่จะได้รับร่มเงาของอัลลอฮฺ ในฐานะที่เราเป็นผู้นำที่ทรงธรรม เพราะฉะนั้นเรื่องนี้เป็นคำสั่ง เป็นคำบัญชาของอัลลอฮฺ ว่าใครก็ตามที่ขึ้นมาอยู่ในตำแหน่งผู้นำแล้ว จะต้องให้ความเป็นธรรมกับทุกคนที่อยู่ใต้การปกครองของเขา

 

          เมื่อครั้งที่อัลลอฮฺ ทรงแต่งตั้งท่านนบีดาวูด เป็นเคาะลีฟะฮฺ พระองค์ได้ทรงกำชับท่านนบีดาวูด ดังปรากฏในอัลกุรอานซูเราะฮฺศ็อด อายะฮฺที่ 26

อัลลอฮฺ ตรัสว่า

 

โอ้ดาวูด เราได้แต่งตั้งเจ้าให้เป็นเคาะลีฟะฮฺ (ผู้ปกครอง) บนหน้าแผ่นดิน เพราะฉะนั้นเจ้า จงตัดสินระหว่างมวลมนุษย์ด้วยความยุติธรรม

อย่าได้ปฏิบัติ อย่าได้ตัดสินบนพื้นฐานของการปฏิบัติตามอารมณ์

เพราะเมื่อใดก็แล้วแต่ที่เจ้าตัดสินผู้คนด้วยอารมณ์ โดยไม่ใช้ความยุติธรรมแล้ว เจ้าก็จะหลงออกจากทางของอัลลอฮฺ....”

 

อัลกุรอานซูเราะฮฺอันนิซาอฺ อายะฮฺที่ 58 อัลลอฮฺ ตรัสว่า

 

แท้จริง อัลลอฮฺทรงกำชับมนุษย์ให้คืนของฝาก คือ คืนอะมานะฮฺแก่เจ้าของของมัน

และเมื่อพวกเจ้าตัดสินระหว่างผู้คน พวกเจ้าก็จะต้องตัดสินด้วยความยุติธรรม

แท้จริงอัลลอฮฺทรงแนะนำพวกเจ้าด้วยสิ่งซึ่งดีจริง ๆ แท้จริงอัลลอฮฺเป็นผู้ทรงได้ยินและผู้ทรงเห็น”

 

          “อะมานะฮฺ” คำนี้มีความหมายแตกต่างกันไป แต่ละคนมีอะมานะฮฺไม่เหมือนกัน เราก็ต้องมาสำรวจว่า อะมานะฮฺที่เราได้รับฝากมาจากคนรุ่นก่อนให้ดูแลทรัพย์สิน ให้ดูแลองค์กร ให้ดูแลสิ่งต่าง ๆ ที่ทำไว้เป็นกิจการของส่วนรวมแล้ว เราต้องดูแลรักษาไว้ อันไหนที่เป็นสิทธิของส่วนรวม เราก็ต้องเอากลับไปให้เป็นของส่วนรวม อันไหนที่เป็นสิทธิส่วนตัวเราก็เอากลับคืนมา ฉะนั้น อะมานะฮฺในที่นี้จึงแยกเป็นสองอย่างคือ สิทธิของอัลลอฮฺ กับสิทธิของมนุษย์ด้วยกัน เราก็มาดูว่า ตัวของเรา บ้านของเรา ทรัพย์สินของเรา สถานที่ที่เราสุญูดลงไปนั้นเป็นของเราหรือเปล่า ถ้าไม่ใช่ของเรา ก็ให้รีบสะสางเสียให้ถูกต้อง เพราะมันเป็นคำสั่งจากอัลลอฮฺ ที่ทรงบอกให้เราคืนของฝากต่างๆ ให้กับเจ้าของ หลังจากคืนของฝากแล้ว ถ้าเราเป็นผู้ที่มีหน้าที่ในการตัดสินปัญหาข้อพิพาทต่าง ๆ ก็ให้ตัดสินบนความยุติธรรม บนความ ถูกต้อง บนหลักการศาสนา แท้จริงอัลลอฮฺ นั้น ทรงแนะนำสิ่งที่ดีที่สุดไว้ให้เราแล้ว

 

          ท่านพี่น้องมุสลิมและมุสลิมะฮฺที่เคารพรักทุกท่าน เราทราบกันแล้วว่าเราจะตัดสินด้วยกับอะไร เราต้องตัดสินโดยอยู่บนพื้นฐานของกิตาบุลลอฮฺและซุนนะฮฺ ถ้าหากไม่พบทั้งสองสิ่งนี้ เราก็ไปดูร่องรอยของบรรดาศ่อฮาบะฮฺ อะมัลของอะฮฺลุลมะดีนะฮฺ แล้วเราก็เอาข้อตัดสินอันนั้นมาใช้กับสังคมหรือบริบทของบ้านเรา เราจะสังเกตได้ว่า จากอัลกุรอานอายะฮฺที่กล่าวมานั้น อัลลอฮฺ ทรงกำชับ ทรงใช้ให้เราตัดสินปัญหาต่าง ๆ หรือแก้ไขปัญหาต่างๆ บนพื้นฐานของความจริงด้วยหลักการของกิตาบุลลอฮฺและซุนนะฮฺ แล้วในวันกิยามะฮฺ อัลลอฮฺ จะทรงให้ตำแหน่งของผู้ที่ดำรงไว้ซึ่งความยุติธรรมแก่เขา

 

ฮะดีษบันทึกโดยอิมามอัลบุคอรีและอิมามมุสลิม รายงานจากท่านอบีฮุรอยเราะฮฺ เล่าว่า ท่านร่อซูลุลลอฮฺ  กล่าวว่า

 

         “แท้จริงในวันกิยามะฮฺ ผู้ที่ดำรงความยุติธรรม ณ ที่อัลลอฮฺนั้น เขาจะอยู่บนแท่น (มะนาบิร) ซึ่งมีรัศมี และเป็นที่ทราบกันว่าคนที่นั่งอยู่บนแท่นที่รัศมีนั้น คือ ผู้ที่ดำรงไว้ซึ่งความยุติธรรมอยู่ทางด้านขวาของอัลลอฮฺ ผู้ที่มีสิทธิจะไปนั่งตรงนี้ก็คือ ผู้ที่ดำรงไว้ซึ่งความยุติธรรมในการตัดสินระหว่างพี่น้องของเขา นั่นคือ ผู้ให้ความยุติธรรมแก่คู่กรณี

 

         ส่วนคนที่บกพร่องละเลย ไม่ให้ความสำคัญกับการให้ความยุติธรรมก็ขอให้พิจารณาฮะดีษต่อไปนี้ เป็นฮะดีษที่บันทึกในมุสนัดของอิมามอะหฺหมัด ซึ่งเชคอัลอัลบานีย์บอกว่าเป็นฮะดีษที่ศ่อเฮียะหฺ รายงานจากท่านอบีอุมามะฮฺ เล่าว่า ท่านร่อซูลุลลอฮฺ  กล่าวว่า

 

          “ใครก็แล้วแต่ที่มีผู้อยู่ใต้การปกครองสิบคน หรือมากกว่านั้นในวันกิยามะฮฺ อัลลอฮฺจะทรงนำบุคคลนั้นมาในสภาพที่มือของเขาถูกมัดไพล่ไว้ที่ต้นคอของเขา แล้วคุณงามความดีที่เขาทำไว้ก็จะมาแก้มัดมือของเขาออก แต่แล้วความผิดที่เขาได้ทำไว้ก็จะกลับมามัดมือของเขาอีก (นั่นคือ ถ้าท่านมีทั้งความดีและความผิด มันก็จะเป็นสภาพดังกล่าว ความดีจะมาช่วยแก้มัดมือออก แต่แล้วความผิดก็จะกลับมามัดมือของเขาอีก เป็นเช่นนี้เรื่อยไป) ตำแหน่งของผู้นำในสถานะใดก็ตาม ในช่วงแรก ๆ จะถูกตำหนิ ถูกด่าว่า ถูกสาปแช่ง ตอนช่วงกลางของการได้รับตำแหน่งจะมีแต่ความเสียใจ ช่วงสุดท้ายถ้าไม่ได้ใช้ความยุติธรรมในการตัดสินแล้ว ในวันกิยามะฮฺเขาจะอยู่ในสภาพที่ต่ำต้อยน่าเวทนา”

 

          นั่นคือคำจำกัดความของคำว่า “อิมามุนอาดิล” ไม่จำเป็นต้องเป็นผู้นำที่นำการปกครองเท่านั้น ฮะดีษบอกไว้ชัดเจนว่า บุคคลที่มีผู้ใต้ปกครองสิบคนหรือมากกว่านั้น ก็เป็นอิมามุนอาดิลได้ หรือดังที่ ท่านอิบนุ ตัยมียะฮฺ ได้อธิบายว่า แม้กระทั่งครูที่ให้ความยุติธรรมกับเด็กสองคนก็มีสิทธิที่จะได้อยู่ในร่มเงาของอัลลอฮฺ ในฐานะที่เป็นอิมามุนอาดิล

 

 

 บุคคลกลุ่มที่

 

          คือ เยาวชนทั้งชายและหญิงที่เติบโตมาในสภาพที่ทำอิบาดะฮฺต่ออัลลอฮฺ ศึกษาหาความรู้ในเรื่องราวของศาสนา ซึ่งในอดีตเคยมีชายหนุ่มกลุ่มหนึ่งที่เติบโตตั้งแต่วัยเด็กจนวัยหนุ่ม พวกเขาใช้ชีวิตอยู่ในครรลองของอัลอิสลาม จึงได้รับคำชมเชยจากอัลลอฮฺ เรื่องของพวกเขาปรากฏอยู่ในอัลกุรอาน ซูเราะฮฺอัลกะฮฺฟฺ อายะฮฺที่ 13 อัลลอฮฺ ตรัสว่า

 

คือ บรรดาเยาวชนที่ศรัทธาต่ออัลลอฮฺ เมื่อศรัทธาและปฏิบัติความดีแล้ว พระองค์ก็จะทรงเพิ่มทางนำให้กับเยาวชนกลุ่มนั้น”

 

ฮะดีษบันทึกโดยท่านฮากิม และท่านอัลบัยฮากีย์ ท่านนบี  กล่าวว่า

จงฉวยโอกาส 5 สิ่งก่อที่อีก 5 สิ่งจะตามมา” หนึ่งในห้าสิ่งนั้นก็คือ “ความเป็นหนุ่มสาวก่อนที่ความชราจะย่างเข้ามา”

 

         นั่นคือ ให้เรียนรู้เรื่องราวของศาสนา และให้ปฏิบัติอะมัลศอและฮฺอย่างมากในวัยหนุ่มสาว บางคนวัยหนุ่มสาวไม่ได้ใช้ไปในเรื่องราวของอิบาดะฮฺ แต่มาสำนึกตัวได้เมื่ออายุเข้าสู่วัย 40-50-60 ปี แต่เมื่อจะลงมือทำ สังขารร่างกายก็ไม่อำนวย ไม่แข็งแรงเหมือนวัยหนุ่มสาว ท่านนบี  จึงบอกว่าให้ฉวยโอกาส 5 สิ่งก่อนที่อีก 5 สิ่งจะคืบคลานเข้ามาหา

 

         ดังนั้น เยาวชนทั้งหลาย พึงทราบเถิดว่า พวกท่านคือกลุ่มบุคคลที่อัลลอฮฺ ทรงให้สิทธิได้เขาไปอยู่ในร่มเงาของพระองค์ในวันกิยามะฮฺ เยาวชนที่เติบโตอยู่ในเรื่องราวของอิสลาม เยาวชนที่อยู่ในบรรยากาศของอิสลาม และนำอิสลามมาใช้ในการดำเนินชีวิตประจำวัน ให้ชีวิตในวัยเยาวชนของเขานั้นสะอาดบริสุทธิ์ปราศจากมะอฺซิยะฮฺ ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องพยายาม นอกจากนี้บุคคลมี่จะได้รับผลตรงนี้ด้วย ก็คือ บรรดาพ่อแม่ ผู้ปกครอง ซึ่งมีฮะดิษศ่อเฮียะหฺยืนยันไว้ในบันทึกของอิมามมุสลิม รายงานโดยท่าน อบูฮุรอยเราะฮฺ เล่าว่า ท่านร่อซูลุลลอฮฺ  ได้กล่าวว่า

 

เมื่อบ่าวได้สิ้นชีวิตลงการงานจะถูกตัดขาด ยกเว้นการงาน 3 ประการก็คือ 

หนึ่ง ศ่อดาเกาะฮฺ ญาริยะฮฺ ทานที่เราทำเป็นกุศลทานที่สามารถจะส่งความดีภายหลังจากที่เราเสียชีวิต 

สอง  ความรู้ที่เราได้สอนและความรู้นั้นยังถูกนำมาใช้ 

สาม บุตรที่เป็นบุตรที่ศอและฮฺ คือ เป็นเยาวชนที่ดี หลังจากที่เราได้สิ้นชีวิตลง เขาก็ขอดุอาอฺให้กับเรา”

 

 

 บุคคลกลุ่มที่

 

          คือ บุคคลที่จิตใจของเขานั้นผูกพันอยู่กับมัสยิด ตรงนี้ชี้วัดได้ แค่เราเดินมาละหมาดมัสยิด เราถามใจเราว่า เรามามัสยิดเพื่ออะไร เราคิดถึงมัสยิด หรือเรามาละหมาดเพื่อให้มันครบ 5 เวลา หากเราหันกลับมาดูการใช้ชีวิตของสะละฟุศศอและฮฺนั้น เราจะทราบว่า ทุก ๆ ครั้งที่บุคคลเหล่านั้นได้ยินเสียงอะซานใจของเขาก็คิดถึงมัสยิดแล้ว ชาวสะลัฟท่านหนึ่งได้บอกว่า 

ไม่ว่าจะเข้าละหมาดเวลาใดก็ตาม จิตใจความรู้สึกของเขานั้นคิดถึงมัสยิดคิดถึงการละหมาดแล้ว”

เราจะเห็นว่าต้นเวลาของการละหมาดของคนในยุคสะละฟุศศอและฮฺนั้น จะเต็มไปด้วยคนที่มีจิตใจผูกพันอยู่กับมัสยิด ชาวสะลัฟอีกท่านหนึ่งเล่าว่า

ตลอดระยะเวลา 70 ปี เขาไม่เคยคลาดการตักบีร่อตุล อิหฺรอมเลย” นั่นแสดงว่าเขาต้องอยู่ในมัสยิดก่อนที่จะมีการอิกอมะฮฺ

 

ในอัลกุรอานซูเราะฮฺอัตเตาบะฮฺ อายะฮฺที่ 18 อัลลอฮฺ ตรัสว่า

บุคคลที่จะบูรณะบรรดามัสยิดของอัลลอฮฺ คือ ผู้ที่ศรัทธาต่ออัลลอฮฺ ศรัทธาต่อวันอาคิเราะฮฺ ดำรงไว้ซึ่งการละหมาด ออกซะกาต

พวกเขามิได้ยำเกรงใครนอกจากอัลลอฮฺเท่านั้น ดังนั้น จึงหวังได้ว่าชนเหล่านี้แหละจะเป็นผู้อยู่ในหมู่ผู้ได้รับทางนำ”

 

           คำว่า “ผู้ที่บูรณะมัสยิด” มิได้หมายความถึงผู้ที่มาละหมาดเพียงอย่างเดียว คนที่มีจิตใจผูกพันกับมัสยิดนั้นรวมถึงผู้ที่มาดูแล มาทำความสะอาด มาอำนวยความสะดวก มาทำให้บ้านของอัลลอฮฺ นั้นมีบรรยากาศที่น่าละหมาด ถ้ามัสยิดใดมีแต่ฝุ่น ไม่มีคนมาละหมาดนั่นแสดงว่าบุคคลภายในนั้น ไม่ได้ให้ความสำคัญกับมัสยิด ไม่เห็นคุณค่าของมัสยิด มองไปถึงว่าพวกเขานั้นไม่มีจิตใจผูกพันกับมัสยิด

 

 

 บุคคลกลุ่มที่

 

          คือ ชายสองคนที่รักกันเพื่ออัลลอฮฺ และเกลียดกัน จากกันเพื่ออัลลอฮ ถ้าเรามองเนื้อหาของฮะดีษจะเห็นว่า คนสองคนไม่ได้รักกันเพราะว่ามีบุญคุณต่อกัน ไม่ได้เกลียดกันเพราะเรื่องราวของดุนยา แต่รักกันในแนวทางของอัลลอฮฺ เห็นว่าเป็นคนดี เป็นคนมีศาสนาก็คบเป็นเพื่อน เป็นสหายติดต่อด้วย ตราบใดที่เขาไม่ทำในสิ่งที่ฝ่าฝืนต่อหลักการ แต่เมื่อใดที่เขาทราบว่า เพื่อนคนนั้น สหายคนนี้ผิดต่อหลักการ เขาก็ตีตนออกห่าง ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องแปลกที่เขากระทำเช่นนั้น เพราะว่าเขารักกันในเรื่องของศาสนา เมื่อเห็นแล้วว่ามันไม่ชอบมาพากล มันไม่ถูกต้องกับเรื่องราวของศาสนา ก็เป็นสิทธิของเขาที่จะหันห่างออกไป นี่คือบุคคลที่อัลลอฮฺ ทรงบอกว่าเป็นบุคคลที่จะได้รับร่มเงาในวันกิยามะฮฺ

 

         ท่านพี่น้องมุสลิมและมุสลิมะฮฺที่เคารพรักทุกท่าน ฮะดีษในบันทึกของอิมามอะหฺหมัด รายงานจากท่านอบีมาลิก อัลอัชอะรีย์เล่าว่า ท่านร่อซูลุลลอฮฺ  ได้กล่าวว่า

 

         “โอ้บรรดามนุษยชาติ จงฟังให้ดี จงไตร่ตรองให้ดี พึงทราบเถิดว่า จะมีคนกลุ่มหนึ่ง ณ ที่อัลลอฮฺ ที่มิได้มีฐานะเป็นนบี มิได้มีฐานะเป็นชะฮีด แต่ว่าบรรดานบีและบรรดาชะฮีดนั้นมีความอิจฉาบุคคลเหล่านี้ เพราะว่าในวันกิยามะฮฺ บุคคลเหล่านี้จะมีตำแหน่งใกล้ชิดอัลลอฮฺ” 

มีชายชาวอาหรับคนหนึ่งนั่งคุกเข่าแล้วยกมือถามท่านนบี  ว่า “ช่วยบอกคุณลักษณะของชายเหล่านั้นหน่อยได้ไหม

          ท่านนบี  รู้สึกยินดีเมื่อได้ยินคำถามของชายคนนั้นที่แปลกใจว่า ใครกันที่เป็นคนธรรมดา แต่มีตำแหน่งที่ใกล้ชิดอัลลอฮฺในวันกิยามะฮฺแล้วบรรดานบี บรรดาชุฮาดาอฺที่ตายชะฮีดต่างอิจฉาบุคคลเหล่านั้น ท่านร่อซูลุลลอฮฺ  จึงได้บอกคุณลักษณะของชายกลุ่มนั้นว่า 

          “คือชายนิรนามมาจากเผ่าตระกูลที่มันหลากหลาย แล้วเขามาพบกัน มารู้จักกันโดยไม่คำนึงถึงเชื้อสายวงศ์ตระกูล รักกันเพื่ออัลลอฮฺ มีความสามัคคีกลมเกลียวกัน อัลลอฮฺจะนำบุคคลเหล่านั้นมาอยู่ในแท่นที่ดำรงไว้ด้วยรัศมี แล้วก็ได้นั่งใกล้กับพระองค์ ใบหน้าของเขามีรัศมี เสื้อผ้าอาภรณ์ของเขาก็มีรัศมี ในวันกิยามะฮฺบุคคลต่าง ๆ กลับหวาดหวั่น หวั่นกลัวเนื่องจากความน่ากลัวของวันกิยามะฮฺ แต่ว่าบุคคลเหล่านั้นกลับไม่กลัวอะไรเลย”

 

          พวกเขาเป็นบุคคลคนใกล้ชิดกับอัลลอฮฺ จะไม่มีความเสียใจ ไม่มีความหวาดกลัวใด ๆ อันเนื่องมาจากคุณความดีที่พวกเขากระทำไว้ในดุนยานั่นเอง รักกันเพื่ออัลลอฮฺ ไม่ได้รักเพื่อทรัพย์สิน ไม่ได้รักเพราะความเป็นญาติ ไม่ได้รักเพราะมีบุญคุณต่อกัน เกลียดก็เกลียดเพื่ออัลลอฮฺ

 

 

 บุคคลกลุ่มที่

 

          คือ ชายหนุ่มที่มีสตรีรูปงามาชวนให้เขาทำซินา มาชวนให้ทำสิ่งที่ผิดหลักการศาสนา แล้วชายหนุ่มคนนั้นมีจิตสำนึกว่า ฉันเกรงกลัวอัลลอฮฺ ไม่ยอมร่วมหลับนอนกับนาง เพราะตระหนักดีว่า ถ้าทำไปแล้วก็จะต้องได้รับบาปใหญ่ จึงหลีกห่างจากบาปนั้น อันเนื่องมาจากเกรงกลัวอัลลอฮฺ เราก็ลองพิจารณาดูว่า ถ้าเราตกอยู่ในสถานการณ์อย่างนั้น เราจะทำอย่างไร

          ซึ่งในฮะดีษบอกว่าหญิงสาวสวยและ มียศถาบรรดาศักดิ์ได้เชิญชวนท่านนบียูซุฟ ให้ทำซินา แต่ท่านนบียูซุฟ ก็สามารถที่จะนำตัวออกมาให้พ้นจากฟิตนะฮฺตรงนั้นได้ ถึงแม้จะโดนทอดกาย แต่ท่านนบียูซุฟ ก็สามารถที่จะพูด สามารถที่จะเอาศาสนามาบังคับตัวเองออกมาได้ บุคคลประเภทนี้ อัลลอฮฺ จะทรงให้ร่มเงาของพระองค์แก่เขาใน วันกิยามะฮฺ

 

 

 บุคคลกลุ่มที่

 

          คือ กลุ่มคนที่ทำทาน ทำศ่อดาเกาะฮฺ ฮะดีษนี้ไม่ได้พูดถึงซะกาตนะครับ เพราะซะกาตเป็นเรื่องที่จำเป็น ถ้าไม่ทำเราจะถูกลงโทษ แต่ฮะดีษนี้พูดถึงการทำทาน ทำศ่อดาเกาะฮฺ ทำด้วยความสมัครใจ ทำมากมายจนจำไม่ได้ว่าทำอะไรไปบ้าง ดังกล่าวนี้บ่งบอกว่า ทำด้วยความอิคลาส ทำโดยมีความบริสุทธิ์ใจต่ออัลลอฮฺ

 

 

 บุคคลกลุ่มที่

 

          คือ กลุ่มบุคคลที่เมื่อเขารำลึกถึงอัลลอฮฺ เมื่อใด น้ำตาของเขาก็ไหลรินออกมาจากดวงตา ขอถามว่ามีกี่คนในยุคปัจจุบัน และกี่คนในยุคสะลัฟ ที่เมื่อโองการต่าง ๆ อายะฮฺต่าง ๆ คำสอนต่าง ๆ คำซิกรุลลอฮฺต่าง ๆ ที่บ่งบอกถึงความยิ่งใหญ่ของอัลลอฮฺ ถูกกล่าวออกมา แล้วเขานึกขึ้นได้ว่า เขาสมควรที่จะให้ความยิ่งใหญ่ ให้ความเกรงกลัวพระองค์ จนกระทั่งน้ำตาของเขาไหลรินออกมา ถ้าใครก็ตามที่มีคุณลักษณะดังกล่าวนั้น ถือว่าเป็นบ่าวที่มีความใกล้ชิดต่ออัลลอฮฺ อย่างยิ่ง ดังฮะดีษในบันทึกของท่านอัตติรมิซีย์ รายงานโดยท่านอิบนุอับบาส เล่าว่า ท่านร่อซูลุลลอฮฺ  กล่าวว่า

 

         “ดวงตาสองดวง (หมายถึง บุคคลสองประเภท) ที่ไฟนรกไม่สามารถจะมาแผ้วพานได้ ไม่สามารถที่จะมาย่างกรายเข้าใกล้ได้ คือ ดวงตาที่ร้องไห้ออกมา อันเนื่องมาจากความเกรงกลัวอัลลอฮฺ

          และดวงตาหนึ่งที่อดหลับอดนอนคอยเฝ้าไม่ให้ศัตรูของอิสลามมาย่ำกรายขอบเขตของมุสลิม คือ บรรดาทหาร บรรดาผู้ที่เฝ้ายามใหนทางของอัลลอฮฺ ไม่ให้ศัตรูนั้นเข้ามาทำลายล้างอิสลาม”

 

         นั่นคือหัวใจของผู้ที่มีความอ่อนโยน ผู้ที่เมื่อรำลึกถึงอัลลอฮฺแล้ว เขาหลั่งน้ำตาออกมาด้วยความเกรงกลัวพระองค์ แต่ในทางตรงข้าม หากเขาไม่รำลึกถึงอัลลอฮฺ เมื่อเขาอ่านอัลกุรอานเขาไม่ได้พิจารณาความหมายเลย อย่างนี้เขาก็ต้องปรับระดับของตนเอง อย่างน้อยที่สุดเมื่อมีการตักเตือนแล้ว จิตใจของเขายังนึกถึงบาปบุญ นึกถึงการลงโทษของอัลลอฮฺ มันก็ยังเป็นสิ่งหนึ่งที่บ่งบอกว่าเขามีความเกรงกลัวอัลลอฮฺ แต่ถ้าเขาปล่อยให้จิตใจของเขาหยาบกระด้าง คำสอนไม่สามารถที่จะเจาะเข้าไปได้ไม่ว่าใครที่จะพูดอะไร ก็ตาม เช่นนี้เขาก็คือผู้ที่หลงทาง อัลลอฮฺ ได้ตรัสในอัลกุรอานซูเราะฮฺอัลอันฟาล อายะฮฺที่ 2 ว่า

 

แท้จริง บรรดาผู้ศรัทธานั้น คือ ผู้ที่เมื่อมีคนมาระลึกถึงอัลลอฮฺให้พวกเขาได้ยิน จิตใจของพวกเขาจะหวั่นไหว

และเมื่อมีคนมาอ่านคัมภีร์ของพระองค์ให้พวกเขาฟัง พวกเขาก็จะยิ่งมีความเชื่อมั่น และพวกเขาต่างมอบหมายให้กับพระเจ้าของพวกเขา”

 

ขอให้พิจารณาอัลกุรอานซูเราะฮฺอัซซุมัร อายะฮฺที่ 22 อัลลอฮฺ ตรัสว่า

 

ความหายนะ ความพินาศจะประสบกับบรรดาผู้ที่หัวใจของเขานั้นตายด้านจากการรำลึกถึงอัลลอฮฺ บุคคลเหล่านั้นคือ ผู้ที่หลงทางอย่างชัดเจน”

 

 

 

          ท่านพี่น้องมุสลิมและมุสลิมะฮฺที่เคารพรักทุกท่านความดีทุกความดี อัลลอฮฺ จะทรงตอบแทนให้อย่างแน่นอนและครบถ้วน ความชั่วทุกความชั่ว พระองค์จะทรงลงโทษหรือจะทรงให้อภัยโดยไม่มีสิ่งใดรอดพ้นไปเลย 

 

          นักกวีท่านหนึ่งให้เราพิจารณาว่า ท่านนบีอาดัม ทำบาปเพียงครั้งเดียว อัลลอฮฺ ทรงสั่งให้ท่านลงจากสวนสวรรค์มาอยู่บนโลกดุนยานี้ นักกวีท่านนี้เตือนใจเราว่าบาปจำนวนหนึ่งกับอีกจำนวนหนึ่งที่ผู้คนได้สะสมทำไป ทำไป แล้วก็ตั้งความหวังว่าจะได้เข้าสวนสวรรค์ของอัลลอฮฺ หรือปรารถนาที่จะได้รับชัยชนะเฉกเช่นคนที่มีคุณธรรม พวกเขาลืมกันไปแล้วหรือว่า แท้จริง อัลลอฮฺ ทรงลงโทษท่าน นบีอาดัม ให้ออกจากสวนสวรรค์ด้วยกับบาปเพียงครั้งเดียวเท่านั้น ดังนั้น ขอให้ผู้ที่ยังไม่ยอมกลับเนื้อกลับตัวได้พิจารณา อัลกุรอาน ซูเราะฮฺอิบรอฮีม อายะฮฺที่ 42 อัลลอฮฺ ตรัสว่า

 

พวกเจ้าอย่าคิดว่า อัลลอฮฺจะทรงละเลยผู้ที่มีพฤติกรรมอธรรมต่อผู้อื่นในทุก ๆ ด้าน

แท้จริงพระองค์ได้ทรงประวิงเวลาคน ๆ นั้นจนถึงวันที่ดวงตาตะลึงเหลือกลานอันเนื่องมาจากความกลัว วันกิยามะฮฺ”

 

         เราเคยได้ยินได้ฟังมาแล้วว่า คนที่ล้มละลายในวันกิยามะฮฺ คือ คนที่มีความดีไม่พอที่จะชดใช้ความผิดที่ได้ไปอธรรมกับผู้อื่น เขาจึงต้องไปรับความชั่วของคนที่เขาไปอธรรมเขามา ฉะนั้น ก่อนจบคุฏบะฮฺวันนี้ ผมขอฝากตัวของผมและพี่น้องทุก ๆ คนว่า ให้ขอดุอาอฺให้เราได้เป็นคนหนึ่งในบรรดาบุคคลทั้งเจ็ดกลุ่มที่จะได้รับร่มเงาของอัลลอฮฺ ในวันกิยามะฮฺ อามีน

 

 

 

คุฎบะฮฺวันศุกร์  มัสยิด (หลวง) อันซอริซซุนนะฮฺ บางกอกน้อย

 

ที่มา : วารสาร อัลอิศลาห์สมาคม