ข้อชี้ขาดเรื่องเสียงเพลงและเครื่องดนตรี
  จำนวนคนเข้าชม  15866

  

ข้อชี้ขาด  ( الاُحكام ) เรื่องเสียงเพลงและเครื่องดนตรี


แปลและเรียบเรียงโดย ...อาบิดีณ  โยธาสมุทร


         เสียงเพลงและเครื่องดนตรีถูกนับรวมอยู่ในหมวดสิ่งต้องห้ามตามบทบัญญัติอิสลาม ( المحرمات) ด้วยตัวบทหลักฐานต่อไปนี้


عن أبي عامر  الأشعري رضي الله عنه أنه سمع النبي صلى الله عليه وسلم يقول       ( 1  
"ليكونن من أمتي أقوام يستحلون الحر والحرير والخمر والمعازف...."  البخاري

      มีรายงานจากท่านอบีอามิร  อัลอัชอารีย์  ว่า แท้จริง ท่านได้ยินท่านนบี  กล่าวว่า :

“จะมีชนบางกลุ่มจากประชาชาติของฉัน ที่จะอนุมัติการผิดประเวณี ผ้าไหม สุรา  และเครื่องดนตรี...”

  (ศ่อเฮี้ยฮฺ บุคอรีย์)

         คำว่า “เครื่องดนตรี” (المعازف ) สำหรับทางด้านภาษาแล้วมีความหมายครอบคลุม  ไม่ได้เจาะจงไปที่ชนิดหนึ่งชนิดใดของเครื่องดนตรี และไม่ว่าเครื่องดนตรีชนิดนั้นจะมีวิธีการใช้งานในรูปแบบใดก็ตาม ทั้งหมดล้วนอยู่ภายใต้ความหมายของคำว่า “เครื่องดนตรี” ทั้งสิ้น
        
         ท่านอิบนุกอยยิม –ร่อฮิมะฮุลลอฮ- กล่าวเกี่ยวกับความหมายของคำว่า “เครื่องดนตรี” ว่า “มันหมายถึงอุปกรณ์สร้างความบันเทิงทั้งหมด ซึ่งบรรดานักภาษาศาสตร์ไม่มีการขัดแย้งกันเลยในการให้ความหมายนี้” 
 
         ท่านอัซซะฮะบีย์ –ร่อฮิมะฮุลลอฮ-  กล่าวว่า “เครื่องดนตรี คือ อุปกรณ์สร้างความบันเทิงทุกชนิดที่ใช้บรรเลงเพลง เช่น ขลุ่ย ( مزمار) แมนโดลิน -เครื่องดีดชนิดหนึ่งคล้ายกีต้า- (الطنبور ) ปี่ ( الشبابة ) และฉาบ (الصنوج)”

         คำว่า ทำการอนุมัติ (استحلال ) หมายถึง การนับว่าสิ่งๆ นั้นเป็นที่อนุมัติ ซึ่งถ้อยคำดังกล่าวนี้เอง นับเป็นการบ่งชี้อย่างชัดเจนว่า สิ่งที่ถูกระบุไว้ในฮะดีษข้างต้นทั้งสี่ประการนั้น หาใช่สิ่งอันเป็นที่อนุมัติตามศาสนบัญญัติไม่ ซึ่งหนึ่งในสี่ประการนั้นก็คือ เครื่องดนตรี เพราะหากเครื่องคนตรีถือเป็นที่อนุมัติตามศาสนบัญญัติแล้ว (حلال) ท่านร่อซูล   คงจะไม่กล่าวตำหนิชนกลุ่มดังกล่าว เนื่องจากการที่พวกเขากระทำการอนุมัติเครื่องดนตรี และท่านก็คงจะไม่กล่าวถึงการอนุมัติเครื่องดนตรีไว้พร้อมๆ กับการอนุมัติสุราและการผิดประเวณี 

   
        ท่านเชคอาลี อั้ลกอรี กล่าวว่า “ความหมาย (ของการอนุมัติ) ก็คือการที่พวกเขานับว่าสิ่งต้องห้าม (المحرمات) เป็นสิ่งที่อนุมัติ (حلالات) โดยการสร้างข้อเคลือบแคลง (شبهات) และยกตัวบทหลักฐานที่ไม่มีน้ำหนักเพียงพอ เป็นต้นว่า การที่นักวิชาการของพวกเราบางท่าน (หมายถึง ในมัซฮับฮะนะฟีย์) อ้างว่า ผ้าไหมนั้นจะเป็นที่ต้องห้ามก็ต่อเมื่อ ตัวเนื้อผ้าแนบชิดกับเรือนร่าง เพราะฉะนั้น หากนำผ้าไหมมาสวมทับบนเสื้ออีกชั้นหนึ่งก็ถือว่าไม่เป็นที่ต้องห้ามแต่ประการใด ซึ่งการกำหนดกฎเกณฑ์ที่ว่านี้เป็นการกำหนดโดยปราศจากหลักฐาน ไม่ว่าจะจากทางด้าน บทบัญญัติ –หมายถึงอัลกุรอานและซุนนะฮฺของท่านร่อซูล - (نقلي) หรือจากทางด้านสติปัญญา (عقلي) และเนื่องจากในคำกล่าวของท่านร่อซูล   ที่ว่า

“ผู้ใดที่สวมใส่ผ้าไหมในโลกดุนยา    เขาจะไม่ได้สวมใส่มันในโลกอาคิเราะฮฺ”

นั้นไม่ได้มีการกำหนดรายละเอียดหรือกฏเกณฑ์ใดๆ ไว้เลย อย่างไรก็ตามฮะดีษบทนี้ (ฮะดีษที่ชี้แจงว่าเครื่องดนตรีเป็นสิ่งต้องห้าม) ได้รับการยืนยันสนับสนุนจากดำรัสของอัลลอฮฺ  ที่ว่า

...  وَمِنَ النَّاسِ مَنْ يَشْتَرِي لَهْوَ الْحَدِيثِ لِيُضِلَّ عَنْ سَبِيلِ اللَّهِ بِغَيْرِ عِلْمٍ

“และจากมวลมนุษย์มีผู้ที่ซื้อคำพูดที่ไร้สาระ เพื่อเขาจักได้หลงไปจากทางของอัลลอฮฺ โดยปราศจากความรู้...”

(ลุกมาน/6)

         มีผู้ถามท่านอับดุลลอฮฺ อิบนุมัสอู๊ด   ถึงความหมายของอายะฮฺข้างต้น ท่านตอบว่า “มันหมายถึง เพลง (الغناء) ขอสาบานต่อพระผู้ทรงไม่มีพระเจ้าอื่นใดนอกจากพระองค์ ท่านกล่าวเช่นนั้นซ้ำกันสามครั้ง”

(บันทึกโดย อิบนุอะบีชัยบะฮฺ อิบนุญะรีร  อิบนุอะบีดุนยาและอั้ลฮากิม)


        ดังนั้น คำกล่าวอ้างของนักวิชาการบางท่านเกี่ยวกับเสียงเพลงที่ว่า หากเนื้อเพลงส่อความหมายไปในเชิงปลุกเร้าอารมณ์เพศจึงจะถือว่าเป็นสิ่งต้องห้าม แต่ถ้าเนื้อเพลงให้ความหมายทางด้านอื่นๆ นอกเหนือจากนี้ ก็ถือว่าเป็นที่อนุมัติ ข้ออ้างนี้นับเป็นการสร้างข้อจำกัด (เกี่ยวกับบทบัญญัติ) ด้วยทรรศนะส่วนบุคคล และละทิ้งตัวบทหลักฐานที่เป็นบทบัญญัติ อีกทั้งข้อจำกัดข้างต้นยังถือเป็นเพียงทฤษฎีที่ไม่อาจปฏิบัติได้จริง ทั้งนี้ เนื่องจากสิ่งที่จะส่งผลต่ออารมณ์นั้น ย่อมแตกต่างกันไปตามความแตกต่างของแต่ละบุคคล เพศ ช่วงวัย และภูมิอากาศ

         ดังนั้น สิ่งที่ใกล้เคียงกับความถูกต้องมากที่สุดก็คือ การถือว่าเสียงเพลงและเครื่องดนตรีเป็นที่ต้องห้ามโดยไม่มีข้อยกเว้น ตามที่ตัวบทฮะดีษนี้ไม่ได้กำหนดข้อยกเว้นในการห้ามเสียงเพลงไว้แต่ประการใด

 (เชคอัลอัลบานีย์, ตะฮฺรีมอาลาติ้ตต้อรบิ /9)

 อีกหลักฐานหนึ่งที่สนับสนุนว่าเสียงเพลงและเครื่องดนตรีเป็นที่ต้องห้าม คือ


  عن أنس بن مالك رضي الله عنه قال: قال رسول الله صلى الله عليه وسلم:   ( 2 )
"صوتان ملعونان في الدنيا والآخرة: مزمار عند نعمة ورنة عند مصيبة".

      มีรายงานจากท่านอนัส อิบนิ มาลิก  ว่า ท่านร่อซูลุลลอฮฺ  กล่าวว่า

“สองเสียงที่ถูกสาปแช่งทั้งในโลกดุนยาและโลกอาคิเราะฮฺ คือ

เสียงดนตรียามได้รับความโปรดปราน และเสียงโอดครวญยามประสบเคราะห์กรรม”

(บันทึกโดยอั้ลบั้ซซ้าร อบูบักรอัชชาฟิอีย์ และอั้ดฎิยาอฺ อั้ลมักดิซีย์)

 นอกจากฮะดีษข้างต้นแล้ว ยังมีฮะดีษบทอื่นที่มายืนยันสนับสนุน อันเป็นการเพิ่มความน่าเชื่อถือให้แก่ฮะดีษข้างต้น ซึ่งฮะดีษบทดังกล่าวก็คือ  

حديث جابربن عبد الله عن عبد الرحمن بن عوف قال: قال رسول الله صلى الله عليه وسلم:
 "إني لم أنه عن البكاء ولكني نهيت عن صوتين أحمقين فاجرين: صوت عند نعمة لهو ولعب ومزامير الشيطان وصوت عند مصيبة لطم وجوه وشق جيوب ورنة شيطان".

ฮะดีษของท่านญาบิร อิบนิ อับดุลลอฮฺ จากท่านอับดุรเราะฮฺมาน อิบนิ เอ้าฟฺ กล่าวว่า ท่านร่อซูลุลลอฮ   กล่าวว่า

“ฉันมิได้ห้ามการร่ำไห้ หากแต่ฉันห้ามเสียงสองเสียงที่มีลักษณะโง่เขลาและชั่วร้าย

นั่นก็คือเสียงยามได้รับความโปรดปราน ความบันเทิง การละเล่น ดนตรีของชัยตอน

และเสียงเมื่อประสบเคราะห์กรรม  ตบตีใบหน้า ฉีกทำลายเสื้อผ้า และโอดครวญ –ดั่งการโอดครวญ- ของชัยตอน”

(บันทึกโดยอั้ลฮากิม อั้ลบัยฮะกีย์ อิบนุอะบีดุนยา ติ้รมีซีย์ และท่านอื่นๆ โดยที่ติ้รมีซีย์ได้กล่าวว่า “เป็นฮะดีษฮะซัน”)

         ฮะดีษบทนี้นับว่าเหมาะสมที่สุดที่จะนำมาใช้เป็นหลักฐานในการห้ามเสียงเพลง (الغناء) ดังที่ปรากฏในถ้อยคำตามรายงานของท่านญาบิร อิบนุ อับดุลลอฮฺที่ว่า “เสียงยามได้รับความโปรดปราน  ความบันเทิง การละเล่นและดนตรีของชัยตอน” นั่นเท่ากับว่าท่านได้ห้ามเสียงที่กระทำกันยามได้รับความโปรดปราน เช่นเดียวกับที่ท่านได้ห้ามเสียงที่กระทำกันยามประสบภัยพิบัติ ซึ่งเสียงยามได้รับความโปรดปรานก็คือเสียงเพลงนั่นเอง

(อิบนุตัยมียะฮฺ , อัลอิสติกอมะฮฺ 1/292-293)


عن عبد الله بن عباس رضي الله عنهما قال: قال رسول الله   )     : 3)
"إن الله حرم علي - أو حرم - الخمر والميسر والكوبة وكل مسكر حرام".

มีรายงานจากท่าน อับดุลลอฮฺ อิบนิ อับบาส ร่อฎิยัลลอฮุอันฮุมา กล่าวว่า ท่านร่อซูลุลลอฮฺ   กล่าวว่า

 “แท้จริง อัลลอฮฺทรงกำหนดให้ สุรา การพนัน และอั้ลกูบะฮฺ เป็นที่ต้องห้ามแก่ฉัน (หรือเป็นที่ต้องห้าม) และของมึนเมาทุกชนิดนั้นเป็นที่ต้องห้าม”

(บันทึกโดยอบูดาวูด อัลบัยฮะกีย์ อะฮฺหมัดและท่านอื่นๆ)

         อีกรายงานหนึ่งรายงานโดยใช้ถ้อยคำรายงานดังนี้

"إن الله حرم عليهم الخمر والميسر والكوبة" - وهو الطبل - وقال: "كل مسكر حرام".

“แท้จริง อัลลอฮฺทรงกำหนดให้ สุรา การพนัน และ อั้ลกูบะฮฺ (หมายถึงกลอง) เป็นที่ต้องห้ามแก่พวกเขา

และท่านกล่าวว่า สิ่งมึนเมาทุกชนิดนั้นเป็นที่ต้องห้าม” 

(บันทึกโดย อะฮหมัดอั้ลบัยฮะกีย์และอั้ฏฏ็อบรอนีย์) 

         คำว่า อั้ลกูบะฮฺ (الكوبة) ได้รับการอธิบายไว้ว่าหมายถึง อั้ตต็อบล์ (الطبل ) บ้างอ้างว่ามันคือ อันนัรด์ (النرد) ซึ่งทั้งสองคำนั้น หมายถึงเครื่องเคาะจังหวะชนิดหนึ่ง  และเครื่องเคาะจังหวะชนิดอื่นๆ ก็ถูกนับรวมเข้าไปในความหมายของคำว่า “อั้ลกูบะฮฺ”ด้วย  เช่นเดียวกันสิ่งบันเทิงและเสียงเพลงก็อยู่ภายใต้ความหมายของคำว่า “อั้ลกูบะฮฺ” ด้วยเช่นกัน

 (อั้ลค็อตตอบีย์, อั้ลมะอาลิม 5/267)

ท่านอิหม่ามอะฮฺหมัด กล่าวว่า “อั้ลกูบะฮฺ หมายถึงสิ่งที่ใช้สร้างจังหวะทุกชนิด”

(อั้ลมุสนัด 74/214)


عن عمران بن حصين قال: قال رسول الله :             ( 4 )
"يكون في أمتي قذف ومسخ وخسف". قيل: يا رسول الله ومتى ذاك؟ قال:         "إذا ظهرت المعازف وكثرت القيان وشربت الخمور".

จากท่านอิมรอน อิบนิ ฮุศอยน์  กล่าวว่า ท่านร่อซูลุลลอฮฺ   กล่าวว่า

“จะเกิดการลงโทษด้วยการขว้างหินลงมาจากฟากฟ้า ( قذف) การลงโทษด้วยการสาป (مسخ)

และการลงโทษด้วยการให้แผ่นดินสูบ(خسف)ขึ้นกับประชาชาติของฉัน”

มีผู้กล่าวขึ้นว่า “โอ้ท่านร่อซูลุลลอฮฺสิ่งเหล่านั้นจะเกิดขึ้นเมื่อใดกัน”

ท่านกล่าวว่า “เมื่อเครื่องดนตรีปรากฏ  เมื่อมีนักร้องเกิดขึ้นมากมาย และเมื่อมีการดื่มสุรา”

   (บันทึกโดยอัตติรมีซีย์ และอิบนุอบีดุนยาและท่านอื่นๆ)


عن أبي أمامة قال: قال رسول الله صلى الله عليه وسلم:                ( 5 )                        
"لا يحل بيع المغنيات ولا شراؤهن ولا تجارة فيهن وثمنهن حرام - وقال: - إنما نزلت هذه الآية في ذلك":    {وَمِنَ النَّاسِ مَنْ يَشْتَرِي لَهْوَ الْحَدِيثِ}    حتى فرغ من الآية ثم أتبعها:               
والذي بعثني بالحق ما رفع رجل عقيرته بالغناء إلا بعث الله عز وجل عند ذلك شيطانين يرتقيان على عاتقيه ثم لا يزالان يضربان بأرجلهما على صدره - وأشار إلى صدر نفسه -
حتى يكون هو الذي يسكت".
  
    

 จากอะบีอุมามะฮฺกล่าวว่า ท่านร่อซูลุลลอฮฺ   กล่าวว่า

“ไม่อนุมัติให้ขายทาสหญิงที่ทำหน้าที่ร้องเพลง (المغنيات) และไม่อนุมัติให้ซื้อพวกนาง และไม่อนุมัติให้ทำธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับพวกนาง

และรายได้ใดที่เกิดขึ้นจาก (การซื้อขาย )พวกนางนั้น นับเป็นสิ่งต้องห้าม”

 

และท่านกล่าวว่า “อันที่จริงแล้วอายะฮฺนี้ได้ถูกประทานลงมาก็เนื่องจากเรื่องดังกล่าว” (อายะฮฺก็คือ)  และจากมวลมนุษย์มีผู้ที่ซื้อคำพูดที่ไร้สาระ  (จนจบอายะฮฺ)  แล้วท่านก็กล่าวต่อไปว่า
 

“ขอสาบานต่อพระผู้ที่ทรงส่งฉันมาด้วยสัจธรรมว่า ไม่มีชายคนใดที่เปล่งเสียงของตนให้ดังขึ้นด้วยกับเสียงเพลง

 นอกจากอัลลอฮฺจะทรงส่งชัยตอนสองตนให้ขึ้นไปอยู่บนบ่าทั้งสองของเขา ขณะที่เขากระทำการดังกล่าว

แล้วมันทั้งสองก็จะใช้เท้ากระทืบอกของเขาเรื่อยไป (และท่านก็ได้ชี้ไปยังอกของท่าน) จนกว่าเขาจะเป็นฝ่ายเงียบเสียงลง”

       (บันทึกโดยอัฏฏ็อบรอนีย์)