สมองสองซีก
โดย. อ.มุนีร มูหะหมัด
สมองของคนเราเมื่อพิจารณาดูการทำงานแล้วแบ่งออกเป็น 2 ซีก คือ ซีกซ้าย และ ซีกขวา ตามความรู้เก่าสมองซีกซ้ายจะทำหน้าที่ด้านการใช้เหตุผล ภาษาและคณิตศาสตร์ ขณะที่สมองซีกขวาจะทำหน้าที่ด้านศิลปะ ดนตรี จินตนาการ และมิติสัมพันธ์ จึงทำให้เชื่อว่า คนที่เล่นกีฬาเก่งจะอ่อนด้อยด้านศิลปะ ดนตรี ในทางตรงกันข้ามคนที่เป็นศิลปินมักจะเอาอารมณ์อยู่เหนือเหตุผล
การศึกษาในภายหลังพบว่า การทำงานสมองจะเป็นลักษณะการทำงานร่วมกัน ทั้งสมองซีกซ้ายและซีกขวา ดังนั้นคนเราจึงสามารถใช้จินตนาการ ดนตรี ศิลปะ และมิติสัมพันธ์ มาส่งเสริมการเรียนรู้เรื่องการใช้เหตุผล ภาษาและคณิตศาสตร์ได้ การเรียนรู้แบบใหม่จึงเป็นการเรียนรู้แบบผสมผสานเอาศิลปะมาเสริมกับวิชาการ หรือเอาระบบการคิดแบบมีเหตุผลมาใช้กับดนตรี การเรียนรู้วิธีนี้น่าจะกระตุ้นให้เกิดการเรียนรู้ที่ลึกซึ่ง เพราะสมองซีกขวาจะมาทำให้การทำงานของสมองซีกซ้าย มีความเพลิดเพลินยิ่งขึ้น ซึ่งจะทำให้ครูสามารถสร้างบรรยากาศการเรียนรู้ที่เป็นไปในทางสร้างสรรค์ แทนที่จะคร่ำเคร่งอยู่กับตัวเลข ข้อมูลในการเรียนการสอนตามหนังสือ แต่หันมาคิดประดิษฐ์อุปกรณ์ และสื่อการสอนในรูปแบบที่ทันสมัย
ด้วยการศึกษายุคใหม่ ทำให้ค้นพบความจริงที่ว่า สมองของวัยรุ่นยังพัฒนาไปได้อีกไกล เมื่อได้ใช้ช่วงวัยให้เป็นประโยชน์ทางการศึกษา ด้วยช่วงแห่งการเรียนรู้นี่เอง ได้ครอบคลุมทั้งสองส่วนของ “ปัญญาภายนอก” ซึ่งหมายถึง ความรู้และทักษะต่างๆที่มีความหลากหลาย ซึ่งเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า “พหุปัญญา”(Multiple Intellizent) ปัญญาภายใน คือ “ความสามารถในการควบคุมตนเอง" และลักษณะพิเศษของบุคคลหรือที่เรียกกันว่า EI หรือ IQ บ้าง (Emotional Intellzent) ซึ่งเป็นการแสดงออกถึงความเฉลียวฉลาดทางอารมณ์ เป็นความสามารถในการเข้าใจความรู้สึกของตนเอง เข้าใจผู้อื่น และสามารถปรับอารมณ์ เพื่อให้มีการใช้ชีวิตในสังคมอย่างปรกติ .
ทั้งนี้ เพราะสมองใหญ่ของคนเราจะประกอบด้วย “สมองส่วนคิด”(Cerebral Cortex) และ สมองส่วนอยาก(Limbic System) ซึ่งทำงานเกี่ยวข้องกับสัญชาตญาณและอารมณ์ การเติบโตของปัญญาภายนอกเป็นผลมาจากการเรียนรู้ หรือสมองส่วนคิดในการจัดการกับสิ่งแวดล้อมภายนอก ในขณะที่ปัญญาภายในเป็นผลมาจากการเรียนรู้ในการจัดเก็บสัญชาติญาณ และอารมณ์อันเป็นความต้องการภายใน นั่นคือ สมองมีศักยภาพในการพัฒนาปัญญาภายนอกและปัญญาภายในไปพร้อมกัน
สรุปแล้ว สมองทั้งสองส่วนไม่มีวันแยกกันอย่างแน่นอน แต่สิ่งสำคัญคือ เราจะจัดการควบคุมการทำงานของสมองอย่างไร จึงจะมีประสิทธิภาพ มีศักยภาพสูงสุดในการสร้างสรรค์ พัฒนาให้อยู่ในแนวทาง ที่ถูกต้อง ชอบธรรม ตามหลักจริยธรรม และเป็นประโยชน์
ดังเช่นการใช้สมองของนักคิด นักวิทยาศาสตร์ในอดีต เช่น อิบนิซีนา (Aviccenne) นักปรัชญาและนายแพทย์ อิบนิรุชด์ (Averroes) นักศาสนา นักเคมี และนายแพทย์ อิบนิคอลดูน นักสังคมศาสตร์ กาลิเลโอ (Galileo) ผู้ค้นพบระบบสุริยจักรวาล นิวตัน (Newton)ผู้ค้นพบแรงโน้มถ่วง หลุยส์ปาสเตอร์ (Louis Pasteur)นักเคมีผู้ค้นพบวัคซีนป้องกันพิษสุนัขบ้า ไม่ใช่ผู้ที่ใช้ความฉลาดปราดเปรื่องของสมองไปในการฉ้อฉล การฉวยโอกาส เบียดเบียน ใส่ร้ายป้ายสี คดโกงผลประโยชน์แบบซ้อนเร้น ผลประโยชน์ทับซ้อน เล่นการพนัน ค้ายาเสพติด ค้าอาวุธสงคราม และการหาผลประโยชน์ส่วนตนโดยไม่สมควร ขัดต่อหลักคุณธรรมและจริยธรรม…
มูลนิธิ ชี้นำสู่สันติสุข