ปรัชญาซูฟียฺ
อ.ซอและห์ มีสุวรรณ
ความเป็นมาประวัติศาสตร์มนุษยชาติบันทึกไว้ว่า มนุษย์ถือกำเนิดขึ้นมาจากการสร้างสรรค์ของพระผู้เป็นเจ้าด้วยธรรมชาติที่บริสุทธิ์ปราศจากความผิดใดๆ อิสลามยังยืนยันอีกว่าอาดัมเป็นมนุษย์คนแรกแห่งพื้นพิภพนี้ เป็นต้นตระกูลของมนุษยชาติ เป็นผู้นำสาส์นแห่งพระผู้เป็นเจ้าที่ว่า ไม่มีพระผู้เป็นเจ้าอื่นใด นอกจากอัลลอฮฺ อันหมายถึงการยอมรับว่า อัลลอฮฺเป็นผู้สร้างสรรพสิ่งในสากลจักรวาล และมีอำนาจการปกครองแต่เพียงพระองค์เดียว หลักความเชื่อดังกล่าวจึงสถิตย์อยู่ในจิตสำนึกของมนุษย์ทุกคน และเป็นธรรมชาติที่ติดตัวมาแต่กำเนิด
ทุกครั้งที่มนุษย์สังเกตเห็นปรากฏการณ์ธรรมชาติ ที่สร้างความฉงนสนเท่ห์หรือสร้างความหวาดหวั่นพรั่นพรึงขึ้นในใจ หรือสร้างความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สิน สามัญสำนึกของมนุษย์จะบอกได้ทันทีว่า มันเกิดจากอำนาจลี้ลับบางอย่าง มนุษย์จึงเริ่มไขว่คว้าหาที่พึ่งทางใจจากวัตถุรอบข้างมาเคารพบูชา โดยมุ่งหวังว่าสิ่งนั้นจะมีอำนาจคุ้มครองพวกเขาให้ปลอดภัย และเอื้ออำนวยประโยชน์ต่อการดำรงชีวิตได้มากขึ้น
ความสนใจในความลี้ลับดังกล่าว ถือเป็นธรรมชาติของมนุษย์มาในทุกยุคทุกสมัย ด้วยเหตุนี้พระผู้เป็นเจ้าจึงส่งบรรดาศาสนฑูตมาเผยแผ่หลักการศรัทธาพื้นฐานแก่ประชาชาติในยุคต่างๆ ตลอดมา ตั้งแต่ยุคศาสดาอาดัมจนถึงยุคศาสดามุฮัมมัด ถึงกระนั้นก็ดี ยังมีมนุษย์บางกลุ่มที่ไม่ศรัทธา ได้เสาะแสวงหาสิ่งอื่นมาเป็นเครื่องยึดเหนี่ยว และคิดว่ามันมีอำนาจศักดิ์สิทธิ์ที่สามารถดลบันดาลสิ่งต่างๆ ให้เกิดขึ้นได้ ความเชื่อดังกล่าวนี้ได้พัฒนาขึ้นจนถึงขั้นที่เชื่อว่า มีเทพเจ้าสิงสถิตย์อยู่ในทุกอณูของธรรมชาติ และนี่คือความนิยมสิ่งลี้ลับที่แฝงอยู่ในจิตวิญญาณของมนุษย์
การนิยมความลี้ลับจึงมิใช่สิ่งที่เกิดใหม่ มันมีอยู่ในทุกชนชาติ ทุกภาษาและทุกศาสนา จะมีความแตกต่างกันบ้างในด้านรูปแบบและทฤษฎี บ่อเกิดแห่งการคิดใคร่ครวญถึงความลี้ลับนี้ถูกบันทึกครั้งแรกในดินแดนอียิปต์โบราณ อินเดีย กรีกและเปอร์เซีย (เสถียร พันธรังษี, 2521:12) หลังจากนั้นมีการแพร่หลายเข้าไปทั่วทุกแห่ง มีพฤติกรรมในทางปฏิบัติในรูปแบบที่เรียบง่ายที่สุด จนถึงแปลกประหลาดที่สุด แต่จะมีจุดมุ่งหมายปลายทางไปในทิศทางที่คล้ายคลึงกัน คือการนำตนเองเข้าไปใกล้ชิดหรือรวมอยู่กับเทพเจ้า เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันกับพระองค์ ซึ่งถือเป็นความใฝ่ฝันสูงสุดของผู้นิยมความลี้ลับทุกคน
เมื่อเป็นเช่นนี้พวกเขาจึงเริ่มสร้างทฤษฎีที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะกลุ่มขึ้นมา เพื่อเป็นแนวทางให้ผู้ที่หลงใหลคลั่งไคล้ในเรื่องดังกล่าวนี้ได้ใช้ปฏิบัติสืบต่อกันมา และนี่เองคือจุดกำเนิดของลัทธินิยมความลี้ลับหรือรหัสยนิยม (Mystism) ลัทธินี้ถือว่ามีภาวะความจริงหรือคุณค่าบางอย่างที่บุคคลที่มีผัสสะพิเศษเท่านั้นที่เข้าถึงได้ โดยทั่วไปหมายถึงประสบการณ์ทางศาสนา เช่นการบรรลุญาณ การเข้าถึงพระผู้เป็นเจ้า เป็นต้น (พจนานุกรมปรัชญา, 2532:76)
ลัทธินิยมความลี้ลับได้พัฒนาไปอย่างรวดเร็ว และหลั่งไหลสู่หมู่ชนผู้นับถือศาสนาต่างๆ แนวทางการฝึกฝนจิตวิญญาณได้รับความนิยมเป็นอย่างมากจากหมู่ผู้รักความสงบทางใจ แต่เนื่องจากแนวทางดังกล่าวยังมีลักษณะที่ขัดต่อหลักธรรมชาติของการดำเนินชีวิตของมนุษย์ กล่าวคือจะเน้นหนักในการสละโลกโดยสิ้นเชิง ละทิ้งพันธะหน้าที่ ที่มีต่ครอบครัวและสังคม มุ่งสำรวมจิตต่อสิ่งที่ตนปรารถนาเพียงอย่างเดียว
นักการศาสนาผู้เคร่งครัดบางท่านจึงลุกขึ้นมาต่อต้านกระแสดังกล่าว พร้อมกับสร้างทฤษฎีที่ถูกต้องตามหลักการและเหตุผลของศาสนา แต่ถึงกระนั้นก็ไม่อาจยับยั้งกระแสดังกล่าวได้ ขบวนการนิยมความลี้ลับได้เจริญเติบโตต่อไปจนกลายเป็นจุดกำเนิดของปรัชญานิยมความลี้ลับ ที่มีแนวทางเป็นเอกลักษณ์ของตนเอง
เมื่อศาสนาอิสลามปรากฏตัวขึ้นในคาบสมุทรอรับ โดยมีท่านศาสดามูฮัมมัด เป็นผู้เผยแผ่และมีคัมภีร์อัลกุรอานเป็นธรรมนูญสูงสุดในการดำเนินชีวิต มุสลิมผู้นับถือศาสนาอิสลามได้รับรู้ถึงถ้อยคำอันละเอียดอ่อนและลึกซึ้งของคัมภีร์ดังกล่าว พร้อมนำไปปฏิบัติเพื่อความผาสุขในชีวิต
แต่มุสลิมบางกลุ่มกลับมีความเชื่อว่าพวกเขาได้ดื่มด่ำกับอรรถรสของถ้อยคำดังกล่าวมากเป็นพิเศษ โดยยืนยันว่าในถ้อยคำเหล่านั้นมีความหมายที่ลึกซึ้งแฝงไปด้วยความเร้นลับอีกมากมาย เมื่อพวกเขาอ่านคัมภีร์อัลกุรอานด้วยความเพ่งพินิจและเอาใจใส่เป็นอย่างดี ความหมายที่ซ่อนอยู่ในพระราชดำรัสแห่งพระผู้เป็นเจ้าจะฉายแววขึ้นในนัยน์ตา ในจิตใจของพวกเขา อันเป็นการอนุมาน(การสมมุติ) โดยอาศัยญาณวิสัยชนิดหนึ่ง กระแสความรู้อันลี้ลับจะวิ่งเข้าสู่ดวงจิตของพวกเขา ซึ่งพวกเขาเชื่อว่าพระองค์ทรงเปิดเผยให้อย่างลับๆ (อิมรอน มะลูลีม, 2534:86) และนี่เองจึงเป็นที่มาของแนวคิดนิยมความลี้ลับในอิสลาม หรือที่เรียกว่า ซูฟียฺ (Sufism)
ซูฟียฺตามทัศนะที่แพร่หลายที่สุดจะหมายถึง ผู้นิยมใส่เสื้อผ้าขนสัตว์ อันแสดงถึงความเรียบง่าย มีสมถะ (อัลมัวะอ์ญัมอัลวะสีต, มปป:549) ในที่นี้จะหมายถึงบุคคลที่เลือกใช้ชีวิตอย่างเรียบง่าย ไม่ฟุ้งเฟ้อ ไม่ลุ่มหลงกับชีวิตในโลกนี้มากเกินไป ในความหมายนี้ท่านศาสดามูฮัมมัด และบรรดาสหายผู้ใกล้ชิดในช่วงต้นของอิสลามก็คือนักซูฟียฺเช่นเดียวกัน เพราะพวกเขาใช้ชีวิตอย่างสมถะ มุ่งมั่นทำจิตใจให้บริสุทธิ์ต่อพระผู้เป็นเจ้าควบคู่ไปกับการปฏิบัติภารกิจในโลกนี้ด้วย ซึ่งทั้งหมดจะต้องประกอบเข้าด้วยกัน จะละทิ้งส่วนหนึ่งส่วนใดมิได้ แต่มีสหายบางคนของท่านศาสดาที่มีแนวโน้มไปในทางการปลีกตัว เพื่อประกอบศาสนกิจในบางโอกาสมากกว่าจะให้ความสำคัญกับภารกิจในสังคม
ลัทธิซูฟียฺในอิสลามได้วิวัฒนาการไปตามธรรมชาติของมนุษย์ที่ประกอบด้วยจิตวิญญาณและร่างกาย มุสลิมในช่วงต้นของอิสลามได้ให้ความสำคัญด้านจิตวิญญาณควบคู่ไปกับร่างกาย ปฏิบัติตามคำสอนอย่างเคร่งครัด ความโน้มเอียงไปในทางปลีกวิเวกนั้นมีอยู่ในมุสลิมบางคนเท่านั้น แต่หลังจากนั้นในช่วงต้นศตวรรษที่สองของฮิจเราะห์ศักราช (คริสต์ศตวรรษที่ 8) ความโน้มเอียงดังกล่าวได้แพร่หลายไปในหมู่มุสลิมอย่างรวดเร็ว พร้อมๆกับความเจริญรุ่งเรืองของอาณาจักรอิสลาม
สาเหตุดังกล่าวมาจากวิกฤตการณ์ทางการเมืองครั้งยิ่งใหญ่ของโลกมุสลิม ซึ่งก่อให้เกิดความแตกแยก ความระส่ำระสาย มีการแก่งแย่งชิงดีชิงเด่นกันในหมู่ผู้ปกครองเมือง ประชาชนใช้ชีวิตอย่างหรูหรา ฟุ่มเฟือย หลงระเริงในด้านวัตถุ หลงลืมพระผู้เป็นเจ้า ละทิ้งหลักการของศาสนา บ้านเมืองมีแต่ความวุ่นวายสับสน เหตุการณ์ดังกล่าวทำให้มุสลิมผู้เคร่งครัดบางคนเกิดความเบื่อหน่ายชีวิตในสังคม พากันหันหน้าพึ่งพาความสงบทางใจแต่เพียงอย่างเดียวตามแนวทางของซูฟียฺที่กำลังแพร่หลายอยู่ในขณะนั้น
ประกอบกับกระแสปรัชญานิยมความลี้ลับที่ไม่มีระเบียบวินัยควบคุมจากภายนอก ได้หลั่งใหลเข้าสู่อาณาจักรอิสลามและมีอิทธิพลต่อนักซูฟียฺบางท่าน จนเกิดแนวคิดที่เบี่ยงเบนไม่เป็นอิสลาม ซึ่งจุดนี้เองบรรดานักซูฟียฺผู้เคร่งครัดได้พยายามหาทางป้องกันแก้ไข พร้อมทั้งสร้างทฤษฎีที่เป็นระบบมาใช้กับผู้นิยมลัทธิซูฟียฺทั่วไปแต่ไม่เป็นผล กระแสความเบี่ยงเบนได้ไหลบ่าสู่กลุ่มซูฟียฺจนไม่อาจหยุดยั้งได้
ที่มา : มิฟตาฮู่ลอุลูมิดดีนียะห์ บ้านดอน
ประวัติและพัฒนาการของปรัชญาซูฟียฺ >>>> Click