ใครเคยกิน หมู ยกมือขึ้น ?
  จำนวนคนเข้าชม  14287

“ใครเคยกินหมูยกมือขึ้น?”


          คำถามนี้ ถ้าถามคนที่ไม่ใช่มุสลิม คนส่วนใหญ่คงจะยกมือขึ้น แต่ถ้าเป็นมุสลิม อาจจะมีบางคนเท่านั้นที่ยกมือ ที่เหลือหลายคน คงจะไม่มั่นใจว่าตนเคยทานหรือไม่ เพราะคนสมัยนี้ ไม่ได้เลี้ยงสัตว์ปลูกพืช และประกอบอาหารทานเอง แต่เราทานอาหารที่ผ่านกระบวนการผลิต(Process foods) เพื่อความสะดวกสบาย จึงไม่แน่ใจว่าอาหารที่ทานเขาผสมอะไรลงไปบ้างส่วนใหญ่อาหารที่ผ่านกระบวนการผลิต(Process Foods) จะมีการใช้วัตถุเจือปนในอาหาร(Foods Additives) หลายอย่างที่ไม่ฮาลาล

เช่น ใช้ กลิ่นไก่ ไขมันหมู แอลกอฮอล์ หรือวัตถุต้องสงสัย(ชุบฮัต)

เช่น เจลาติน(Jelatine)คอลลาเจน(Collagen ) สารคงตัว(Emulsifier) หรือสารทำให้เป็นเนื้อเดียว(Stabilizer) ซึ่งวัตถุเจือปนนั้นอาจจะมาจากส่วนของหมู หรือส่วนของสัตว์ที่ไม่ฮาลาลก็ได้

ตัวอย่างเช่น การผลิตขนมปัง เค้กหรือคุกกี้ จะมีการใช้เนยขาว(Shortening) มาการีน หรือ SP ซึ่งอาจมาจากพืชหรือไขมันสัตว์ที่ฮารอมก็ได้ 

ซึ่งกรณีวัตถุเจือปนในอาหารที่น่าสงสัย(ชุบฮัต) นั้นอิลสามให้หลีกเลี่ยงแต่เป็นเรื่องที่น่าเศร้าที่มุสลิมในปัจจุบันนี้ จำนวนไม่น้อยที่ต้องทานอาหารปนเปื้อน สิ่งฮารอมเพราะสาเหตุสำคัญ 3 ประการ คือ


1. ความไม่รู้

          เพราะอาหารที่ผ่านกระบวนการผลิต (Process Foods) ส่วนใหญ่จะมีการเติมวัตถุเจือปน(Additives) ต่างๆ ซึ่งผู้คนส่วนใหญ่ ก็ไม่รู้ว่า วัตถุเจือปนต่างๆ ที่เติมลงไปนั้นทำมาจากอะไร และส่วนใหญ่ก็จะมีชื่อเฉพาะทางวิทยาศาสตร์หรือรหัสทางวิทยาศาสตร์(E‐code)พออ่านฉลากเจอส่วนผสมที่มีชื่อภาษาอังกฤษก็คิดไปเองว่าคือสารเคมี หากนำมาใช้ก็ไม่น่าจะมีปัญหาอะไร ยกตัวอย่างเช่น วัตถุเจืออาหาร รหัส E‐471 (Mono and Diglycerides) ซึ่งเป็นกรดไขมันชนิดหนึ่งและเป็นส่วนผสมของ โอวาเล็ต (OVALETT), TBM อีซี 25 เค (EC25K) และ เอส พี(SP) ซึ่งใช้ในวงการอุตสาหกรรมเบเกอรี่ สำหรับการผสมลงในแป้งที่ทำขนมปัง ขนมอบ ขนมที่ขึ้นฟูด้วยไข่ แต่เท่าที่ผู้เขียนลองสำรวจในร้านค้าขายส่ง SP.ในหาดใหญ่ พบว่าในฉลากสินค้าไม่มียี่ห้อใดที่มีเครื่องหมายรับรองฮาลาล


2. ไม่สนใจในเรื่องฮาลาล

          ปัจจุบันมีมุสลิมจำนวนไม่น้อยที่ยังไม่ให้ความสำคัญในเรื่องฮาลาลฮารอม ตัวอย่างเช่น ร้านค้ามุสลิมจำนวนไม่น้อยที่ยังขายบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปที่ไม่ฮาลาล โดยความจริงแล้วผู้ผลิตบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปเขาก็ไม่ได้บอกว่าสินค้าของเขาฮาลาลแต่เพราะมันเป็นยี่ห้อดังที่ขายดี เช่น มาม่า หรือ ไวไว 

          พ่อค้าแม่ค้ามุสลิมเราทำใจไม่ได้กับกำไรเล็กๆน้อยๆ ที่ได้รับในโลกดุนยานี้ หากร้านของฉันไม่นำมาขาย ลูกค้าก็จะไปซื้อที่ร้านอื่นอยู่ดี เพราะคิดอย่างนี้กัน รู้กันบ้างหรือป่าวว่าถึงไม่ใช่รสหมูก็ผลิตด้วยสายการผลิตเดียวกับรสหมูสับ ซึ่งต้องราดน้ำซุบไก่ลงในเส้นก่อน เข้าเครื่องทอดด้วยน้ำมันแล้วเข้าเครื่องอบแห้งจากนั้นก็บรรจุเส้นบะหมี่ลงในซองพร้อมเครื่องปรุงรส แต่รสชาติที่แตกต่างกันก็จะแยกไปบรรจุลงซองที่แตกต่างกันพร้อมกับซองของเครื่องปรุงรส(Flavour)ชนิดต่างๆ

            ส่วนบะหมี่รสหมูสับนั้นผู้ผลิตจะใช้กลิ่นหมูสังเคราะห์ (Artificial Flavour)แต่งรสแทนการใช้สารสกัดจากหมูจริงๆ แต่เครื่องปรุงรสไก่นั้นเขาใช้กลิ่นที่สกัดจากเนื้อไก่จริงๆนะครับ ที่น่าแปลกใจ คือปัญหานี้เราจะพบเฉพาะในภาคใต้ซึ่งมุสลิมเป็นคนส่วนมาก ที่อาหารการกินที่ฮาลาล หาซื้อได้ง่าย แต่กลับไม่พบปัญหามุสลิม ขาย มาม่า ไวไว ในสังคมมุสลิมภาคเหนือ ภาคอีสาน หรือ กรุงเทพฯ ซึ่งอาหารการกินที่ฮาลาลก็หากินยากกว่ามาก หรือเพราะว่าพวกเราไม่ช่วยกันแนะนำตักเตือน(นาซีฮัต) ซึ่งกันและกันครับ


3.ถูกหลอก

          โดยทั่วไปแล้วผู้ประกอบการต้องการผลิตสินค้าหรือบริการที่ตรงตามความต้องการของลูกค้าอยู่แล้ว จึงไม่มีเหตุผลที่จะไปหลอกมุสลิมกินหมู หรือกินของที่ฮารอมเพราะมันเสี่ยงที่จะเสียชื่อเสียงได้ง่ายๆ แต่ก็ยังมีผู้ประกอบการที่ไม่ซื่อสัตย์เพราะอยากลดต้นทุนอยากมีกำไรมาก  เพราะมุสลิมเรามีปัญหาตามข้อ 1 และ  2 จึงถูกหลอกกันง่ายๆ เพียงเขาแขวนป้ายที่หน้าร้านว่า “อิสลามทานได้” มุสลิมเราก็เข้าแถวซื้อกินกับเขาด้วย

           ส่วนมุสลิมเราก็ผสมโรงมีส่วนร่วมกับเขาด้วยการใส่หมวกกะปิเยาะเข้าไปนั่งกินไก่ทอด KFC.ในห้างดัง ทั้งๆที่เขาก็ไม่มีป้ายบอกเลยว่าไก่ทอดเขานั้นฮาลาล ส่วนมุสลิมะฮ์ก็ใส่ผ้าคลุมผม ขายของที่น่าสงสัย(ชุบฮัต) นั้น จึงไม่แปลกที่เด็กๆเยาวชนมุสลิมเข้าไปอุดหนุนจนเต็มร้าน

          อีกกรณีหนึ่งคือหลอกโดยไม่ตั้งใจ เช่น ผู้ผลิตเต้าหู้ปลา ที่ได้เครื่องหมายรับรองฮาลาลยี่ห้อดังแห่งหนึ่งในภาคใต้ เมื่อประมาณเดือน กันยายน พศ.2551 โรงงานได้ใช้วัตถุเจือปน (Additives) จากยุโรป ซึ่งมีส่วนผสมของหมูใส่ในผลิตภัณฑ์โดยที่ไม่ได้ผ่านการตรวจสอบก่อน เมื่อมีหน่วยงานมาสุ่มตรวจพบ DNA.หมูในผลิตภัณฑ์ ในเดือนตุลาคม2551 แทนที่บริษัทจะมีการประกาศเรียกคืนผลิตภัณฑ์ที่มีปัญหาทั้งหมดทันที แต่กลับมีการเก็บคืนสินค้าเพียงบางส่วน โดยไม่มีการประกาศเรียกคืนสินค้าทั้งหมดเพราะกลัวเสียชื่อกัน (แต่ไม่กลัวบาปที่มุสลิมต้องกินหมู) จนกระทั่งถึงเดือนกุมภาพันธ์ 2552 ก็ยังพบผลิตภัณฑ์ดังกล่าววางขายในห้างดังกลางเมืองกรุงเทพฯ

          หรือเราต้องรีบปรับปรุงระบบการบริหารจัดการตรวจรับรอง ฮาลาลของเราให้มีประสิทธิภาพและรัดกุมกว่านี้

           พี่น้องอ่านถึงตรงนี้แล้วก็อย่าเพิ่งเครียดนะครับ เพราะหากเราพิจารณาให้ดีๆ ปัญหาต่างๆข้างต้นแก้ไม่ยากเลยหากมุสลิมเราช่วยกันเผยแพร่ความรู้ด้านฮาลาลให้แพร่หลาย และเกรงกลัวต่อบาป อย่าเห็นแก่ผลประโยชน์เล็กๆน้อยๆในโลกดุนยา อินชาอัลลอฮ์ สังคมเราก็จะดีขึ้นในเร็ววัน หลักสำคัญคือให้ยึดมั่นในฮาดิษของท่านรอซูลุลลอฮ์  ที่ว่า สิ่งที่อนุมัติ (ฮาลาล) นั้นชัดแจ้ง สิ่งที่ต้องห้าม(ฮารอม) ก็ชัดแจ้ง และสิ่งที่คลุมเครือ (ไม่ชัดแจ้ง) ให้หลีกห่าง 

          และความจริงแล้วพระองค์อัลลอฮ์ได้ทรงสร้างให้สรรพสิ่งต่างๆส่วนมากในโลกนี้นั้นฮาลาล(อนุมัติ)ให้แก่มนุษย์ในการใช้ประโยชน์ มีเพียงส่วนน้อยนิดเท่านั้นที่ต้องห้ามแก่มนุษย์ ซึ่งส่วนน้อยที่ต้องห้ามแก่มนุษย์นั้นก็ เพราะมันเสียหายหรือไม่เป็นประโยชน์นั้นเอง

 

จัดทำโดย  : ฝ่ายวิชาการและประชาสัมพันธ์

ชมรมคุ้มครองผู้บริโภคด้านฮาลาล    จ.ยะลา

www.hacpa.net