ทำอย่างไร…ไม่อยากให้ลูกเป็นเด็กมีปัญหา
  จำนวนคนเข้าชม  31297

ทำอย่างไร…ไม่อยากให้ลูกเป็นเด็กมีปัญหา
 

 
       “เด็กมีปัญหา” คงไม่ใช่คำพูดสรรเสริญเยินยอ แต่เป็นคำที่หากคุณพ่อคุณแม่คนไหนได้ยินว่าเป็นคำที่พูดถึงลูกของเรา ก็คงจะสะดุ้งและเครียดไม่น้อยเลยทีเดียว เพราะนั่นอาจจะหมายความว่าลูกเรามีพฤติกรรมอย่างหนึ่งอย่างใดที่ไม่พึงประสงค์ก็เป็นไปได้ ซึ่งโดยความเข้าใจหรือความรู้สึกนึกคิดของคนทั่วไป มักมองลักษณะของเด็กมีปัญหาเป็นเช่นนี้
      
       1. เด็กที่มีปัญหาทางด้านร่างกาย เป็นต้นว่าเด็กมีปัญหาด้านการได้ยิน เช่น หูตึง หูหนวก เด็กมีปัญหาทางด้านการมองเห็น เช่น สายตาสั้น ตาบอดสี หรืออาจจะเป็นเด็กที่มีปัญหาด้านการพูด เช่น พูดติดอ่าง พูดไม่ชัด ซึ่งปัญหาทางด้านร่างกายต่างๆเหล่านี้ มักส่งผลให้เด็กไม่สามารถสื่อสารกับคนอื่นได้อย่างเป็นปกติ จึงอาจทำให้ผู้ที่ต้องสื่อสารด้วยเกิดความรู้สึกรำคาญหรือเกิดความไม่พอใจในตัวเด็กนั้น ในทางกลับกันเด็กที่มีปัญหาทางด้านร่างกายเหล่านี้ก็จะรู้สึกว่าตนเองเป็นคนมีปมด้อย เกิดความน้อยเนื้อต่ำใจ จนพาลรู้สึกโกรธ โมโห เมื่อมีความรู้สึกเช่นนี้ฝังอยู่มากๆก็อาจทำให้กลายเป็นเด็กมีพฤติกรรมก้าวร้าวได้ในที่สุด
      
       2. เด็กที่มีปัญหาทางด้านจิตใจ อารมณ์และสังคม คือ เด็กที่มีปัญหาในการแสดงออกทางอารมณ์และในการสร้างความสัมพันธ์กับผู้อื่น ซึ่งส่วนใหญ่ปัญหามักเกี่ยวข้องกับการเลี้ยงดูจากครอบครัว ซึ่งเป็นได้ทั้งกรณีที่เด็กถูกเลี้ยงอย่างกดดันมากเกินไปและเป็นได้ทั้งกรณีที่เด็กถูกเลี้ยงอย่างปล่อยปละละเลย ซึ่งเด็กที่ถูกเลี้ยงอย่างบีบบังคับ ถูกครอบไว้ไม่สามารถทำอะไรตามใจตนเองได้ ถูกจ้ำจี้จ้ำไช ถูกจับผิดในทุกๆเรื่อง มักเป็นเด็กที่เก็บกด เซื่องซึม เหม่อลอย ไม่เล่นหรือทำกิจกรรมร่วมกับเพื่อน ส่วนเด็กที่ไม่ได้รับความเอาใจใส่จากพ่อแม่หรือครอบครัว มักมีปัญหาเรื่องพฤติกรรมรุนแรง เพราะไม่ได้รับการอบรมสั่งสอน โดยอาจเป็นเด็กที่ชอบเรียกร้องความสนใจจากผู้อื่นอยู่ตลอดเวลา หรือเป็นเด็กที่เกเร ชอบทำร้ายผู้อื่น ชอบทำลายข้าวของทั้งของตนเองและของผู้อื่น ชอบโขมยหรือพูดโกหก
      
       3. เด็กที่มีปัญหาทางด้านสติปัญญา ในที่นี้หมายถึงเด็กที่อยู่ในกลุ่มของเด็กพิเศษ (Special Child) เช่น เด็กดาวน์ซินโดรม เด็กออทิสติก เด็กสมาธิสั้น ซึ่งเป็นเด็กที่ขาดความเข้าใจในการเรียนรู้ ไม่สามารถสื่อความหมายหรือสื่อสารกับผู้อื่นได้ ไม่สามารถจดจ่ออยู่กับการทำกิจกรรมอย่างหนึ่งอย่างใดได้นาน อีกทั้งไม่สามารถคิดแยกแยะหรือคิดอย่างสมเหตุสมผลได้
      
       อย่างไรก็ตาม แม้ที่กล่าวมาข้างต้นจะเป็นลักษณะของเด็กที่คนทั่วไปมองว่าเป็นเด็กที่มีปัญหา แต่การที่จะเจาะจงหรือตัดสินว่าเด็กคนใดเป็นเด็กที่จัดอยู่ในข่ายเป็นเด็กมีปัญหานั้น ควรต้องมองในแง่ของเหตุผลของการมีพฤติกรรมที่แสดงออกเช่นนั้นประกอบด้วยว่าขึ้นอยู่กับปัจจัยใดบ้าง
      
       - อายุของเด็ก คุณพ่อคุณแม่ต้องเข้าใจในพฤติกรรมและพัฒนาการของเด็กแต่ละวัยเป็นอย่างดี เช่นในกรณีที่เด็กอายุ 4 ปีแล้ว แต่ยังติดคุณพ่อคุณแม่หรือพี่เลี้ยงอยู่ตลอดเวลา ทั้งที่ตามปกติแล้วเด็กวัยนี้จะเริ่มชอบการผจญภัยด้วยตนเองแล้ว หรือกรณีเด็กอายุ 8-9 ปีแล้ว แต่ยังปัสสาวะรดที่นอนอยู่ แสดงว่าพฤติกรรมเหล่านี้เป็นปัญหา และคุณพ่อคุณแม่ต้องพยายามหาสาเหตุเพื่อแก้ไข ซึ่งปัญหานี้อาจเกิดได้ทั้งจากความผิดปกติของร่างกายหรือการเป็นโรคต่างๆที่คุณพ่อคุณแม่ไม่รู้ หรืออาจเกิดจากปัญหาทางด้านอารมณ์ก็ได้
      
       - ความถี่ของพฤติกรรม คุณพ่อคุณแม่ต้องคอยสังเกตว่าลูกแสดงพฤติกรรมที่เป็นปัญหาในลักษณะเดียวกันบ่อยครั้งหรือไม่ เป็นต้นว่า ลูกนอนละเมอเสียงดังทุกคืน ซึ่งปัญหานี้อาจเกิดจากความเครียดที่ได้รับ เช่น ทำข้อสอบไม่ได้ หรือลูกกลัวในสิ่งหนึ่งสิ่งใดอย่างไม่มีเหตุผลหรือมากเกินไป ซึ่งอาจเกิดจากความกลัวที่ถูกฝังมาตั้งแต่เล็กแต่น้อย เช่น กลัวปากกา เพราะเคยถูกปากกาจิ้มมือตอนเด็กๆ หรือกลัวมดดำ เห็นทีไรเป็นต้องร้องไห้ทุกที เพราะเคยถูกมดดำไต่ขา
      
      
ซึ่งเป็นการดีหากคุณพ่อคุณแม่สามารถที่จะหาสาเหตุหรือทราบถึงเหตุผลแห่งปัญหานั้น และสามารถแก้ไขได้ก็จะเป็นการลบพฤติกรรมที่เป็นปัญหาออกไปจากชีวิตของลูกเราได้ ไม่ฝังอยู่ในชีวิตของเขาจนเกิดเป็นผลกระทบทั้งต่อตัวเด็กเอง เช่น เด็กบางคนชอบทำร้ายตนเอง เวลาโมโหหรือโดนขัดใจ เช่น เอาหัวโขกพื้น ทุบตีตนเอง ซึ่งบางรายอาจเพิ่มระดับของการทำร้ายตนเองมากขึ้นตามอายุจนถึงขั้นฆ่าตัวตายได้ หรือจนเกิดเป็นผลกระทบต่อผู้อื่น เช่น เด็กบางคนมีพฤติกรรมรุนแรง ชอบทำลายข้าวของผู้อื่น ชอบทำร้ายสัตว์เลี้ยง ชอบรังแกน้องหรือเด็กที่เล็กกว่าอยู่เป็นประจำ
      

       วิธีแก้ไขพฤติกรรมของเด็กมีปัญหา
      
       1. การเสริมแรงทางบวก หมายถึงการทำให้ความถี่ของการแสดงออกด้านพฤติกรรมที่ดีที่พึงประสงค์ของเด็กเพิ่มมากขึ้น เช่น หากเด็กขี้อาย มีพฤติกรรมชอบแยกตัว ไม่ชอบร่วมกิจกรรมหรือพูดคุยกับเพื่อน คุณพ่อคุณแม่หรือคุณครูควรเข้าไปมีส่วนร่วมกับลูก เป็นต้นว่า แทนที่จะให้ลูกเข้าไปหาเพื่อนก่อน อาจจะเปลี่ยนเป็นชักชวนเพื่อนลูกให้เข้ามาหาเขา เมื่อลูกเริ่มคุ้นชินกับเพื่อนสักนิดแล้วก็ให้กล่าวชมเชย ซึ่งจะทำให้ลูกเกิดความมั่นใจมากขึ้นและจะช่วยให้ลูกยอมที่คุยหรือเล่นกับเพื่อนมากขึ้น นอกจากนี้เมื่อลูกมีพฤติกรรมดีขึ้น คุณพ่อคุณแม่ควรเสริมแรงด้วยการสัมผัสตัว กอด ลูบหัว ยิ้มหรือแสดงท่าทีในการยอมรับ เช่น พยักหน้า ปรบมือ ให้รางวัล
      
       2. หยุดยั้งพฤติกรรมนั้น คือ การไม่ต่อสู้กับพฤติกรรมไม่พึงประสงค์ เพื่อให้พฤติกรรมไม่ดีนั้นยุติลง ผู้เขียนรู้จักเด็กหญิงคนหนึ่งซึ่งเรียนในระดับชั้นประถมศึกษาตอนปลาย เด็กคนนี้มีพฤติกรรมก้าวร้าว ชอบโต้เถียงอย่างรุนแรงกับคุณแม่ของเขาไม่ต่ำกว่าวันละ 5-10 ครั้ง ซึ่งคุณแม่ของเด็กคนนี้รู้สึกหนักใจมากจึงได้ไปปรึกษาจิตแพทย์ ซึ่งจิตแพทย์แนะนำให้คุณแม่หยุดโต้เถียงตอบและไม่ให้แสดงอาการสนใจใด ๆ โดยให้เดินหนีออกไปทันทีเมื่อลูกเริ่มโต้เถียง และเมื่อลูกหยุดพฤติกรรมก้าวร้าวโต้เถียงนั้นได้ ให้คุณแม่กล่าวชมเชยลูกทันที ผลปรากฏว่าเด็กผู้หญิงคนนี้มีพฤติกรรมการโต้เถียงกับคุณแม่ลดน้อยลงเรื่อยๆและในที่สุดก็สามารถยุติพฤติกรรมก้าวร้าวนี้ได้ภายในเวลา 1 เดือน
      
       3. การลงโทษ คนทั่วไปมักเข้าใจว่าการลงโทษคือการทำให้เจ็บปวดทางร่างกายและจิตใจด้วยวิธีการดุด่า หรือตบตี แต่แท้จริงแล้วการลงโทษคือการทำให้ผู้กระทำผิดได้สำนึกในสิ่งที่ได้กระทำ เพื่อให้พฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์นั้นยุติลง ซึ่งวิธีการลงโทษที่ดีและเหมาะสมสำหรับเด็ก ควรลงโทษแบบไม่ใช้การทำร้าย เช่น การให้เข้ามุมหรือการใช้เวลานอก (Time Out) เมื่อเด็กที่เป็นพี่รังแกน้อง ทั้งๆที่คุณพ่อคุณแม่ห้ามแล้วก็ยังไม่เชื่อฟัง คุณพ่อคุณแม่ก็สามารถใช้วิธีการลงโทษเด็กโดยการแยกเด็กที่ทำผิดไปอยู่อีกห้องหนึ่งที่ไม่มีของเล่นและไม่มีใครอยู่เลย เป็นระยะเวลาสั้นๆ เพื่อให้เขาได้สงบลงและได้มีเวลาคิดทบทวนถึงสิ่งไม่ดีที่เขาได้กระทำจนถูกลงโทษ ซึ่งการลงโทษโดยวิธีนี้ใช้ได้ผลไม่น้อยเลยทีเดียว
      
       หากลูกของเราคนใดมีพฤติกรรมที่เข้าลักษณะที่ไม่พึงประสงค์ อย่างแรกที่นอยากจะแนะนำคุณพ่อคุณแม่คือหาสาเหตุที่ทำให้ลูกมีพฤติกรรมนี้ให้ได้ก่อนและเมื่อพบสาเหตุแล้ว อย่างที่สองคือค่อยๆปรับเปลี่ยนพฤติกรรมที่มีปัญหาของลูก ซึ่งอยากให้คุณพ่อคุณแม่ใช้ความอดทนให้มาก อย่ารีบร้อน อย่าบีบคั้นลูก อย่างรุนแรง เพราะจะยิ่งเหมือนเป็นการเติมเชื้อไฟให้แรงขึ้นไปอีก และอย่างที่สามคือเมื่อลูกมีพฤติกรรมดีขึ้น ให้แสดงความชมเชยหรือชื่นชมเขา ด้วยวิธีการ 3 อย่างนี้ลูกของเราจะไม่เป็นเด็กมีปัญหาอีกต่อไปอย่างแน่นอน

 
 
Manager online /ดร.แพง ชินพงศ์