ชวนพ่อแม่เข้าใจพัฒนาการด้าน"สังคมและภาษา"ของลูกน้อย
กว่าจะเลี้ยงลูกให้เติบโตขึ้นมาเป็นคนดีของสังคมคงไม่ใช่เรื่องง่าย ๆ แต่ก่อนจะถึงวัยสอนเรื่องคุณธรรมจริยธรรม เด็ก ๆ และพ่อแม่ก็อาจต้องก้าวผ่านช่วงเวลาแห่งการพัฒนาการรับรู้ และสังคม การสนใจสิ่งรอบข้าง ส่งเสียงตอบโต้ ให้ได้เสียก่อน ซึ่งวันนี้ เรามีบทความดี ๆ จาก Kid Center โรงพยาบาลเวชธานีมาเล่าสู่กันฟังค่ะว่า พัฒนาการของเด็กทารก - 1 ขวบในด้านสังคมและภาษานั้น เป็นอย่างไรกันบ้าง
พัฒนาการด้านการรับรู้และสังคม
วัยแรกเกิด
-มองจ้องหน้าที่อยู่ในระยะใกล้ (8-10 นิ้ว)
- มองตามการเคลื่อนไหวของหน้าที่เอียงไปมาช้าๆ
- หยุดการเคลื่อนไหวแขนขา เมื่อได้ยินเสียง หรือสะดุ้ง เมื่อได้ยินเสียง
อายุ 2 เดือน- มองจ้องหน้าและมองตามได้บ่อยและนานขึ้น รู้จักเลียนแบบหน้าตา และทำปากตาม
- สนใจฟังเสียงพูดคุย อาจขยับตัวตามจังหวะ
อายุ 4 เดือน- สนใจมองคนหรือสิ่งของที่อยู่ไกลจากตัวไป สนใจมองตามคนที่คุ้นเคย
- สนใจฟังเสียงพูดคุยด้วย และเริ่มส่งเสียงอ้อแอ้โต้ตอบสลับกับผู้เลี้ยงดู
- หันมองหาข้างที่มีเสียง และแหล่งของเสียงได้ถูกต้อง
อายุ 6 เดือน- มองสิ่งของและสิ่งแวดล้อมมากขึ้น พยายามไขว่คว้า หยิบจับ เพื่อสำรวจพลิกดู เอาเข้าปาก
- เริ่มสังเกตสิ่งที่มองเห็นเมื่อถูกบังไว้ และแยกแยะคนแปลกหน้า
- เริ่มรับรู้มิติที่ 3 คือ ความลึก เริ่มมองตามของที่ตกลงจากมือสู่พื้น
- ฟังเสียงพูดคุย และเริ่มเข้าใจท่าทางและสำเนียง เช่น หยุดเมื่อถูกห้าม
- กินอาหารกึ่งเหลวที่ป้อนด้วยช้อนได้
อายุ 9 เดือน- เล่นจ๊ะเอ๋ได้ ตามไปเก็บของที่ตก หรือร้องตามแม่เมื่อแม่จะออกไปจากห้อง
- หยิบอาหารกินเองได้
อายุ 12 เดือน- ตบมือ เลียนท่าทางโบกมือ ร่วมมือเวลาแต่งตัว และชอบสำรวจ
การส่งเสริมพัฒนาการด้านการรับรู้
1. ให้พ่อแม่สังเกตพฤติกรรมของทารกแรกเกิด และความสามารถในการรับรู้จากการมอง การฟัง การสัมผัสและการตอบสนอง2. ให้พาลูกมารับบริการสุขภาพ และใช้ประโยชน์จากสมุดบันทึกสุขภาพ ตามกำหนด
3. คอยเอาใจใส่เด็กและดูแลใกล้ชิด อุ้มทารกให้หันหน้ามาสบตากันเป็นระยะ 8-10 นิ้ว ยิ้มแย้ม พูดคุยกับทารกอย่างอ่อนโยน และติดตามเฝ้าระวัง สังเกต ความก้าวหน้าของพฤติกรรมพัฒนาการของลูกอย่างต่อเนื่อง
4. จัดสิ่งแวดล้อมและกิจกรรมการเลี้ยงดูทารกให้มีความปลอดภัย และน่าสนใจ มีคนที่อยู่ใกล้ชิด ดูแลด้วยความรัก เอาใจใส่อย่างสม่ำเสมอ มีคนที่สนใจ มีปฏิสัมพันธ์กับเด็ก พูดคุยอย่างชัดถ้อยชัดคำ ร้องเพลง ทำท่าทางให้เด็กเลียนแบบ และเรียนรู้ และเล่นกับเด็กและมีสิ่งของที่สีสดใสรูปทรงต่างๆที่น่าสนใจ ให้เด็กมอง สัมผัส จับต้อง และสำรวจ
พัฒนาการด้านภาษา
แรกเกิด-1 เดือน - ร้องไห้ หยุดฟังเสียง, ทำเสียงในคออายุ 2 เดือน - ฟังเสียงคุยด้วยแล้วหันหาเสียง
อายุ 4 เดือน - ส่งเสียงอ้อแอ้ โต้ตอบ หัวเราะ ส่งเสียงแหลมรัว เวลาดีใจ สนุก
อายุ 6 เดือน - หันหาเสียงเรียก เล่นน้ำลาย ส่งเสียงหลายเสียง
อายุ 9 เดือน - ฟังรู้ภาษาและเข้าใจสีหน้าท่าทางได้ เปล่งเสียงเลียนเสียงพยัญชนะ แต่ไม่มีความหมาย
อายุ 12 เดือน - เรียกพ่อ แม่ หรือพูดคำโดดที่มีความหมาย 1 คำ ทำตามคำสั่งที่มีท่าทางประกอบได้
การส่งเสริมพัฒนาการด้านภาษา
แรกเกิด-6 เดือน :ควรมีการเลี้ยงดูอย่างใกล้ชิดและมีการพูดคุยส่งเสริมให้มีพัฒนาการทางภาษาอย่างเหมาะสมตั้งแต่แรกหลังเกิด โดยเฉพาะขณะที่ให้การดูแลเรื่องทั่วๆไปในชีวิตประจำวัน เด็กทารกมักมีความสนใจเสียงที่ค่อนข้างแหลม เสียงสูงๆต่ำๆ ซึ่งหากผู้เลี้ยงดูจะทำน้ำเสียงให้มีลักษณะแตกต่างกันไปบ้างตามสถานการณ์ต่างๆที่เกิดขึ้น ก็จะทำให้เด็กได้เรียนรู้ความหมายของการสื่อสารที่บอกถึงอารมณ์ความรู้สึกแตกต่างกันไปของผู้พูด อย่างไรก็ตามการใช้ภาษาเด็กพูดคุยกับเด็กควรจะค่อยๆลดลงภายหลังอายุ 6 เดือน การสื่อสารด้วยภาษาอย่างที่ใช้กับเด็กโตหรือผู้ใหญ่เพิ่มมากขึ้นจะค่อยๆช่วยให้เด็กได้เรียนรู้ภาษาในระยะต่อไปอย่างดี
อายุ 7-12 เดือน :
1. ควรพูดคุยทำเสียงเล่นกับเด็กและพูดเป็นเสียงของคำที่มีความหมาย ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นคำเรียกพ่อหรือแม่หรือผู้เลี้ยงดูที่ใกล้ชิดกับเด็ก2. พูดสอนหรือบอกให้เด็กทำสิ่งต่างๆอย่างง่ายๆพร้อมกับมีกิริยาทำท่าประกอบควบคู่กันไป จะช่วยให้เด็กเข้าใจสิ่งที่ต้องการผู้ใหญ่ต้องการสื่อสารได้ง่ายขึ้น
3. พ่อแม่อาจไม่จำเป็นต้องพูดสอนหรือบอกเฉพาะคำศัพท์เดี่ยวๆคำใดคำหนึ่งเท่านั้น การพูดโดยมีคำขยายเพิ่มเติมก็จะเป็นการสอนให้เด็กเข้าใจความหมายของภาษาที่พูดคุยมากขึ้นแม้อาจจะยังพูดไม่ได้ทั้งหมด เช่น พ่อมา หมาเห่า เป็นต้น
4. เมื่อเด็กพูดคุยด้วยภาษาเด็กที่แม้จะฟังไม่เข้าใจ แต่ถ้าผู้เลี้ยงดูสามาถคาดเดาได้จากสถานการณ์หรือเหตุการณ์ที่กำลังเกิดขึ้น ผู้เลี้ยงดูควรพูดคุยเป็นคำที่มีความหมายกับเด็กเพื่อเป็นแบบอย่างสอนให้เด็กเข้าใจต่อไป
5. ผู้เลี้ยงดูควรพูดคุยกับเด็กเกี่ยวกับสิ่งต่างๆที่เด็กสนใจ พูดบอกหรืออธิบายอย่างสั้นๆและคอยสังเกตการตอบสนองของเด็ก
การใช้หนังสือนิทานหรือรูปภาพ จะช่วยเพิ่มคำศัพท์ให้แก่เด็กได้มากและเพิ่มทักษะความเข้าใจภาษาที่มีในสื่อเหล่านั้น ตลอดจนเป็นการปลูกฝังให้เด็กรักการอ่าน อย่างไรก็ตามผู้เลี้ยงดูไม่ควรตั้งใจสอนให้เด็กอ่านหรือท่องจำหนังสือ หรือตัวเลขมากเกินไปเพราะการที่เด็กท่องจำได้ตามที่ถูกสอนไม่ได้หมายความว่าเด็กจะมีความสามารถในการอ่านระยะถัดไปได้ดีกว่าเด็กอื่นในวัยเดียวกัน ความเข้าใจทางภาษาที่แตกฉานและสามารถใช้ภาษาพูดได้เป็นอย่างดีจะเป็นรากฐานที่สำคัญต่อความรู้ความเข้าใจในการอ่านหรือเขียนมากกว่าเน้นท่องจำอย่างเดียว ขณะอ่านหรือดูหนังสือกับเด็กควรเปิดโอกาสให้เด็กหยิบจับหรือหัดเปิดหนังสือเองบ้าง
อย่างไรก็ตามพัฒนาการของเด็กแต่ละคนมีความหลากหลาย อายุที่กล่าวไว้นั้นเป็นเพียงเกณฑ์ที่เด็กส่วนใหญ่ควรทำได้ซึ่งหากไม่เป็นไปตามนี้ก็อาจไม่ได้หมายถึงพัฒนาการที่ล่าช้าแต่อย่างใด ดังนั้นหากผู้ปกครองมีความสงสัยเรื่องพัฒนาการของบุตรหลานควรปรึกษากุมารแพทย์โดยตรง
ขอบคุณข้อมูลจาก Kids Center โรงพยาบาลเวชธานี / Manager online